Skip to main content
sharethis

จากกรณีที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)’ เผยแพร่ภาพป้ายชื่อห้อยคอที่มีข้อความ “N' ป๋วย แขวนตลอดเวลา จนกว่ารุ่นพี่จะสั่งถอด #ปี1” คล้องอยู่บนคออนุสาวรีย์ ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

ภาพจากเฟซบุ๊ก LLTD มีคำอธิบายประกอบภาพว่า 

"N'ป๋วย แขวนตลอดเวลาจนกว่ารุ่นพี่จะสั่งถอด #ปี1เนื่องจากมีการบังคับการห้อยป้ายชื่อในบางคณะ การห้อยป้ายชื่อโดยการบังคับนั้นเป็นนัยยะที่มองว่า"เพื่อนใหม่"ที่ถูกห้อยป้ายนั้นเป็นคนที่ต่ำต้อยกว่าจึงจำเป็นที่รุ่นพี่ต้องการวางอำนาจบาตรใหญ่ เพื่อบังคับ ควบคุม บงการวิถีชีวิตให้ ทั้งที่ทุกคนควรมีความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์และมีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกได้โดยใช้เหตุผลตัดสินด้วยตัวเอง ดังนั้นไม่ควรมีผู้ใดถูกดขี่และละเมิดสิทธิและเสรีภาพโดยการบังคับ ในนามของความอาวุโส #รักน้องอย่าบังคับน้อง"

พร้อมด้วยการแสดงความเห็นในโพสต์ดังกล่าวของเพจ LLTD ที่น่าสนใจ เช่น 

ผู้สื่อข่าว ‘ประชาไท’ ได้สอบถามไปยังนักศึกษาปี 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นสมาชิกกลุ่ม LLTD คนหนึ่งซึ่งไม่สะดวกเปิดเผยชื่อ-สกุล เขายอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้นำป้ายข้อความดังกล่าวไปแขวน และเปิดเผยถึงสาเหตุที่กระทำการดังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้คุยกับเพื่อนๆ เรื่องประเด็นระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีระบบนี้ไม่ชัดเจนเหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เป็นเพียงจุดย่อยๆ ในแต่ละคณะ แต่ภาพที่เห็นชัด คือการให้น้องปี 1 ต้องแต่งชุดนักศึกษา แขวนป้ายชื่อ ติดตราของคณะของภาควิชา โดยที่บางคนอาจไม่รู้สึกอะไร แต่ก็มีบางส่วนที่รู้สึกว่ามันมากเกินไป ตนเองจึงคิดว่าถ้าทำป้าย “N’ป๋วย” ไปแขวนที่อนุสาวรีย์มันจะสามารถสะท้อนอะไรได้หรือไม่

“รุ่นพี่จะมีความคิดหวังกับสิ่งที่เขาทำอย่างนี้ เขาอาจจะต้องการให้น้องรู้จักกัน ต้องการให้น้องรู้จักระเบียบ แต่ผมว่ารูปแบบที่จะทำให้น้องได้เรียนรู้มันมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้” นักศึกษาปี 1 ผู้แขวนป้าย “N' ป๋วย” กล่าว

เขายังกล่าวอีกว่า มีความคิดความเชื่อของคนจำนวนไม่น้อยที่ว่าเราโตขึ้นมา เราได้ดีขึ้นมาในมหาวิทยาลัยเพราะถูกว้าก ถูกบังคับให้แต่งตัว ถูกให้ทำโน่นนี่ เพราะฉะนั้นน้องๆ รุ่นต่อไปต้องทำเหมือนเรา สำหรับเขาตรรกะแบบนี้เป็นสิ่งไม่ถูกต้องและเป็นการผลิตซ้ำวิธีการที่ไม่ถูก เพราะวิธีการที่จะเรียนรู้เรื่องแบบนี้แต่ละคนล้วนมีวิธีการของตัวเองมากกว่าที่รุ่นพี่จะเอาวิธีการแบบเดียวกันเข้าไปยัดใส่ให้น้องๆ

เขาเปิดเผยอีกว่า บางคณะมีการให้นักศึกษาปี 1 แต่งชุดนักศึกษาตลอด 2 เทอม บางคณะมีการบังคับให้นักศึกษาปี 1 แขวนป้ายชื่อ แม้แต่นอกเวลาเรียนก็ต้องแขวน หากไม่ทำจะถูกพูดกดดันกัน

