คนทำงาน: 'Supermom' เป็นแม่และเป็นพนักงาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

‘เรียนจบ-พบรัก-แต่งงาน-มีลูก’ ฉากชีวิตสำคัญของผู้หญิง แต่กระนั้นในปัจจุบัน ‘ชีวิตการทำงาน’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ซ้อนทับกับชีวิตครอบครัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในการปฏิบัติหน้าที่ ‘แม่ของลูกและพนักงานของสถานประกอบการ’ ความเหนื่อยยากของคุณผู้หญิงที่คุณผู้ชายควรรู้


ที่มาของภาพประกอบ: Flickr/JDHancock/CC BY 2.0

ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งต้องเปลี่ยนไป เมื่อได้รับโอกาสให้ดูแลทั้งลูกและต้องทำงานในเวลาเดียวกัน แน่นอนว่า บทบาทที่ถูกกำหนดโดยสันชาตญาณก็เหนื่อยมากไม่แพ้กับ บทบาทที่ถูกกำหนดโดยสังคม แต่พวกเธอต้องทำทุกอย่างไปพร้อม ๆ กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ สภาพร่างกายและจิตใจเริ่มอ่อนล้า เกิดความเครียด ความสุขลดลง สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนออกเป็นพฤติกรรม และมีผลกระทบต่อคนใกล้ตัวรวมถึงลูกน้อย ดังนั้นการสำรวจตัวเองเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับคุณแม่ทำงาน การได้รับกำลังใจและการเอาใจใส่ และมีหลักคิดในการดำเนินชีวิตจะช่วยให้เธอทำหน้าที่ต่อไปได้โดยมีความสุขและราบรื่น

ผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรปี 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยมีผู้หญิง 34.3 ล้านคน เป็นผู้ที่ทำงาน 17.5 ล้านคน และมากกว่า 70% ของผู้หญิงทำงานแต่งงานแล้ว (รองลงมา เป็นโสด 17.7% หม้าย 6.0% แยกกันอยู่ 2.9% และหย่า 2.7%) จากสถิตินี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงไทยเป็น “สุดยอดคุณแม่” หรือ Supermom ที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและดำรงความเป็นแม่ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะแม่ที่มีลูกเล็ก คือ อายุแรกเกิด - 5 ปี

ผลสำรวจอีกชิ้นของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2554 สำรวจผู้หญิงทำงานจำนวน 695 คน อายุระหว่าง 21-40 ปี  ในหัวข้อ "ทัศนคติของผู้หญิงและแม่ในบทบาทของคนทำงาน" โดยผู้ตอบแบบสอบถามสถานะโสด 66% เป็นหญิงที่สมรสและมีบุตรแล้ว 21%  เป็นหญิงที่สมรสแล้วแต่ยังไม่มีบุตรอีก 6% หย่าร้างและมีบุตร 6% และเป็นหญิงที่หย่าร้างแต่ยังไม่มีบุตร 1% โดย 36% ให้ความเห็นว่าบริษัทไม่ใส่ใจต่อความต้องการของพนักงานที่มีบุตร อีก 27% ระบุว่าบริษัทใส่ใจความต้องการของพนักงานกลุ่มดังกล่าว แต่อีก 38% ไม่แน่ใจ นอกจากนี้ 64% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เป้าหมายในการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปแน่นอนเมื่อมีบุตร โดยในจำนวนนี้ชี้ว่า ภายหลังการมีบุตรสิ่งสำคัญในการทำงานคือ เงินเดือนที่สูงขึ้น (35%) ชั่วโมงการทำงานที่สั้นลงและมีเวลาที่แน่นอน (31%) ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นตามความจำเป็น (23%) การเดินทางที่น้อยลง (7%) และอื่น ๆ อีก 4% ได้แก่ ความมั่นคงในการทำงานสวัสดิการที่ดีขึ้น และวันหยุดเสาร์อาทิตย์อาทิตย์ เป็นต้น

ในแบบสอบถามชิ้นเดียวกันนี้ได้สำรวจสถานประกอบการ 284 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทขนาดเล็ก มีพนักงานไม่เกิน 50 คน 39%, บริษัทขนาดกลาง มีพนักงานตั้งแต่ 50-200 คน 27% และบริษัทขนาดใหญ่ที่มีจำนวนพนักงานมากกว่า 200 คน อีก 35% พบว่าโดยเฉลี่ยมีพนักงานหญิงในองค์กรประมาณ 50-70% ส่วนในองค์กรขนาดเล็กจะมีพนักงานหญิงอยู่ระหว่าง 71-90% ซึ่งเมื่อถามถึงการให้ความสำคัญกับสวัสดิการเพื่อพนักงานหญิง 60% ให้ความสำคัญอยู่ที่ระดับปานกลาง ที่น่าตกใจคือว่า 45% ของบริษัทที่ร่วมตอบแบบสอบถามแจ้งว่าไม่มีการจัดสวัสดิการใดเป็นพิเศษสำหรับพนักงานที่ตั้งครรภ์ หรือพนักงานที่มีบุตร และเมื่อแยกพิจารณาตามขนาดองค์กร พบว่า 47% ขององค์กรขนาดใหญ่ให้ความสำคัญมากในการจัดสวัสดิการเพื่อพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์และอีก 50% ให้ความสำคัญในระดับปานกลาง แต่กระนั้นเมื่อถามถึงแผนการเพิ่มสวัสดิการให้กับพนักงานหญิงที่มีบุตร 15% แจ้งว่ามีแผนในระยะยาว 1-2 ปีข้างหน้า, 8% มีแผนในระยะยาวคืออีก 5 ปีข้างหน้า และ 77% ยังไม่มีแผนการ 

วงล้อของ Supermom ในวันวันหนึ่ง

ตั้งแต่ตื่นนอน ยันเวลาเข้านอน ชีวิตของพวกเธอไม่ได้ทำอะไรเพื่อตัวเองมากนัก กิจกรรมต่าง ๆ ถูกกำหนดโดยหน้าที่และปัจจัยภายนอกเป็นแรงขับเคลื่อน เวลาตื่นคือเวลาเริ่มงานของหน้าที่แม่ ทันทีที่ลุกจากเตียง ก็วุ่นวายกับการเตรียมอาหารเช้าให้สมาชิกในครอบครัว ปลุกทุกคน ปะทะลูก ๆ จอมขี้เซาและเจ้าปัญหา จัดการจับพวกเค้าอาบน้ำแต่งตัว ป้อนอาหาร เตรียมกระเป๋าสัมภาระ หนังสือเรียน จัดขนม น้ำ และ ยาต่าง ๆ ในขณะที่เวลาดูเหมือนเดินเร็วอย่างไม่เมตตาพวกเธอเท่าไหร่นัก ก็ต้องหันมาจัดการตัวเอง อาบน้ำแต่งตัว เตรียมของเพื่อจะออกเดินทางไปส่งลูก และเลยต่อไปยังที่ทำงาน วนไปจนกระทั่งเวลาเลิกงานของออฟฟิศนั่นคือเวลาเริ่มงานที่พวกเธอต้องนำไปใช้กับลูกน้อยต่อ ทันทีที่เก็บของจากโต๊ะทำงาน การดิ้นรนเพื่อเดินทางไปหาลูกให้เร็วที่สุดถูกเซตขึ้นในสมอง วางแผนการกินอาหารเย็น ตารางยาที่หมอสั่ง การเตรียมสอนการบ้าน อาบน้ำ รวมถึงการเอาลูกเข้านอน เป็นหน้าที่หลังเลิกจากงานประจำ เวลาพักผ่อนสมองแทบไม่มี หากบางวันที่ลูกน้อยเจ็บป่วย การดูแลย่อมยากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว บางคืนการแทบไม่ได้นอน ส่วนสามีก็ไม่ได้ช่วยอะไรเธอได้มากนัก แน่นอนว่า หน้าที่ของความเป็นแม่ไม่ได้ OT หรือค่าตอบแทนใด ๆ หากแต่ทำให้หัวใจ เพราะสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามีความหมายกับชีวิตพวกเธอมากนัก

ตารางชีวิตประจำวันของคุณแม่วัยทำงานช่วงที่ต้องเลี้ยงลูกน้อยไปพร้อมกันอย่างเข้มข้น

17:30 น. เตรียมเก็บของ เด้งตัวออกจากโต๊ะทำงาน (กรณีไม่ติดงานด่วน)
17:30 - 19:00 น. ใช้ชีวิตอยู่กับการเดินทาง / ไปรับลูกที่โรงเรียน / จิตใจจดจ่อกับงานบ้าน / ลูก / เรื่องงานที่คั่งค้าง
19:00 - 20:00 น. ทันทีที่ถึงบ้าน / เตรียมข้าวเย็น / กินข้าว / ล้างชาม เคลียร์กับข้าว / สอนการบ้านลูก (ใช้เวลามากกว่า 45 นาที)
20:30 น. ให้ลูกกินยาก่อนนอน / ให้ลูกกินนม / เตรียมเด็ก ๆ ให้พร้อมสำหรับเข้านอน เช่น อาบน้ำ / งานบ้านที่คั่งค้างอีกเล็กน้อย
21:00 น. พาลูก ๆ เข้านอน / เล่านิทาน กล่อมลูกหลับ
21:00 - 22:00 น. อาบน้ำ ทำธุระของตัวเอง / อ่านหนังสือ / ดูทีวี / เข้านอน
01:00 - 02:00 น. เช็คอาการไข้ลูก / เช็ดตัว ป้อนยา / ปั้มนม (กรณีให้นมเด็ก ๆ) ถ้าลูกไม่สบายมาก เราต้องตื่นทุกชั่วโมงหลังจากนี้ หรือบางที แค่งีบหลับ
05:30 น. ตื่นนอน / เตรียมเสื้อผ้าให้ลูก ๆ
06:00 - 06:30 น. อาบน้ำ / แต่งตัว / หุงข้าว และทำงานบ้านต่าง ๆ
07:00 - 07:45 น. ปลุกเด็ก ๆ อาบน้ำ+แต่งตัว+แปรงฟัน (งานยาก) / กินข้าวเช้า
07:45 - 08:30 น. ไปส่งลูกที่โรงเรียน / เดินทางมาทำงาน
08:30 - 17:30 น. ทำงานที่ออฟฟิศ

ความวิตกกังวลของ Supermom

ในยุคที่มีการแข่งขันสูงขึ้นไปทุก ๆ วันนี้ ความคาดหวังในการเลี้ยงลูกให้สมบูรณ์แบบมากที่สุดก็เป็นเป้าหมายหลักของชีวิตคุณแม่เกือบจะทุกคน จากผลสำรวจความคิดเห็นชิ้นหนึ่งของสวนดุสิตโพลล์ได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างพ่อแม่ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 400 คน ที่มีต่อการเลี้ยงดูลูกอายุระหว่าง 0-6 ปี พบว่าโภชนาการเพื่อพัฒนาการที่สมวัย เป็นปัจจัยหลักที่พ่อแม่ให้ความสำคัญมากที่สุด รองลงมา คือ การพัฒนาทักษะด้านสังคม อารมณ์ จิตใจ และภูมิต้านทานด้านร่างกายและจิตใจ โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 84% สนใจแนวทางการเลี้ยงลูกโดยเน้นที่พัฒนาการและความพร้อมรอบด้านมากกว่าพัฒนาการด้านสมองดีขั้นเป็นอัจฉริยะ เพราะเชื่อมั่นว่าเด็กที่พร้อมรอบด้านจะสามารถเรียนรู้และดำรงชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข โดย 99.7% เชื่อว่าการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่และการเสริมโภชนาการที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีความพร้อมรอบด้าน และ 99.5% มีความเห็นว่าเด็กควรได้รับการเสริมสร้างและพัฒนาการให้ครบทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และการอยู่ร่วมในสังคม

แต่ใครจะรู้ว่าความกดดันนั้นก็ก่อเกิดแฝงอยู่ในใจคุณแม่หลาย ๆ คน เช่น ความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นในเวลาที่ไม่สามารถดูแลลูกน้อยได้ เช่น “ติดงานในวันที่โรงเรียนลูกจัดกิจกรรมต่าง ๆ” “ลูกไม่สบายก็ไม่สบายลางานเพื่อมาดูแลพวกเค้าใกล้ ๆ เนื่องจากติดประชุมสำคัญ” “ไม่ได้กล่อมลูกเข้านอนมาหลายคืนแล้ว” สร้างความกดดัน และทำให้คุณแม่ทำงานสูญเสียความมั่นใจ บางครั้งก็เกิดคำถามกับตัวเองลึก ๆ ว่า “นี่เราทำอะไรอยู่?! เราดูแลลูกได้ดีพอรึเปล่า?!” เพราะหัวใจของแม่อยู่กับลูก แต่ชีวิตที่เลือกทำคือหน้าที่การงาน แม้มันจะเป็นการทำเพื่อพวกเขาก็ตาม ทว่าในใจรู้ลึกๆ เสมอ “ลูกไม่ได้ต้องการเงิน มากกว่าแม่” ความจำเป็นบังคับให้เลือกปากท้องของครอบครัว

นอกจากกังวลกับเรื่องลูกแล้ว เรื่องงานก็มีมากไม่แพ้กัน เช่น “ไปทำงานสายเพราะต้องพาลูกไปหาหมอ” “เข้าร่วมอบรมทักษะผู้บริหารไม่ได้เพราะต้องดูแลลูกที่กำลังป่วย” “อดโชว์ฝีมือการพรีเซ็นต์งานให้ลูกค้าเจ้าใหญ่ เนื่องจากต้องพาลูกไปฉีดวัคซีน” ภารกิจต่าง ๆ ที่ดูเหมือนติดขัดสำหรับคุณแม่ทำงาน อาจทำให้พวกเธอรู้สึกว่า งานก็ไม่สุดทาง เลี้ยงลูกก็ไม่ได้เต็มที่ อาการพะว้าพะวงเหล่านี้ ล้วนบั่นทอนศักยภาพในตัวแม่ สร้างความกังวลใจไม่น้อย หากสูญเสียการจัดการที่ดี อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้

แม่ทำงานกับความเครียด

ความกังวลใจต่าง ๆ หากเกิดขึ้นประจำโดยไม่ได้พักหรือรักษา ก็จะกลายเป็นเครียดเรื้อรังได้ คุณแม่ที่อยู่ในภาวะเครียดประจำ โอกาสที่ร่างกายจะทำงานผิดปกติก็มีมากขึ้นและอาจนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งอาการที่สะท้อนให้เห็นว่า คุณเริ่มอยู่ในภาวะเครียดได้แก่ อาการ ปวดคอ ปวดหัว หรือ เป็นไมเกรน, อารมณ์แปรปรวน, ไม่มีสมาธิ, มองโลกในแง่ร้าย, เหงา เศร้า กังวลและเหนื่อยง่าย

นอกจากจะต้องเป็น Supermom แล้ว ในยุคที่ใครต่อใครต้องสำรวจตรวจตราโซเชียลมีเดียเป็นกิจวัตร ก็เลี่ยงที่จะเป็น Smartmom ไปไม่ได้ โดยจากผลสำรวจ "The Asian Digital Mum Report 2015" โดยรวบรวมข้อมูลจากคุณแม่ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นจำนวนกว่า 2,700 คน มีอายุระหว่าง 25-35 ปี และมีอายุบุตรเฉลี่ยไม่เกิน 1 ขวบ เพื่อศึกษาพฤติกรรมและเทรนด์การบริโภคสื่อยุคดิจิทัลทั้งของคุณแม่มือใหม่ พบว่าคุณแม่มือใหม่ยุคดิจิทัลใช้เวลาทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตราว 1-6 ชั่วโมงต่อวัน โดย 50% ใช้เวลาเฉลี่ย 1-3 ชั่วโมง, 30% ใช้ 4-6 ชั่วโมง และมากกว่า 6 ชั่วโมง 4% ซึ่งช่วงเวลาที่ออนไลน์สูงสุดอยู่ระหว่าง 1-3 ทุ่ม

ซึ่งแน่นอนว่าบางครั้งโซเชียลมีเดียก็ถือเป็นเครื่องมือคลายเครียดหรือหาข้อมูลต่าง ๆ ให้กับคุณแม่วัยทำงานได้ แต่หากใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไม่สมดุลกับชีวิตของคุณแม่วัยทำงานที่มีบทบาทอันมากมาย ก็อาจจะเป็นแหล่งเพาะบ่มความเครียดอีกแหล่งก็เป็นได้

และไม่ใช่แค่คุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านควบคู่กับการเลี้ยงลูกจะประสบกับปัญหาด้านความเครียด ที่น่าตกใจก็คือ มีการสำรวจพบว่าแม่ที่เลี้ยงลูกเองอยู่กับบ้านนั้นมีโอกาสที่จะพบเจอเรื่องเครียดไม่น้อยไปกว่าคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านเลยสาเหตุก็คือ พวกเธอต้องแบกภาระทุกอย่างในบ้านเพียงลำพัง ทั้งการเลี้ยงลูก การทำงานบ้าน การดูแลเรื่องอาหารให้กับคนในครอบครัว ภารกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุดนี้อาจนำมาซึ่งอารมณ์ซึมเศร้า และวิตกกังวลได้ เนื่องจาก พวกเธอมีโอกาสพูดน้อยลง ยิ้มน้อยลง โอกาสที่พวกเธอจะได้รู้สึกถึงความสุข ความร่าเริงนั่นห่างไกลออกไปทุกที  โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของบรรดาคุณแม่ในสหรัฐอเมริกาชิ้นหนึ่งเมื่อปี ค.ศ.2012 ที่ทำการสำรวจคุณแม่ที่มีอายุระหว่าง 18-64 ปี ทางโทรศัพท์ พบข้อค้นพบที่น่าสนใจว่าในว่าบรรดาคุณแม่เต็มเวลา ที่เลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียวไม่ต้องออกไปทำงานข้างนอกบ้านนั้นก็มีโอกาสเกิดอารมณ์ในเชิงลบเกิดได้มากเช่นกันโดยจากผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 60,799 ราย มี 41% ของคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียวไม่ต้องออกไปทำงานข้างนอกบ้านระบุว่า ตนเองเป็นคนช่างวิตกกังวล ในขณะที่บรรดาคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านไปด้วยกลับมีคนรู้สึกเช่นนี้เพียง 34% เท่านั้น นอกจากนั้นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียวไม่ต้องออกไปทำงานข้างนอกบ้านยังมีโอกาสอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้มากกว่าคุณแม่ที่ทำงานประจำอีกด้วย เพราะมีถึง 28% ตอบว่าตนเองเคยเกิดภาวะซึมเศร้า ในขณะที่คุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านไปด้วยมีเพียง 17% เท่านั้น

ทั้งนี้การแบกรับหลายหน้าที่ในแต่ละวันของแม่อาจส่งผลให้เกิดความเครียดขึ้น ซึ่งความเครียดมีผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิด และสิ่งเหล่านี้ถ่ายทอดออกมาเป็นพฤติกรรม เนื่องจากคนเราเป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน เพราะฉะนั้น ถ้าแม่จิตใจไม่สบาย ก็จะกระทบต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะลูกและสามี ดังนั้นครอบครัวจึงต้องช่วยกันทำความเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อสามารถรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โอกาสที่จะล้ม หรือเจ็บป่วยเรื่องพวกนี้ก็จะน้อยลง

หลักคิดชีวิต Supermom

เพื่อจัดการกับปัญหาที่รุมเร้า ในชีวิตแม่ทำงาน การนำหลักคิดดี ๆ มาปรับใช้ก็ช่วยให้เราสามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น สร้างกำลังใจและตั้งรับกับความเครียดที่อาจตามมาได้

หาจุดสมดุลในการใช้ชีวิต โดยเริ่มจากสำรวจความต้องการของครอบครัว ทั้งเรื่อง การเงิน การงาน และแนวทางการเลี้ยงลูก เพื่อหาจุดลงตัวในการออกแบบการใช้ชีวิตของเราเองและครอบครัว เพื่อไม่ให้ตึงเครียดจนเกิดไป

ยอมรับข้อจำกัดของตัวเอง “ใครจะเพอร์เฟกต์ได้ตลอดเวลา?” คุณไม่ใช่ Superwomen เราต้องยอมรับชีวิตว่า ครอบครัวมีสภาพอย่างไร ทั้งเราและสามีที่ต้องทำงานหนักด้วยกันทั้งคู่ อาจต้องพึ่งพาคนอื่นเพื่อช่วยดูแลเด็ก ๆ ยอมรับเงื่อนไขและข้อจำกัดของตัวเองที่มีอยู่ แต่ไม่ใช่การยอมรับกับสภาพอย่างไร้ทางออก เราต้องรู้จักจัดการกับปัญหาภายใต้ข้อจำกัดพวกนี้ ออกแบบและตกลงให้กันดี ไม่ใช่สร้างปัญหาใหม่เพื่อถมปัญหาเดิม

เรียนรู้จากความผิดพลาด ตระหนักเสมอว่า เราก็คนธรรมดาคนหนึ่ง การล้มเหลวหรือผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับชีวิตทุกคน การโทษตัวเอง ไม่ได้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด จงมองความผิดพลาดเป็นครู และคิดหาวิธีการจัดการรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมให้กับชีวิตตัวเองและครอบครัว

ตัวช่วยการจัดสมดุล Supermom

ตัวช่วยการจัดสมดุลสำหรับแม่ทำงานนั้น เป็นทางเลือกที่ฉลาดในการช่วยให้ชีวิตง่าย และลงตัวมากขึ้นคุณแม่ทำงานควร “แบ่งเวลาอย่างชัดเจน” ทั้งเรื่องงานและครอบครัว “รักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ” หากช่วงไหนงานยุ่งก็ไม่ทิ้งการพูดคุย การกอด เล่น อุ้มและกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างคุณ กับสมาชิกในครอบครัว “เสาะหาพี่เลี้ยงมือโปรฯ” ช่วยแบ่งเบาภาระระหว่างช่วงเวลาทำงาน “ตัวช่วยที่แสนวิเศษคือ ปู่ย่า ตายาย” การที่พวกท่านได้มาอยู่เป็นเพื่อนหลานๆจะช่วยคุณเบาใจได้มาก แม้จะมีปัญหาเรื่องการขัดแย้งในวิธีการเลี้ยงดูบ้าง แต่ทั้งหมดก็เพราะความหวังดี ไม่ได้มีพิษภัยอะไร “คุณสามีคือทีมเวิร์กที่เลิศเลอที่สุด” แบ่งความรับผิดชอบให้คุณพ่อบ้าง ลูกเค้าเหมือนกัน คุณแม่ควรปล่อยลูกให้อยู่กับพ่อบ้าง อาจไม่ได้ดังใจไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็มีเวลาพัก ตั้งสติแล้วต่อสู้กับภารกิจมหาศาลที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวันกันต่อไป

สภาพความดิ้นรนของผู้เป็นแม่ ที่หลายคนที่ไม่อินและมองไม่ออกว่า วัน ๆ หนึ่งพวกเธอต้องจัดการชีวิตของตัวเองอย่างไรบ้าง ทำให้คำว่า “เหนื่อย” ที่หลุดปากมาจากผู้หญิงคนหนึ่งดูไม่มีความหมายเท่าไหร่นัก แต่กระนั้นมันถูกกลั่นออกมาจากก้นบึ้งของความรู้สึกขั้นสุดในหัวใจ

หากมองในมุมมองมนุษย์ปุถุชนทำงานทั่วไป ไม่ว่าจะทำงานในออฟฟิศ ทำงานในโรงงาน ทำงานในสถานศึกษา หรือทำงานที่ใด ๆ ก็ตาม บางครั้งก็อาจต้องกล่าวคำว่า “เหนื่อย” ซ้ำ ๆ หรือ “แสดงความเห็นใจ” หนัก ๆ ต่อคนที่ดูทุกข์ยากและลำบากมากกว่าเรา เพื่อให้ความเหนื่อยมันดูเท่าเทียม

เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อค่ะ.

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฉันทนาออฟฟิศ เป็นนามปากกาของพนักงานออฟฟิศในอุตสาหกรรมการเงินและอีกบทบาทหนึ่งก็คือคุณแม่ลูกสอง ที่มีความสนใจต่อประเด็นคุณภาพชีวิตคนทำงาน และกำลังเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสถานประกอบการที่เธอทำงานอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท