เทคโนโลยีการแพทย์: เครือข่ายวงแหวนของการค้าอวัยวะ (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
การปลูกถ่ายอวัยวะ หรือ Organ transplantation ในภาษาอังกฤษเป็นการรักษาในขั้นตอนสุดท้ายที่อวัยวะมนุษย์เสื่อมถอยจนไม่อาจฟื้นกลับคืนเกิดขึ้นแพร่หลายทั่วโลก รายงานวิจัยจากองค์การอนามัยโลกมีสถิติระบุว่าสถานการณ์การแพทย์สากล มีการผ่าตัดเปลี่ยนไตใน 91 ประเทศ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคไตเป็นจำนวน 66,000 ราย รองลงเป็นการปลูกถ่ายตับ 21,000 ราย และการปลูกถ่ายหัวใจ 6,000 ราย (Who 2007) อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายอวัยวะขึ้นอยู่กับการประเมินต้นทุนของระบบสาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์ มากกว่านั้นคือความสามารถในการจัดหาอวัยวะแต่ละประเทศ  
 
ความขาดแคลนอวัยวะเป็นปัญหาสากล บางประเทศได้พัฒนาแผนงานบริจาคอวัยวะจากผู้เสียชีวิตซึ่งแยกไม่ออกจากการตีความร่างกายในมิติสังคมวัฒนธรรม กฎหมายและภาคส่วนอื่นๆ  แม้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มการบริจาคอวัยวะจากผู้เสียชีวิตค่อนข้างสูง แต่ปริมาณความต้องการจากผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกปีย่อมไม่เพียงพอ ดังนั้น ปรากฎการณ์ซื้อขายอวัยวะ ไต ตับ จากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตจึงเกิดขึ้น แม้ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายในหลายประเทศ 
 
ความขาดแคลนอวัยวะเชิงอุปทานนำไปสู่การพัฒนาโปรแกรมการค้าอวัยวะสากล (International organ trade) ที่มีนัยสำคัญของการตั้งองค์กรประกันการเสื่อมถอยอวัยวะ โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดหาอวัยวะผ่านระบบตลาดการค้า โปรแกรมดังกล่าวถูกนำเสนอครั้งแรกในสมัชชาสุขภาพโลกปี 2004  (เอกสารหมายเลข WHA.57.18) และข้อตกลงการค้าว่าด้วยการบริการ (GATS) ที่รัฐบาลต้องพัฒนารูปแบบการค้าเพื่อบริการสุขภาพ และในหมวดของผู้รับบริการ ระบุว่าผู้ป่วยต่างประเทศสามารถได้รับการบริการสุขภาพด้วยมาตรฐานเทียบเท่ากับพลเมืองในประเทศนั้น ซึ่งส่งผลให้ประชาคมโลกเรียกร้องให้นานาประเทศสร้างมาตรการปกป้อง “กลุ่มเปราะบางจากแพคเก็จทัวร์การแพทย์เพื่อเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ”  (transplant tourism) การค้าขายเนื้อเยื่อและอวัยวะ แม้ว่าแทบทุกประเทศตระหนักถึงผลกระทบจากข้อเสนอการค้าเพื่อสุขภาพนี้ แต่การค้าอวัยวะสากลยังคงดำเนินต่อเนื่อง โดยไม่ได้มีการรวบรวบข้อมูลผลกระทบทางสังคมวัฒนธรรมที่เป็นปัจจุบัน รวมทั้งขาดแคลนงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ถึงผลข้างเคียงการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะต่อผู้ป่วย 
 
ตั้งแต่ ค.ศ.1980 ปรากฎการณ์ค้าอวัยวะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมโลก ที่พัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยีการแพทย์ การเมือง เศรษฐกิจสังคมและระบบสุขภาพสากล  มากาเร็ต ลอค นักมานุษยวิทยาการแพทย์ (Margaret Lock) นำเอาแนวคิดประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยน “ของขวัญ” ของสังคมชาวเกาะโทรเบียนซึ่งเป็นงานภาคสนามของโบรนิสลอ มาลินอฟสกี้  (Malinowski 1922) เรียกว่า “เครือข่ายวงแหวน” (Kula Ring) มาประยุกต์ใช้อธิบายเครือข่ายการค้าขายอวัยวะและชิ้นส่วนของร่างกาย  งานศึกษาของ ลอค ฉายภาพที่เรียกว่า “สภาวะที่ไม่เต็มใจเลือก”  dilemma ต่อโครงการความหลากหลายของพันธุกรรมมนุษย์ (Human Genome Diversity Project : HGDP) มีเป้าหมายทำแผนที่ความหลากหลายพันธุกรรมของประชากรโลก มีจุดเน้นสิทธิคนพื้นเมืองเป็นหนึ่งในเป้าหมายขององค์กรการค้าโลก เพื่อพัฒนาเป็นสิทธิบัตรทางปัญญาและเพื่อเข้าถึงทรัพยากรของกลุ่มคน อย่างไรก็ตามในปฏิบัติการนี้ บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพฉวยโอกาสเข้าไปสำรวจชนพื้นเมืองฮากาไฮ  (Hagahai) ชาวเกาะในแอฟริกาและประเทศด้อยพัฒนาจนค้นพบเซลจากยีนส์ที่มีศักยภาพเป็นภูมิคุ้มกันฟื้นฟูตัวเอง บริษัทเอกชนเหล่านี้ไม่เพียงเข้าไปจดสิทธิบัตรเซลของชาวฮากาไฮโดยที่ไม่ได้รับการยินยอม แต่ยังนำเอาเซลฮากาโฮมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนมาค้าขายในประเทศตนเอง ในภาพจำลองดังกล่าวนี้เป็นวิกฤตจริยธรรมที่ส่งผลให้คนพื้นเมืองชาวเกาะที่ขาดความรู้เทคโนโลยีชีวภาพตกเป็นเหยื่อ และกรณีการพัฒนาภูมิคุ้มกันของชาวฮากาไฮเป็นตัวอย่างของการต่อสู้เรื่องสิทธิพันธุกรรมของตนเอง 
 
ข้อเขียนชิ้นนี้ต้องการปูพื้นฐานความเข้าใจการค้าอวัยวะที่ทำงานบนความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและสังคม ผู้เขียนมีข้อสังเกตต่อการค้าขายอวัยวะที่ทิศทางการหลั่งไหลจากซีกโลกใต้เคลื่อนย้ายไปยังซีกโลกเหนือ จากคนจนไปสู่คนรวย จากคนผิวดำไปยังคนผิวขาว จากผู้หญิงไปยังผู้ชาย และประเทศที่มีข้อห้ามความเชื่อทางศาสนาเคร่งครัดไปสู่ประเทศที่บูชาตลาดเสรี โดยบทความการค้าอวัยวะได้แบ่งออกเป็น 3 ตอน 1) ทบทวนงานศึกษาพัฒนาการการค้าอวัยวะราวต้นปี 1980  ในมุมมองนักมานุษยวิทยาการแพทย์  2) แสดงให้สถานการณ์ตลาดการค้าอวัยวะ ประเทศที่นำเข้า-ส่งออกเพื่อให้ภาพสากลที่มีความเข้มข้นในปัจจุบัน 3) ประสบการณ์ผู้ป่วยโรคไตที่ซื้อบริการท่องเที่ยวเพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะในโรงพยาบาลปักกิ่ง ความแปลกแยกในตัวตนใหม่ๆ (new somatic sense of self ) และการแลกเปลี่ยนไตภายในครอบครัว

-1-

งานศึกษาประวัติศาสตร์สังคมของร่างกายและตลาดการค้าอวัยวะ ผลงานที่สำคัญของแนนซี่ เชปเปอร์ ฮูทจ์ (Nancy Scheper-Hughes) เป็นนักมานุษยวิทยาการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเบริกเล่ย์ทำการศึกษาการขายอวัยวะในพื้นที่อเมริกาใต้และอาฟริกาในช่วง ค.ศ.1980 – 1990 โดยทำงานกับผู้ให้ข้อมูลจำนวนมาก ทั้งเจ้าหน้าที่ธนาคารอวัยวะ ตำรวจ หมอผ่าตัด เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและผู้ที่ขายอวัยวะ เชปเปอร์ ฮูทจ์ เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Organs Watch ร่วมกับนักศึกษานักกิจกรรมสังคม แพทย์ นักสิทธิมนุษยชน ฯลฯและตีพิมพ์บทความวิชาการเกี่ยวกับประเด็นนี้มากกว่า 30 ชิ้นและมีหนังสือรวมบทความหนึ่งเล่มที่เธอเป็นบรรณาธิการ ชื่อ Commodifying Bodies (Scheper-Hughes 2002) (ทุกบทความเคยตีพิมพ์ในวาร Theory, Culture and Society)

ในศตวรรษ 1980  ชปเปอร์ ฮูทจ์ เป็นหนึ่งในนักมานุษยวิทยาการแพทย์ที่พัฒนาแนวคิดมานุษยวิทยาการแพทย์วิพากษ์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีวิพากษ์และมาร์กซิสต์ปัจจุบัน เชปเปอร์ ฮูทจ์ กำลังพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า "Public Anthropology" ซึ่งก็คือการพยายามทำให้งานหรือข้อค้นพบจากการศึกษาของนักมานุษยวิทยาสื่อสารและเผยแพร่สู่สาธารณะวงกว้างทั้งเพื่อปรับเปลี่ยนการรับรู้ของผู้คนในสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายมากกว่าจะเน้นแค่ให้ผลงานวิชาการตีพิมพ์ทางหน้าวารสารแล้วอ่านกันอยู่เฉพาะในแวดวงนักวิชาการด้วยกันเอง ตัวอย่างเช่น เชปเปอร์ ฮูทจ์ เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์การอนามัยโลกหรือเคยเป็นคนเดินเรื่องในสารคดีทางโทรทัศน์เกี่ยวกับการขายอวัยวะ 
 

การทำอวัยวะให้เป็นสินค้า (commodification of organ)

การทำอวัยวะให้เป็นสินค้า (commodification of organ) หมายถึง ปฏิบัติการแยกอวัยวะชิ้นส่วนต่างๆ ของร่างกายไปสู่กระบวนการค้าขาย ไม่ว่าผ่านรูปแบบการสงเคราะห์บริจาค ความสงสารเห็นอกเห็นใจเป็นพื้นฐานไปสู่การค้าขายหรือการขโมยอวัยวะ การนิยามความหมายการกลายเป็นสินค้าของอวัยวะปรากฎอยู่ในงานศึกษาทางสังคมศาสตร์หลายชิ้น (Comaroff and Comaroff 1999 ; Scheper-Hughes 1998b)  มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า อวัยวะเป็นสินค้าที่เป็นต้นทุนสังคม แต่ละสังคมมีความต้องการอวัยวะบางส่วนของปัจเจกและการจัดการเชิงสถาบัน ได้แก่ ธนาคารอวัยวะ ธนาคารเลือด ธนาคารสเปริ์ม เป็นต้น มุมมองดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า  ร่างกายมนุษย์ล้วนผูกพันกับผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง พร้อมกับโศกนาฎกรรมของเศรษฐกิจสังคม (klinenberg 1999) กระบวนการทำให้อวัยวะเป็นสินค้าครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจทุนนิยมที่ร่างกายมนุษย์ที่สามารถแลกเปลี่ยนได้ลงรอยสอดคล้องกลมกลืนกับวาทศิลป์ความเห็นอกเห็นใจ (rhetoric of compassion) ได้นำมาประยุกต์ใช้กับรูปแบบการค้าขายร่างกายมนุษย์ในเศรษฐกิจโลก
 

-2-

ยาไซโครสปอรีน (cyclosporine) และการท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

ปรากฎการณ์ที่น่าสนใจทางการแพทย์เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1983 ปริมาณการใช้ยาควบคุมฮอร์โมนผิดปกติหลังผ่าตัดที่ชื่อ ไซโครสปอรีน (cyclosporine) เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสัมพันธ์กับการบริจาคอวัยวะให้ผู้ป่วย  จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1989  มีรายงานทางการแพทย์ชื่อ Lancet เสนอผลการสอบสวนที่ตั้งข้อกล่าวหาชาวตุรกีสี่คนที่ถูกนำมาลอนดอนและพวกเขาได้ขายไตให้โรงพยาบาลเวลลิงตัน (Humana Hospital Wellington)  นักวิจัยทำรายงานเพิ่มเติมว่าการขายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตเติบโตอย่างมากในประเทศอินเดียและจีนที่มีการซื้อขายอวัยวะมนุษย์จากร่างกายนักโทษประหารเป็นข่าวครึกโครมช่วงนั้น ในปีถัดมา โรงพยาบาลการแพทย์สมัยใหม่ในอังกฤษก็ผลักดันรูปแบบการบริการสุขภาพใหม่ๆ  “การท่องเที่ยวเพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะ” เป็นโปรแกรมการแพทย์ข้ามแดนที่เริ่มแพร่หลายจากสังคมตะวันตกตั้งแต่บัดนั้น ปัจจุบันประเทศไทยก็พัฒนาศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Hub) ก่อนหน้านั้นมีการพัฒนาแพ็คเก็จทันตกรรมและท่องเที่ยวตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ ได้แก่ โรงพยาบาลเอกชนในภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ เป็นต้น
 
งานศึกษาการปลูกถ่ายอวัยวะเชิงประวัติศาสตร์การแพทย์ของ รูท ริชาร์ดสัน (Ruth Richardson) เป็นนักมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ชี้ให้เห็นสัดส่วนบริการสุขภาพที่ไม่ใช่แค่การรักษาเท่านั้น ระหว่างการแพทย์ศัลยกรรมร่างกายและการแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ พบว่าความต้องการปลูกถ่ายอวัยวะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น(Ruth 2001 : 142) ในขณะที่สหรัฐอเมริกาบริษัทเอกชนรณรงค์เชิงรุกในการรับบริจาคอวัยวะ และมีรายชื่อผู้รับบริจาคมากกว่า 37,000 คนโดยผู้ป่วย 10% ที่รอผ่าตัดหัวใจจะเสียชีวิตก่อนได้รับบริจาคอวัยวะ  ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมที่มหาวิทยาลัยเลเดนท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เดือนสิงหาคม ค.ศ.2000 ริชาร์ดสัน เสนอให้ผู้แทนแผนงานการเปลี่ยนอวัยวะสหภาพยุโรป ทบทวนการทดลองขยายการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะที่รออยู่ในรายชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้รอรับบริจาคเป็นผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 70ปี ทั้งผู้ป่วยเอดส์และผู้ป่วยที่มีอาการต่อต้านอวัยวะใหม่ซึ่งมีความต้องการอวัยวะช่วงสั้นๆ  แต่การขยายตัวของแผนงานทดลองมีแนวโน้มที่จะไปรองรับตลาดการขายอวัยวะและบริการผู้ป่วยที่อยู่นอกเหนือบัญชีรายชื่อเสียมากกว่า
 

-3-

การลักขโมยอวัยวะในบราซิล

เชปเปอร์ ฮูทจ์ ศึกษาเกี่ยวกับการขโมยอวัยวะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิลช่วงปี ค.ศ. 1987 ในเมืองชานตี้ทาวน์ แถบ Alto do Cruzeiro ซึ่งชาวเมืองส่วนใหญ่เป็นแรงงานยากจนในไร่อ้อยขนาดใหญ่  ถือเป็นพื้นที่บุกเบิกงานศึกษาการตลาดการค้าอวัยวะเริ่มต้น ค.ศ. 1970 นอกจากนี้ เชปเปอร์ ฮูทจ์ ศึกษาการแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะและผลกระทบทางสังคมของผู้ขายไตในระยะยาว ครอบครัวและชุมชนของเขา กฎหมายการลักขโมยไตเด็กในบราซิลทั้งในแง่การค้าอวัยวะและอวัยวะอื่นๆ ระบุเป็นเรื่องผิดกฎหมายได้เพิ่งผ่านสภาใน ค.ศ.1997 กฎหมายในหมวดมาตราที่ว่าด้วยการบริจาคอวัยวะมีเจตนารมณ์ที่จะยับยั้งการเติบโตของการค้าอวัยวะในตลาดมืด ในสถานการณ์การปฏิรูปภาคสาธารณสุขประเทศแอฟริกาใต้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และการขยายช่องทางบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิจากภาครัฐได้เปลี่ยนไปสู่ภาคเอกชน ในขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมบริการทางการแพทย์ปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะการละเมิดอวัยวะผู้ป่วยตั้งแต่การชันสูตรร่างกายของตำรวจยังใช้กฎหมายเก่าในยุคอาณานิคมเหยียดผิว
 

ตลาดการค้าอวัยวะในอินเดีย

การค้าอวัยวะในประเทศอินเดีย ผลงานของ ลอร์เรน โคเฮน (Lawrence Cohen) ชี้ว่าการค้าขาย “ไต” คึกคักมากทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศจากผู้บริจาคที่มีชีวิตอยู่ แม้ว่าข้อถกเถียงทางการแพทย์และจิตวิทยาแสดงให้เห็นว่าผู้รับไตชาวต่างชาติที่เปลี่ยนถ่ายไตจากชาวอินเดียมีอัตราการตายสูง (Daar 1989 ;1990;1992a)  แต่ทว่า กลุ่มผู้ป่วยจากกลุ่มประเทศร่ำรวยอย่างอาหรับเอมิเรตและโอมานต่างเดินทางไปอินเดียเพื่อซื้อขายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตผ่านทางนายหน้า แหล่งพบปะของผู้ขายหน้าใหม่อยู่ในตลาดชื่อ “ออแกน บาซาร์” (Organ Bazaar) ในชุมชนแออัดของเมืองมุมไบ กัลกัตต้าและแมดราส ซึ่งเป็นย่านอยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์อินเดียนวีกรี่ รายงานของตลาดค้าขายอวัยวะเปิดเผยปี ค.ศ.1998 ระบุสถานการณ์การจัดตั้งกลุ่มแลกเปลี่ยนไตนานาชาติมีจุดประสงค์เพื่อรับบริจาคไตจากผู้ป่วยที่มีชีวิตในประเทศโลกที่สาม โดยเฉพาะอินเดียก่อนปี ค.ศ.1990 และ  ค.ศ. 2000 สถิติการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคมีชีวิตของอินเดียในแต่ละปีแสดงให้เห็นว่าอินเดียเป็นตลาดอวัยวะที่สำคัญระดับโลก ขณะที่กฎหมายควบคุมที่ไม่เคร่งครัดทำให้นายหน้าเอากำไรจากผู้บริจาค  
 
อินเดียมีกฎหมายควบคุมการขายไตภายหลังปี ค.ศ. 1994 จากการเคลื่อนไหวกดดันของนักสิทธิมนุษยชน นักหนังสือพิมพ์และนักมานุษยวิทยาการแพทย์ที่ต้องการยับยั้งการค้าขายในตลาดมืดที่เดิมเคยถูกจัดการด้วยนักการเมืองท้องถิ่น  ในบางกรณีนายแพทย์เป็นนายหน้ายังคงทำธุรกิจในบังกาลอร์และแมดราสต่อไป (บังกาลอร์และแมดราสเป็นเมืองขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยีการแพทย์) เพราะกฎหมายใหม่มีมาตรการระบุว่าบริจาคไตต้องได้รับการรับรองจากกรรมการเจ้าหน้าที่การแพทย์ท้องถิ่น ซึ่งเขาเหล่านั้นมักละเลยปล่อยผ่านเพราะการค้าขายไตเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชุมชน วงจรของปัญหาดังกล่าวเกิดจากโครงสร้างหนี้สินและความยากจนที่ดึงดูดผู้ขายไตเข้าสู่กระบวนการขายอวัยวะตนเอง “ชั้นอยากจะมีสามไตเพื่อขายเลี้ยงครอบครัว” หญิงสาวชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้โคเฮน นักมานุษยวิทยาการแพทย์ผู้สัมภาษณ์
 
การขายไตในมิติทางวัฒนธรรมในอดีต ชาวบ้านในพื้นที่ชนบทมองการขายไตเป็นยุทธวิถีเพื่อการอยู่รอดของพ่อแม่ที่ยากจนที่จะขายไตให้ลูกสาวนำเงินสินสอดไปหมั้นหมายผู้ชาย ช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเมื่อหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวรายงานการขายไตเกิดขึ้นในเมืองมุมไบและแมดราส ชาวเมืองจะมีปฏิกิริยาตอบสนองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ แต่ในปัจจุบันชาวเมืองมักพูดถึงข้อเท็จจริงอันความจำเป็นที่ต้องขายอวัยวะเป็น “อะไหล่” ซึ่งไม่ใช่ชาวเมืองทุกคนที่คิดแบบนี้ แต่ที่คิดเช่นนี้เพราะว่าไตได้กลายการเป็นสินค้าในจินตนาการของสังคมอินเดียไปแล้ว ชาวบ้านจะตัดสินใจขายไตตนเองมากขึ้นด้วยเหตุที่ค่าสินสอดของผู้หญิงมีมูลค่าสูงขึ้น สำหรับตัวอย่างนี้ ทัศนคติของผู้หญิงชาวอินเดียเป็นภาพแทนที่แสดงว่าไตของพวกเธอมีแนวโน้มจะเปลี่ยนถ่ายไปสู่ผู้อื่น 
 

การค้าอวัยวะในประเทศจีน: อวัยวะจากนักโทษประหาร

งานศึกษาที่น่าสนใจอีกชิ้นของ เชปเปอร์ ฮูทจ์ ลงสนามศึกษาการขายอวัยวะในประเทศจีน จากผลการทำรายงาน  สถิติจากหมอผ่าตัดและการบอกเล่าของเจ้าหน้าที่เรือนจำพบว่า ประเทศจีนที่นำเอาอวัยวะของนักโทษประหารมาค้าขายแก่ผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งเป็นผู้ป่วยต่างประเทศจำนวนมาก รัฐบาลจีนจัดการกับอวัยวะอย่างเป็นระบบและเชี่ยวชาญ  ไต กระจกตา เยื่อผิวหนังและหัวใจจากนักโทษประหาร ขณะอวัยวะบางส่วนเหล่านี้ถือเป็นรางวัลตอบแทนแก่ชนชั้นสูงชาวจีนที่มีเส้นสายดี หรือ พ่อค้าที่ขายอวัยวะแก่ผู้ป่วยจากฮ่องกง ไต้หวันและสิงคโปร์และประเทศต่างๆในอาเซียนซึ่งจ่ายมากกว่า 30,000 เหรียญสหรัฐ ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยตามกฎหมายเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเป็นความลับ แม้กระทั่งการบันทึกทางการแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบต่อรัฐบาล (Human Right Watch/Asia 1995;7)
 
ข้อมูลดังกล่าวได้รับการยืนยันจาก โรบิน มอนโร นักเขียนของ Human Right Watch ระบุว่ารัฐบาลจีนใช้อวัยวะจากนักโทษประหาร 2,000 คนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในข้อมูลรายชื่ออาชญากรรมของจีนและเพิ่มสูงตามจำนวนอุปทานอวัยวะที่เพิ่มขึ้น เมื่อมีองค์กรสิทธิมนุษยชนได้รณรงค์ต่อต้านกฎหมายอาชญากรและการลงโทษในจีนในช่วง ค.ศ. 1996  ช่วงนั้นมีนักโทษเสียชีวิตกว่า 6,100 คน และจำนวน 4,367 คนที่ได้ถูกนำเอาอวัยวะไปใช้ประโยชน์ จากรายงานดังกล่าว เดวิด รูธแมน นักประวัติศาสตร์สังคมในกลุ่ม Bellagio Task force ไปสังเกตการณ์ที่โรงพยาบาลในเมืองปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ และสัมภาษณ์ผู้ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะและบุคลากรทางการแพทย์ในหน่วยศัลยแพทย์ซึ่งปฏิเสธให้นักวิจัยสัมภาษณ์  (David Ruthman 1997) กระนั้น รูธแมน มองว่าเบื้องหลังการณรงค์ต่อต้านอาชญากรเท่ากับทำให้ธุรกิจการแพทย์เติบโตเคลื่อนที่ไปกับการเพิ่มขึ้นของนักโทษประหาร โดยมีอวัยวะนักโทษเป็นแหล่งวัตถุดิบสำรอง
 
ในท้ายที่สุด นายแพทย์ ชุน จีน ลี (Chun Jean Lee) หมอศัลยกรรมของมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งชาติไต้หวันได้ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลจีนได้นำเอาอวัยวะนักโทษประหารมาค้าขายแพร่หลายในเอเชีย เนื่องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนสากลกดดันสถาบันของเขา การใช้อวัยวะนักโทษเป็นแหล่งอะไหล่ได้รับการจัดการจากรัฐบาลจีนที่เน้นตลาดภายในเพราะไม่ต้องเผชิญกับค่าเงินที่ผันผวนและปัญหาการยินยอมจากนักโทษ
 

-4-

การค้าขายอวัยวะข้ามพรมแดนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเมือง (immunopolitic) ที่แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศต้องการผลิตชิ้นส่วนอวัยวะใหม่ๆ ที่มีความจำเป็นควบคู่กับความก้าวหน้าทางการแพทย์ ดังที่หน่วยงานวิจัยของรัฐและบริษัทยามุ่งทำการทดลองพัฒนายากด - ต้านอวัยวะที่ปลูกถ่ายใหม่เพื่อให้ได้ผลดีในหมู่ประชากรที่บริจาคอวัยวะและยับยั้งการซื้อขายอวัยวะในตลาดมืด แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาการขายไตอย่างเปิดเผยของคนชั้นล่าง (คนจน หรือ คนผิวสี) มักถูกแปะป้ายว่าเป็นประชากรที่ต้องใช้สารเคมีควบคุมเพื่อให้เกิดความปลอดภัย หรือ ผลิตเซลที่คล้ายคลึงเพียงพอด้วยยาที่แพงอย่าง ไซโครสปอรีน หากว่าผู้ป่วยผิวขาวได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะจากคนชั้นล่างเหล่านี้
 
งานวิจัยในลักษณะสหสาขา (Multisite Research) จากกรณีศึกษาประเทศบราซิล อินเดียและจีน ฉายภาพสังคมยุคหลังทุนนิยม ตั้งแต่ยุคจอร์จ โซรอสในอเมริกาที่ระบบตลาดเสรีได้เปลี่ยนสภาพมนุษย์ให้เป็นสินค้า แรงงานและการเจริญพันธุ์สอดคล้องกับนักมานุษยวิทยาเชื้อสายอินเดีย อรชุน อัปปาดูรัย (Appadurai 1986) เสนอถึงการข้ามพรมแดนและการมีชีวิตตัวตนของสินค้าข้ามแดน  การเปลี่ยนเส้นทางของการค้าขายและตลาดอวัยวะเคลื่อนสู่ประเทศตะวันออกอย่างรวดเร็ว (จีน ไต้หวันและอินเดีย) และซีกโลกใต้ (อาเจนตินา ชิลีและบราซิล) ประเทศตะวันออกถูกมองว่าเป็นปริมณฑลของการรักษาและเยียวยา ผู้คนจากประเทศตะวันตกเดินทางมาสู่ตะวันออกเพื่อฟื้นฟูร่างกายที่เจ็บป่วยสู่การมีสุขภาพที่ดีขึ้น ประกอบการคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบายได้สร้างวงแหวนของการแลกเปลี่ยนร่างกายและอวัยวะในรูปแบบใหม่ที่ทั้งลงรอย ขัดแย้งกับฐานคติทางสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ

(พบกับตอนที่ 2 เร็วๆ นี้)

 
 

เอกสารอ้างอิง

Appadurai, Arjun. (1986). The Social Life of Things : Commodities in Cultural Perspective. Cambridge: Cambridge University Press.
Berlinger, Giovanni. (1999). The Human Market : From Slavery to the Biomarket; an Ethnic 
Anaylsis Evening Lecture Series, European Association for the History of Medicine and Health Publications. Sheffield Centre for the History of Medicine,University of Sheffield.
Cohen, Lawlence. (2001). The other Kidney : Biopolitics beyond Recognition. Body and 
Society. SAGE publications (London, Thousand Oaks and New delhi). Vol. 7 (2-3)., pp.9-29.
Comaroff, J. and J.L. Comaroff. (1999). Occult Economics and the Violence of Abatraction, American Ethnologist 26 : 279-303.
Richardson, Ruth. (1996). Fearful Symmetry in Stuart Younger et al.:66-100.
Scheper-Hughes, Nancy. (2001). Body for sale : Whole or in parts. Body and Society. SAGE 
publications (London, Thousand Oaks and New delhi). Vol. 7 (2-3)., pp.1-8.
Scheper-Hughes, Nancy. (2003). Keeping an eyes on the global traffics in human organs. The 
Lancet Vol. 361. No.10 (May) pp. 1645-1648.
Scheper-Hughes, Nancy. (2004). Parts unknown: undercover ethnography of the organstrafficking underworld.Ethnography,5: 29-73.
WHO agreements and public health:  a join study by the WHO and the WTO secretariat. Geneva: WHO,World Trade Organization.2007.
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท