Skip to main content
sharethis

4 ก.ย. 2558 จากรายงานข่าวของสำนักข่าวสกายนิวส์ระบุถึงคำให้การของ ซอ ลิน หนึ่งในแรงงานชาวพม่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นฆาตกรว่าเขาถูกทารุณกรรมให้ยอมสารภาพด้วยการปิดตา เปลือยกายเขาในห้องเย็น ใข้ถุงพลาสติกครอบหัวแล้วถามซ้ำๆ ว่าเขาเป็นคนฆ่าใช่หรือไม่ นอกจากนี้ยังถูกทุบตีและถูกขู่ฆ่าเอาศพไปทิ้งทะเลถ้าหากเขาไม่ยอมพูดว่าตัวเองเป็นฆาตกร

ซอ ลิน กล่าวให้การต่อศาลว่าเขาตื่นขึ้นมาในตอนเช้าของวันที่ 2 ต.ค. 2557 โดยที่มีชาย 10 คนเข้ามาในที่พักของเขาที่อยู่ร่วมกับคนงานคนอื่นก่อนที่ชายเหล่านั้นจะเตะเขา ตบหน้าเขา แล้วถามว่า "แกฆ่าใช่ไหม" เมื่อซอ ลิน ปฏิเสธเขาก็ถูกทำร้ายอีก

ทั้ง ซอ ลิน และ วิน ซอ ตัน เป็นแรงงานข้ามชาติที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีข่มขืนและฆาตกรรม ฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ วัย 23 ปี และฆาตกรรม เดวิด มิลเลอร์ วัย 24 ปี ทั้งสองเป็นนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่ถูกฆาตกรรมที่เกาะเต่าเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว พวกเขาเปิดเผยว่าหลังจากถูกทารุณกรรม ในที่สุดพวกเขาก็ยอมบอกว่าตัวเองเป็นฆาตกรเมื่อเจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าหากเขายอม "สารภาพ" พวกเขาจะเข้าคุกแค่ 4-5 ปี แต่ถ้าไม่จะถูกฆ่าทิ้งทะเล

ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วที่การสืบสวนและการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสองได้รับความสนใจและได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่เกรงว่าผู้ต้องหาทั้งสองอาจตกเป็นแพะรับบาป จากที่ ซอ ลิน และวิน ซอ ตัน ซึ่งเคยยอมรับสารภาพในเบื้องต้นพวกเขาได้ขอถอนคำรับสารภาพในเวลาต่อมาโดบบอกว่าพวกเขาถูกทารุรกรรมให้รับสารภาพ

ในการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา มีกลุ่มทนายนักสิทธิมนุษยชรวมถึงคิงส์ลีย์ แอบบอตต์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายจากองค์กรคณะกรรมาธิการลูกขุนระหว่างประเทศ (International Commission of Jurists) เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีด้วย รวมถึงแม่ของผู้ต้องหาทั้ง 2 คน โดยแม่ของซอ ลิน วิ่งออกจากศาลเพื่อไปอาเจียนในขณะที่ลูกของเธอกำลังให้การอยู่

แอบบอตต์กล่าวว่า ถ้าหากสิ่งที่ผู้ต้องหาให้การในชั้นศาลเป็นความจริง การบังคับขู่เข็ญและทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาให้รับสารภาพเพราะเกรงกลัวถูกเอาชีวิตจะถือเป็นการทารุณกรรมหรือการทรมานตามนิยามของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention Against Torture)

 

 

เรียบเรียงจาก

Backpacker Accused: I Was Tortured Naked, Sky News, 02-09-2015

Suspect in British backpacker murder trial describes Thai 'police torture', The Telegraph, 02-09-2015

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net