Skip to main content
sharethis

เนื่องจากเห็นว่าหนังสือและแหล่งความรู้จำเป็นต่อชีวิต อาสาสมัครที่ค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองกาเลส์ ประเทศฝรั่งเศส สร้างห้องสมุดชั่วคราวให้กับกลุ่มผู้ลี้ภัยที่มีอยู่อย่างน้อยจำนวน 3,000 คน ในชุมชนที่เรียกว่า 'จังเกิล' และขอบริจาคหนังสือเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษาและการหางานทำให้กับพวกเขา

แมรี่ โจนส์ ผู้ริเริ่มโครงการ "จังเกิล บุ๊ค" ห้องสมุดสำหรับค่ายผู้ลี้ภัยที่กาเลส์ ในประเทศฝรั่งเศส (ที่มา: http://publishingperspectives.com/)

26 ส.ค. 2558 ในเมืองกาเลส์ซึ่งเป็นเมืองท่าทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส มีครูชาวอังกฤษที่ชื่อแมรี่ โจนส์ เป็นคนริเริ่มโครงการชื่อ "จังเกิล บุ๊ค" ซึ่งเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือจากการบริจาค ตัวเธอเองก็เป็นผู้คอยจัดหาพัสดุอุปกรณ์หรือหนังสือเล่มใหม่ๆ เข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยอยู่เสมอ แต่โจนส์ก็บอกว่าเธอต้องการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในทางปฏิบัติมากกว่านี้

โจนส์เปิดเผยว่าผู้ลี้ภัยจำนวนมากเป็นคนที่ได้รับการศึกษาและพวกเขาก็ต้องการจะเรียนต่อ พวกเขาต้องการหนังสือที่จะช่วยให้พวกเขาอ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้เพื่อนำไปใช้ในการสมัครงานหรือการกรอกแบบฟอร์มต่างๆ

โรเจอร์ แท็กโฮล์ม นักข่าวของเว็บไซต์  'พับลิชชิ่ง เพอร์สเป็กทีฟ' ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวเกี่ยวกับหนังสือและสิ่งพิมพ์เปิดเผยว่าในขณะที่ห้องสมุดในค่ายมีหนังสือนิยายหลายเล่มเช่น 'เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง' (The Lord Of The Ring) และ 'เล่นซ่อนหาย' (Gone Girl) แต่โจนส์ก็กำลังต้องการหนังสือที่เป็นภาษาท้องถิ่นของผู้ลี้ภัยเพิ่มเติม อีกทั้งยังต้องการพจนานุกรมภาษาพัชโต-ฝรั่งเศส ภาษาพัชโต-อังกฤษ (ภาษาพัชโตคือภาษาของชาวปาทานที่อาศัยอยู่ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน เป็นหนึ่งในภาษาทางการของอัฟกานิสถาน) และพจนานุกรมภาษาเอริเทรีย ซึ่งสามารถติดต่อบริจาคได้ที่ maryjones@orange.fr

ชุมชนผู้ลี้ภัยในกาเลส์มีชื่อเรียกจากกลุ่มผู้ลี้ภัยเองว่า "จังเกิล" ที่แปลว่าป่า เป็นพื้นที่ๆ เต็มไปด้วยเต็นท์และที่พักอาศัยชั่วคราวตั้งอยู่ตามพุ่มไม้ป่าละเมาะข้างถนนสายหลักที่มุ่งหน้าไปยังท่าเรือเฟอร์รี ผู้คนอาศัยอยู่โดยมีการตั้งเป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีร้านค้า, ร้านอาหาร, ร้านตัดผม, ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ และโรงเรียน โดยมีการแบ่งส่วนตามสัญชาติและภาษา ที่มีทั้งชาวอัฟกานิสถาน, ซีเรีย, ซูดาน, เอริเทรีย, อิรัก พวกเขาล้วนเป็นผู้ที่ต้องการหาที่พักพิงเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน ยังระบุถึงกรณีอื่นๆ ที่มีการจัดตั้งห้องสมุดชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัย เช่น "ห้องสมุดภายใน 20 นาที" ของผู้ประสบภัยแผ่นดินที่เฮติปี 2553 ในโครงการห้องสมุดไร้พรมแดน มีการดำเนินการแบบเดียวกันมาใช้กับค่ายผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในจอร์แดนเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเคยมีการจัดห้องสมุดให้กับผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ปี 2551 และโครงการรถบรรทุกห้องสมุดเคลื่อนที่ซึ่งให้บริการในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองซมารา ประเทศโมรอคโค

 
 
เรียบเรียงจาก
 
“Jungle” Migrant Camp in Calais Now Boasts Library, Publishing Perspectives, 24-08-2015
 
Calais migrant camp gets makeshift library – and it needs more books, The Guardian, 24-08-2015

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net