หนุ่มดัตช์ชนะรางวัลออกแบบเพื่อชุมชน-จากเครื่องมือดักขยะพลาสติกในทะเล

หนุ่มนักออกแบบชาวดัตช์คว้ารางวัลงานออกแบบที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นประจำปี 2558 ในสาขางานออกแบบเพื่อชุมชนจากผลงานเครื่องกำจัดขยะพลาสติกในทะเล โดยที่มีเป้าหมายทดลองเครื่องดังกล่าวภายในปีหน้าท่ามกลางข้อกังขาจากนักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาทางทะเลที่มองว่าปัญหาขยะพลาสติกซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขได้ด้วยเครื่องนี้

เครื่องมือทำความสะอาดมหาสมุทร ผลงานของโบยาน สแลต (ที่มา: deignboom.com)

 

2 ก.ย. 2558 - โบยาน สแลต วัยรุ่นชาวดัตช์อายุ 20 ปี ชนะรางวัล 'อินเด็กซ์ : อวอร์ด' ประจำปี 2558 ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับงานออกแบบที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น จากผลงานเครื่องมือทำความสะอาดมหาสมุทร (Ocean cleanup array) ในสาขางานออกแบบเพื่อชุมชน

ในขณะที่มหาสมุทรกำลังประสบปัญหามีขยะชิ้นส่วนพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ราว 8 ล้านตันต่อปี เครื่องมือทำความสะอาดมหาสมุทรของสแลตก็เป็นเครื่องมือชิ้นแรกที่สามารถทำความสะอาดทะเลให้ปราศจากสิ่งปนเปื้อนจำพวกพลาสติกโดยอาศัยวิธีการหมุนเวียนกระแสน้ำตามธรรมชาติ

โดยแทนที่จะใช้เรือออกไปตามกำจัดขยะ สแลตใช้วิธีวางเครื่องมือแนวดักจับรูปตัววีไปตามกระแสคลื่นของทะเลเมื่อคลื่นน้ำเคลื่อนผ่านแนวดักจับดังกล่าวจะมีการดักเอาเศษพลาสติกเอาไว้ได้เพื่อส่งมันไปสู่ที่เก็บกักและนำไปกำจัดในภายหลัง ในขณะเดียวกันเครื่องมือนี้จะส่งผลต่อกระแสน้ำในระดับตื้นๆ เท่านั้น กระแสน้ำในระดับลึกลงไปจะไหลผ่านเป็นปกติทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล

นอกจากนี้เครื่องมือทำความสะอาดมหาสมุทรของสแลตกมีระบบที่สามารถปฏิบัติการได้ด้วยตัวเองโดยการอาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์และกระแสคลื่น เครื่องมือแต่ละชิ้นยังมีขนาดใหญ่ครอบคลุมหลายล้านตารางกิโลเมตร

รางวัล 'อินเด็กซ์ : อวอร์ด' ซึ่งเป็นรางวัลจากองค์กรไม่แสวงหากำไรสัญชาติเดนมาร์กระบุว่าที่พวกเขาให้รางวัลแก่ผลงานของสแลตเนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นผลงานออกแบบที่พูดถึงปัญหาที่สำคัญมากของโลก โดยไม่เพียงแค่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมหรือความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อเรื่องการพัฒนาสุขภาวะของมนุษย์โดยการลดสารปนเปื้อนจากพลาสติกด้วย

โดยการประกาศรางวัลดังกล่าวนี้ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากผลงานของสแลตแล้วยังมีผลงานที่ได้รับรางวัลในสาขาอื่นๆ เช่น แอพพลิเคชั่นสอนภาษาชื่อ 'ดูโอลิงโก' (Duolingo) ซึ่งได้รางวัลในสาขาการเรียนรู้และการเล่น เครื่องมือทำน้ำสะอาดด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ชื่อ 'เดโซเลเนเตอร์' (Desolenator) ซึ่งชนะรางวัลขวัญใจมหาชน

 

การวิจารณ์จากนักวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตามเครื่องมือดังกล่าวนี้ยังไม่ถูกนำมาใช้จริง สแลตวางแผนจะให้มีการทดลองใช้กับมหาสมุทรแถบคาบสมุทรเกาหลีภายในปี 2559 แต่กลุ่มประชาคมนักวิทยาศาสตร์โดยส่วนใหญ่ยังคงกังขาว่าเครื่องมือนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ รวมถึงยังคงกังวลในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เคธ อัลเลน ผู้อำนวยการด้านการศึกษามหาสมุทรจากสถาบันวิจัยมหาสมุทรอัลกาลิตากล่าวว่า ความพยายามกำจัดพลาสติกออกจากท้องทะเลเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากจนเป็นการยากที่เครื่องมือประกอบสร้างโดยมนุษย์จะนำมาใช้ได้สำเร็จ เธอเปรียบเทียบว่าความพยายามของสแลตเปรียบเสมือน "การนำเลื่อยไฟฟ้าไปผ่าตัดเนื้องอก"

อัลเลนคิดว่าเครื่องมือของสแลตจะไม่สามารถดักจับพลาสติกขนาดเล็กมาก (microplastics) ได้และอาจจะไม่สามารถรับมือกับขยะชิ้นใหญ่อย่างทุ่นจับปลาได้ด้วย อีกทั้งยังอาจจะเป็นไปได้ที่เครื่องมือของเขาจะมีสิ่งมีชีวิตอย่างเพรียงทะเลมาติดเว้นแต่จะมีการทางเคลือบเครื่องมือด้วยสิ่งที่กำจัดสารอินทรีย์

 

เรียบเรียงจาก

INDEX: award 2015 winners revealed, Designboom, 27-08-2015 http://www.designboom.com/design/index-award-2015-winners-08-27-2015/

A Dutch Student’s Giant Ocean Cleanup Machine Is Going Into Production, Takepart, 09-06-2015 http://www.takepart.com/article/2015/06/09/pacific-garbage-patch-could-meet-its-match-2016

ข้อมูลการประกวด INDEX: AWARD 2015 http://designtoimprovelife.dk/category/award2015/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท