Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

คำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งสหรัฐ หมายเลข 14-556, 14-571 และ 14-574[1] สร้างปรากฏการณ์การถกเถียงเรื่องสิทธิการสมรสอย่างกว้างขวาง และสัมพันธ์กับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของบุคคลเพศหลากหลายไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งในประเทศไทยที่มีการหยิบประเด็นเรื่องความคืบหน้าในการเสนอร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …[2] ขึ้นมาอภิปรายร่วมกับความคืบหน้าในสังคมสหรัฐอเมริกัน

สาระสำคัญของคำพิพากษาแห่งศาลสูงในกรณีนี้ เป็นการวินิจฉัยเพื่อรับรองสิทธิในการสมรสและสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวสำหรับบุคคลทุกคน ซึ่งกลับแนวคำพิพากษาของศาลสูงในหลายมลรัฐ เช่น มลรัฐฮาวาย ที่เคยมีคำพิพากษายืนยันการยกเลิกผลการบังคับใช้รัฐบัญญัติปกป้องการสมรส (Defense of Marriage Act ; DOMA) ซึ่งกำหนดนิยามการสมรสเพื่อประโยชน์ของกฎหมายสหพันธรัฐว่า การสมรสเป็นการสมาคมตามกฎหมายระหว่างชายคนหนึ่งและหญิงคนหนึ่งในฐานะสามีและภริยาเท่านั้น[3] ให้สิ้นผล ด้วยเหตุผลที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเหยียดหยามการสมรสของบุคคลเพศหลากหลาย คำพิพากษาของศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกา จึงรับรองการรับรองการสมรสของบุคคลโดยผลของคำสั่งศาลและผลของกฎหมายซึ่งมีฐานอำนาจจากองค์กรนิติบัญญัติ

การสมรสในมโนทัศน์ของสหรัฐอเมริกา คือการเชิดชูคุณค่าของสถาบันครอบครัวและรับรองสิทธิตามกฎหมายที่คู่สมรสพึงได้จากการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น อันประกอบด้วย คุ้มครองสิทธิการสมรสสำหรับบุคคลทุกคนซึ่งนำไปสู่สิทธิในทางกฎหมายที่สืบต่อมาในหลายประการ ทั้งความรับผิดชอบที่รัฐต้องมีต่อบุคคลที่มาจากการสมรส การเก็บภาษี การสืบมรดกและสิทธิในการทรัพย์สิน กฎเกณฑ์การสืบสิทธิข้ามมลรัฐ เอกสิทธิ์ของคู่สมรสในกฎหมายว่าด้วยพยานหลักฐาน การเข้าถึงในโรงพยาบาล อำนาจหน้าที่การตัดสินใจในทางการแพทย์ สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม สิทธิประโยชน์ของผู้ยังมีชีวิต สูจิบัตรและมรณบัตร กฎเกณฑ์ว่าด้วยจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ข้อจำกัดการสนับสนุนทางการเงินแก่การรณรงค์หาเสียง ผลประโยชน์จากเงินทดแทนของคนงาน การประกันสุขภาพ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเลี้ยงดู การอุปการะและการเยี่ยมเยียนบุตร ตามระบบกฎหมายสหรัฐอเมริกา ซึ่งคำพิพากษาแห่งศาลสูงสหรัฐฉบับนี้ ได้ตีความขยายการสมรสให้เป็นการสมาคมสำหรับบุคคลทุกคน

ในระบบกฎหมายไทย สิทธิในการสมรสและสิทธิการก่อตั้งครอบครัว บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว[4]กำหนดหลักการสำคัญให้การสมรสที่สมบูรณ์ซึ่งรัฐรับรองจะมีขึ้นได้เมื่อเป็นการสมรสของชายและหญิงตามเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น คู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงจะได้รับรองสิทธิประการต่างๆ ตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติอื่นที่กำหนดสิทธิของคู่สมรสไว้ และแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540[5] มาตรา 30[6] ได้บัญญัติหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งเพศ[7] ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550[8] ได้รับรองหลักการดังกล่าวไว้เช่นเดียวกัน[9] แต่บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งเพศ ตามรัฐธรรมนูญ  เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555[10] เกิดกรณีนายทะเบียนที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ ปฏิเสธการรับจดทะเบียนสมรสต่อคู่รักเพศเดียวกันโดยออกหนังสือปฏิเสธการรับจดทะเบียนนั้น ซึ่งแสดงเหตุผลในการปฏิเสธว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน จึงไม่อาจรับจดทะเบียนสมรสให้ได้ เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการรับรองสิทธิของบุคคลเพศหลากหลาย โดยเฉพาะในสิทธิการสมรสและสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว ภาคประชาสังคมในประเทศไทยหลายองค์กรที่ปฏิบัติการในประเด็นสิทธิของบุคคลเพศหลากหลาย จึงมีความพยายามนำกรณีดังกล่าวผลักดันให้ฝ่ายนิติบัญญัติริเริ่มการพิจารณาเพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ตลอดจนเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้เกิดการรับรองสิทธิของบุคคลเพศหลากหลายขึ้น  คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จึงได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศขึ้น และมีการประชุมคณะทำงานฯดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 และมีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. … เพื่อการรับฟังความเห็นขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว  ทั้งนี้ ยังมีภาคประชาสังคมซึ่งปฏิบัติการประเด็นสิทธิของบุคคลเพศหลากหลายบางส่วนไม่เห็นด้วยต่อหลักการและร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มูลนิธิเพื่อสิทธิความเป็นธรรมทางเพศและเครือข่ายจึงนำเสนองานวิจัยบุคคลเพศหลากในระบบกฎหมาย[11]ซึ่งเสนอหลักการและแนวคิดเพื่อการยกร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …(ฉบับภาคประชาชน) ด้วยฐานสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ผ่านสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนการยกร่างกฎหมายโดยผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ในช่วงเดือนมกราคม 2557

แม้ในระบบกฎหมายไทยจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในการพัฒนาหลักการและแนวคิดเพื่อรับรองสิทธิของบุคคลเพศหลากหลายที่ยกระดับขึ้นสู่มาตรฐานขั้นต่ำด้านสิทธิมนุษยชนในศตวรรษที่ 21 ด้วยการผลักดันของภาคประชาชนไปยังหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะองค์กรผู้ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติ แต่ยังคงไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร อันเป็นผลกระทบจากปัจจัยสำคัญสามประการ ได้แก่ 1) แนวความคิดเรื่องเพศแบบ  ทวิลักษณ์ในสังคมไทยโดยเฉพาะในสถาบันหลักของชาติที่ยังคงกำหนดให้เรื่องเพศให้เป็นไปตามเพศโดยกำเนิด 2) หลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่ให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของมนุษยชนยังไม่ได้รับการสถาปนาเป็นแนวความคิดหลักของสถาบันหลักขององค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐในสังคมไทย และ 3) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย ที่มีการรัฐประการอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนในมิติของการตรากฎหมายที่ต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สิทธิการสมรสและสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวในระบบกฎหมายไทย นำมาสู่สิทธิประการอื่นที่เกี่ยวข้องกับบุคคลโดยตรง แม้ในข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ สังคมไทยมีบุคคลเพศหลากหลายใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน แต่ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ ซึ่งเป็นอุปสรรคโดยตรงในการเข้าถึงสิทธิประการต่างๆ ที่กฎหมายรับรอง ซึ่งแม้ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งฉบับ พุทธศักราช 2540 และ พุทธศักราช 2550 จะรับรองสิทธิของบุคคลเพศหลากหลาย แต่กฎหมายลำดับรอง อันได้แก่พระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีสภาพบังคับเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบยังไม่มีความคืบหน้าในการพิจารณาปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวที่บัญญัติไว้ในกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญ นำมาสู่อุปสรรคต่อบุคคลเพศหลากหลายในการดำเนินชีวิตหลายประการไม่เฉพาะแต่การไม่ได้รับการรับรองสิทธิการสมรสและสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีข้อจำกัดและสภาพปัญหา ซึ่งเป็นผลที่ระบบกฎหมายไทยยังคงอยู่ในกรอบความคิดจำแนกเพศแบบทวิลักษณ์

การรับรองการสมรสในฐานะสิทธิสำหรับบุคคลทุกคนเป็นไปตามกระแสแห่งโลกในศตวรรษนี้ จากปรากฏการณ์ที่จำนวนรัฐที่รับรองสิทธิดังกล่าวมีจำนวนมากขึ้นโดยลำดับ ประกอบด้วยบรรยากาศแห่งความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อสิทธิดังกล่าว ไปนำไปสู่การขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมเพื่อสร้างความเท่าเทียมของบุคคลทุกคนที่เกิดขึ้นเป็นขบวนการทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยที่สังคมเริ่มตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย ผ่านองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการว่าจะตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อประเด็นนี้อย่างไร

 

 

อ้างอิง

[1] ผู้เขียนอ้างอิงจากคำแปล Obergefell v. Hodges ภาษาไทย ซึ่งแปลโดยนายภควัต เหมรัชตานันท์ นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ สำนักกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

[2] ร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …. ที่มีการหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงนั้น มีทั้งร่างซึ่งเสนอโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และร่างฉบับภาคประชาชนซึ่งอยู่ในระหว่างการยกร่าง โดยการสนับสนุนตามกฎหมาย

[3] โปรดดู, คำแปล Obergefell v. Hodges ภาษาไทย หน้า 7

[4] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ครอบครัว เป็นไปตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2519

[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 และสิ้นผลลงด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

[6] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอภาคในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพร่างกาย สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้

[7] …อนุสัญญาระหว่างประเทศ

[8] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 และสิ้นผลลงด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557

[9] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอภาคในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการสภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม

[10] โปรดดู เอกสารออนไลน์ที่ http://www.thairath.co.th/content/282377 ข้อมูลปรากฏเมื่อวัน 25 สิงหาคม 2558

[11] สมชาย ปรีชาศิลปะกุล, บุคคลเพศหลากหลายในระบบกฎหมาย (Sexual Diversity in the Legal System) กรุงเทพฯ, กรกฎาคม 2556

 

 

จากบทความเดิมชื่อ มองสถานการณ์ของสิทธิการสมรสของบุคคลเพศหลากหลายในสังคมไทย ผ่านคำพิพากษาศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาในคดี Obergefell v. Hodges

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เว็บคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net