ฟรีแลนซ์ฯ: ร่างกายใต้บงการ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอเป็นหนังสนุก...และเป็นหนังดีในความหมายว่าองค์ประกอบต่างๆ ในหนังทั้งนักแสดง ฉาก แสง เสียง ฯลฯ ทำงานช่วยให้ผู้ดู “รู้สึก” ถึงบางสิ่งที่หนังพยายามสื่อนับแต่ฉากแรก ๆ และความรู้สึกนั้นก่อตัวพูนขึ้นเป็นความเข้าใจอะไรบางอย่างในทุก ๆ วินาทีที่หนังเดินเรื่องไปจนจบ

หนังเรื่องนี้เป็นหนังของคนทำงาน คนในหนังชื่อยุ่น เขามีอาชีพเป็นกราฟฟิคดีไซน์เนอร์อิสระ-ฟรีแลนซ์ ฝีมือดี บ้างาน ชีวิตของยุ่นทำงานหามรุ่งหามค่ำเกือบตลอดเวลา บ้านของเขามีสภาพเหมือนโรงพิมพ์ขนาดย่อม (บ้านใครมีเครื่องพิมพ์ใหญ่ขนาดนั้นบ้าง?) แต่เขาก็มีความสุขกับชีวิตเช่นนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งเกิดป่วยและต้องไปหาหมอ

หมอเป็นสาวสวย ความสวยของหมอไม่ได้เป็นปัญหา การที่หมอสั่งให้พักผ่อนเพื่อรักษาร่างกายของเขาต่างหากที่เป็นปัญหาและทำลายชีวิตที่เป็นอยู่ของเขา! (เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?)

การที่หนังถ่ายทอดความเป็นจริงในชีวิตของคนทำงานอิสระซึ่งในภาพใหญ่แล้วก็รวมถึงคนหาเช้ากินค่ำทั่วไปด้วย เป็นต้นว่า การอดหลับอดนอนทำงานด้วยวิธีการต่าง ๆ ค่ารักษาพยาบาลมหาโหดของโรงพยาบาลเอกชน การรอคอยคิวอันยาวและนานของโรงพยาบาลรัฐ ความขัดแย้งของการรักษาสุขภาพกับการรักษาหน้าที่การงาน ฯลฯ คือส่วนที่คนดูจะได้ขำคลอไปกับหนังตลอดเรื่อง

เรื่องขำไม่ออกในชีวิตจริงกลายมาเป็นเรื่องขำ ๆ ในจอเมื่อผู้มีประสบการณ์ร่วมอยู่ในสถานะผู้ชม

คนดูจะเห็นตัวละครหลักในหนังไม่กี่คน ได้แก่ ยุ่น เจ๋-รุ่นน้องสาวที่ทำงานด้วยและ อิม-หมอสาวสวย แต่ตัวละครที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งแม้เขาจะปรากฎตัวน้อยนั่นคือ พี่เป้ง ในหนังไม่ได้ระบุชัดว่าเขาทำงานตำแหน่งอะไร คนดูได้ข้อมูลว่าเขาทำงานในบริษัทโฆษณาที่มีชื่อเสียงและน่าจะมีตำแหน่งสูงในองค์กรในระดับที่สวมกางเกงเลรองเท้าแตะเข้าประชุมได้ (โอเค บริษัทโฆษณาไม่เข้มงวดเรื่องเครื่องแต่งกาย..จริงหรือ? หรือพวกเขามีเครื่องแบบแสดงสถานะอีกแบบหนึ่ง)
ความใฝ่ฝันประการหนึ่งของยุ่นคืออยากทำงานให้พี่เป้ง

พี่เป้งปรากฎตัวไม่กี่ฉากแต่อาจจะกล่าวได้ว่าตัวละครพี่เป้งคืออากาศที่หนังเรื่องนี้จะขาดเสียไม่ได้ คนดูอาจจะไม่ได้เห็นพี่เป้งแต่พี่เป้งแผ่อิทธิพลครอบคลุมบรรยากาศในหนังทั้งเรื่องทั้งในแง่ของเป้าหมาย วิธีการและแรงจูงใจหลักในการทำงานของยุ่น (และของคนอื่น ๆ ด้วย) แม้พี่เป้งจะเห้..(จากปาก เจ๋-รุ่นน้องสาวที่ทำงานกับยุ่น) ชอบเอารัดเอาเปรียบคนรอบข้างแต่คนในวงการก็ยังทำงานกับเขา เขามีตำแหน่งสูงในองค์กร มีคนนับหน้าถือตา ยิ่งไปกว่านั้นตัวยุ่นเองก็เคารพนับถือเขา

