เสียงจากผู้ชุมนุม Bersih 4.0 - ประชาชนต้องไม่กลัวและรู้ว่าสิทธิอยู่กับเรา

บริเวณถนน Pasar Besar ด้านที่มุ่งไปทางจัตรัสเมอเดก้า ผู้ชุมนุมบ้างยืน บ้างนั่งพักข้างทาง ระหว่างการชุมนุม Bersih 4.0 ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2558 (ที่มา: ประชาไท)

ผู้ชุมนุมชูป้ายเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัก ลาออก ระหว่างชุมนุม Bersih 4.0 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2558 (ที่มา: ประชาไท)

29 ส.ค. 2558/กัวลาลัมเปอร์ - พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรมหรือกลุ่มเบอเซะ (Bersih) ชุมนุมใหญ่ที่เรียกว่า "Bersih 4.0" ที่จัตุรัสเมอร์เดก้า ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของวันที่ 29 ส.ค. จนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 ส.ค. นี้ เพื่อเรียกร้องให้นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออกจากถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 24,500 ล้านบาท) จากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB

นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อได้แก่ 1. การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม 2. รัฐบาลที่ตรวจสอบได้ 3. เสรีภาพในการชุมนุม 4. ทำให้ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามีความเข้มแข็ง และ 5. รักษาเศรษฐกิจของประเทศ

ในการชุมนุมเมื่อวานนี้ นอกจากแกนนำ Bersih ทั้งมาเรีย ชิน อับดุลลาห์ (Maria Chin Abdullah) อัมพิกา ศรีเนวาซาน (Ambiga Sreenevassan) แล้ว แกนนำฝ่ายค้านอย่าง หลิม กิตเสียง (Lim Kit Siang) แกนนำพรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) บุตรชาย คือหลิม กวนอิง (Lim Guan Eng) ผู้ว่าการรัฐปีนัง และเลขาธิการพรรค DAP ก็เข้าร่วมการชุมนุมด้วย

ขณะที่พรรคยุติธรรมประชาชน PKR มีแกนนำพรรคฝ่ายค้านได้แก่ วัน อาซิซะ วัน อิสมาอิล (Wan Azizah Wan Ismail) ภรรยาของอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) อดีตผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผู้ถูกศาลตัดสินจำคุกในข้อกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน รวมทั้งบุตรสาวนูรุล ฮานา อันวาร์ (Nurul Hana Anwar) ก็เข้าร่วมการชุมนุมด้วย นอกจากนี้ยังมี ฉัว เทียนชาง ส.ส. จากพรรค PKR รวมทั้งอีริค พอลเส็น (Eric Paulsen) จากกลุ่มทนายความเพื่อเสรีภาพเข้าร่วมด้วย

อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้านอีกพรรคหนึ่งคือพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (PAS) ไม่ได้ประกาศร่วมการชุมนุมอย่างเป็นทางการ แต่ไม่ห้ามให้ผู้สนับสนุนของพรรคตนเข้าร่วมการชุมนุม

 

คู่ปรับฝ่ายค้านและอดีตนายกรัฐมนตรี 'มหาธีร์ โมฮัมหมัด' เยี่ยมที่ชุมนุม Bersih แบบเหนือความคาดหมาย

 

(ซ้าย) มหาธีร์ โมฮัมหมัด ในวัย 90 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของมาเลเซีย และภรรยา เข้ามาเยี่ยมผู้ชุมนุม Bersih 4.0 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2558 ขณะที่คนที่ช่วยอำนวยความสะดวกพามหาธีร์ฝ่าฝูงชน คือคู่ปรับเก่าอย่าง "ฉัว เทียนชาง" ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน พรรคยุติธรรมประชาชน หรือ PKR ทั้งนี้ในสมัยที่มหาธีร์เป็นนายกรัฐมนตรี ฉัว เทียนชาง หรือ "เทียนฉัว" สมัยที่เพิ่งตั้งพรรคฝ่ายค้าน เคยถูกตำรวจมาเลเซียทุบและควบคุมตัวเมื่อเดือนเมษายนปี 2542 (ขวา) หลังจากที่เขานำผู้ชุมนุมกว่า 3,000 คน ประท้วงคำตัดสินของศาลซึ่งลงโทษ อันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้จำคุก 6 ปี ในข้อกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) นอกจากนี้ เทียน ฉัว ยังเคยถูกจองจำในปี 2544 ในยุคของมหาธีร์ ภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน (ISA) ในข้อกล่าวหาเตรียมอาวุธร้ายแรงโค่นรัฐบาล (ที่มา: มาเลเซียกินี)

 

และที่เหนือความคาดหมายของผู้ชุมนุมก็คือ เมื่อเวลาประมาณ 19.39 น. ตามเวลาท้องถิ่นของมาเลเซีย อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของมาเลเซีย มหาธีร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียระหว่างปี พ.ศ. 2524 ถึง พ.ศ. 2546 คู่ปรับคนสำคัญของพรรคฝ่ายค้าน ได้เข้าร่วมมาในที่ชุมนุมเบอเซะบริเวณจัตุรัสเมอร์เดก้าด้วย

ทั้งนี้มหาธีร์ ซึ่งอายุ 90 ปีแล้ว เดินทางมาพร้อมกับภรรยา พญ.ซิติ ฮัมซาห์ (Siti Hamzah) โดยพวกเขายิ้มทักทายผู้ชุมนุม และใช้เวลาในที่ชุมนุมประมาณ 20 นาที โดยมหาธีร์ตอบคำถามสื่อมวลชนเมื่อถูกถามถึงสาเหตุของการเดินทางมาร่วม โดยมหาธีร์ตอบเป็นภาษามลายูว่า "ฉันมาเพื่อมาดูเบอเซะ" นอกจากนี้ยังมีผู้ได้ยินมหาธีร์พูดว่า "teruskan, teruskan" หรือ "ทำต่อไป ทำต่อไป" ขณะที่ฝูงชนที่รายล้อมต่างโห่ร้อง ขณะที่ภรรยาของมหาธีร์กล่าวว่า "นี่คือพลังประชาชน"

ทั้งนี้มหาธีร์ ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและยังคงมีอิทธิพลในพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Naitonal) ได้วิจารณ์นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก พรรคเดียวกันบ่อยครั้ง นับตั้งแต่มีกรณีอื้อฉาวกรณีกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจ 1MDB

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามหาธีร์ ไม่เคยมีจุดยืนสนับสนุนการชุมนุมใดๆ แต่แล้วในระหว่างกล่าวปราศรัยที่รัฐยะโฮร์ในหัวข้อ "มาเลเซียวันนี้ พวกเราจะไปทางไหน" ในช่วงบ่ายวันที่ 29 ส.ค. ตอนหนึ่งมหาธีร์พูดว่า เขาไม่ได้ชอบการชุมนุมเลย เพราะมีหนทางอื่นเพื่อแก้ไขปัญหา จากนั้นเขาพูดว่า "แต่ช่องทางเหล่านี้ถูกปิดกั้น ถ้าเราร้องเรียน เราเองกลับเป็นฝ่ายถูกสอบ นี่ไม่ใช่ความผิดของตำรวจ แต่เป็นความผิดของคนที่อยู่ข้างบน"

"บุคคลนี้อยู่เหนือกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ละเมิดกฎหมาย บุคคลนี้ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดกับประเทศมาเลเซียวันนี้" มหาธีร์กล่าวพาดพิงถึงบุคคลหนึ่ง โดยไม่ยอมเอ่ยชื่อ แต่สื่อมวลชนมาเลเซียระบุว่าแน่ชัดว่าพาดพิงถึงนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายที่รัฐยะโฮร์ มหาธีร์ยังกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าอาจจะไปร่วมการชุมนุม และในช่วงค่ำมหาธีร์ก็มายังที่ชุมนุมจริง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

มีรายงานใน FMT ด้วยว่า มารีนา มหาธีร์ (Marina Binti Mahathir) บุตรสาวของมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ร่วมชุมนุม Bersih กับชาวมาเลเซียที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วย เช่นเดียวกับ แคลร์ ริวคาสเทิล บราวน์ (Clare Rewcastle-Brown) บรรณาธิการของเว็บไซต์ข่าวสืบสวนสอบสวนซาราวักรีพอร์ท ก็ร่วมชุมนุม Bersih ที่ลอนดอนด้วย ซึ่งเผยแพร่ข่าวกล่าวหาว่ามีการยักยอกเงินจากกองทุน 1MDB ไปยังบัญชีของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และต่อมาเว็บไซต์ซาราวักรีพอร์ทถูกปิดกั้นการเข้าถึง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ประธาน Bersih ระบุไม่ได้คาดหมายมาก่อนว่า มหาธีร์ จะเข้าร่วม

ทั้งนี้จากปฏิกิริยาของผู้นำการชุมนุม Bersih ที่หลายคนเคยเป็นอริกับอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียผู้นี้นั้น เดอะมาเลเซียนอินไซเดอร์ รายงานว่า มาเรีย ชิน อับดุลลาห์ ประธานองค์กร Bersih 2.0 กล่าวเพียงว่า ไม่ได้คาดหมายมาก่อนว่าจะเห็นมหาธีร์ "ฉันไม่ได้คาดหมายมาก่อน แต่มหาธีร์บอกว่ากำลังคิดอยู่ว่าจะมา แสดงว่าเขาคิดเร็วมาก"

ด้านคณะกรรมการ Bersih 2.0 หนิว ซินเยียว (New Sin Yew) กล่าวว่า ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าร่วมการชุมุนม Bersih และจะไม่มีการเลือกปฏิบัติกับใครก็ตามไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม "ที่นี่เป็นสถานที่สาธารณะ เราไม่เลือกปฏิบัติกับใคร เราต้อนรับทุกคน"

 

คนช่วยพาเข้าที่ชุมนุม คืออดีต ส.ส. ผู้เคยถูกจองจำในยุคมหาธีร์ "ปัญหาส่วนหนึ่ง เกิดจากระบบที่มหาธีร์สร้าง"

อีกเรื่องที่เหมือนตลกร้ายก็คือ ผู้ที่ช่วยพา 'ผู้เฒ่า' มหาธีร์ โมฮัมหมัดฝ่าฝูงชนเข้ามาในจัตุรัสเมอเดก้า ก็คือ ฉัว เทียนชาง หรือ "เทียนฉัว" ส.ส.ฝ่ายค้านพรรคยุติธรรมประชาชน (PKR) ทั้งนี้ในสมัยที่มหาธีร์เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2544 เทียนฉัว เคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน (ISA) มาแล้ว โดยเขาถูกรัฐบาลมหาธีร์กล่าวหาว่า เตรียมการทำหลายอย่าง เตรียมโค่นรัฐบาลด้วยการใช้ "ระเบิด เครื่องยิงลูกระเบิด ระเบิดขวด สะเก็ดลูกปืน และอาวุธอันตรายอื่นๆ"

เทียนฉัว กล่าวถึงโอกาสที่เขาได้พบมหาธีร์ว่า "ผมมีโอกาสที่จะได้พบกับเขา และได้จับมือ แต่ว่าไม่มีเวลามากพอที่จะได้สนทนากัน"

เขากล่าวด้วยว่า "มหาธีร์มีสิทธิที่จะแสดงออกว่าเขาสนับสนุน (ฺBersih 4.0) แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะลืมไปว่าส่วนหนึ่งของปัญหาทุกวันนี้ก็มาจากระบบที่มหาธีร์สร้างขึ้น ในขณะที่พื้นที่ประชาธิปไตยกลับถูกปิดลง" เทียนฉัวกล่าวต่อว่า "ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ประชาชนต้องลุกฮือกันในวันนี้" เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวมาเลเซียกินี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

000

เสียงจากประชาชนผู้ร่วมชุมนุม Bersih 4.0

ทั้งนี้ในช่วงกลางวัน ผู้สื่อข่าวประชาไท มีโอกาสพูดคุยกับผู้เข้าร่วมชุมนุม Bersih 4.0 ถึงความคาดหวังของพวกเขาต่อการชุมนุม หลายคนครั้งนี้เป็นการชุมนุมครั้งแรก ขณะที่อีกหลายคนก็เข้าร่วมการชุมนุม Bersih มาแล้วหลายหนนับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุม Bersih ครั้งแรกในปี 2549 ตามมาด้วยการชุมนุมในปี 2554 และ 2555 ซึ่งทุกครั้งจบลงด้วยการสลายการชุมนุมโดยตำรวจมาเลเซีย

บรรยากาศการชุมนุม Bersih 4.0 ช่วงกลางวัน และพูดคุยกับชายหนุ่มชาวมาเลเซียผู้ร่วมการชุมนุมครั้งแรก

ชายชาวมาเลเซียผู้นี้ บอกกับผู้สื่อข่าวว่าเข้าร่วมการชุมนุมเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาไม่เคยเข้าร่วมมาก่อนเพราะยุ่ง แต่หลังจากเห็นว่าเกิดปัญหาหลายอย่างกับประเทศมาเลเซีย รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลไม่เคยมีคำอธิบายที่ดี รวมไปถึงการใช้งบประมาณของรัฐอย่างผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วม นอกจากนี้เขายังเห็นว่าคำสั่งของ รมว.มหาดไทยที่ระบุให้เสื้อยืดพิมพ์ข้อความ Bersih ผิดกฎหมายนั้นเป็นเรื่องไม่มีเหตุผล (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

อาสาสมัครซึ่งริเริ่มขึ้นเองโดยผู้ร่วมชุมนุม ได้เก็บขวดพลาสติกจากพื้นที่ชุมนุมมาประดิษฐ์ดอกไม้ (ที่มา: ประชาไท)

สัมภาษณ์ คาโรลีน เหลา คุณแม่ลูกสามและนักภูมิสถาปัตย์ เกี่ยวกับกิจกรรมอาสาสมัครเก็บขยะพลาสติกในที่ชุมนุมเพื่อเปลี่ยนเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ และความคาดหวังกับการชุมนุม

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังได้พูดคุยกับ คาโรลีน เหลา คุณแม่ลูกสาม นักสถาปนิกด้านภูมิสถาปัตย์ ซึ่งมาชุมนุม Bersih ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยกิจกรรมที่ทำระหว่างร่วมชุมนุมมาราธอน 34 ชั่วโมงนี้ก็คือ ริเริ่มทำกิจกรรมเล็กๆ ด้วยตัวเอง ด้วยการเป็นอาสาสมัครเก็บขยะจำพวกขวดพลาสติกมาทำดอกไม้

"ดิฉันไม่ใช่กรรมการใน Bersih ดิฉันเป็นอาสาสมัคร" คาโรลีน ตอบคำถามเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นแกนนำกลุ่มย่อยหรือไม่ และกล่าวต่อว่า "ไอเดียของกิจกรรมคือ คาดหมายว่าเราจะทำกิจกรรมร่วมกันในระหว่างที่เรารอคอยในช่วงชุมนุม และพูดคุยกัน เริ่มต้นมีแค่ฉันเท่านั้น จากนั้นก็มีคนอื่นๆ มาร่วมกันทำดอกไม้จากพลาสติก จากนั้นเราก็เดินไปมอบให้กับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ และก็มีเพื่อนๆ ของฉันที่มาทำกิจกรรมนี้ด้วยกันเป็นครั้งแรก นี่เป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขา"

คาโรลีน ซึ่งร่วมการชุมนุม Bersih 2.0 ในปี 2554, Bersih 3.0 ในปี 2555 และ Bersih 4.0 เป็นครั้งล่าสุด ตอบคำถามที่ว่าการชุมนุมครั้งล่าสุด ต่างจากการชุมนุมครั้งก่อนหน้านี้อย่างไร โดยเธอกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการชุมนุมที่ยาวนานขึ้น สงบมากกว่าเดิม การชุมนุมก่อนหน้านี้ใช้เวลาจำกัด มาชุมนุม 4 ชั่วโมงแล้วก็กลับ แต่การชุมนุมหนนี้ใช้เวลานานขึ้น บรรยากาศค่อนข้างผ่อนคลาย มันเหมือนงานเทศกาล

"ฉันคิดว่าก่อนหน้านี้ ผู้คนรู้สึกกลัว เจ้าหน้าที่บอกว่าสิ่งพวกนี้จะถูกแบน อย่างเสื้อยืดที่ฉันใส่ก็ผิดกฎหมาย (แสดงเสื้อยืดพิมพ์ข้อความ "Bersih 4.0" แต่อย่างที่คุณเห็น ผู้คนเป็นมิตร และผู้คนก็เข้าร่วมมาตั้งแต่ก่อนกำหนดการของกิจกรรมชุมนุมจะเริ่ม"

คาโรลีน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทุกคนที่มาชุมนุมก็คาดว่าจะต้องเตรียมรับมือ (หากถูกสลายการชุมนุม) แต่การชุมนุมก็เป็นอย่างสงบ ร่าเริง คนก็เริ่มกลับบ้านเพราะพวกเขามาตั้งแต่ 11.00 น. (การชุมนุมเริ่มเมื่อเวลา 14.00 น.)

เมื่อถามว่าคาดหมายว่าผลจากการชุมนุมจะทำให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงหรือไม่ คาโรลีนกล่าวว่าไม่ได้คาดหวังถึงขนาดนั้น "แต่หวังว่ารัฐบาลจะนึกถึงประชาชนอย่างจริงใจกว่านี้ และสิ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นในเวลานี้ สำหรับประชาชนก็คือ ต้องไม่รู้สึกเกรงกลัวอีกแล้ว ต้องรู้จักสิทธิของเรา ว่าเรามีสิทธิอยู่กับตัวเรา"

ประมวลภาพการชุมนุม Bersih 4.0 ช่วงกลางวัน 29 สิงหาคม 2558

ผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงสถานีรถไฟ KL Sentral ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 29 ส.ค. ก่อนเดินทางไปยังสถานที่ชุมนุมคือบริเวณใกล้เคียงจัตุรัสเมอเดก้า (ที่มา: ประชาไท)

ผู้ชุมนุม Bersih 4.0 บริเวณถนน Pasar Besar ด้านหลังตลาดปะซาเซนี เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2558 (ที่มา: ประชาไท)

ผู้ชุมนุม Bersih 4.0 ที่ถนน Pasar Bedar ช่วงที่มุ่งไปทางจัตุรัสเมอเดก้า แต่ตำรวจปิดกั้นบริเวณถนนช่วงนี้ ทำให้ผู้ชุมนุมจำนวนมากปักหลักชุมนุมบริเวณดังลก่าวแทน บ้างยืนถ่ายเซลฟี

ผู้ชุมนุมพูดคุยกับตำรวจ (ที่มา: ประชาไท)

กิจกรรมปราศรัยย่อยเกิดขึ้นหลายเวที ในภาพเป็นการปราศรัยหลังรถกระบะ บริเวณ Madan Pasar ใกล้ตลาดปะซาเซนี (ที่มา: ประชาไท)

บรรยากาศผู้ฟังปราศรัยย่อย บริเวณ Medan Pasar ใกล้ตลาดปะซาเซนี (ที่มา: ประชาไท)

การ์ตูนในที่ชุมนุม (ที่มา: ประชาไท)

ประชาชนทยอยร่วมชุมนุม Bersih 4.0 ทั้งนี้บรรยากาศการชุมนุมผิดไปจากการชุมนุม 3 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมักถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซีย และมีการสลายการชุมนุม (ที่มา: ประชาไท)

 

ชุมนุม 70 เมืองทั่วโลก - ส่วนเมืองไทย ทหารขอให้ยกเลิกกิจกรรม แต่มีกลุ่มย่อยไปหน้าสถานทูต

นอกจากการชุมนุมในวันพรุ่งนี้ และวันอาทิตย์ที่มาเลเซีย ยังมีการจัดการชุมนุมโดยชาวมาเลเซียและประชาชนจากหลายประเทศในต่างประเทศด้วยในนาม "Global Bersih" โดยจัดใน 70 เมืองทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

สำหรับกิจกรรมในประเทศไทย ที่ จ.เชียงใหม่ สมาคมผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (APWLD) ได้จัดกิจกรรมเพื่อแสดงความสนับสนุนการเคลื่อนไหว Bersih ในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 ส.ค.

เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ เข้าพบชาวมาเลเซียซึ่งเตรียมจัดกิจกรรมให้กำลังใจการชุมนุม Bersih 4.0 ในกรุงเทพฯ ซึ่งเตรียมจัดในสถานที่ส่วนตัว อย่างไรก็ตามถูกขอร้องให้งดจัดกิจกรรม (ที่มา: ทวิตเตอร์ TLHR2014)

ส่วนในกรุงเทพมหานคร เดิมผู้จัดกิจกรรม Bersih 4.0 ในกรุงเทพฯ เตรียมจัดที่สวนลุมพินีในวันที่ 29 ส.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนวันนัดหมายได้แจ้งแก่ผู้สนับสนุนในประเทศไทยว่าได้โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่สวนลุมพินีเพื่อขอใช้สถานที่ แต่ไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ทำให้ผู้จัดงานเปลี่ยนมาเป็นใช้สถานที่ส่วนบุคคลแทน โดยวางแผนว่าจะจัดกิจกรรมในวันที่ 29 ส.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานในทวิตเตอร์ว่า ในช่วงเช้าก่อนกำหนดจัดงาน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมาขอให้ผู้จัดงดจัดกิจกรรม

ชาวมาเลเซียในกรุงเทพฯ กลุ่มหนึ่ง ชุมนุมหน้าสถานทูตมาเลเซียเมื่อวันที่ 29 ส.ค. เพื่อสนับสนุนการชุมนุม Bersih 4.0 (ที่มา: ประชาไท)

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 16.30 น. ยังคงมีชาวมาเลเซียกลุ่มย่อย ซึ่งพำนักในกรุงเทพฯ มาชุมนุมที่หน้าสถานทูตมาเลเซีย โดยชาวมาเลเซียได้ถือป้ายเพื่อสนับสนุน และให้กำลังใจผู้ชุมนุมเบอเซะที่มาเลเซีย

ทั้งนี้ผู้ชุมนุมสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มเบอเซะ 5 ข้อ ได้แก่ 1. การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม 2. รัฐบาลที่ตรวจสอบได้ 3. เสรีภาพในการชุมนุม 4. ทำให้ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามีความเข้มแข็ง และ 5. รักษาเศรษฐกิจของประเทศ โดยกิจกรรมที่หน้านสถานทูต นอกจากการชูป้ายแล้ว มีการตะโกนคำขวัญ และร้องเพลงชาติมาเลเซีย ก่อนที่จะสลายตัวในเวลา 17.00 น. ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สถานทูตดูแลสถานการณ์อยู่บริเวณดังกล่าวด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท