ผู้นำศาสนาในเปอร์โตริโก 'สู้เพื่อประชาชน' ประณามนโยบายบีบคั้นคนจน

เครือรัฐเปอร์โตริโกกำลังประสบปัญหาภาวะหนี้สินทำให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์และภาครัฐนำเสนอแผนการ 'รัดเข็มขัด' ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนยากจนในประเทศ ทำให้หัวหน้าบาทหลวงประจำกรุงซานฮวน เขียนจดหมายวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงมีข้อเสนอการจัดการหนี้สิน 6 ข้อ เพื่อคุ้มครองกลุ่มคนด้อยโอกาส

1 ก.ย. 2558 โรแบร์โต กอนซาเลซ เนียเวส หัวหน้าบาทหลวงประจำกรุงซานฮวนเมืองหลวงของเปอร์โตริโก ซึ่งถือเป็นผู้นำศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในเครือรัฐเปอร์โตริโกกล่าววิพากษ์วิจารณ์แผนการ "รัดเข็มขัด" และการปรับลดงบประมาณซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนจน

เปอร์โตริโกกำลังประสบปัญหาเรื่องหนี้สินและปัญหาการว่างงาน ทำให้มีคณะทำงานบางกลุ่มกำลังจะเสนอแผนการปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจต่อผู้ว่าการรัฐเปอร์โตริโกภายในหรือก่อนวันที่ 8 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งแผนงานดังกล่าวจัดทำโดยกลุ่มกองทุกเฮดจ์ฟันด์ที่ซื้อหนี้ของเปอร์โตริโกไว้และแผนงานอีกฉบับหนึ่งมาจากรัฐบาลของเปอร์โตริโกเอง

โดยแผนงานจากทั้ง 2 ส่วนแนะนำให้มีการ "รัดเข็มขัด" การคลังของรัฐเพื่อให้สามารถจ่ายหนี้บางส่วนได้ ซึ่งมีการให้รัฐลดรายจ่ายในส่วนที่ให้ประโยชน์แก่คนจนอย่างการลดอัตราค่าแรงขั้นต่ำรวมถึงการตัดงบประมาณโครงการสุขภาวะและโครงการด้านการศึกษา

หัวหน้าบาทหลวงเนียเวส ได้ส่งจดหมายให้กับรัฐบาลเปอร์โตริโกเพื่อวิจารณ์ในเรื่องนี้ โดยมีการอ้างอิงแนวคิดการบรรเทาหนี้สินจากคัมภีร์ไบเบิลและวิจารณ์กองทุนเอดจ์ฟันด์ว่าพยายามแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่กำลังลำบากรวมถึงบีบคั้นให้เศรษฐกิจของเปอร์โตริโกอยู่ในสภาพใกล้ล่มสลาย

เนียเวสระบุในจดหมายอีกว่า วิกฤตหนี้สินนี้ผลักให้ประชาชนชาวเปอร์โตริโกกลายเป็นคนจนเพิ่มมากขึ้นและทำให้ประชาชนต้องออกจากงานมากขึ้น ประชาคมศาสนาในเปอร์โตริโกจึงแสดงจุดยืนเรียกร้องให้กับกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาวิกฤตด้วยวิธีการที่จะสามารถคุ้มครองคนจนและทำให้เศรษฐกิจของเปอร์โตริโกเติบโตขึ้นได้

กลุ่มผู้นำทางศาสนาในเปอร์โตริโกยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโดยยึดหลักการ 6 ประการ ได้แก่ ไม่ควรใช้นโยบายรัดเข็มขัดที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวยากจนหรือประชาชนคนหนุ่มสาวที่เป็นกลุ่มคนด้อยโอกาส  ควรสร้างการลงทุนในหมู่ประชาชนชาวเปอร์โตริโก ควรมีการผ่อนผันหนี้ในระดับที่สามารถกลับมาสู่ในระดับที่ประคองตัวได้ ส่งเสริมให้นโยบายเน้นเรื่องความโปร่งใสทางกฎหมายและทางการคลัง เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและประชาชนในการแก้ไขปัญหาเพื่อเน้นคุ้มครองประชาชนชาวเปอร์โตริโก และให้ภาคส่วนศาสนารวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมมีส่วนร่วมด้วยการส่งตัวแทนเข้าไปโดยเฉพาะในภาคส่วนคนจนที่เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

อย่างไรก็ตามในจดหมายของกลุ่มศาสนาก็ระบุว่าพวกเขาเข้าใจในเรื่องที่รัฐบาลเปอร์โตริโกไม่ได้มีอำนาจในการจัดการเรื่องเศรษฐกิจได้ทั้งหมดเนื่องจากความซับซ้อนของสถานะความเป็นรัฐ เปอร์โตริโกไม่ได้เป็นประเทศที่มีอธิปไตยจึงไม่สามารถได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือความช่วยเหลือฉุกเฉินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อีกทั้งเปอร์โตริโกไม่ถูกนับเป็นรัฐหนึ่งหรือเมืองหนึ่งของสหรัฐฯ จึงไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายคุ้มครองการล้มละลายของสหรัฐฯ ได้ ทำให้พวกเขาเรียกร้องให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือเรื่องการจัดการหนี้สินให้เป็นไปตามหลักการ 6 ข้อของพวกเขาด้วย

หัวหน้าบาทหลวงในเปอร์โตริโกยังแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาคมที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันทั้งโลกอย่างกรีซ หรือ อาร์เจนตินา รวมถึงประเทศแถบภูมิภาคแคริบเบียน ซึ่งกำลังมีการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดและปัญหาความยากจนและภาระหนี้สินอยู่เช่นกัน

"พวกเราขอเรียกร้องให้นำเศรษฐกิจมารับใช้ประชาชน ไม่ใช่นำประชาชนไปรับใช้เศรษฐกิจ" หัวหน้าบาทหลวงในเปอร์โตริโกระบุในจดหมาย

 

เรียบเรียงจาก

'Fighting for Their People,' Puerto Rico's Faith Leaders Condemn Austerity, Common Dreams, 31-08-2015
http://www.commondreams.org/news/2015/08/31/fighting-their-people-puerto-ricos-faith-leaders-condemn-austerity

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท