Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาพิพากษายืน ยกคำร้องคดีขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ วินิจฉัยกระบวนการพิจารณาชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย พยานรับฟังไม่ได้ คดีไม่มีมูล ทนายเชื่อไม่กระทบคดีอาญากรณีการหายตัวไปของบิลลี่

2 ก.ย. 2558 ที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีการขอให้ปล่อยตัว พอละจี รักจงเจริญ หรือ ‘บิลลี่’ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกคำร้องของผู้ร้อง

วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลพิจารณาในสองประเด็นคือ หนึ่ง ศาลวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 หลังรับคำร้องแล้ว ศาลต้องพิจารณาคำร้องผู้ร้องก่อนว่ามีมูลหรือไม่ กรณีนี้ศาลชั้นต้นยังไม่ได้ชี้ แต่เรียกสอบพยานคือ ชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาเลย กระบวนการพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สอง เมื่อพยานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถรับฟังได้ ศาลฎีกาจึงพิจารณาเฉพาะคำให้การของพยานคือ ภรรยา ผู้ใหญ่บ้านและนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่ภรรยาซึ่งเป็นผู้ร้องและผู้ใหญ่บ้าน เป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่เห็นเหตุการณ์จริง จึงรับฟังไม่ได้ ส่วน นพ.นิรันดร์ เป็นพยานแวดล้อมเท่านั้น ยังไม่สามารถรับฟังได้ คดีจึงไม่มีมูล ให้ยกคำร้อง

วราภรณ์กล่าวว่า คำพิพากษายกคำร้องนี้จะไม่กระทบต่อคดีอาญาที่อยู่ระหว่างสอบสวนการหายตัวไปของบิลลี่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะศาลวินิจฉัยเฉพาะกรณีที่มีการร้องว่ามีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบประเด็นเดียว

วราภรณ์ แสดงความเห็นว่า หากกระบวนการร้องตามมาตรา 90 บังคับได้ และการวินิจฉัยเป็นบวก จะเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับให้บุคคลสูญหายได้ เพราะขณะนี้ ยังไม่มีทางออกอื่น เนื่องจากไทยยังไม่มีกฎหมายความผิดฐานบังคับให้บุคคลสูญหาย การร้องตามมาตรา 90 จะเป็นช่องทางหาข้อเท็จจริงและป้องกันการคุมตัวโดยไม่ชอบได้

วราภรณ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ น.ส. พิณนภา หรือ มึนอ พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ ได้ยื่นคำร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้รับคดีของบิลลี่ไว้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน ซึ่งอยู่ระหว่างรอคำตอบว่า ดีเอสไอจะรับพิจารณาคดีหรือไม่

เธอระบุว่า หากดีเอสไอรับดำเนินคดีจะเป็นผลดีต่อการสืบสวน เนื่องจากมีอำนาจมากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปกติ โดยคดีนี้ผู้เกี่ยวข้องในคดีเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อาจทำอะไรไม่ค่อยได้และพยานมีความหวาดกลัว

ข้อมูลจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 58 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำร้อง ในคดีหมายเลขดำที่ พิเศษ 1/2557 ที่นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัว บิลลี่ จากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 มีใจความว่า จากการไต่สวนพยานทั้งปาก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัว บิลลี่ ไปแล้ว แม้คำเบิกความจะมีข้อแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดหาใช่ข้อสาระสำคัญอันเป็นพิรุธไม่  พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการคุมขังนายบิลลี่ไว้โดยไม่ขอบด้วยกฎหมาย คำร้องขอผู้ร้องจึงไม่มีมูล ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ซึ่ง พิณนภา ผู้ร้อง ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว จึงได้ยื่นฎีกาในประเด็นดังต่อไปนี้

1. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฯ มีความขัดแย้งกับ บิลลี่ ในกรณีการเผาทำลาย ไล่รื้อ บ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จึงอาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฯ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินคดี และนำไปสู่การควบคุมตัวนายบิลลี่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  อันอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของ บิลลี่

2. การพิสูจน์ว่า บิลลี่ ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วหรือไม่นั้น โดยหลักการรับฟังพยานหลักฐาน ภาระการพิสูจน์เป็นของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการควบคุมตัว ไม่ใช่ภาระการพิสูจน์ของญาติผู้ถูกควบคุมตัว และตุลาการจะต้องทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ถึงที่สุดว่า บิลลี่ ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วจริง เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกการจับ บันทึกของกลาง และบันทึกการปล่อยตัว จึงไม่อาจเชื่อได้ว่า บิลลี่ ได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว  และเชื่อได้ว่า บิลลี่ ยังคงอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฯ

3. พยานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับฟังล้วนแล้วแต่อยู่ใต้บังคับบัญชาและการดูแลของ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งเบิกความขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวนในประเด็นการปล่อยตัวนายบิลลี่อันเป็นข้อสำคัญในคดี  โดยพนักงานสอบสวนได้พบพยานหลักฐานใหม่ที่ยืนยันว่า นายบิลลี่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว จึงขอให้ศาลฎีกาไต่สวนพยานเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และมีสาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net