พรบ.ความเท่าเทียมฉบับ “ลักทั้งตื่น”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในวันที่ 9 กันยายนที่เพิ่งผ่านมานี้ เป็นวันที่พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เริ่มมีผลบังคับใช้ หลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาครบ 180 วัน[1]

หากพิจารณาโดยสาระแต่เพียงผิวเผิน กฎหมายฉบับนี้ก็นับเป็นความก้าวหน้าเล็กๆ ในความพยายามที่จะสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยการออกกฎหมายเกี่ยวข้องกับ “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ แต่ตัว พรบ.นี้กลับมีปัญหาอย่างยิ่งในเรื่องกระบวนการ ที่รีบเร่งผ่านออกมาในขณะที่ประเทศอยู่ภายใต้ระบอบรัฐทหาร โดยไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

น่าแปลกที่เมื่อครั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ “ลักหลับ” ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม มีการประท้วงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและกว้างขวางในสังคม แต่การออกกฎหมายไม่รู้กี่ฉบับในแบบ “ลักทั้งตื่น” เช่นนี้ สังคมกลับนิ่งเฉย เห็นชอบ หรือแม้แต่กระโดดเข้าร่วมวงด้วยอย่างเต็มตัว ดังจะเห็นได้จากการที่องค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่งกระเหี้ยนกระหือรือผลักดันประเด็นของตนในช่วงรัฐบาลนี้โดยไม่สนใจไยดีต่อกระบวนการประชาธิปไตย

ความพยายามเช่นนี้ยิ่งนับเป็นความย้อนแย้ง เมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม เพราะเป็นที่น่ากังขาว่า กฎหมายจะสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างไร หากมาจากกระบวนการที่ปฏิเสธหลักการประชาธิปไตยว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน และในเมื่อภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมายที่มีผลกระทบต่อตนเอง กฎหมายที่ผ่านออกมาได้ก็ไม่ต่างกับการตบหัวแล้วลูบหลัง เป็นเครื่องมือให้รัฐราชการใช้สงเคราะห์ “โปรดสัตว์โลก” ที่ต่ำต้อยกว่าเท่านั้นเอง

ในอีกทางหนึ่ง กฎหมายทุกฉบับที่ออกมาในช่วงเวลาที่ไร้การตรวจสอบอย่างเป็นระบบเช่นนี้ ย่อมถูกมองได้ว่า เป็นเรื่องของการฉกฉวยโอกาสช่วงชิงความได้เปรียบของผู้ที่อยู่ใกล้ฐานอำนาจมากกว่า แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา มิใช่เรื่องของความเท่าเทียม ซึ่งนับเป็นการบั่นทอนหลักความเสมอภาคลงไปอีก

ผลลัพธ์ที่ดีไม่อาจสร้างความชอบธรรมให้กับวิธีการที่ไม่ถูกต้องได้ สำหรับกฎหมายฉบับนี้ นอกจากความไม่เป็นประชาธิปไตยในกระบวนการจะทำให้ขาดความชอบธรรมแล้ว หากย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องในอดีตก่อนรัฐประหาร ก็จะยิ่งเห็นความไม่ขอบธรรมมากยิ่งขึ้น

ในที่นี้ขอคัดลอกส่วนหนึ่งของบทความ iLaw เรื่อง “ร่างพรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ‘ขุดของเก่ามาเน่าใหม่’” เพื่อชี้ให้เห็นความเป็นมาดังนี้

“กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการในปี พ.ศ. 2550 ต่อมาได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาพิจารณาแก้ไขและส่งให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความเห็น จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ร่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ... ร่างของรัฐบาลค้างการพิจารณาอยู่ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะถูกยุบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 และร่างกฎหมายก็เป็นอันตกไป

ขณะที่ภาคประชาชนนำโดยเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ เห็นว่าร่างฉบับที่ พม. เสนอนั้นยังมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะคำนิยาม ที่เปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ด้วยเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะได้

เครือข่ายภาคประชาชนจึงรวมตัวกันศึกษากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ระดมความคิดเห็นจากองค์กรต่างๆ และจัดทำร่างกฎหมายฉบับประชาชนขึ้นมาใช้ชื่อว่า “ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ....” จากนั้นรวบรวมรายชื่อประชาชน 14,994 รายชื่อ เสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2555 ร่างของประชาชนอยู่ระหว่างรอนายกรัฐมนตรีลงนามรับรองเนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะถูกยุบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 และร่างกฎหมายก็เป็นอันตกไป

หากไม่มีการยุบสภา ร่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.... ที่เสนอผ่านคณะรัฐมนตรี และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ... ที่เสนอโดยประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่มีสาระสำคัญคล้ายกัน จะถูกนำมาพิจารณารวมกันเพื่อผสมผสานหลักการต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการอย่างน้อย 1 ใน 3”[2]

                                                                                                   

หากมองในแง่เนื้อหาสาระของพรบ.ที่ออกมา แม้ว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขจากเดิมบ้าง แต่ยังนับว่าอ่อนด้อยกว่าร่างพรบ. ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ฉบับประชาชนจนเหมือนหนังคนละม้วน เช่น ยอมให้มีการเลือกปฏิบัติได้ “ตามหลักการทางศาสนา หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ”  ตัดคำว่า “เพศภาวะ” และ “อัตลักษณ์ทางเพศ” ออกไป  และไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงและการคุกคามทางเพศ สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ผู้ที่ควรได้รับการส่งเสริมโอกาสเป็นพิเศษ เป็นต้น[3] นอกจากนี้ โครงสร้างคณะกรรมการต่างๆ ตามพรบ. ก็แกะไม่ออกจากโครงสร้างรัฐราชการ จนทำให้เกิดคำถามว่าจะสามารถเอาผิดต่อการละเมิดและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เสียหายได้อย่างไร หากบุคคลหรือนโยบายในภาครัฐเองเป็นสาเหตุของการเลือกปฏิบัติ

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่องค์กรสตรีต่างๆ มีท่าทีหันหลังให้กับกฎหมายฉบับนี้ โดยในการสัมมนา “พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ : นโยบาย การขับเคลื่อน และการปฏิบัติ” ที่จัดขึ้นที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมถึง 2 กันยายนที่ผ่านมา มีองค์กรสตรีเล็กๆ เข้าร่วมด้วยองค์กรเดียว คือ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย[4]

ดังนั้น แม้หากดูผิวเผินกฎหมายนี้จะนับเป็นความก้าวหน้าเล็กๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการ “คุมกำเนิด” ไม่ให้ร่างกฎหมายฉบับประชาชนได้เกิด และจะมีผลบังคับใช้ต่อไปโดยไม่รู้ว่าจะแก้ไขได้เมื่อใด ที่น่าเศร้าก็คือ กฎหมายนี้อาจช่วยสงเคราะห์คนได้จำนวนหนึ่งในบางสถานการณ์ แต่กลับตัดโอกาสของการมีกฎหมายที่ดีกว่าที่จะไปรื้อถอนโครงสร้างความไม่เท่าเทียมทางเพศในการเมืองและสังคมไทย และช่วยสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้ต้องคอยแบมือรับการสงเคราะห์จากรัฐอีกในอนาคต

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ท่ามกลางความเงียบงันขององค์กรสตรีต่อพรบ.นี้ กลับมีเสียงดีอกดีใจจากกลุ่มความหลากหลายทางเพศส่วนหนึ่ง ด้วยเหตุที่มาตรา 3 ของพรบ.นี้ห้ามการเลือกปฎิบัติไม่แต่เฉพาะด้วยสาเหตุความเป็นเพศชายหญิง แต่ยังรวมถึงผู้ “มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด”  

ด้วยเหตุนี้ พรบ.ฉบับนี้จึงได้รับความสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ที่กำลังผลักดันสิทธิความหลากหลายทางเพศอย่างเต็มที่ ผ่านโครงการ Being LGBTI in Asia จนอาจหลงลืมเรื่องเหมาะสมในการผลักดันกฎหมายท่ามกลางความอ่อนไหวของสถานการณ์เมืองไทยในปัจจุบัน รวมถึงความเป็นมาของกฎหมายฉบับนี้

คงไม่อาจลืมได้ว่า แต่เดิมร่างกฎหมายของกระทรวงพัฒน์ฯ ไม่มีการกล่าวถึงผู้ “มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด” (รวมถึงคำว่า “เพศภาวะ” และ “อัตลักษณ์ทางเพศ” ที่ถูกตัดทิ้งออกไป)  แต่องค์กรสตรีเปิดโอกาสให้ตัวแทนกลุ่มความหลากหลายทางเพศได้เข้าไปมีส่วนร่วมร่างพรบ.ฉบับประชาชนด้วยจึงทำให้ปรากฎคำเหล่านี้ขึ้น จากนั้นกระทรวงพัฒน์จึงเอาเข้าไปใส่ในร่างของตนตามฉบับประชาชน

ดังนั้น การที่องค์กรสตรีเคยยื่นมือให้กับกลุ่มความหลากหลายทางเพศจับในเวลาที่ฝ่ายหลังยังหาแนวร่วมแทบไม่ได้ แต่ในตอนนี้กลับหลงลืมและออกมายินดีปรีดาต่อพรบ.นี้ ย่อมเป็นเรื่องที่น่าอนาถใจเป็นอย่างยิ่ง หากรัฐบาลมีเป้าหมายในการสร้างความอ่อนแอต่อกระบวนการสิทธิทางเพศโดยรวม ก็นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ สิ่งที่กลุ่มความหลากหลายทางเพศมิได้เฉลียวใจก็คือ รัฐบาลทหารปัจจุบันมิได้มีความจริงใจที่จะส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง เห็นได้จาก พรบ.อุ้มบุญที่ออกมาไล่เลี่ยกัน และละเมิดสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างชัดเจน[5]

อาจมีข้อสงสัยว่า หากไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศแล้ว เหตุใดพรบ.นี้จึงยังมีการกล่าวถึงผู้ “มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด” อยู่โดยไม่ถูกตัดออกไป?

หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า แนวคิดในการร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ต่างกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งถูกคว่ำไป ดังที่อาจาย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้อธิบายไว้ดังนี้

"ผมอยากอธิบายว่ารัฐธรรมนูญไทยมีพัฒนาการ หรือมีคาแรกเตอร์สำคัญอย่างหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นหลังรัฐประหาร (หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ต่อเนื่องมาจากฉบับชั่วคราว) จะเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพค่อนข้างยาว เพื่อไปเกลื่อนกลืนกับส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ... เที่ยวนี้ยิ่งหนักไปกว่าเดิม ยาวมาก ถามว่าทำไมต้องยาว ก็เพราะว่าเขาต้องการเอาบทบัญญัติเรื่องสิทธิไปโชว์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพเต็มไปหมด ... บทสิทธิยิ่งยาวมาก ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งน้อยหรือว่าไม่มี"[6]

ดังนั้นการที่ดูเหมือนรัฐบาลปัจจุบันจะเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เช่น หยอดคำว่า “เพศสภาพ” เข้าไปในรัฐธรรมนูญ จนมีกลุ่มสิทธิความหลากหลายทางเพศเข้าไปขอบคุณคณะกรรมาธิการร่างฯ[7] ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ร่างเห็นความสำคัญของประเด็นความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง แต่เป็นการใช้ประเด็นนี้เป็นหนึ่งใน “ผ้าเตี่ยว” ปิดบังอำพรางพื้นที่อื่นๆ ที่หายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางประชาธิปไตย เพื่อทำให้ดูเหมือนมีความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน

มองให้ลึกลงไปอีกก็คือ สิทธิความหลากหลายทางเพศถูกนับว่าเป็นประเด็นที่ไม่สำคัญและไม่เป็นภัยคุกคามต่อโครงสร้างอำนาจ ผู้มีอำนาจจึงยอมเปิดพื้นที่ให้ โดยยังอยู่ภายใต้การควบคุมในฐานะผู้ได้รับความช่วยเหลือจากอำนาจรัฐ โดยไม่ไปกระทบกับโครงสร้างอำนาจใดๆ  แต่หากวันใดมีการผลักดันสิทธิที่อาจไปกระทบต่อแบบแผนโครงสร้างอำนาจเชิงจารีต พื้นที่ดังกล่าวก็จะปิดลงโดยทันที ดังจะเห็นจากพรบ.อุ้มบุญที่กล่าวถึงแล้ว หรือการที่ “สิทธิในการสมรส” ถูกตัดออกเพื่อไม่ให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ตามกฎหมาย[8]

ในส่วนของพรบ.นี้ การคงคำว่า  “มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด” ไว้ ก็เพื่อทำให้ดูเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้า และปิดบังความจริงที่ว่าไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาผ่านกฎหมายฉบับนี้ (หาไม่แล้ว กฎหมายคงไม่ออกมาขี้ริ้วขี้เหร่เช่นนี้)

ผู้อ่านอาจเคยได้ผ่านหูผ่านตาคำว่า “ฟอกชมพู” (pink-washing) กันมาบ้าง คำนี้เลียนมาจากคำว่า “ฟอกขาว” แต่เป็นการฟอกให้ดูเหมือนสะอาดดีงามด้วยการใช้สีชมพูซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของสิทธิความหลากหลายทางเพศในระดับสากล

พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศฉบับนี้จึงนับได้ว่าเป็นความสำเร็จในการฟอกชมพูครั้งแรกและครั้งสำคัญของรัฐไทย ในการแต่งองค์ทรงเครื่องกฎหมายขี้ริ้วขี้เหร่ให้ดูงดงาม จนเป็นที่แซ่ซร้องของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ และตบตาองค์กรนานาชาติที่อาจไม่เข้าใจบริบทของกฎหมายนี้อย่างเพียงพอได้สำเร็จ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท