Skip to main content
sharethis



ภายหลังการจัดงานแถลงการณ์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมเสนอชื่อสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ (อ่านข่าวที่นี่) ประชาไท สัมภาษณ์ "อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์" อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหนึ่งในคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ผู้ร่วมแถลงการณ์เสนอชื่อร่างรัฐธรรมนูญในฝันที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยสอบถามถึงแนวคิด และสถานการณ์ที่เป็นจุดประกายให้เกิดกิจกรรมรัฐธรรมนูญในฝันขึ้น


การจัดงานแถลงการณ์ครั้งนี้ได้รับการกดดันฝ่ายผู้บริหารของมหาวิทยาลัยหรือเจ้าหน้าที่ทหารหรือไม่
ไม่มี โดยปกติเวลาจัดงานจะมีโทรศัพท์จากฝ่ายข่าวของเจ้าหน้าที่ทหารโทรเข้ามา หรือผมอาจจะรับสายไม่ทันก็ได้ ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้มีการกดดันแต่อย่างใด เพราะเราไม่ได้เป็นอันตรายกับใคร และเราทำในสิ่งที่สุภาพเรียบร้อย(หัวเราะ) เราแค่ฝัน คุณจะห้ามเราฝันหรือ? แม้ว่าเราจะได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว เราก็ยังคงต้องฝันไปเรื่อยๆ มนุษย์เราทุกคนต้องมีความฝัน ถ้าไม่ฝันเราก็คงจะแห้งแล้งตาย


คิดว่าการสร้าง "รัฐธรรมนูญในฝัน" จะส่งผลกระทบหรือสั่นสะเทือนอย่างไรต่อสังคม
เราหวังว่าจะกระตุกเตือนสังคมว่าต้องร่วมความคิด ด้วยเหตุผล 2 อย่างที่ว่าภายหลังร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านโดย สปช.เมื่อตกไปแล้ว ทำให้อำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญตกไปอยู่ในกำมือของประยุทธ์ และ 21 อรหันต์ การร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปอยู่อำนาจของคนเพียงหยิบมือเดียว เป็นอันตรายต่อสังคมไทย เราจึงอยากจะกระตุกเตือนต่อสังคมไทยว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญควรจะมีคนประเภทนี้ อย่างเช่นวรเจตน์ (วรเจตน์ ภาคีรัตน์) การกระตุกเตือนต่อสังคมไทยในประเด็นนี้จะส่งผลต่อมาคือ คนในสังคมจะต้องตามดู การตามดูของคนในสังคมจะทำให้กลุ่ม 21 อรหันต์ไม่สามารถปกปิด แอบร่างรัฐธรรมนูญเองได้ ผมกังวลว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้หากร่างเสร็จแล้วจะไม่มีทางไปต่อหากร่างเสร็จแล้ว มันจะเป็นการบีบให้ประชาชนยอมรับร่างนี้ไปเถอะ เพราะไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร หรือไม่งั้นเราจะต้องเสนอไปว่าถ้าลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะต้องมีการนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาใช้ เช่นปี 40 อันนี้คือความหวังที่จะกระตุกเตือนต่อสังคมไทยว่าต้องระมัดระวังและตระหนักอย่างไร


สิ่งที่กระตุกเตือนนี้จะทำให้คนในสังคมตื่นจริงหรือ
ไม่รู้ ไม่รู้ว่าจะตื่นหรือไม่ เพียงแต่หวังว่าสิ่งที่เราออกมาพูดจะทำให้มีการขยับกันบ้าง ในด้านหนึ่งของการทำให้เซ็งแล้วปกครอง ผมคิดว่าคนอีกจำนวนหนึ่งแต่อาจจะไม่มากนักรู้สึกว่าจะต้องลุกขึ้นมาคิดบ้าง แต่ไม่รู้จำนวนจะมากน้อยแค่ไหน คงต้องบอกว่าไม่รู้ ต้องวัดดวงเอา คือเราคิดไม่ออกว่าจะทำให้ตื่นอย่างไร เราก็ทำได้เท่าที่เราหวัง
 

ได้ประเมินผลกระทบจากฝั่งรัฐบาลหรือไม่
ผมไม่ได้กังวลเรื่องผลกระทบจากฝั่งรัฐบาล ผมกลัวแค่ว่าสังคมจะไม่ตื่น รัฐบาลชุดนี้ทำให้เรารู้สึกเซ็งแล้วค่อยปกครอง ซึ่งทำให้เราไม่คิดที่จะทำอะไร ผมคิดว่ากระบวนการนี้น่ากลัวกว่า ยิ่งรัฐบาลชุดนี้บอกให้รออีก 180 วัน ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนหนี่งก็จะรอเวลาอีก 6 เดือนโดยที่ไม่ทำอะไร ผมกลัวตรงนี้มากกว่า ส่วนรัฐบาลจะทำอะไรกับเราผมไม่กลัวหรอก แต่ผมกลัวในความนิ่งเฉยนี้มากกว่า


ควรจัดการความสัมพันธ์ของรัฐธรรมนูญในฝันกับอำนาจของรัฐบาลตอนนี้อย่างไร
อย่างน้อยที่สุดทำให้หน่วยที่ใช้อำนาจต้องยึดโยงอำนาจกับชาวบ้านและประชาชน สภาและวุฒิสภาที่ใช้กลไกในการสรรหาต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านี้ยึดโยงกับประชาชนได้มากที่สุด เช่น ไม่มีการสรรหา หรือถ้าสรรหาก็ต้องระบุหน้าที่ของคนเหล่านี้ให้เชื่อมโยงกับประชาชน เช่นการร่างหน้าที่ของวุฒิสภาสภาที่มาจากการสรรหาให้มีหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือการทำประชาพิจารณ์ และนำข้อมูลการทำประชาพิจารณ์ไปสู่สังคม ถ้าทำเช่นนี้จะทำให้ข้อมูลไปถึงชาวบ้านและไปสู่สังคมได้ตลอด จะต้องเป็นตัวแทนของประชาชน นี่คือการสร้างความยึดโยงกับประชาชน การยึดโยงกับสังคมที่ดีคือการไม่มีอำนาจวินิจฉัย แต่มีอำนาจในการสื่อสารให้สังคมฟัง เช่นมีงบประมาณในการพิมพ์เอกสารเพื่อใช้สื่อสารปัญหาให้แก่ชาวบ้าน นี่จะทำให้สังคมไทยทั้งหมดโตขึ้นในเชิงความเป็นประชาธิปไตย นี่คือการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ดีที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net