สำหรับข้อโต้แย้งที่ว่าการแขวนป้ายไม่ได้เป็นการกดขี่หรือสร้างภาระอะไร เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้คือการทำให้คนรู้จักกันง่ายขึ้นนั้น เขาเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคลในการจะบอกว่ามันหนักสำหรับคนคนนั้นหรือเปล่า จึงคิดว่าควรขึ้นอยู่กับตัวนักศึกษาผู้ที่ถูกสั่งให้แขวนป้ายมากกว่า ถ้ารู้สึกว่ามากเกินไปก็ต้องถือว่ามากเกินไป และคิดว่าความคาดหวังของน้องอาจจะต่างจากรุ่นพี่ หรือแม้อาจจะคาดหวังเหมือนกันแต่วิธีการให้ได้มาซึ่งเป้าหมายก็อาจจะไม่ใช่แบบที่รุ่นพี่ยัดเยียดให้ก็เป็นได้ ไม่ว่าจะการสนิทกับเพื่อนหรือการเข้าใจความเป็นคณะนั้นๆ อาจมีวิธีอย่างอื่นที่ไม่ต้องใช้การแขวนป้ายชื่อหรือแต่งชุดนักศึกษามาเรียนก็ได้

สำหรับเหตุที่เลือกใช้อนุสาวรีย์ป๋วยนั้น เขาให้เหตุผลว่า เพราะจุดดังกล่าวเป็นจุดที่เด่น หลายคนสามารถมองเห็นและน่าจะได้คิด ประกอบกับต้องการเผยแพร่ในเฟซบุ๊กเพื่อสร้างความสนใจ

“ตอนนี้รุ่นพี่หรือใครก็แล้วแต่กำลังมองน้องแบบว่างเปล่า ในสมองไม่มีเรื่องอะไรเลย ไม่มีความคาดหวัง ไม่มีความคิด ไม่มีความรู้ ไม่มีความต้องการอะไรทั้งสิ้น รุ่นพี่เขากำลังคิดว่าน้องที่เข้ามามันจะต้องรับไอ้สิ่งที่เขาคิดไปเท่านั้น ถ้าคุณคิดว่าน้องมันไม่มีความคิดอะไรที่จะจัดหาด้วยตัวเอง แล้วรุ่นพี่ต้องมายัด ในทางเดียวกัน ถ้าอาจารย์ป๋วยเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลที่มีความสามารถในมหาวิทยาลัย การที่เขาเป็นคนอย่างนั้น มันได้มาด้วยวิธีการที่รุ่นพี่จับยัดอย่างนั้นหรือเปล่า คือมันไม่ใช่จะมาด้วยวิธีการแบบนั้นเสมอไป” นักศึกษาปี 1 คนเดิมกล่าว

สำหรับข้อกังวลว่าการทำกิจกรรมดังกล่าวจะถูกมองว่าเป็นการลบหลู่ไม่ให้เกียรติอดีตอธิการบดีหรือไม่นั้น เขากล่าวว่า เรื่องรูปปั้นของบุคคลสำคัญไม่ว่าอาจารย์ปรีดี อาจารย์ป๋วย หลักๆ คือมีไว้เพื่อรำลึกถึงกิจกรรม ทัศนะและความต้องการของบุคคลเหล่านั้น และด้วยข้อความของฐานออนุสาวรีย์เองก็ไม่ต้องการทำให้รูปปั้นดังกล่าวเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นสิ่งที่น่าจะใช้เป็นจุดสัญลักษณ์เพื่อที่จะเอาไว้เรียนรู้ รวมทั้งลูกอาจารย์ป๋วยอย่าอาจารย์จอน อึ้งภากรณ์ เขาก็ไม่ได้ต้องการให้พ่อเขาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แทนที่จะทำให้อนุสาวรีย์ดังกล่าวเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ควรใช้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อใช้ในการเรียนรู้

เขากล่าวด้วยว่า ป้ายดังกล่าวนั้นหลังจากแขวนไป 20 นาที เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยก็เอาลงไป โดยที่ไม่มีการข่มขู่ ตักเตือนหรือว่ากล่าวอะไร

สำหรับข้อสงสัยที่ว่าเอาไปแขวนได้อย่างไรนั้น เขาเปิดเผยว่า ไม่ได้ปีนขึ้นไป แต่ใช้วิธีเอาไม้ต่อลวดนำไปแขวน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net