Skip to main content
sharethis
สื่อเผย "โดนัลด์ ทรัมพ์" จ้างแรงงานต่างด้าวนับพัน แม้จะชูนโยบายปกป้องตำแหน่งงานให้ชาวอเมริกัน
 
1 ส.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โดนัลด์ ทรัมพ์ มหาเศรษฐีคนดังชาวสหรัฐฯ เจ้าของเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส และเป็นหนึ่งในผู้ชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันเพื่อลงรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ซึ่งชูนโยบายปกป้องตำแหน่งงานให้กับชาวอเมริกัน แต่ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หนึ่งในบริษัทของเขา Mar-a-Lago รีสอร์ทในฟลอริดากลับยื่นหนังสือเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าว 70 คนเพื่อมาทำงานครัว, งานเสิร์ฟ และทำความสะอาด จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ บริษัทของ ทรัมพ์ ได้ยื่นหนังสือขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างน้อย 1,100 คน เพื่อทำงานด้วยวีซ่าชั่วคราวนับแต่ปี 2000 และคำร้องส่วนใหญ่ได้รับการอนุมัติจากทางการ รวมถึงการร้องขอวีซ่าให้กับนายแบบและนางแบบจากต่างชาติกว่า 250 คน
 
ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อเพื่อขอความเห็นจากทั้งฝ่ายรณรงค์เลือกตั้งของทรัมพ์ และทนายความของทรัมพ์ แต่ทั้งสองฝ่ายปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น ขณะที่รีสอร์ทดังในฟลอริดาทางรอยเตอร์สยังไม่สามารถติดต่อเพื่อขอความเห็นได้ การวิเคราะห์ประวัติของทรัมพ์ซึ่งนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาตลอดมีขึ้นหลังจากที่เขาเสนอเป็นตัวแทนของแรงงานอเมริกันซึ่งหน้าที่การงานกำลังถูกคุกคามโดยแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายและการย้ายฐานการผลิตไปนอกประเทศ
 
"ผมจะเอางานจากจีน, เม็กซิโก และที่อื่นๆ กลับมา ผมจะเอาการจ้างงานและเงินของเรากลับคืนมาให้" ทรัมพ์กล่าวในการประกาศตัวลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน
 
ขณะเดียวกันทรัมพ์ยังเรียกเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางด้วยการกล่าวให้ร้ายชาวเม็กซิโกว่า "พวกเขาเอายาเสพติด, อาชญากรรมเข้ามา พวกเขาเป็นพวกนักข่มขืน" ทั้งนี้การให้ปาฐกถาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ทรัมพ์ พยายามชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย และกล่าว่า ชาวเม็กซิกันที่ทำงานโดยถูกกฎหมายนับพันๆ คนเป็นคนที่ยอดเยี่ยมและได้ทำงานให้กับเขามานานหลายปี
 
"แองเจลิน่า โจลี่" เยี่ยมแรงงานหญิงในโรงงานเมียนมา พร้อม "อองซาน ซูจี"
 
1 ส.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า แองเจลิน่า โจลี่ ดาราดังและผู้แทนพิเศษของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติร่วมเดินทางกับผู้นำฝ่ายค้านของเมียนมา อองซาน ซูจี เพื่อเยี่ยมชมสภาพการทำงานของแรงงานหญิงในโรงงานของเมียนมา
 
โจลี่ และ ซูจี ได้เดินทางไปเยี่ยมแรงงานเหล่านี้ในเขตอุตสาหกรรมรอบนอกของย่างกุ้งเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา ซึ่งทั้งคู่ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของแรงงานเหล่านี้ด้วยตนเอง และพวกเธอยังได้เดินทางเข้าชมโรงงานอีกด้วย ก่อนหน้านี้ โจลี่ ได้เดินทางไปยังรัฐคะฉิ่นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งในพื้นที่แห่งนี้มีผู้คนผลัดถิ่นอาศัยอยู่นับหมื่นคน หลังข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกองกำลังของชนกลุ่มน้อยสิ้นผลไปตั้งแต่ปี 2011
 
ทั้งนี้จากรายละเอียดการเดินทางของ โจลี่ เธอน่าจะไม่ได้เดินทางไปยังรัฐยะไข่ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวมุสลิมโรฮีนจานับแสนคนที่ต้องใช้ชีวิตเยี่ยงพลเมืองชั้นสองบางส่วนต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์และต้องลอยเรืออยู่กลางทะเลเป็นเวลานานโดยไม่มีใครเหลียวแล จนเกิดกระแสกดดันจากนานาชาติในประเทศในภูมิภาคยื่นมือเข้าช่วยเหลือ
 
“เน็ตฟลิกซ์” ใจดีให้ พนักงานลาคลอด-ดูแลลูก 1 ปี
 
4 ส.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าบริษัทเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตวิดิโอและดีวีดียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ “เน็ตฟลิกซ์”ประกาศอนุญาตให้พนักงานทั้งชาย-หญิงสามารถลาคลอดและดูแลลูกอยู่บ้านได้เป็นเวลา 1 ปี พร้อมทั้งจ่ายเงินเดือนให้ ทั้งนี้ เน็ตฟลิกซ์หนึ่งในบริษัทในย่านซิลิคอนแวลลีย์ ขึ้นชื่อเรื่องความใจกว้าง นอกจากประกาศสิทธิ์ดังกล่าวของพนักงานแล้ว ที่บริษัทยังมีอาหารให้รับประทาน 3 มื้อฟรี พร้อมเงินพิเศษที่อุดหนุนพนักงานนอกเหนือจากเงินเดือนที่สูงอยู่แล้ว โดยกลยุทธ์นี้ของบริษัทมีขึ้นเพื่อกดดันให้บริษัทเทคโนโลยีอื่นๆของสหรัฐปฏิบัติต่อพนักงานในแบบเดียวกัน และเพื่อเป็นการดึงบุคคลที่มีความสามารถให้เข้ามาทำงานกับเน็ตฟลิกซ์
 
นายทาวนี ครานซ์ เจ้าหน้าที่ด้านดูแลทรัพยากรบุคคลกล่าวว่า เน็ตฟลิกซ์ยังคงเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการปรับตัว และสามารถรักษาบุคคลากรที่มีความสามารถไว้ในองค์กรได้ และจากประสบการณ์ของบริษัทพบว่า พนักงานจะทำงานได้ดีกว่า หากไม่มีความกังวลเรื่องภาระทางบ้าน โดยกฎที่ออกมาใหม่นี้จะครอบคลุมพนักงานจำนวนกว่า 2,000 คน เน็ตฟลิกซ์ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองลอส เกตอส รัฐแคลิฟอร์เนีย ยังให้พนักงานเป็นผู้ร่วมถือหุ้นในบริษัท โดยในเรื่องรายได้ จะมีค่าตอบแทนเริ่มตั้งแต่ 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง (525 บาท) ไปจนถึงเหล่าวิศวกรซอฟท์แวร์ที่มีรายได้เฉลี่ยปีละ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ (7 ล้านบาท)
 
สหภาพแรงงานและแรงงานเวียดนามเห็นต่างเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงปีหน้า
 
6 ส.ค. 2015 สหภาพแรงงานไม่สามารถตกลงร่วมกับกลุ่มธุรกิจได้เรื่องการขึ้นค่าแรงในปี 2016 เนื่องจากภาคธุรกิจมองว่าส่วนเพิ่มที่เสนอนั้นสูงเกินไป สมาพันธ์แรงงานเวียดนามยื่นเสนอให้เพิ่มค่าแรงประมาณร้อยละ 16-18 หรือระหว่าง 2.15-3.1 ล้านด็องต่อเดือน (ราว 3,400- 5,000 บาท) ในขณะที่ภาคธุรกิจต้องการให้เพิ่มแค่ร้อยละ 6-7
 
Hoang Quoc Phong รองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม ได้เสนอการขึ้นค่าแรงร้อยละ 10 แต่ขณะนี้เห็นว่าร้อยละ 6-7 ก็เป็นที่ยอมรับได้ เนื่องจากขณะนี้ ธุรกิจหลายด้านกำลังอยู่ในความฝืดเคือง และการเพิ่มค่าแรงตามข้อเสนอจะเป็นการผลักภาระมากเกินไป ด้าน Mai Duc Chinh รองประธานสภภาพกล่าวว่า หากได้เพิ่มค่าแรงตามข้อเสนอ จะช่วยให้แรงงานสามารถใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นได้ร้อยละ 89 ที่ขณะนี้อยู่ร้อยละ 75
 
กลุ่มสิทธิมนุษยชนจีน พบแรงงานผิดกฎหมายชาวเวียดนาม ในโรงงานแถบทะเลจีนใต้อื้อ ผลจากเศรษฐกิจจีนตกต่ำ
 
6 ส.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าพบมี 6 โรงงานในภูมิภาคทะเลจีนใต้ที่ใช้แรงงานผิดกฎหมายมาจากเวียดนามอย่างแพร่หลาย เช่นเดียวกับแรงงานผิดกฎหมายชาวเมียนมาและลาว ที่พอมีให้เห็น ทั้งนี้ นายจ้างสนับสนุนคนงานให้สร้างบัตรประจำตัวเท็จ และบางครั้งยังมีการกักตัวส่งรวมไปอยู่ในโรงงาน ป้องกันให้พ้นการตรวจตราของกลุ่มสิทธิมนุษยชนขอทางการจีน หรือที่รู้จักกันในนาม snakehead โดยการทำงานของกลุ่มควบคุมผลประโยชน์การค้าของชาวเวียดนาม ทั้งคนงานและนายหน้าแรงงาน กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนที่ตกต่ำในปัจจุบันทำให้เจ้าของโรงงานต้องเผชิญกับตัวเลือก ระหว่างเส้นทางการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีค่าจ้างเพิ่มขึ้น หรือการจ่ายเงินแก่กลุ่ม snakehead เพื่อลักลอบนำแรงงานต่างชาติที่มีราคาถูกกว่าที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเป็นเรื่องง่ายกว่า ทำให้พบแรงงานผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก
 
พนักงานรถไฟลอนดอนนัดหยุดงานประท้วงนโยบายเดินรถ 24 ชั่วโมงในช่วงสุดสัปดาห์
 
6 ส.ค. 2015 พนักงานรถไฟใต้ดินกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษหยุดงานประท้วงครั้งที่ 2 ภายในเดือนเดียว หลังไม่เห็นด้วยกับแผนการเดินรถฉบับใหม่ที่กำหนดให้มีการเดินรถตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงสุดสัปดาห์
 
การหยุดงานประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 18.30 นาฬิกาของวันพุธที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นและจะกลับมาให้บริการอีกครั้งในเช้าวันศุกร์ ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานและนักท่องเที่ยวนับล้านคนภายในประเทศ
 
ทั้งนี้ในการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐบาลและตัวแทนพนักงาน ที่เรียกร้องขอเพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการหากรัฐบาลกำหนดให้มีการเดินรถตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงสุดสัปดาห์ แต่ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้รับการอนุมัติแต่อย่างใด
 
ด้านนายบอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีเมืองลอนดอนกล่าวว่า แผนการเดินรถฉบับใหม่มีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ทำงานเลิกดึก และไม่จำเป็นต้องนั่งรถบัสที่ล่าช้าทั้งนี้ แผนการเดินรถฉบับใหม่จะเริ่มใช้ในเดือนกันยายนปีนี้ โดยกำหนดมีบริการรถไฟใต้ดินตลอด 24 ชั่วโมงในคืนวันศุกร์และวันเสาร์
 
สหรัฐออกกฎบริษัทเผยสัดส่วนค่าจ้างเฉลี่ยตั้งแต่ระดับหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารไปจนถึงพนักงานระดับล่าง
 
6 ส.ค. 2015 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง รับรองกฎใหม่ที่กำหนดให้บริษัทในสหรัฐเปิดเผยค่าจ้างเฉลี่ยตั้งแต่ระดับหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารไปจนถึงพนักงานระดับล่าง โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2017 เป็นต้นไป
 
กฎใหม่นี้ เป็นที่ถกเถียงในสหรัฐมาหลายปีแล้ว ซึ่งมักจะจุดประเด็นขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่คัดค้าน ก่อนที่สภาคองเกรสจะรับรองเป็นกฎหมายเมื่อปี 2010 เพื่อหวังควบคุมการปล่อยกู้ของธนาคารหลังเกิดวิกฤติทางการเงิน ขณะที่กลุ่มธุรกิจ รวมถึงหอการค้าสหรัฐออกมาคัดค้านกฎใหม่นี้โดยอ้างว่าทำให้ยุ่งยากต่อการดำเนินการส่วนสหภาพแรงงานและสมาชิกพรรคเดโมแครตในสภาต่างสนับสนุนกฎนี้ โดยบอกว่าจะช่วยบังคับให้คณะกรรมการบริหารของบริษัทควบคุมค่าจ้างของบรรดาผู้บริหารมากขึ้น
 
คนงานไอโฟนเสียชีวิตคาสายการผลิต
 
8 พ.ค. 2015 เกิดเหตุพนักงานชาย วัย 28 ปี ของโรงงานฟ็อกซ์คอนน์ บริษัทรับจ้างผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในโลก เสียชีวิตขณะทำงานภายในโรงงานในเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนานของจีน ทำให้ทางการต้องเข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติต่อแรงงานของบริษัทแห่งนี้
 
ด้านไชน่า เลเบอร์ วอทช์ องค์กรไม่แสวงผลกำไรในนครนิวยอร์กของสหรัฐ เปิดเผยว่าสาเหตุการเสียชีวิตของชายคนนี้อาจเป็นการฆ่าตัวตาย แต่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างอิสระ ส่วนบริษัทฟ็อกซ์คอนน์เองก็ยังไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตของพนักงานรายนี้ เมื่อ 6 ปีที่แล้วบริษัทแห่งนี้เคยถูกตรวจสอบการปฏิบัติต่อแรงงาน หลังเกิดเหตุฆ่าตัวตายและอุบัติเหตุหลายครั้งในโรงงานที่ผลิตไอโฟนและไอแพดในจีน
 
ทั้งนี้ ฟ็อกซ์คอนน์ หรือที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ "หองไห่ พรีซิชัน อินดัสทรี" รับจ้างผลิตไอโฟนจำนวนมากให้กับยักษ์ใหญ่ "แอ๊ปเปิ้ล" ในโรงงานที่เมืองเจิ้งโจว ซึ่งจ้างพนักงานมากกว่า 200,000 คน และการเสียชีวิตของพนักงานหนุ่มรายนี้ยิ่งตอกย้ำถึงความยากลำบากในการบริหารจัดการแรงงานที่มีกว่า 1 ล้านคนในจีนของฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทดังกล่าวได้พยายามปรับปรุงเงื่อนไขการทำงาน ขึ้นค่าจ้าง และออกมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตาย หลังถูกวิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มแรงงาน
 
สหรัฐเผยจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่ม 215,000 ตำแหน่ง สอดคล้องคาดการณ์
 
10 ส.ค. 2015 กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 215,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 5.3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย.2008 นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 215,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. และอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ 5.3% นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ทบทวนตัวเลขการจ้างงานในเดือน มิ.ย.และ พ.ค. โดยปรับเพิ่มขึ้น 14,000 ตำแหน่งจากที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน กระทรวงระบุว่า รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงของแรงงานเพิ่มขึ้น 5 เซนต์ หรือ 0.2% สู่ระดับ 24.99 ดอลลาร์ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. หากเทียบรายปี รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงของแรงงานพุ่งขึ้น 2.1%
 
มาเลเซียเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรม มิ.ย.ขยายตัว 4.3% เทียบรายปี
 
10 ส.ค. 2015 สำนักงานสถิติแห่งชาติของมาเลเซียเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซียขยายตัว 4.3% ในเดือน มิ.ย. จากปีก่อนหน้านี้ เนื่องจากได้แรงหนุนจากกิจกรรมภาคเหมืองแร่และภาคการผลิต ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวขึ้น 4.1% เมื่อเทียบรายปี ส่วนในเดือน พ.ค. ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ซึ่งเป็นมาตรวัดผลผลิตจากโรงงาน เหมืองแร่ และโรงงานไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 4.5% จากปีก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ผลผลิตจากภาคการผลิตปรับตัวขึ้น 4.9% จากปีก่อนหน้านี้ ขณะที่กิจกรรมภาคเหมืองแร่ขยายตัว 4.0% ในเดือน มิ.ย. ส่วนภาคการไฟฟ้าหดตัวลง 2.3% เมื่อเทียบรายปี เมื่อเทียบรายเดือนหลังปรับตามฤดูกาลแล้ว ตัวเลขภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 2.5% ขณะที่ภาคเหมืองแร่และการไฟฟ้าหดตัว 3.7% และ 2.0% ตามลำดับ
 
พนักงานรถไฟใต้ดินกรุงลอนดอนเตรียมสไตรค์อีก
 
11 ส.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ว่า พนักงานรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอน ประกาศผละงานสไตรค์อีก 2 วัน ในปลายเดือนนี้ คาดว่าจะสร้างความโกลาหลแก่ประชาชนที่ใช้บริการอีกรอบ จากผลพวงของข้อพิพาทเกี่ยวกับการวิ่งรถไฟตลอดทั้งคืน โดยโฆษกสหภาพแรงงานการรถไฟเรือโดยสารและการขนส่ง (อาร์เอ็มที) ของอังกฤษ ประกาศเมื่อวันอังคารว่าพนักงานรถไฟโดยสารใต้ดินในมหานครลอนดอน จะผละงานประท้วงเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตั้งแต่คืนวันที่ 25 ส.ค. และคืนวันที่ 27 ส.ค. พนักงานรถไฟใต้ดินกรุงลอนดอน ผละงานประท้วง 2 ครั้งแล้ว ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เพื่อประท้วงแผนการเริ่มวิ่งรถไฟให้บริการตลอดทั้งคืน ในช่วงสุดสัปดาห์ ตั้งแต่เดือน ก.ย. โดยสมาชิกสหภาพอาร์เอ็มทีไม่พอใจเกี่ยวกับค่าแรง และตารางเวลาวิ่งรถไฟตามบริการใหม่ การผะงานประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ระบบรถไฟใต้ดินกรุงลอนดอนต้องปิดให้บริการทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการจำนวนมหาศาล ทั้งนี้ ตามปกติระบบรถไฟใต้ดินกรุงลอนดอน ให้บริการผู้เดินทางสัญจรประมาณ 4 ล้านคน ในแต่ละวันทำการธุรกิจ
 
เกิดระเบิดครั้งใหญ่หลายระลอกในเขตอุตสาหกรรมทางเหนือของจีน ตาย-เจ็บจำนวนมาก
 
12 ส.ค. 2015 บีบีซี รายงานว่า เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่หลายหน ที่นครเทียนจิน ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางภาคเหนือของประเทศจีน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายราย สื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า เหตุระเบิดต่อเนื่องเกิดขึ้น เพราะมีสินค้าที่เป็นสารตั้งต้นระเบิดในท่าเรือติดไฟขึ้นมา เมื่อเวลา 23.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยหลังจากที่มีการระเบิดครั้งแรก ที่มีความรุนแรงเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นที 3 ตัน เหตุระเบิดครั้งที่สอง ที่มีความรุนแรงเทียบได้กับระเบิดทีเอ็นที 21 ตัน ก็เกิดขึ้นตามมาในอีก 30 วินาทีให้หลัง ก่อนจะมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงอีกหลายครั้ง ซึ่งจนถึงขณะนี้ เพลิงที่เกิดจากเหตุระเบิดยังคงลุกไหม้อยู่
 
ภาพและวิดีโอที่ถูกแชร์ในโซเชียลมีเดียหลังจากนั้นแสดงเหตุการณ์ที่เปลวไฟจากเหตุระเบิดลุกโชนขึ้นไปถึงท้องฟ้า ขณะที่อาคารใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุก็ได้รับความเสียหายและประสบกับสถานการณ์ไฟฟ้าดับ ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ห่างจากสถานที่เกิดเหตุราว 2-3 กิโลเมตร สามารถรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของการระเบิด
 
สื่อจีนรายงานอีกว่า มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างน้อยที่สุด 300 คน ที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ขณะเดียวกัน ประชาชนที่ตื่นตระหนกจำนวนมากต่างพากันออกมารวมตัวกลางถนน
 
มีรายงานเพิ่มเติมว่ามีเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงจำนวนสองคนที่ขาดการติดต่อหลังเข้าปฏิบัติภารกิจดับเพลิงจากเหตุระเบิด นอกจากนี้ มีอีก 4 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บ
 
ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจของจีน ได้มุ่งเน้นการปฏิบัติภารกิจไปที่การค้นหาผู้ได้รับบาดเจ็บและการกู้ภัย มากกว่าการดับไฟที่เกิดจากเหตุระเบิด เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการให้สารเคมีในระเบิดได้เผาไหม้อย่างสมบูรณ์แบบไปเสียก่อน อย่างไรก็ตาม มีความวิตกกังวลว่า กระแสลมที่พัดแรงในพื้นที่ อาจส่งผลให้เกิดเหตุระเบิดซ้ำขึ้นอีกได้
 
ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องต่างมีสมมุติฐานคล้ายคลึงกันว่า เหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ถือเป็นอุบัติเหตุในทางอุตสาหกรรมโดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่าจุดเริ่มต้นของเหตุระเบิดเกิดขึ้น ณ คลังสินค้า ที่ใช้จัดเก็บสินค้าอันตราย ในพื้นที่พัฒนาปินไห่นครเทียนจิน
 
ตะลึงนักศึกษาฝึกงานสหประชาชาติไม่มีเงิน ต้องกางเต๊นท์นอนริมทะเลสาบในนครเจนีวา
 
12 ส.ค. 2015 นโยบายไม่จ่ายค่าแรงให้กับนักศึกษาฝึกงานขององค์การสหประชาชาติ กำลังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังข่าวนายเดวิด ไฮด์ นักศึกษาฝึกงานจากนิวซีแลนด์ ต้องกางเต๊นท์นอนริมทะเลสาบในนครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ เพราะไม่มีเงินพอสำหรับค่าเช่าห้องที่แพงลิบลิ่ว
 
ซาบีน บัตเชกา ประธานสมาคมนักศึกษาฝึกงานในนครเจนีวาระบุว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลกแม้แต่น้อย เพราะทุกวันทางสมาคมได้รับการติดต่อจากนักศึกษานานาชาติเพื่อขอความช่วยเหลือ เช่นที่พักราคาถูก และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งแม้แต่ตัวประธานสมาคมเองก็แทบชักหน้าไม่ถึงหลัง เนื่องมาจากการฝึกงานแบบไม่ได้ค่าแรงในเมืองทีค่าครองชีพสูงลิบลิ่ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีกรณีนักศึกษาฝึกงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ต้องอาศัยนอนในชั้นใต้ดินของสำนักงานมาแล้ว
 
ทางสหประชาชาติระบุว่า นโยบายดังกล่าวเป็นมติของสมัชชาใหญ่ที่แก้ไขได้ยาก และว่านักศึกษาได้รับประสบการณ์อันล้ำค่าจากการทำงานกับองค์กรระดับโลกตอบแทนในตัวแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม นายไฮด์ยืนยันว่า การกางเต๊นท์นอนริมทะเลสาบในฤดูร้อน ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายมากนัก และเขาไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นเหยื่อการกดขี่แรงงาน เนื่องจากเขาทราบตั้งแต่ต้นว่าการฝึกงานที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติในนครเจนีวานั้น ไม่มีค่าจ้างให้ และผู้ฝึกงานต้องออกค่าใช้จ่ายต่างๆด้วยตนเอง ซึ่งเขาคิดวางแผนจัดการงบประมาณของตนเองผิดไปตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวที่เกิดขึ้น ทำให้เขาต้องลาออกจากการฝึกงานแล้ว โดยระบุว่า ทางสหประชาชาติไม่ได้กดดันเขาในเรื่องนี้แต่อย่างใด
 
อังกฤษเผชิญปัญหาว่างงานพุ่ง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และผลกระทบจากวิกฤตทางการเงิน และหนี้สินของหลายชาติในยุโรป
 
13 ส.ค. 2015 สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ว่างงานในประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินและหนี้สินของหลายชาติในยุโรป โดยนับจนถึงช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ว่างงานในอังกฤษเพิ่มเป็น 1.85 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ถูกปลดออกจากบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของประเทศและจากวิกฤตทางการเงินของหลายชาติในยุโรป
 
แอมเนสตี้ ลงมติรับรองนโยบายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการ
 
13 ส.ค. 2015 ที่ประชุมสามัญระดับนานาชาติ (International Council Meeting - ICM) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ มีการลงมติครั้งสำคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการ (sex workers) โดยมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกรับรองมติที่ให้อำนาจคณะกรรมการบริหารระดับนานาชาติ (International Board) ในการจัดทำและรับรองนโยบายในประเด็นดังกล่าว
 
ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า พนักงานบริการหรือผู้ให้บริการทางเพศเป็นหนึ่งในกลุ่มที่อยู่ชายขอบมากสุดกลุ่มหนึ่งในโลก ส่วนใหญ่มักต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการปฏิบัติมิชอบอย่างสม่ำเสมอ การขับเคลื่อนในระดับสากลขององค์กรมุ่งทำงานเพื่อให้มีการรับรองนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการ ที่จะช่วยกำหนดแนวทางการทำงานในอนาคตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในประเด็นสำคัญนี้
 
มติดังกล่าวเสนอให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจัดทำนโยบายที่สนับสนุนการลดการเอาผิดทางอาญาสำหรับการบริการทางเพศที่เกิดจากความยินยอมทุกประเภท นโยบายดังกล่าวยังเรียกร้องให้รัฐต้องให้การประกันว่าพนักงานบริการต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเต็มที่ อย่างเท่าเทียม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และความรุนแรง ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าพนักงานบริการต้องเผชิญกับการละเมิดรูปแบบต่างๆ ทั้งการใช้ความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศ การจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ การข่มขู่และรีดไถ การค้ามนุษย์ การบังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวี และการบังคับให้รับการรักษาพยาบาล ทั้งยังมีการกีดกันบุคคลเหล่านี้ไม่ให้ได้รับการดูแลด้านสุขภาพและบริการด้านที่อยู่อาศัย รวมทั้งการคุ้มครองทางสังคมและกฎหมายอื่นๆ
 
สหภาพแรงงานกัมพูชาขู่ชุมนุมประท้วงหลังโรงงานมีมติไม่ปรับเพิ่มค่าแรง
 
13 ส.ค. 2015 โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปกัมพูชามีมติปฏิเสธข้อเรียกร้องปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในปีหน้า ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาสหภาพแรงงาน และเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหารุนแรงในภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
 
ผลการสำรวจที่จัดทำขึ้นในหมู่สมาชิกสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชา (GMAC) ที่เป็นตัวแทนของโรงงานมากกว่า 500 แห่งของประเทศ ระบุว่า 63% ของสมาชิกทั้งหมดไม่ต้องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและ 26% สนับสนุนให้ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1-5 ดอลลาร์เท่านั้น การสำรวจดังกล่าวมีขึ้นก่อนการหารือในเดือนหน้าระหว่างรัฐบาล โรงงาน และสหภาพแรงงาน ที่จะจัดการกับข้อเรียกร้องปรับเพิ่มค่าแรงจากเดิมที่ 128 ดอลลาร์ต่อเดือน เป็น 177 ดอลลาร์ต่อเดือนในปี 2016 โดยการพิจารณาตัดสินใจครั้งสุดท้ายจะมีขึ้นในเดือน ต.ค.
 
เหตุความไม่พอใจใดๆ ก็ตามจะส่งผลกระทบต่อกัมพูชา ที่คำสั่งซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้าสำหรับสินค้าหลากหลายยี่ห้อ เช่น Gap Nike Adidas และ H&M ได้ช่วยสร้างงานและเป็นกุญแจสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การปรับเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้นอาจทำให้แรงงานพอใจ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ประเทศขาดความน่าสนใจ นอกจากนั้นการชุมนุมประท้วงของสหภาพแรงงานยังเสี่ยงที่จะทำให้นักลงทุนไม่กล้าทำธุรกิจ
 
การแข่งขันของกัมพูชากำลังเพิ่มสูง ด้วยพม่าในเวลานี้ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรปเช่นเดียวกับกัมพูชา และยังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติด้วยการปรับลดภาษี และแรงงานที่มีราคาถูกกว่า นอกจากนั้น ผลผลิตของโรงงานในเวียดนามยังแข็งแกร่ง ด้วยรายได้จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้าที่ 31,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา และกำลังเจรจาข้อตกลงการค้าแปซิฟิกที่จะทำให้เวียดนามเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของกัมพูชาแบบปลอดภาษี
 
การเติบโตของภาคการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นดาบสองคมสำหรับกัมพูชา อุตสาหกรรมที่สร้างงานกว่า 600,000 ตำแหน่งให้กับครอบครัวคนในพื้นที่ชนบทและยังสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งให้กับประเทศมาเป็นเวลาหลายปี แต่การผละงานประท้วงของสหภาพแรงงานกำลังจะกลายเป็นปัญหา สหภาพแรงงานแสดงความไม่พอใจและขู่ที่จะหยุดงานหากโรงงานไม่เต็มใจที่จะปรับเพิ่มค่าแรง
 
เลอโนโว-เอชทีซีเตรียมปลดพนักงานหลายพัน
 
13 ส.ค. 2015 เลอโนโว บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่จากจีน ประกาศแผนตัดลดรายจ่าย 1,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 47,659 ล้านบาท) ต่อปี ปลดพนักงาน 3,200 ตำแหน่งในภาคส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 5 ของพนักงานทั้งหมด และเตรียมปรับโครงสร้างใหม่ในส่วนของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ผลกำไรสุทธิของเลอโนโวในช่วง 3 เดือนนับจนถึง 30 มิ.ย. ลดลงร้อยละ 51 มาอยู่ที่ 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,706 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับ 214 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,554 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ผลกำไรก่อนหักภาษีลดลงร้อยละ 80 แม้ตัวเลขรายได้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เป็น 10,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 377,749 ล้านบาท) แต่ก็ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ความต้องการในตลาดคอมพิวเตอร์ทั่วโลกของเลอโนโวลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนรายได้ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ภาคส่วนโทรศัพท์มือถือ ทั้งเลอโนโวและโมโตโลรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 แต่ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ เมื่อความต้องการในตลาดจีนลดลงจากการขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดระหว่างแบรนด์ในประเทศ ด้าน เอชทีซี ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือจากไต้หวัน ประกาศแผนปลดพนักงานร้อยละ 15 หรือประมาณ 2,300 คน หลังขาดทุน 8,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 9,059 ล้านบาท) ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโต และปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานให้เป้นไปอย่างมีประสิทธิภาพ.
 
โตโยต้าประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวหลังเกิดระเบิดเทียนจิน
 
17 ส.ค. 2015 ร สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเหตุการณ์ระเบิดคลังสินค้าในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมเทียนจินในวันพุธ (12 ส.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นช่วงวันหยุดสำหรับบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ สัญชาติญี่ปุ่น ดังนั้นจึงไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นต่อ 3 สายการผลิตของบริษัทใกล้กับบริเวณที่เกิดเหตุ รายงานจากแถลงการณ์ของโตโยต้า มอเตอร์ในวันอาทิตย์ (16 ส.ค.)
 
“แต่อย่างไรก็ตาม จากคำแนะนำของทางรัฐบาลจีนในการสั่งอพยพ ดังนั้นในทุกสายการผลิตของบริษัทที่ Tianjin FAW Toyota Motor Co Ltd จะไม่มีการเริ่มกลับเข้าสู่การทำงานในช่วงระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคมนี้” โตโยต้า มอเตอร์กล่าวผ่านแถลงการณ์
 
และทางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกยังเปิดเผยว่า มาจนถึงทุกวันนี้ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายแต่อย่างใด โดยในวันศุกร์ (14 ส.ค.) โตโยต้า มอเตอร์แถลงว่า มีพนักงานโตโยต้าจำนวนไม่ต่ำกว่า 50 คนได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์คลังสินค้าทั้งสองแห่งที่มีสารเคมีโซเดียม ไซยาไนด์เก็บเกิดระเบิดขึ้น รอยเตอร์รายงานว่า เทียนจินเป็นเสมือนประตูไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ที่ถึงแม้ว่ามีรถยนต์นำเข้าจีนถึง 40% ก็ตาม
 
เกาหลีเหนือ-ใต้ได้ข้อยุติปัญหา “ค่าจ้างแรงงานโสมแดง” ในนิคมอุตฯแกซอง
 
18 ส.ค. 2015 รัฐบาลเกาหลีเหนือและใต้บรรลุข้อตกลงคลี่คลายปัญหาค่าแรงของคนงานโสมแดงในนิคมอุตสาหกรรมแกซองวันนี้ (18 ส.ค.) โดยตกลงที่จะให้มีการปรับขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำอีก 5% ซึ่งเป็นการปิดฉากข้อพิพาทที่ยืดเยื้อมานานถึง 6 เดือน
 
ความตกลงครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ชายแดนที่ตึงเครียด หลังกรุงโซลกล่าวหาว่าเกาหลีเหนืออยู่เบื้องหลังกับระเบิดที่ทำให้ทหารโสมขาวซึ่งออกลาดตระเวนบาดเจ็บถึงขั้นพิการ การขึ้นค่าแรงให้อีก 5% จะส่งผลให้เงินเดือนขั้นต่ำของคนงานโสมแดงในนิคมอุตสาหกรรมแกซองเพิ่มจาก 70.35 ดอลลาร์สหรัฐฯ (2,505 บาท) เป็น 73.87 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2,630 บาท) ต่อเดือน โฆษกกระทรวงการรวมชาติเกาหลีใต้ระบุ
 
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เปียงยางได้ใช้อำนาจสั่งการฝ่ายเดียวให้เจ้าของธุรกิจในเกาหลีใต้ที่มีโรงงานผลิตสินค้าอยู่ในนิคมอุตสาหรรมแกซองปรับขึ้นเงินเดือนแก่แรงงานเกาหลีเหนืออีก 5.18% ซึ่งเกินกว่าอัตรา 5% ต่อปีที่ตกลงกันไว้แต่ต้น ทำให้รัฐบาลโซลออกมายืนกรานว่า การจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเช่นนี้ต้องมาจากการตัดสินใจร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย
 
กระทรวงการรวมชาติระบุว่า ผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันวานนี้ (17 ส.ค.) ว่าจะหารือเรื่องค่าแรงส่วนที่ขึ้นเกินมา 0.18% ในภายหลัง นิคมอุตสาหกรรมแกซองซึ่งอยู่ห่างชายแดนเข้าไปในเขตเกาหลีเหนือราว 10 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตสินค้าของบริษัทโสมขาวราว 120 แห่ง และว่าจ้างแรงงานชาวเกาหลีเหนือประมาณ 53,000 คน นิคมอุตสาหกรรมแกซองก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 ภายใต้นโยบาย “ซันไชน์” ของอดีตประธานาธิบดีคิม แด-จุง แห่งเกาหลีใต้ ซึ่งต้องการฟื้นฟูความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองเกาหลี
 
เขตอุตสาหกรรมร่วมแห่งนี้เป็นแหล่งดึงดูดสกุลเงินแข็งให้กับรัฐบาลเปียงยาง และช่วยลดภาระค่าจ้างแรงงานในประเทศ ในขณะที่ภาคธุรกิจเกาหลีใต้ก็ได้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูก รวมถึงสิทธิพิเศษในการขอกู้เงินหรือลดหย่อนภาษีจากรัฐบาลโสมขาว เมื่อเดือนเมษายนปี 2013 เกาหลีเหนือสั่งถอนแรงงานโสมแดง 53,000 คนออกจากโรงงานเพื่อตอบโต้แผนซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีใต้ ทำให้นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ปิดตัวไปนานถึง 5 เดือน
 
ค้าปลีกสหรัฐและเอกชนไทย เจอดำเนินคดีหลังถูกกล่าวหาพัวพันการใช้แรงงานทาสในการผลิตกุ้ง
 
20 ส.ค. 2015 จากรายงานของเดอะการ์เดียน สำนักงานกฎหมายในสหรัฐ ในนามผู้เสียหายได้ยื่นเรื่องดำเนินคดีกับ "คอสต์โก"บริษัทค้าปลีกในสหรัฐฯ พร้อมกับเอกชนรายใหญ่รายหนึ่งของไทย จากกรณีจำหน่ายกุ้งที่ได้มาจากกระบวนการที่ถูกอ้างว่ามีการใช้แรงงานทาสในบางส่วนของสายการผลิต โดยผู้ร้องต้องการให้ผู้ค้าปลีกของสหรัฐ ยุติการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเว้นแต่จะได้ระบุบนบรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจนว่าอาหารดังกล่าวได้มาจากการใช้แรงงานทาส
 
นางโมนิกา ซุด ผู้กล่าวหาได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลแห่งสหรัฐ (Federal Court) ในเมืองซานฟรานซิสโกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยกล่าวอ้างว่า คอสต์โกจำหน่ายกุ้งที่ได้มาจากเอกชนของไทยรายนี้รวมถึงผู้ผลิตรายอื่นมาเป็นเวลาหลายปี โดยรู้อยู่แล้วว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้มามีการใช้แรงงานทาสในบางส่วนของการผลิต ซึ่งการฟ้องร้องครั้งนี้มีขึ้นหลังการรายงานของเดอะการ์เดียนเมื่อปีที่แล้วที่ได้ติดตามขั้นตอนการผลิตอันซับซ้อนของอุตสาหกรรมประมงจากข้อมูลสนับสนุนจากทั้งองค์การสหประชาชาติและหน่วยงานที่ไม่ขึ้นต่อรัฐบาล ซึ่งพบว่าปัญหาการใช้แรงงานทาสกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของอุตสาหกรรมการประมงของไทย
 
ซึ่งจากการสอบสวนของเดอะการ์เดียนพบว่าเอกชนใหญ่รายนี้ของไทยได้สั่งซื้อปลาป่นที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งจากผู้จำหน่ายวัตถุดิบที่เป็นเจ้าของหรือดำเนินการหรือซื้อปลาจากเรือประมงที่ใช้แรงงานทาส
 
"การฟ้องร้องครั้งนี้มีขึ้นเพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่าชาวแคลิฟอร์เนียไม่ได้ส่งเสริมการค้าทาสเพื่ออาหารค่ำของพวกเขา การค้าทาสในอุตสาหกรรมของไทยเป็นปัญหาใหญ่คอสต์โกมีหน้าที่ต้องบังคับใช้ข้อตกลงกับผู้จัดหาวัตถุดิบรวมถึงผู้จัดหาวัตถุดิบแบบรับช่วงต่อให้ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการใช้แรงงานทาส" นายเดริค ฮาเวิร์ดหนึ่งในที่ปรึกษาคณะกฎหมายที่ทำการฟ้องร้องในครั้งนี้กล่าว
 
ด้านคอสต์โกได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าทางบริษัทได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกล่าวว่าลูกค้าทุกรายที่ไม่พอใจกับการซื้อสินค้าชิ้นใดจากบริษัท สามารถนำสินค้ามาคืนโดยได้รับเงินคืนเต็มจำนวน
 
และเมื่อปีที่แล้วคอสต์โกเคยออกมาแถลงว่าทางบริษัทจะเรียกร้องให้ผู้จัดจำหน่ายกุ้งให้บริษัททำการแก้ไขปัญหาด้วยการตรวจสอบแห่งที่มาของอาหารที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง และทางบริษัทมีแนวปฏิบัติที่อ้างว่าจะไม่ยอมรับการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสในกระบวนการผลิต
 
ขณะที่เอกชนรายดังกล่าวของไทยเคยออกมากล่าวเมื่อปีที่แล้วว่าทางบริษัทประณามการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสอย่างรุนแรงที่สุด และพร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในไทยเพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาส
 
ชาร์ปเผยพนักงานกว่า 3 พันคนตอบรับข้อเสนอลาออกโดยสมัครใจ
 
21 ส.ค. 2015 บริษัทชาร์ป คอร์ป เปิดเผยว่าพนักงานจำนวน 3,234 คน หรือประมาณ 13% ของพนักงานทั้งหมดในญี่ปุ่น ได้ตอบรับข้อเสนอรับเงินชดเชยเพื่อแลกกับการลาออกโดยสมัครใจ
 
ก่อนหน้านี้ บริษัทหวังว่าจะมีพนักงานราว 3,500 คนตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ฝ่ายบริหารของชาร์ปหวังว่ามาตรการปรับลดพนักงานในครั้งนี้จะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ทางการเงิน โดยจะลดต้นทุนแรงงานในปีงบการเงินปัจจุบันราว 1.5 หมื่นล้านเยนชาร์ปเคยยื่นข้อเสนอเช่นเดียวกันในปี 2012 และมีพนักงาน 2,960 คนรับข้อเสนอและลาออกจากบริษัท
 
เมื่อเดือนกรกฎาคม ชาร์ปเปิดเผยผลประกอบการในไตรมาสสอง ซึ่งขาดทุนสุทธิ 3.398 หมื่นล้านเยน (274 ล้านดอลลาร์) หลังยอดขายจอ LCD สำหรับสมาร์ทโฟน ปรับตัวลดลง ส่วนยอดขาดทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 2.876 หมื่นล้านเยน หลังจากที่ปีก่อนหน้าสามารถทำกำไรได้ 4.67 พันล้านเยน จากยอดขายทั้งหมด 6.1830 แสนล้านเยน ซึ่งลดลง 0.2%
 
"ยูนิโคล่" เปิดไอเดียนำร่องพนักงานทำงาน 4 วัน ต่อสัปดาห์
 
21 ส.ค. 2015 ยูนิโคล่ แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่นที่มีร้านอยู่ 15 ประเทศทั่วโลก ได้เปิดเผยนโยบายใหม่ที่ตอบสนองพนักงานที่ต้องการวันหยุดเพิ่มเพื่ออยู่กับครอบครัว ทั้งนี้ พนักงานที่ต้องการจะทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ต้องทำงานวันละ 10 ชั่วโมง แต่ต้องทำงานวันสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์แทน โดยยูนิโคล่คาดว่าจะมีพนักงานประมาณ 20% ที่จะรับข้อเสนอนี้
 
โดยหากระบบใหม่นี้เป็นไปได้ดี ยูนิโคล่จะพิจารณาเพื่อนำไปใช้ในสำนักงานใหญ่ของญี่ปุ่น หรือในต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมให้สัมภาษณ์กับ เจแปน ไทมส์ ว่า ญี่ปุ่นเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยมีร้านค้าปลีกและร้านอาหาร รวมทั้งธุรกิจอื่นๆ จะทำตามที่ยูนิโคล่ทำเพื่อดึงดูดพนักงานให้มาร่วมงานด้วย
 
นอกจากนี้ รายงานเกี่ยวกับแรงงานญี่ปุ่น ของผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมฉบับเดียวกัน ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นใหญ่ๆ เคยยื่นข้อเสนอทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มาแล้ว แต่เป็นเพียงชั่วคราว ในช่วงที่พลังงานขาดแคลนในปี 2011 หลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ แต่หลังจากนั้นมีเพียงไม่กี่บริษัทที่ยังคงให้พนักงานทำงาน 4 วัน อย่างถาวร
 
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของสมาคมการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ในสหรัฐฯ การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นทางเลือกแก่พนักงานประมาณ 43% แต่มีเพียง 10% ที่ทำได้จริงสำหรับพนักงานส่วนมากของบริษัท
 
งานวิจัยชี้ค่าแรงเอเชีย-แปซิฟิกพุ่ง "อินเดีย" สูงสุด ไทยเพิ่ม 5.9%
 
21 ส.ค. 2015 ฟิลิปปินส์ เดลี อินไควเรอร์ รายงานการเผยแพร่รายงานด้านแรงงานประจำปี จากเมอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจซึ่งระบุว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิกจะมีอัตราการขึ้นค่าแรงโดยเฉลี่ยถึงประมาณ 7.3% ในปี 2015 นี้ โดยประเทศที่จะมีการขึ้นค่าแรงมากที่สุด ได้แก่ อินเดีย ที่ค่าแรงจะขึ้นราว 10.8% ตามด้วยเวียดนาม 10.3% อินโดนีเซีย 9.5% จีน 7.9% ฟิลิปปินส์ 6.5% และไทย 5.9% เป็นต้น
 
ทั้งนี้ เมอร์เซอร์ย้ำว่า แม้ค่าแรงในหลายประเทศจะมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้น แต่ทว่ารายได้ที่แท้จริงที่ประชากรยังอยู่ในระดับต่ำ เป็นผลอัตราเงินเฟ้อ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ราว 2.5% ทำให้เมื่อพิจารณาค่าแรงที่แท้จริงแล้วเติบโตเพียงแค่ 4%
 
ทัศนคติเปลี่ยนยากตลาดแรงงานแย่ โจ๋ลาวส่วนใหญ่ขยาดสายอาชีพกลัวทำงานกลางแดด
 
22 ส.ค. 2015 ผลการสำรวจศึกษาของสภาพการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ที่เผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ยังคงปฏิเสธการเรียนสาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นแขนงที่มีความต้องการสูงในตลาดแรงงาน ทั้งในวิสาหกิจขนาดใหญ่ และขนาดกลาง นอกจากนั้น ก็ยังพบว่าการเข้าออกของพนักงานเหล่านี้มีอัตราที่สูงมาก ในขณะที่ต้องความต้องการแรงงานฝีมือ และแรงงานสาขาอาชีพยังสูงมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในปีข้างหน้า สื่อของทางการรายงาน
 
ผลการสำรวจ “การศึกษาและฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การเข้าถึงแหล่งทุน สภาพแวดล้อมด้านกฎหมายและระเบียบการ และการเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจเปิดกว้าง” ในปี 2015 ได้พบว่า ผู้ประกอบการจำนวนมากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่งในการประกอบธุรกิจ 56% ของบริษัทที่สำรวจมีปัญหาในการรับพนักงานที่มีฝีมือในปีที่ผ่านมา ปัญหานี้่เกิดขึ้นในธุรกิจขนาดกลางราว 79% ธุรกิจขนาดใหญ่ราว 60% และการเข้าออกของพนักงานที่บรรจุแล้วก็อยู่ในอัตราสูง หนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนา รายงาน
 
ในปี 2013 ความต้องการแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก ซึ่งเป็นแขนงเศรษฐกิจหลักจะต้องการพนักงานประมาณ 60,000 คน แขนงอุตสาหกรรมแปรรูปอีกราว 450,000 คน แขนงบริการด้านต่างๆ ก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นสูงมากเช่นกัน หนังสือพิมพ์ของสมาคมนักข่าวแห่งชาติ กล่าว
 
ในขณะเดียวกัน ผลการสำรวจความต้องการทางด้านการศึกษาของนักเรียนลาวได้พบว่า ความสนใจด้านอาชีวศึกษามีน้อยเมื่อพูดถึงการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เช่น ปีการศึกษา 2008-2013 ในจำนวนนักเรียน 18,000 คน ที่ศึกษาต่อมี 57% เรียนสาขาบริหารธุรกิจ และมีเพียง 40% ของจำนวนทั้งหมดที่เรียนในระดับกลาง คือ ระดับอาชีวศึกษา
 
ปีการศึกษา 2014-2015 ในปัจจุบัน พบว่า ตัวเลขเปลี่ยนไปมากยิ่งกว่าเดิม นักเรียนจำนวน 64,000 คนที่ศึกษาต่อนั้นมี 52% เรียนต่อระดับอุดมศึกษา ซึ่งในนั้น 72% เรียนแขนงบริการ มีเพียง 21% ที่เรียนแขนงอุตสาหกรรม กับอีก 5% เรียนต่อในแขนงเกษตกรรม
 
“ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ค่านิยมของสังคมนั้นต้องการทำงานในออฟฟิศมากกว่าด้านการอาชีพ หรือการออกปฏิบัติงานในภาคสนาม เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานที่มีฝีมือได้อย่างเพียงพอต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของชาติ และความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน” สื่อของทางการอ้างรายงานของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ
 
ลาวประสบปัญหานี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศคอมมิวนิสต์กำลังมุ่งหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก ภายใต้กลไกเศรษฐกิจแบบตลาด เช่นเดียวกันกับประเทศคอมมิวนิสต์เพื่อบ้านในย่านนี้ ซึ่งได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน กับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
 
ไม่พียงแต่ความสนใจศึกษาต่อในแขนงวิชาชีพจะมีอัตราต่ำเท่านั้น แรงงานราว 200,000 คน ทั้ง แรงงานฝีมือ และแรงงานที่ใช้แรงกายต่างข้ามแดนออกหางานทำในประเทศเพื่อนบ้านที่ให้ค่าจ้างสูงกว่า และยังมีโอกาสในการประกอบอาชีพเป็นของตัวเองอีกด้วย
 
ออฟฟิศไอเดียแจ่มจ้างสาวเชียร์งาน ปรนนิบัติลูกจ้างหนุ่ม
 
22 ส.ค. 2015 เพจที่ชื่อ Trending in China ได้เปิดเผยเรื่องราวสุดแปลก! ของสำนักงานในประเทศจีน ซึ่งพากันว่าจ้างบรรดาสาวๆ ให้มาคอยปรนนิบัติพัดวีพนักงานหนุ่มๆ ในออฟฟิศ เพื่อสร้างสีสันให้แก่สำนักงาน
 
โดยข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยระบุว่า บริษัทด้านอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนหลายแห่ง ที่มีบรรดาหนุ่มๆ เป็นโปรแกรมเมอร์นั้น พากันว่าจ้างสาวๆ มาสร้างสีสันภายในสำนักงาน โดยพวกเธอมีหน้าที่ดูแลบรรดาหนุ่มโปรแกรมเมอร์อย่างใกล้ชิดในการซื้ออาหารเช้า พูดคุย หรือแม้แต่เล่นกีฬาอย่างปิงปองร่วมกัน
 
ทั้งนี้ ฝ่ายบุคคลของบริษัทแห่งหนึ่งอ้างว่า หน่วยงานของเขาได้จ้างหญิงสาว 3 คน เข้ามาทำหน้าที่ให้กำลังใจและสร้างความผ่อนคลายกับเหล่าโปรแกรมเมอร์ เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่ในตำแหน่งดังกล่าวเป็นเพศชาย และมักจะมีอุปนิสัยการเข้าสังคมที่ไม่ดีนัก การว่างจ้างสาวๆ เหล่านี้จึงน่าจะเป็นเรื่องดีในการสร้างบรรยากาศและประสิทธิภาพที่ดีให้การทำงาน
 
ไฟไหม้โรงงานเหล็กใกล้สนามบินฮาเนดะ
 
24 ส.ค. 2015 สำนักข่าวบีบีซีรายงาน เกิดเหตุเพลิงไหม้รุนแรงที่โรงงานเหล็ก ใกล้ท่าอากาศยานฮาเนดะ ทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว นครหลวงญี่ปุ่น เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (24 ส.ค.) ส่งผลให้เกิดควันดำทะมึนและเปลวไฟพวยพุ่งสู่ท้องฟ้า เคราะห์ดี ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการในสนามบินฮาเนดะจนต้องสั่งปิดสนามบิน แต่อย่างใด
 
บีบีซี รายงานว่า ผู้โดยสารที่เดินทางมาขึ้นเครื่องบินที่สนามบินฮาเนดะ ในเมืองคาวาซากิ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวราว 25 กม. ได้เผยแพร่ภาพเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเหล็ก ลงในโซเชียล มีเดีย แสดงให้เห็นกลุ่มควันดำหนาทึบขนาดใหญ่น่ากลัว โดยบีบีซี ยังชี้ว่า เหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานเหล็กซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ในเมืองคาวาซากิในวันจันทร์ที่ 24 ส.ค.นี้ นับเป็นเหตุไฟไหม้ครั้งที่ 2 ในญี่ปุ่น ที่เกิดหลังจากเหตุระเบิดที่ฐานทัพทหารอเมริกัน ที่เมืองซากะมิฮาระ
 
สายการบินจีนไม่ยอมให้แอร์โฮสเตสรายหนึ่งขึ้นเครื่องบิน อ้างว่าเพราะน้ำหนักตัวเกินกว่าที่มาตรฐานการบินกำหนดไว้
 
25 ส.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เกิดเหตุสายการบินจีนสร้างความอึ้งฮือฮา หลังจากไม่ยอมให้นางฟ้ารายหนึ่งขึ้นเครื่องบิน โดยอ้างสาเหตุเพราะ"น้ำหนักเกิน"เพราะความอ้วน ขณะที่ความเคลื่อนไหวนี้ถูกมองว่าเป็นมาตรการเฉพาะที่สายการบินท้องถิ่นนำเอามาใช้กับพนักงานต้อนรับบนเครื่อง
 
รายงานระบุว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจีนรายงานว่าสายการบินดังกล่าว คือ สายการบิน"ชิงเต่า"ได้สั่งห้ามไม่ให้แอร์โฮสเตสรายหนึ่งขึ้นเครื่องบิน อ้างว่าเพราะน้ำหนักตัวเกินกว่าที่มาตรฐานการบินกำหนดไว้ แต่สายการบินดังกล่าวได้ปฏิเสธว่า ไม่มีพนักงานรายใดถูกห้ามหรือถูกไล่ออกเพราะไม่ได้มาตรฐานของสายการบิน
 
ด้านเหล่าลูกเรือบอกว่า มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดใด ๆ ขณะที่รายงานระบุว่า สำหรับมาตรฐานของสายการบินนี้ ที่ปรากฏในเว็บไซต์ระบุว่า ผู้สมัครเป็นแอร์โฮสเตสจะต้องมีความสูง 165-172 ซม. น้ำหนัก 50-68 กิโลกรัม
 
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีสายการบินนำเอามาตรการ "จำกัดน้ำหนัก" มาใช้กับพนักงานต้อนรับบนเครื่อง โดยก่อนหน้านี้ ก็มีสายการบินของอุซเบกิสถาน ประกาศว่า ผู้โดยสารจะต้องขึ้นชั่งน้ำหนักตัวพร้อมน้ำหนักของสัมภาระ ก่อนขึ้นเครื่อง หากพวกเขาเช็คอินเพื่อขึ้นเครื่อง ซึ่งหากผู้โดยสารน้ำหนักตัวเกิน พวกเขาจะไม่สามารถขึ้นเครื่องบินลำเล็กที่มีผู้โดยสารเต็มเครื่อง
 
โบอิ้งเตรียมเลย์ออฟพนักงานหลายร้อยตำแหน่งในธุรกิจดาวเทียม
 
25 ส.ค. 2015 โบอิ้ง บริษัทเครื่องบินรายใหญ่ของโลก เตรียมปลดพนักงานหลายร้อยตำแหน่งในธุรกิจดาวเทียมช่วงต้นปี 2016 โดยระบุว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของสหรัฐยังไม่ต่อสัญญาการกู้ยืมเงินให้บริษัท เป็นเหตุให้บริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินทุน และทำให้ชวดสัญญาดาวเทียม รวมถึงสัญญากับบริษัทเอเชีย บรอดแคสต์ แซตเทิลไลท์เมื่อเร็วๆ นี้ ก่อนหน้านี้บริษัทลดพนักงานหลายพันตำแหน่งในธุรกิจกลาโหมในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา หลังสหรัฐตัดงบประมาณกลาโหม
 
รัฐบาลอังกฤษประกาศแผนกวาดล้าง ชาวต่างชาติที่ลักลอบทำงานในประเทศ โดยกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน และยึดเงินเดือนค่าจ้างทั้งหมดที่ตรวจพบ
 
25 ส.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ว่า ชาวต่างชาติที่ถูกพบลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย ในอังกฤษและแคว้นเวลส์ จะถูกจับกุมและมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน และยึดเงินเดือนค่าจ้างทั้งหมด ตามมาตรการใหม่ของรัฐบาลอังกฤษ 
 
การประกาศมีขึ้นขณะที่รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม แนวกลาง-ขวา ของอังกฤษ กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการควบคุมปัญหาผู้อพยพต่างชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้ออ่อนไหวที่สุดของวงการเมืองอังกฤษ หลังเกิดวิกฤตการไหลบ่าเข้าประเทศของผู้อพยพ โดยผ่านอุโมงค์ช่องแคบจากฝรั่งเศส นายเจมส์ โบรคเคนเชียร์ รัฐมนตรีกระทรวงผู้อพยพของอังกฤษ กล่าวในแถลงการณ์ว่า รัฐบาลจะดำเนินการกับชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมายในประเทศ ด้วยการยุติการทำงาน การเช่าที่พักอาศัย เปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือขับขี่รถยนต์
 
ร่างกฎหมายผู้อพยพที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน จะนำเสนอในปีนี้ มีบทกำหนดโทษจำคุกแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ธุรกิจของนายจ้างที่รับกลุ่มคนเหล่านี้เข้าทำงานจะถูกปิด เพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกดำเนินคดีหากยังเดินหน้าฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะมีการเพิ่มโทษจำคุกนายจ้างจากกรณีนี้ จากเดิม 2 ปีเป็น 5 ปี
 
นางนาตาชา บูชาร์ต นายกเทศมนตรีเมืองท่ากาแลส์ ทางภาคเหนือของฝรั่งเศส ที่ซึ่งผู้อพยพหลายพันคนชุมกันเพื่อหาทางข้ามแดนเข้าสู่อังกฤษ กล่าวว่า ระบบสวัสดิการที่เอื้อเฟื้อ และความหย่อนยานในการควบคุมตรวจสอบบุคคลของอังกฤษ เป็นแรงดึงดูดผู้อพยพชาวต่างชาติ ที่ต้องการเข้าไปแสวงหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า
 
2 แรงงานต่างชาตินั่งคุกเข่าถือป้ายประท้วงกลางถนนที่สิงคโปร์
 
26 ส.ค. 2015 เว็บไซต์เซี่ยงไฮ้อิสต์เผยแพร่เหตุการณ์ที่สิงคโปร์ เมื่อสามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งเป็นคนงานอพยพมาจากต่างแดน ถือป้ายแล้วนั่งคุกเข่าประท้วงกลางถนนที่รถราวิ่งกันวุ่นวาย หลังจากถูกกระทรวงแรงงานปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินค่าจัดหางานคืนให้
 
รายงานระบุว่าฝ่ายหญิงเป็นคนงานที่ได้ เวิร์ค เพอร์มิท (Work Permit) หรือใบอนุญาตประกอบอาชีพแล้ว โดนก่อนหน้านี้เคยจ่ายเงินค่าจัดหางานให้กับบริษัทจัดหางานที่ต่างประเทศ จนกระทั่งเมื่อได้งานแล้ว ตนจึงไปที่กระทรวงแรงงานกับสามีเพื่อเรียกร้องขอเงินก้อนดังกล่าวคืน แต่กลับถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลทางกฎหมาย
 
"เราอธิบายทั้งระเบียบการทั้งกฎหมายให้เธอฟังแล้ว แต่เธอก็ยังไม่พอใจ" โฆษกประจำกระทรวงแรงงานกล่าว
 
ด้วยความไม่พอใจหญิงสาวจึงไปนั่งคุกเข่ากลางถนนกับสามีเพื่อเป็นการประท้วง จนส่งผลให้การจราจรติดขัด และตำรวจต้องมาจับกุมตัวในที่สุด อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ประท้วงลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดในสิงคโปร์ เพราะว่านอกจากสวนสาธารณะหงหลิน ซึ่งเป็นสถานที่เดียวที่ได้รับอนุญาตให้มีการชุมนุมประท้วงแล้ว หากจะมีการประท้วงอื่นๆต้องได้รับการอนุมัติจากตำรวจเสียก่อน
 
สิงคโปร์ยืดอายุเกษียณ ปลดล็อคปัญหาแรงงาน
 
27 ส.ค. 2015 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เตรียมผลักดันให้ รัฐบาลปรับอายุเกษียณเป็น 67 ปีจากปัจจุบันที่อายุ 65 ปี ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2017 เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานผู้สูงอายุในสิงคโปร์ ทั้งนี้นักวิชาการในสิงคโปร์ แนะนำให้รัฐบาล เร่งวางแผนระยะยาว ทั้งการวางแผนครอบครัว และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเอื้อต่อผู้สูงอายุที่ยังมีทักษะ ความสามารถในการทำงาน
 
ปัจจุบัน การเกษียณงานของแรงงานตามกฎหมายของสิงคโปร์จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 62 ปี และลูกจ้างสามารถยืดเวลาเกษียณงานได้จนถึงอายุ 65 ปี โดยรัฐบาลสิงคโปร์ต้องการให้ลูกจ้างสามารถทำงานให้ได้นานที่สุดตราบเท่าที่พวกเขาสามารถทำได้ และเรียกร้องให้เพิ่มการดูแลสุขภาพในสถานที่ทำงานให้กับแรงงานสูงอายุด้วย
 
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง เตรียมเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ขยายการจ้างงานใหม่ ให้กับแรงงานผู้สูงอายุออกไปอีก 2 ปี เป็นอายุ 67 ปี โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2017 ซึ่งจะช่วยให้แรงงานอาวุโสมีรายได้ต่อเนื่องและเป็นการส่งเสริมการออมเงินในวัยเกษียณอีกด้วย
 
นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรบุคคลมากขึ้น เพราะมองว่า สิงคโปร์กำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุเหมือนประเทศญี่ปุ่น จึงต้องวางแผนประเทศในระยะยาว โดยรัฐบาลมองว่า กลุ่มผู้สูงอายุไม่ได้ต้องการเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแต่ต้องการมีชีวิตความเป็นอยุ่ที่ดี และมีโอกาสทำงานตามความสามารถของตน
 
สอดคล้องกับมุมมองของนักวิชาการของสิงคโปร์ที่มองตรงกันว่า อยากให้สิงคโปร์ยกเลิกการเกษียณงาน โดยให้ค่าจ้างบนพื้นฐานของความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ และรัฐบาลจำเป็นต้องปรับทัศนคติของคนรุ่นใหม่ ที่มองว่า คนผุ้สูงอายุมีทักษะการทำงานที่น้อยลง เพราะสิงคโปร์ยังต้องการแรงงานพัฒนาประเทศอีกมาก
 
นอกจากนี้รัฐบาลยังจำเป็นต้องวางแผนระยะยาว เช่น การวางแผนครอบครัวส่งเสริมการมีบุตร รวมถึงการให้ความสำคัญกับพัฒนาการทางแพทย์ และดึงดูดนักลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้เอื้อต่อแรงงานสูงอายุเป็นต้น
 
เนสท์เล่ปฏิเสธคำกล่าวหาจงใจใช้วัตถุดิบ "แรงงานทาสไทย" ผลิต "อาหารแมว"
 
28 ส.ค. 2015 เนสท์เล่ บริษัทผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันศุกร์ (28 ส.ค.) ออกมาปฏิเสธคำกล่าวหาที่ว่าพวกเขาจงใจใช้ปลาจากซัปพลายเออร์ไทยเจ้าหนึ่ง ซึ่งต้องสงสัยใช้แรงงานทาส มาผลิตเป็นอาหารแมวยี่ห้อแฟนซี ฟีสต์
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันพฤหัสบดี (27 ส.ค.) กลุ่มผู้ซื้ออาหารแมวได้ดำเนินการยื่นฟ้องร้องต่อศาลรัฐบาลกลางในลอสแองเจลิส ระบุว่าพวกเขาเป็นตัวแทนลูกค้าอาหารแมวยี่ห้อแฟนซี ฟีสต์ ทุกคนในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งคงจะไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ตัวนี้ หากทราบว่ามีการใช้วัตถุดิบที่พัวพันแรงงานทาส
 
เอกสารคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า เนสท์เล่ และบริษัท ไทย ยูเนียน โฟรเซน โปรดักส์ พีซีแอล ได้ร่วมกันนำเข้าอาหารสัตว์ที่ทำจากปลาทะเลน้ำหนักมากกว่า 28 ล้านปอนด์ (13 ล้านกิโลกรัม) สำหรับผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากอาการทะเลแก่แบรนด์ดังต่างๆ ที่วางจำหน่ายในสหรัฐฯ และกล่าวอ้างว่าวัตถุดิบบางส่วนของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น มาจากซัปพลายเออร์ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้แรงงานทาส
 
ฝ่ายโจทก์ร้องเรียนว่า เด็กหนุ่มและชายฉกรรจ์จากประเทศยากจน เช่น พม่า และกัมพูชา จะถูกขายให้แก่กัปตันเรือประมง ซึ่งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะถูกบังคับให้ทำงานถึงวันละ 20 ชั่วโมงโดยได้ค่าตอบแทนที่น้อยมาก หรือบางครั้งก็ถูกปฏิเสธจ่ายค่าแรง บางคนถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย หรือแม้กระทั่งถูกฆ่าทิ้งหากทำงานไม่เป็นที่น่าพอใจ
 
บริษัทผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์แห่งนี้ตอบโต้ว่าพวกเขากำหนดให้ซัปพลายเออร์ทุกรายต้องเคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเหมาะสมแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยอมรับว่าการบังคับให้ปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณอย่างเข้มงวดโดยตลอดนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยมีห่วงโซ่อุปทานหลายชั้น ดังนั้นการจัดหาวัตถุดิบแก่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจึงเป็นเรื่องท้าทาย
 
“การกำจัดแรงงานทาสในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลของเราคือความรับผิดชอบร่วมกัน เรามีหน้าที่ร่วมมือกับโลกและผู้มีประโยชน์ร่วมท้องถิ่นในการจัดการกับประเด็นที่สาหัสและซับซ้อนนี้” เนสท์เล่กล่าว พร้อมเผยว่าในช่วงขวบปีที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับ Achilles บริษัทที่ปรึกษาอิสระด้านห่วงโซ่อุปทาน ในความพยายามตรวจสอบระดับต่างๆของห่วงโซ่อุปทานให้ดีขึ้น
 
นอกจากนี้แล้ว เนสท์เล่ระบุด้วยว่า ทางบริษัทได้ร่วมมือกับ Verite องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (เอ็นจีโอ) กำลังรวบรวมข้อมูลจากเรือประมง โรงงานและฟาร์มต่างๆ ในไทยและจากทั่วท่าเรือทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อค้นหาว่าที่มีไหนบ้างซึ่งบังคับใช้แรงงานทาสและละเมิดสิทธิมนษยชน รวมถึงตรวจสอบว่าทำไมพวกเขาถึงตกเป็นแรงงานทาส โดยเนสท์เล่บอกว่าจะเปิดเผยผลการศึกษาและนำเสนอแผนดำเนินการที่ชัดเจนได้ในช่วงสิ้นปีนี้
 
เมียนมาปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 3,600 จ๊าด หรือราว 100 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นไป
 
30 ส.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน โดยอ้างจาก หนังสือพิมพ์ โกลบอล นิวส์ไลท์ ออฟ เมียนมา รายงานว่า รัฐบาลเมียนมาอนุมัติการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นครั้งแรกเท่าที่เคยมีมา หลังเจรจากันมานานหลายเดือนระหว่างผู้ใช้แรงงานกับนายจ้าง โดยค่าแรงขั้นต่ำ สำหรับการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ถูกกำหนดไว้ที่ 3,600 จ๊าด หรือราว 100 บาท และให้มีผลตั้งแต่วัน 1 ก.ย. เป็นต้นไป โดยครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วนและอุตสาหกรรม ยกเว้นกิจการขนาดเล็กที่มีลูกจ้างไม่ถึง 15 คน
 
ทั้งนี้ เมียนมาเผชิญกระแสการประท้วงเรียกร้องการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ โดยเฉพาะในภาคสิ่งทอ คณะกรรมการว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำแห่งชาติของเมียน มาเป็นผู้ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หลังการเจรจาหลายรอบระหว่างรัฐบาล, กลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มนายจ้าง นับตั้งแต่มีการผ่านกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ เมื่อปี 2013 และเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มุ่งหวังดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
 
ทางการออสเตรเลียได้เริ่มดำเนินการตามกฎหมายต่อเจ้าของแฟรนไชส์ "เซเว่น อีเลฟเว่น" หลังพบว่ามีการจ่ายค่าจ้างพนักงานต่ำเกินควร
 
31 ส.ค. 2015 ทางการออสเตรเลียเตรียมเข้าให้การต่อศาลกลางออสเตรเลียว่า เจ้าของแฟรนไชส์เซเว่น อีเลฟเว่นสาขาหนึ่งทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ ได้มีการจ่ายค่าจ้างต่ำเกินควรเป็นเงินเกือบ 50,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (35,696 ดอลลาร์สหรัฐ) และยังมีการปลอมแปลงเอกสารพนักงานดังกล่าวเป็นเวลาถึงสองปี
 
โดยค่าจ้างที่จ่ายไปนั้นคิดเป็นเงินประมาณ 10 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (7 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อชั่วโมง ซึ่งตามกฎหมายแล้วพนักงานเหล่านี้มีสิทธิรับค่าจ้างถึง 22 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (16 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อชั่วโมง และเกือบ 30 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (21 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อชั่วโมงในช่วงวันหยุดสุปสัปดาห์
 
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ทาง Fairfax Media และ Australian Broadcasting Corporation (ABC) ได้จัดทำการสอบสวนร่วม ซึ่งพบว่าร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในออสเตรเลียมีสัดส่วนถึง 2ใน 2 ที่อาจมีการจ่ายค่าจ้างต่ำเกินควร
 
รายงานดังกล่าวยังระบุว่า เจ้าของแฟรนไชส์เซเว่น อีเลฟเว่นในออสเตรเลียบางราย ยังได้มีการข่มขู่กลุ่มนักศึกษาต่างชาติว่าจะรายงานไปยังกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองออสเตรเลีย เว้นแต่ว่าพวกเขาทำงานสองกะโดยได้รับค่าจ้างต่ำ
 
ด้านบริษัทแม่ของเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าทางบริษัทจะดำเนินการตามกฎหมายต่อเจ้าของแฟรนไชส์ที่กระทำผิดกฎหมายออสเตรเลีย และแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า "เซเว่น อีเลฟเว่นมีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้รับแฟรนไชส์ส่วนหนึ่งได้เลือกที่จะฝ่าฝืนหน้าที่ในฐานะผู้จ้าง"
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ประชาไท, ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, โพสต์ทูเดย์, VOA

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net