จะว่าไปแล้วพี่เป้งนี่แหละที่ทำให้ยุ่นเปลี่ยนบ้านเป็นโรงงาน เปลี่ยนตัวเองจากมนุษย์ที่มีความสนใจรอบด้านกลายเป็นกรรมกรม้าแข่งวิสัยทัศน์แคบ

ระบบพี่เป้งนั้นถูกออกแบบมาให้คนแบบพี่เป้งได้ประโยชน์สูงสุดในขณะที่สังคมโดยรวมจ่ายต้นทุนผลิตคนงานให้พี่เป้ง (รัฐจ่ายเงินอุดหนุนการศึกษา สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ) และคนทำงานต้องจ่ายสวัสดิการให้ตัวเองภายใต้อุดมการณ์ปลอบขวัญเรื่องการเป็นนายตัวเองและเสรีภาพการใช้ชีวิต

คำว่าอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์เหมือนจะให้เสรีภาพในการใช้ชีวิตควบคู่ไปกับการทำงานแต่ตามสภาพความเป็นจริงคนทำงานอิสระถูกควบคุมระยะไกลด้วยมือที่มองไม่เห็นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านวัฒนธรรมโดยโครงสร้างที่ผลิต “มืออาชีพ” จำนวนมากเพื่อให้ออกมาแข่งขันกันในตลาดแรงงานและโดยโครงสร้างที่ผลิตวัฒนธรรมความเชื่อในเรื่องประสิทธิภาพ ผลสัมฤทธิ์ ตัวเลข สถิติ ชาตินิยม ฯลฯ ว่าเป็นเป้าหมายและความหมายสูงสุดในการใช้ชีวิตของคนทำงาน

คนงานที่อยู่นอกโรงงานจึงไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมีเสรีภาพในชีวิตโดยอัตโนมัติ เครื่องมือควบคุมทางไกลหลายอย่าง เช่น “ตารางเวลา” “มาตรฐานการทำงาน” ฯลฯ จะกำกับวิถีชีวิตฟรีแลนซ์ว่าพวกเขาควรจะกินจะนอนเมื่อไหร่ อย่างไร อ้อ อาจจะรวมว่าคุณจะมีแฟนหรือมีเซ็กส์เมื่อไหร่ด้วย

ฟรีแลนซ์มักถูก “มือที่มองไม่เห็น” เหล่านี้ขูดรีดแรงงาน (โดยไม่กดขี่) จนตายซากแล้วก็ทิ้งไปหาร่างใหม่หรือหากต้นทุนคนเก่าเริ่มสูงขึ้นก็เลือกจ้างเด็กจบใหม่ราคาถูก

แม้ว่าทางการแพทย์ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าฟรีแลนซ์ควรมีแฟนหรือไม่ แต่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอแนะว่าฟรีแลนซ์ที่ได้ค่าแรงต่ำควรมีผัวหรือเมียเพราะทำงานคนเดียวจะเลี้ยงครอบครัวไม่ได้

ร่างกายของเราจะเป็นของเราได้อย่างไรหากเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าเราจะใช้มันอย่างไรด้วยตัวของเราเอง?

คนงานนอกโรงงานจะมีเสรีภาพได้อย่างไรหากเขาไม่มีปัญญาจ่ายค่ากินอยู่เพราะค่าแรงต่ำเสียจนเงินจากการทำงานหามรุ่งหามค่ำหายวับไปในพริบหมอ (เอกชน) เดียว

ระบบพี่เป้งไม่อนุญาตให้เหนื่อย ให้พัก หรือให้รักใคร เสรีภาพในการกำหนดชีวิตและร่างกายตนเองของคนถูกกำหนดโดยพี่เป้ง ถ้ายุ่นเลือกงานเขาจะเสียชีวิต ถ้ายุ่นเลือกชีวิตเขาจะเสียงาน เสรีภาพของยุ่นจึงไม่ได้มาจากการเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพราะไม่ว่าจะเลือกทางใดเขาจะสูญเสียเงื่อนไขในการดำรงอยู่ เสรีภาพในระบบพี่เป้งนี้มีเงื่อนไขขั้นต้นคือต้องออกไปจากเวทีหรือถูกผลักตกเวที

การออกจากงานหรือการถูกให้ออกจากงานเป็นเรื่องที่ไม่ยากเท่าไหร่ แต่การเดินออกจากระบบพี่เป้งนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำได้โดยง่ายเพราะคนแบบยุ่นเห็นใจและขำไปกับยุ่นเฉพาะในหนังเท่านั้น เมื่อออกจากโรงภาพยนตร์เกือบทุกคนคือทีมพี่เป้ง

#ช่วยยุ่นจากทีมพี่เป้ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท