Skip to main content
sharethis

ข้อมูลการวิเคราะห์การจ้างงาน เลิกจ้าง และว่างงานจากระบบประกันสังคมเดือนกรกฎาคม 2558 พบ 5 อุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อการส่งออก การว่างงานขยายตัวทุกอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อิเล็กทรอนิกส์สูงสุดว่างงานสูงสุด 5,423 คน ถูกเลิกจ้าง 642 คน ด้านศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงานระบุยังต้องจับตาการเลิกจ้าง

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานวิเคราะห์ข้อมูลการจ้างงาน [1] การเลิกจ้าง [2] และการว่างงาน [3] ของแรงงานในระบบประกันสังคม จำแนก 5 รายอุตสาหกรรม ณ เดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นประเภทกิจการที่มีความสำคัญต่อการส่งออก หรือมีการจ้างงานในสัดส่วนที่สูง มีสถานะดังนี้

1. สิ่งทอ การจ้างงานชะลอตัวร้อยละ 2.68 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 0.58 , การเลิกจ้างชะลอตัวร้อยละ 0.15

2. เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 4.97 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 3.65 , การเลิกจ้างชะลอตัวร้อยละ 34.82

3. เครื่องใช้ไฟฟ้า การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 4.70 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 32.69 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 186.72

4. ยานยนต์ การจ้างงานชะลอตัวร้อยละ 3.39 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 14.78 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 12.69

5. เครื่องประดับ การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 4.97 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 12.72 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 52.49

อุตสาหกรรมสิ่งทอ มีการจ้างงานจำนวน 159,438 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 2,093 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 645 คน โดยจากข้อมูล ณ กรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (มิถุนายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.06 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ (-2.68) เนื่องจากโรงงานสิ่งทอมีการปิดตัวลง จากคำสั่งซื้อที่ลดลง และการที่จีนและไต้หวันเข้าไปลงทุนสิ่งทอต้นน้ำในเวียดนาม คาดว่าเมื่อมีการผลิตเต็มรูปแบบ ความต้องการเส้นด้ายและผ้าผืนจากไทยจะลดลง เนื่องจากคาดว่าราคาสินค้าจากเวียดนามจะถูกกว่าไทย จากต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า รวมทั้งยังได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากอียู

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-19.58) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการชะลอตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ (-0.15) ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน แต่กลับมาชะลอตัวเป็นเดือนแรกในเดือนกรกฎาคม และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ (-4.34) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 0.58 ผู้ว่างงานขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11

อุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ มีการจ้างงานจำนวน 417,304 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 5,423 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 642 คน โดยจากข้อมูล ณ กรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (มิถุนายน 2558) พบว่าการจ้างงานในอุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.16 และเมื่อเทียบข้อมูลเดือนเดียวกันกับปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 4.97 เนื่องจากการผลิต HDD จะนำไปใช้ในกลุ่ม Cloud Storage และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่มากขึ้นแทนตลาดคอมพิวเตอร์ทำให้ปริมาณการผลิตไม่มากเท่ากับที่ผ่านมา และอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะปรับตัวลดลง

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 1.26 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการชะลอตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ (-34.82) แสดงว่าสถานการณ์ดีขึ้นเนื่องจากกลับมาอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง 32 เดือน (ธันวาคม 2555 – กรกฎาคม 2558) และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-5.41) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2558) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 3.65

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการจ้างงานจำนวน 116,050 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 1,660 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 367 คน โดยจากข้อมูล ณ กรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (มิถุนายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.74 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็น ร้อยละ 4.70 เนื่องจากการส่งออกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อาทิ ตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตลาดในประเทศค่อนข้างทรงตัวตามกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-36.94) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 186.72 ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างมีอัตราการขยายตัวสูง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เนื่องจากผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ (-1.66) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 32.69 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

อุตสาหกรรมยานยนต์ มีการจ้างงานจำนวน 237,622 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 3,013 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 293 คน โดยจากข้อมูล ณ กรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (มิถุนายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -2.22 แต่เมื่อเทียบข้อมูลเดียวกันกับปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ -3.39 เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-2.01) เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 12.69 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ (-1.31) และเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 14.78

อุตสาหกรรมเครื่องประดับ มีการจ้างงานจำนวน 72,318 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 1,506 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 552 คน โดยจากข้อมูล ณ กรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (มิถุนายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับมีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.94 และเมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 4.97 เนื่องจากการส่งออกที่เติบโตจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อาเซียน ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก และจีน อันเป็นผลมาจากผู้มีกำลังซื้อในกลุ่มประเทศดังกล่าวยังคงมีความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทย ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้สินค้าไทยมีราคาถูกลง จึงช่วยดึงดูดให้มีความต้องการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับจากไทยมากขึ้น

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 64.29 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 52.49 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ 14.44 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 12.72

 

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงานระบุยังต้องจับตาการเลิกจ้าง

นอกจากนี้ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ยังระบุว่าภาวะการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ในภาวะปกติ การจ้างแรงงานในระบบประกันสังคม มีผู้ประกันตน จำนวน 10,176,391 คน มีอัตราการขยายตัว 2.89% (YoY) ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 2.66%(YoY) สำหรับการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม เดือนกรกฎาคม 2558 มีจำนวน 135,543 คน มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 5.47 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และขยายต้ว 0.72% (MoM) เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 ที่มีจำนวน 134,573 คน อย่างไรก็ตาม การเลิกจ้างจากตัวเลขผู้ถูกเลิกจ้างที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ 8,381 คน มีอัตราขยายตัว (YoY) อยู่ที่ 46.98 % ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงมากขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (32.19%)

โดยในด้านสถานการณ์จ้างงานจากข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2558 มีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) จำนวน 10,176,391 คน มีอัตราการขยายตัว 2.89% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนกรกฎาคม 2557) ซึ่งมีจำนวน 9,890,353 คน แต่หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (YoY) ของเดือนกรกฎาคม 2558 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 โดยในเดือนกรกฏาคม 2558 มีอัตราการขยายตัว (%YoY) อยู่ที่ 2.89% เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 (%YoY) ซึ่งอยู่ที่ 2.66% สถานการณ์การจ้างงานขยายตัวมากกว่า 1% จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ

ในด้านสถานการณ์ว่างงานจากข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2558 มีผู้ว่างงานจำนวน 135,543 คน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือนกรกฎาคม 2557) มีจำนวน 128,510 คน แสดงว่าผู้ว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัว (%YoY) อยู่ที่ 5.47% ซึ่งตัวเลขลดลงจากเดือนมิถุนายน 2558 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2557 (%YoY) ซึ่งอยู่ที่ 9.31% แม้นว่าหากเทียบระหว่างเดือนกรกฎาคม 2558 เทียบกับ เดือนมิถุนายน 2558 (%MoM) ชะลอตัวจากเดือนที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 13.66% มาอยู่ที่ 0.72%

ในด้านสถานการณ์เลิกจ้างจากข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2558 มีผู้ถูกเลิกจ้างในระบบประกันสังคมจำนวน 8,381 คน (มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 46.98%) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตรา 5,702 คน ดังนั้น ณ เดือนกรกฎาคม 2558 สถานการณ์เลิกจ้างยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตัวเลขการเลิกจ้างเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเช่นกัน (MoM) อยู่ที่ 32.19% อย่างไรก็ตามถือว่าการเลิกจ้างอยู่ในระดับที่สูงเนื่องจากการเลิกจ้างมีอัตราการเติบโตถึง 46.98% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 3 ปี ในช่วงเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ ซึ่งอยู่ที่ 41.01% (ใช้ฐานข้อมูลปี 2548 – 2551) กระทรวงแรงงานจึงได้สั่งการให้พื้นที่ทุกจังหวัดติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงาน โดยให้มีการแรงงานเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงานทุกเดือน โดยจับตาแนวโน้มและสัญญาณตัวเลขการเลิกกิจการ การเลิกโรงงานและความเคลื่อนไหวของการจ้างงานของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่จังหวัดอย่างใกล้ชิด

 

_______

[1] การจ้างงาน = ผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคม

[2] การเลิกจ้าง = ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ประเภทเลิกจ้าง (R3) ในระบบประกันสังคม

[3] การว่างงาน = ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งหมด (R1-R3) ในระบบประกันสังคมประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ ลาออก (R1) สิ้นสุดสัญญาจ้าง (R2) และเลิกจ้าง (R3)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net