Skip to main content
sharethis

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็นเผยแพร่คลิประบุว่าการเมืองภายในของไทยมีปัญหา รัฐไทยไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและเกรงว่าการเจรจาสันติภาพจะหลอกลวงชาวปาตานีเหมือนอย่างที่แล้วมา ด้าน 'มารา ปาตานี' เชื่อว่า คลิป 'บีอาร์เอ็น' ไม่ได้ปฏิเสธการเจรจา แต่รอดูท่าทีเจรจาได้ผลอย่างไร

แผนกประชาสัมพันธ์บีอาร์เอ็นแพร่คลิป-ระบุยังไม่ไว้ใจรัฐไทยเรื่องเจรจาสันติภาพ

8 ก.ย. 2558 - มีการเผยแพร่คลิปของแผนกประชาสัมพันธ์ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ JABATAN PENERANGAN - BRN ความยาว 05.55 นาที ซึ่งต่อมามีผู้ระบุว่าผู้แถลงคือ อับดุลการีม คอลิบ

โดยตามที่มีการแปลในเว็บไซต์ของสำนักข่าว Wartani ตอนหนึ่ง ผู้แถลงซึ่งสวมเสื้อสีม่วงและสวมหมวกซองก็อกสีดำแบบมลายู พูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย โดยระบุว่า "ปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหาที่มีความท้าทายในการเมืองภายในที่กำลังถูกรุมเร้า" รวมทั้งกดฝ่ายล่าวถึงการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นนำด้วย นอกจากนี้ยังระบุว่า "การสถาปนาการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความเคารพต่อแนวคิดของพลเมือง ที่เป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น ยังมิได้รับการดำเนินการแต่อย่างใด" และระบุด้วยว่า "ตรงกันข้ามกลับใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการปูทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ"

ผู้แถลงยังระบุว่า "นานาประเทศต่างประจักษ์ชัดแล้วว่านักล่าอาณานิคมสยามนั้น ไม่ได้ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และสิทธิในการกำหนดะตากรรมตนเองให้กับทุกชนชาติที่อยู่ภายใต้การปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนชาวมลายูปาตานี นับประสาอะไรกับการเจรจาสันติภาพที่มิอาจเชื่อได้ว่านักล่าอาณานิคมสยามนั้น จะไม่มีการหลอกลวงชาวปาตานีเหมือนอย่างที่แล้วมา ในเมื่อนักล่าอาณานิคมสยามเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นสิบแปดมงกุฎและเป็นอาชญากร ยุคแล้วยุคเล่าที่นักล่าอาณานิคมสยามยังใช้ทฤษฎีเดิม ที่บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างชอบธรรมตามนโยบาย ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าว เราในฐานะชาวมลายูปาตานี มิอาจที่จะให้ความไว้วางใจกับนักล่าอาณานิคมสยามที่ไร้ศีลธรรมนี้ได้ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่คอยทำลาย ที่มีความย้อนแย้งกับทุกชนชาติที่มีอยู่ในโลก"

"ตราบใดที่แนวคิดทางการเมืองของนักล่าอาณานิคมสยามยังไม่เปลี่ยนแปลงและไม่ยอมรับในสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองของชาวมลายูปาตานีที่สอดคล้องกับกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ (UN) 1514 (XV) ได้ ตราบนั้นการต่อสู้ของชาวมลายูปาตานีจักยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าชะตากรรมของชนชาวมลายูปาตานีจะได้รับอิสรภาพ"

"สุดท้ายนี้เราขอยืนยันว่า แถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อเป็นที่รับรู้ของประชาชานของเราและประชาชาติของเราอย่างทั่วกันว่า จุดยืนของเราและแนวคิดของเราคือหนึ่งเดียว หนึ่งประชาชาติ หนึ่งภาษา หนึ่งรัฐชาติ ไม่เลี้ยวซ้าย ไม่เลี้ยวขวา เอกราช หรือ ชะฮีด"

ตอนท้ายผู้แถลงยังได้ตะโกนคำว่าซึ่งแปลว่าเอกราชด้วยว่า "MERDEKA! MERDEKA!! MERDEKA!!!"

 

มารา ปาตานี เชื่อผู้แถลงไม่ได้สนับสนุนหรือปฏิเสธ - เพียงแต่ตั้งคำถามถึงความจริงใจของรัฐไทย

อนึ่ง บีบีซีไทย ได้สอบถามความเห็นจากอาบูฮาฟิส อัลฮากีม แห่งกลุ่มมารา ปาตานี โดยอาบูฮาฟิส ตอบในนามส่วนตัวว่า คลิปวิดีโอนี้ไม่มีส่วนไหนที่พูดถึงกลุ่มมารา ปาตานีโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือปฏิเสธ อาบูฮาฟิสกล่าวว่า เขายังเห็นว่า สภาองค์กรนำหรือ DPP ของกลุ่มบีอาร์เอ็นยังคงไม่ได้ตัดสินใจ และยังคงมีท่าทีรอดูว่ากลุ่มมารา ปาตานีจะเดินหน้าทำงานได้ผลอย่างไรต่อไปเนื่องจากว่าที่จริงแล้วยังมีคนที่ถือได้ว่าเป็นสมาชิกตัวจริงระดับสูงของกลุ่มอยู่ในมารา ปาตานีเอง

อาบูฮาฟิสกล่าวอีกว่า ข้อความในคลิปวิดีโอย้ำว่ามีจุดยืนไม่ไว้วางใจกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ และตั้งคำถามต่อความจริงใจของประเทศไทยในกระบวนการที่ผ่านมา รวมทั้งข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็น 5 ข้อที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากฝ่ายไทย โดยไม่มีส่วนใดในข้อความที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยหนนี้

 

เผยฝ่ายประชาสัมพันธ์เป็น 1 ใน 7 แผนกของบีอาร์เอ็น ขณะที่อับดุลการีมเคยปล่อยคลิปมาแล้วเมื่อปี 56

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของแผนกประชาสัมพันธ์ บีอาร์เอ็นดังกล่าว เป็นแผนกหนึ่งใน 7 ฝ่ายภายใต้โครงสร้างของสภาองค์กรนำ หรือ Dewn Pimpinan Parti (DPP) (อ่านเพิ่มเติมที่ Deepsouthwacth, 11 พ.ย. 2555)

โดยก่อนหน้านี้หลังการเจรจา ระหว่าง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ บีอาร์เอ็น ที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2556 ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 มีการเผยแพร่คลิปที่ชื่อว่า "การประกาศของแนวร่วมแห่งชาติมลายูปาตานี" (PENGISTIHARAN BARISAN REVOLUSI NASIONAL MELAYU PATANI) ซึ่งนอกจากการแถลงของฮัสซัน ตอยิบ ที่ระบุว่าเป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็นแล้ว ในคลิปยังมีอีกบุคคลหนึ่งคือ "อับดุลการีม คอลิบ" ซึ่งระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่คณะผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556

ในตอนนั้น อับดุลการีม ระบุเงื่อนไขว่าจะมีการพูดคุยภายใต้เงื่อนไข 5 ข้อได้แก่ "1.รัฐสยาม (รัฐไทย) ต้องให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา ไม่ใช่ผู้อำนวยความสะดวก 2.ต้องเป็นการพูดคุยระหว่างชาวมลายูปาตานีที่นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็น กับฝ่ายสยาม 3.ในระหว่างการพูดคุยจะต้องมีผู้สังเกตการณ์จากประชาคมอาเซียน โอไอซี (องค์การการประชุมอิสลาม) และเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) 4.รัฐสยามต้องปล่อยนักโทษที่ถูกคุมขังและยกเลิกหมายจับทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และ 5.รัฐสยามจะต้องยอมรับว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรเพื่อการปลดปล่อยปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน" (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ขณะที่ในวันที่ 10 ก.ย. คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะประชุมกันในวันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายนนี้ คาดว่าจะมีการหยิบยกประเด็นการเผยแพร่คลิปของบีอาร์เอ็นขึ้นหารือด้วย นอกเหนือจากผลการพูดคุยกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net