ถาม-ตอบ คำต่อคำ เมื่อ MARA PATANI พบสื่อมวลชนไทยครั้งแรก

อ่านถาม-ตอบ คำต่อคำ เมื่อ MARA PATANI พบสื่อมวลชนไทยครั้งแรก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย หลังการพูดคุยครั้งที่ 3 กับคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย พร้อมเปิดโครสร้างองค์กรมีตัวแทน 6 กลุ่ม อาวัง ญาบะ เป็นประธานฯ สุกรี ฮารี หัวหน้าทีมพูดคุย เผยวัตถุประสงค์ 5 ข้อเพื่อการพูดคุยสันติภาพ

ภาพตัวแทนองค์กร MARA PATANI แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนมาเลเซีย หลังจากพบปะกับสื่อไทย

การพบปะพูดคุยครั้งแรกระหว่างสื่อมวลชนไทยกับกลุ่ม MARA PATANI ณ โรงแรม Premiera กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 สิงหาคม 2558 ตามเวลามาเลเซีย ซึ่งเป็นการเปิดตัวครั้งแรก และเป็นการเปิดตัวหลังจากได้พูดคุยครั้งที่ 3 กับคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ที่กัวลาลัมเปอร์ เช่นกัน

ก่อนการพูดคุย เลขานุการของดาโต๊ะซัมซามิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยฝ่ายมาเลเซีย ได้มาตกลงกติกาการพูดคุยก่อน โดยห้ามไม่ให้บันทึกภาพและห้ามนำโทรศัพท์เข้าไปในห้องพูดคุย แต่อนุญาตให้จดบันทึกได้ และสามารถรายงานข่าวได้ไม่จำกัด

จากนั้นเลขานุการของดาโต๊ะซัมซามินได้นำคณะ MARA PATANI เข้ามาให้ห้องประชุม โดยนั่งคนละฟากโต๊ะประชุม หันหน้าเข้าหากัน จากนั้นเป็นการแนะนำตัว เริ่มจากฝ่าย MARA PATANI ก่อน โดยมีนายอัศโตรา ชาบัต เป็นผู้แปลและดำเนินรายการ เนื่องจากฝ่าย MARA PATANI ใช้ภาษามลายูเป็นหลัก สลับกับภาษาอังกฤษและภาษาไทยในบางช่วง โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ เพื่อให้สื่อมวลชนไทยเข้าใจมากขึ้น

โดยกลุ่มสื่อมวลชนไทยมี 18 คน (จากชายแดนใต้ 7 คน) และนักข่าวมาเลเซีย 3 คน

ฝ่าย MARA Patani มี 7 คน ได้แก่ นั่งเรียงจากขวาไปซ้าย ดังนี้

1.ดร.อารีฟ มุคตาร์ (Dr.Arif Mukhtar) จาก PULO MKP

2.นายอาบูยาซีน อับบาส (Abu Yasin Abbas) จาก GMIP

3.นายอะหมัด ชูโว (Ahmad Chuwo) จาก BRN

4.นายอาวัง ญาบะ (Awang Jabat) จาก BRN ประธาน MARA PATANI

5.นายสุกรี ฮารี (Syukri Haree) จาก BRN หัวหน้าคณะพูดคุยของ MARA PATANI

6.อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม (Abu Hafiz Al-Hakim) จาก BIPP

7.อาบูอักรอม บิน ฮาซัน (Abu Akram Bin Hasan) จาก PULO DSPP

(หมายเหตุ : ในการพบปะกับสื่อมวลชนครั้งนี้ไม่ปรากฏตัวแทนของ PULO P4 หรือกลุ่มที่นำโดยนายซัมซูดิง คาน)

บน-อาวัง ญาบะ สุกรี ฮารี 
ล่าง-อาบูฮาฟิส อัลฮากิม อะหมัด ชูโว

นายอาวัง ยาบะ เริ่มการพูดคุยโดยขอบคุณที่มีโอกาสได้มาเจอเพื่อพูดคุยกัน และขอบคุณรัฐบาลมาเลเซีย ประชาชนมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดาโต๊ะซัมซามิน และฝ่ายเลขานุการการพูดคุยที่ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่ และการพูดคุยครั้งนี้ไม่ได้จบแค่นี้ แต่จะมีอีกต่อไป

นายอาวัง กล่าวว่า จุดประสงค์ของการเปิดตัวครั้งนี้ เพื่ออธิบายเกี่ยวกับ MARA PATANI ขอให้สื่อมวลชนไทยรายงานตามความเป็นจริง เพราะวันนี้เป็นของจริง ต้นต่อจริง เป็นข้อมูลมือหนึ่ง หวังว่าท่านจะเขียนอย่างตรงไปตรงมา เพราะนักข่าวเป็นอาชีพที่มีเกียรติ หวังว่าทุกคนจะมีเจตนาดีที่จะสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ ส่วนกับคนที่มีเจตนาไม่ดีกับ MARA PATANI และการพูดคุยสันติภาพ ขอให้ละทิ้งไปก่อน เรามาคุยกันก่อน เพราะวันนี้เป็นเรื่องดีทั้งหมด

จากนั้น ทางฝ่าย MARA PATANI ได้นำเสนอโครงสร้างและยุทธศาสตร์ของ MARA PATANI ผ่านโปรเจคเตอร์ โดยอาบูฮาฟิซ พร้อมแจกเอกสารแนะนำ MARA PATANI โดยเนื้อหาในสไลด์นั้นมีการนำเสนอโครงสร้างองค์กรของ MARA PATANI ดังนี้ด้วย

 

 

จากนั้นเปิดโอกาสให้สื่อถาม โดยมีคำถามและคำตอบดังนี้

ถาม – “การบริหารจัดการ ปาตานี ดารุสลาม" (ในเอกสารชี้แจงอย่างย่อเกี่ยวกับ MARA PATANI) หมายความว่าอย่างไรกันแน่

อาบูฮาฟิสตอบ จริงๆ เราอยากใช้ว่า merdika แต่รัฐบาลไทยไม่ชอบคำนี้ เป้าหมายสูงสุดของทุกกลุ่มยังคงเป็น merdika แต่เราก็มองว่า การเข้าสู่กระบวนการสันติภาพเป็นทางเลือกหนึ่ง

ถาม – มีข้อเสนออะไรจากฝ่ายไทย

อาบูฮาฟิสตอบ ยังไม่มี เพราะยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น เป็นการสร้างความไว้วางใจ

ถาม – MARA PATANI เป็นตัวแทนของคนมลายูปาตานีได้จริงหรือไม่ หรือเป็นตัวแทนของขบวนการ

อาวังตอบ MARA PATANI เปิดกว้าง ไม่ได้เป็นตัวแทนเฉพาะกลุ่มขบวนการเท่านั้น แต่เป็นตัวแทนของทุกกลุ่มทั้งประชาชนและภาคประชาสังคมด้วย การเปิดกว้างนี้แสดงให้เป็นว่า MARA PATANI จะเป็นตัวแทนของทั้งหมด รวมทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ใน MARA PATANI ถ้าเราเข้ามาได้ เราเชื่อว่าจะทำให้เหตุการณ์ลดลง

ถาม – มีวิธีการที่จะให้คนมลายูปาตานีมาอยู่ใน MARA PATANI ได้อย่างไร

อาวังตอบ เราเริ่มจากขบวนการ 6 กลุ่มนี้ก็จริง แต่เราก็เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ใน MARA PATANI หลังจากนี้จะขยายไปยังทุกกลุ่มที่มี

ทุกอย่างอยู่ที่การรายงานข่าวของสื่อเกี่ยวกับจุดประสงค์ของ MARA PATANI เพื่อให้กระบวนการพูดคุยเดินต่อไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าการตั้ง MARA PATANI ไม่ดีก็จะทำให้การพูดคุยพังไปด้วย ดังนั้นเราจะเดินไปพบประชาชนในพื้นที่เองด้วย ถ้าเราได้การรับรองทางกฎหมาย หรือ Immunity จากไทย

ถาม – สิ่งที่คุยกับฝ่ายไทย พอใจอะไรบ้าง และ ตัวแทนของ BRN ที่อยู่ใน MARA PATANI ได้รับการสนับสนุนจาก BRN อย่างไร

สุกรีตอบ สิ่งที่คุยกับฝ่ายไทยคือ ต้องให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบจากฝ่ายไทย เพราะยังใหม่อยู่ ต้องรอให้ฝ่ายไทยตัดสินใจ

ส่วนประเด็นแมนเดทของตัวแทน BRN นั้น เนื่องจากรูปแบบการต่อสู้ของ BRN เป็นความลับทั้งหมด รวมทั้งเรื่องแมนเดทนี้ด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถให้คำตอบประเด็นนี้ได้ ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้ง BRN มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 การต่อสู่เป็นความลับทั้งหมด

ถาม – การพูดคุยบนโต๊ะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ของ BRN ด้วยหรือไม่

สุกรีตอบ ใช่

ถาม – นายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียนได้ตกลงกันว่าจะให้มีการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งฝ่ายไทยก็มีกลุ่มที่ไม่สนับสนุนอยู่ด้วย

อาวังตอบ เราเริ่มต้นการพูดคุยครั้งใหม่นี้ตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยเดินทางไปพบนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมปีที่แล้วเป็นตัวยืน เนื่องจากทั้งสองคนเห็นว่ากระบวนการสันติภาพจะไปได้

ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพทุกที่และทุกฝ่ายก็มีคนที่ไม่เห็นด้วย แต่กระบวนการจะไปได้นั้นอยู่ที่การสนับสนุนของประชาชน เราต้องการตรงนั้น

ถาม – ข้อเสนอให้เป็นวาระแห่งชาติจะได้หรือไม่

สุกรีตอบ ที่จริงทั้ง 3 ข้อนั้นยังไม่ใช่ข้อเสนอ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องการ ยังไม่ได้รับคำตอบ คือ 1.ให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ 2.Immunity 3.ให้การรับรอง MARA PATANI

อาวังตอบ ที่จริงทั้ง 3 ข้อนั้นเป็นสิ่งจำเป็นมากที่จะทำให้กระบวนการพูดคุยเดินหน้า และไม่ใช่เงื่อนไขของ MARA PATANI

Immunity ที่เราขอก็คือ ขอให้เฉพาะทีมพูดคุยฝ่าย MARA PATANI ซึ่งมีทั้งหมด 15 คนเท่านั้น ไม่ใช่ขอให้กับทุกคน และสมาชิก MARA PATANI ทั้งหมดด้วย อย่าเข้าใจผิด

อาบูฮาฟิสตอบ คณะพูดคุยฝ่าย MARA PATANI ทั้งหมด ไม่เกิน 15 คนนั้นก็ไม่รวมอาวังด้วย เพราะไม่ได้อยู่ในคณะพูดคุย

ถาม – ต้องการให้รับรอง MARA PATANI แบบไหน

อาวังตอบ ตอนนี้ฝ่ายรัฐไทยยังไม่ได้เรียก MARA PATANI แต่เรียกว่า Party B โดยไม่ระบุว่าคือใคร เราอยากให้เจาะจงไปเลยว่า Party B คือ MARA PATANI

อาบูฮาฟิสตอบ ประเด็นวาระแห่งชาตินั้น เป็นเรื่องเดิมที่มีการหยิบยกมาตั้งแต่สมัยหะซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยแล้ว เพื่อให้กระบวนการพูดคุยไม่หยุดชะงักกรณีที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งในไทยเกิดขึ้นบ่อยมาก เช่น ตอนสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีการลงนามในฉันทามติร่วมที่จะมีการพูดคุยสันติภาพกัน แต่เมื่อทหารมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจไป แม้ว่ารัฐบาลทหารจะสานต่อ แต่กระบวนการพูดคุยก็ต้องมาเริ่มต้นใหม่ ซึ่งเริ่มต้นวันที่นายกฯประยุทธ์ไปพบนายกนาจิบ วันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งเราเรียกการพูดคุยรอบใหม่นี้ว่า Dialog 2 เพราะฉะนั้นถ้าไม่เป็นวาระแห่งชาติแล้ว กระบวนการทั้งหมดก็ต้องนับหนึ่งใหม่ตลอดเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล

ดังนั้น เราต้องช่วยกันสนับสนุนให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่สำหรับเราหรือสำหรับท่าน แต่สำหรับกระบวนการพูดคุย

แม้แต่ในคำสั่งที่ 230 ซึ่งเราอ่านแล้ว และมีอยู่ในมือตอนนี้ (หยิบมาโชว์) ก็ไม่ได้บอกว่าจะให้ต่อเนื่องอย่างไร ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลอีก คำสั่งนี้ก็จะถูกฉีกอีก

ในคำสั่งนี้ใช้คำว่าพูดคุยสันติสุข แต่ในฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้คำว่า Peace Dialog ซึ่งทำให้สับสนว่าคืออะไร

ถาม – ถ้าไม่มี 3 ข้อนี้ การพูดคุยจะเป็นปัญหาหรือไม่

อาบูฮาฟิสตอบ ถ้าฝ่ายไทยยังไม่ยอมรับ 3 ข้อนี้ เราถือว่าการพูดคุย เป็นกระบวนการยังไม่เป็นทางการ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะหยุด เราก็จะคุยต่อไป แต่จะคุยในสาระสำคัญๆ ไม่ได้ แต่การสร้างความไว้วางใจนั้นยังมีต่อไป

ถาม – ข้อเสนอของไทยคืออะไร

สุกรีตอบ 1.ให้มีพื้นที่ปลอดภัย 2.ให้ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตามที่ทุกฝ่ายต้องการ 3.ใช้กระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเรารับกลับมาพิจารณาทั้งหมด

อาบูฮาฟิสตอบ  เรารับข้อเสนอของไทยมาพิจารณา แต่ยังไม่คุยเป็นทางการ เพราะต้องรอให้การเจรจายกระดับเป็นทางการก่อน

ถาม – MARA PATANI มีกรอบเวลาสำหรับการรับข้อเสนอสามข้อของฝ่ายไทยไหม

อาบูฮาฟิสตอบ ยิ่งเร็วยิ่งดี

ถาม – ในระหว่างที่ 3 ข้อของ MARA PATANI ยังไม่ได้ จะฟังเสียงประชาชนในพื้นที่อย่างไรและจะทำความเข้าใจประชาชนอย่างไร

อาบูฮาฟิสตอบ เรามีแผนอยู่แล้ว เช่น ถ้าเราเข้าไปไม่ได้ เราก็เชิญเขามาคุย แต่อาจจะช้าหน่อยและต้องมีสปอนเซอร์ คือไม่ง่ายและมีข้อจำกัดเยอะ

ถาม – จะตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อให้การพูดคุยกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่

อาบูฮาฟิสตอบ – สิ่งที่คุยกับในการพูดคุยกับฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา มีข้อหนึ่งคือให้มีการตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมา ซึ่งจะตั้งอะไรก็ได้ แต่ MARA PATANIอยากให้ย้อนกลับไปที่ 3 ข้อก่อน เพื่อให้การพูดคุยเป็นทางการ

ถาม – มีการกำหนดกรอบข้อตกลงหรือ TOR ในการพูดคุยหรือไม่

อาบูฮาฟิสตอบ เดิมตกลงกันให้ทั้งสองฝ่ายทำของตังเองมาก่อนแล้วมาเสนอต่อผู้อำนวยความสะดวก แต่ผู้อำนวยความสะดวกรออยู่นานก็ไม่มีใครส่ง เพราะเราทำไม่เป็น ฝ่ายไทยก็ไม่ได้ส่ง ทางมาเลเซียก็เลยทำแจกให้ทั้งสองฝ่ายซะเลย แล้ค่อยมาคุยกันอีกที คือส่งให้ทั้งสองฝ่ายกลับไปอ่านก่อน ซึ่งยังไม่รู้ว่าเนื้อหามีอะไรบ้าง ยังไม่ได้อ่าน

ถาม – คิดว่าฝ่ายไทยมีความจริงใจมากน้อยแค่ไหน

อาบูฮาฟิสตอบเป็นภาษาไทย ความจริงใจวัดยาก แต่ความจริงจังมองเห็นได้ ดูอย่างเรื่องวาระแห่งชาติเราขอมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วก็ยังไม่ได้

ถาม – ถ้ายังไม่ได้ 3 ข้อนั้น สถานการณ์ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร

อาบูฮาฟิสตอบภาษาไทย ตอบไม่ได้ อยู่ที่นายกฯประยุทธ์ว่าจะทำอย่างไร เพราะมีอำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญอยู่ในมือ ถ้าจะรับ 3 ข้อนี้ก็ประกาศได้เลยทันที ขนาดน้ำท่วมก็ยังประกาศเป็นวาระแห่งชาติได้ แล้วนับประสาอะไรกับปัญหาความรุนแรงที่มีคนตายถึง 5 – 6 พันคนที่จะประกาศไม่ได้

ถาม – แล้วฝ่าย MARA PATANI จะแสดงความจริงใจอย่างไร

อาบูฮาฟิสตอบ ในเอกสารที่แสดงก็เป็นคำตอบให้แล้วถึงความจริงใจของ MARA PATANI

สุกรีตอบ – เราได้แสดงความจริงใจไปแล้ว ซึ่งทหารก็ทราบแล้ว

ถาม – ความรุนแรงที่ลดลงช่วงเดือนรอมฎอนคือการแสดงความจริงใจหรือไม่

ผู้แทนบีอาร์เอ็น (พยักหน้า)

ถาม – พลเอกอักษรา (หัวคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย) บอกว่า ขอบคุณที่ช่วงรอมฎอนความรุนแรงลดลง โดยมาร่าบอกว่า ความรุนแรงช่วงรอมฎอนเขาไม่ได้ก่อ ถ้าอย่างนั้นเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาใครทำ

ดร.อารีฟตอบ – ต้องเข้าใจว่าเมื่อมีกระบวนการสันติภาพแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดความรุนแรงด้วย ซึ่งในการสู้รบทางฝ่ายขบวนการก็มีกฎอยู่ แต่ฝ่ายไทยต้องให้หยุดความรุนแรงทันที ซึ่งในกระบวนการสันติภาพที่ไหนก็แล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะยังไม่ถึงขั้นเซ็นสัญญาหยุดยิงหรือ ceasefire ส่วนนักข่าวไทยก็ชอบรายงานแบบนั้นด้วย คือคุยแล้วทำไมไม่หยุดยิง

ถาม – แสดงว่าในฝ่ายขบวนการมีปีกการทหารส่วนพวกท่านก็คือปีกการเมือง ทั้งสองปีกเชื่อมกันอย่างไร

อาบูฮาฟิสตอบ  – (ออกเสียง ฮึ พร้อมแสดงท่าทาง) ทุกขบวนการมีทั้งปีกการเมืองและปีกการทหาร

ดร.อารีฟตอบเป็นภาษาไทย – ผมไม่ตอบคำถามนี้หรอก

ถาม – ทำไม PULO P4 ของนายซัมซูดิง คาน ไม่เข้าร่วมกับ MARA PATANI

อาบูฮาฟิสตอบ – ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีมีการประชุมเพื่อก่อตั้ง MARA PATANI ทาง PULO P4 ก็มานั่งประชุมด้วยหลายครั้ง จากนั้นได้ขอถอนตัวเพราะไม่พอใจในบางประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่เคลียร์ในขณะนั้น แต่ตอนนี้ประเด็นนั้นได้เคลียร์กันแล้ว และได้ส่งหนังสือถึงซัมซูดิง คานแล้ว รวมทั้งผมได้โทรศัพท์ไปคุยแล้วด้วย แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าเขาจะเข้ามาร่วมกับ MARA PATANI เมื่อไหร่ และชื่อ PULO P4 ก็ยังมีอยู่ในโครงสร้างของ MARA PATANI

ถาม – ในเมื่อยังไม่มี TOR แล้วจะให้ข่าวกันอย่างไร

อาบูฮาฟิสตอบ – ฝ่ายไทยกลัวว่าจะคุยกับสื่อไทยในวันนี้เกินเลยไป แล้วทำให้สื่อเข้าใจผิด ก็เลยเสนอให้มีผู้แถลงข่าวร่วม ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยอนกลับไปที่ 3 ข้อจึงจะทำได้ คือต้องให้การพูดคุยเป็นทางการก่อน

ถาม – มีเงื่อนไขอะไรที่จะทำให้ฝ่ายขบวนหยุดต่อสู้ด้วยอาวุธ

อาวังตอบ เรามี MARA PATANI ก็เพื่อกระบวนการสันติภาพ แม้ว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธก็เพื่อสร้างสันติภาพด้วยเช่นกัน แล้วถ้ากระบวนการสันติภาพประสบความสำเร็จแล้วจะใช้อาวุธไปทำไม แต่ถ้าพูดคุยแล้วก็ยังไม่ยอมรับอีก ความรุนแรงก็จะมีอยู่ต่อไป ดังนั้นงานตรงนี้ต้องมีต่อไปเพื่อสร้างความเข้าใจไปด้วย

ถาม – หลังจากนี้กรณีที่มีเหตุรุนแรงทาง MARA PATANI จะออกมาแถลงข่าวหรือไม่

อาวังตอบ – ถ้าการพูดคุยเป็นทางการแล้ว หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราจะแถลงทั้งหมด แต่ตอนนี้ยังไม่มีการแถลงยอมรับอะไรทั้งสิ้น

ดร.อาริฟ อธิบายเพิ่มเติม – ในกระบวนการสันติภาพนั้น ฝ่ายขบวนการก็มีพวกที่เรียกว่าสปอยเลอร์ (คนที่ทำให้เสีย) ฝ่ายรัฐก็มี คนที่ทำให้กระบวนการสันติภาพเสียก็คือสื่อนั่นแหละไม่ใช่ผู้วางระเบิด แต่เราก็ขอขอบคุณทุกคนที่มาฟังความจริงจากเรา มาสร้างความเข้าใจระหว่างเรา

ถาม – BRN มีนโยบายต่อเป้าหมายอ่อนแออย่างไร

สุกรีตอบ – ขบวนการไม่มีความต้องการโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ แต่หากเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องสุดวิสัย

ถาม – บางเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การเข้าใจผิดว่าฝ่ายขบวนการทำหรือบางเหตุการณ์ที่ฝ่ายอื่นทำ จะแถลงไหม เป็นบางจุดบางเหตุการณ์

สุกรีตอบ จะเอาเรื่องนี้ไปคุยกับ BRN เพราะมีสภาของBRN อยู่ ผมตอบตรงนี้ไม่ได้

---ปิดการประชุม---

 

หมายเหตุปิดท้ายหลังการประชุม ทาง MARA PATANI ได้นำคำชี้แจงเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งองค์กร MARA PATANI ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยและเขียนด้วยลายมือมามอบให้กับคณะสื่อมวลชนด้วย สำหรับคำชี้แจงอย่างย่อเกี่ยวกับ MARA PATANI และวัตถุประสงค์ มีดังนี้

 

คำชี้แจงอย่างย่อเกี่ยวกับ

MARA PATANI

 

ภูมิหลัง

25 ตุลาคม 2557      กลุ่ม BRN ริเริ่มก่อตั้ง Majlis Amanah Rakyat Patani (MARA PATANI)

15 มีนาคม 2558      กลุ่ม BRN นำเสนอแนวคิดของ MARA PATANI ต่อกลุ่มอื่นๆ อีก 6 กลุ่ม และเห็นพ้องให้มีการก่อตั้ง Majlis Syura Patani (MARA PATANI)

5 มิถุนายน 2558      ผู้เข้าร่วมประชุม MARA PATANI ให้การยอมรับและรับรองกลุ่ม MARA PATANI

คำนิยาม

เป็นองค์กรที่ร่มของบรรดากลุ่มนักต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี เพื่อร่วมแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาปาตานีอย่างเป็นธรรม ครอบคลุม และยั่งยืน

องค์กร

1. Barisan Revolusi Nasional (BRN)

2. Barisan Islam Pembebasan Patani (BIPP)

3. Gerakan Mujahidin Islam Patani (GMIP)

4. Pertubuhan Pembebasan Patani Bersatu (PULO-DSPP)

5. Pertubuhan Pembebasan Patani Bersatu (PULO-MKP)

6. Pertubuhan Persatuan Pembebasan Patani (PULO-P4)

วิสัยทัศน์

บริหารปกครองปาตานี

พันธกิจ

เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างครอบคลุม เป็นธรรม และยั่งยืน

บทบาทหน้าที่

เป็นพื้นที่กลางในการปรึกษาหารือของบรรดาขบวนการปลดปล่อยปาตานีทุกกลุ่ม องค์กรภาคประชาสังคม/เอ็นจีโอ นักการเมืองท้องถิ่น และผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสร้างเอกภาพและความรับผิดชอบร่วมกันกับประชาชนปาตานีในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการกำหนดชะตากรรมด้วยตนเอง

2. เพื่อให้ความสมบูรณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองที่เอื้ออำนวย ให้มีความก้าวหน้าและต่อเนื่อง

3. เพื่อเปิดพื้นที่และให้โอกาสแก่กลุ่มนักต่อสู้ปาตานีและภาคประชาชนแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และมีความรับผิดชอบร่วมกันในการตัดสินใจและกำหนดแนวทางการต่อสู้กับทางการที่โต๊ะเจรจา

4. เพื่อให้โอกาสการเข้ามาร่วมของผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ โดยให้การเสนอแนะในเรื่องทั่วๆ ไป เพื่อให้มีเสถียรภาพในข้อโต้แย้งที่อาจเกิดขึ้นโดยผู้เจรจาบนโต๊ะเจรจา

5. เพื่อสร้างความมั่นใจต่อสังคมนานาชาติในการให้การรับรองและช่วยเหลือนักต่อสู้ประชาชนมลายูปาตานี

MARA Patani

กัวลาลัมเปอร์ 27 สิงหาคม 2015

 

หมายเหตุ: เป็นฉบับแปลจากต้นฉบับภาษามลายู/อังกฤษอย่างไม่เป็นทางการโดยคณะทำงาน IPP

 

ภาพต้นฉบับภาษามลายู

 

 

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ

 

 

หมายเหตุ : ประชาไทได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เวลา 16.50 น. วันที่ 31 ส.ค.2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท