วันนี้ (16 ก.ย.58) ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากสำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ว่า ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ ได้มี การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่4/2558 ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเป็นครั้งแรกหลังปรับคณะรัฐมนตรี โดยที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และการจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ.... เพื่อเดินหน้าจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนให้เป็นรูปธรรม
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สุขภาพไม่ใช่เรื่องความเจ็บป่วย หรือเรื่องของแพทย์พยาบาลเท่านั้น แต่หมายรวมถึงกาย จิต สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงมีหลากหลายหน่วยงาน หลายภาคส่วนเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นหลักการของการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน
ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุ เขตสุขภาพเพื่อประชาชนเป็นการอภิบาลแนวราบโดยเครือข่าย ไม่มีการจัดตั้งองค์กรใหม่ แต่เป็นกลไกบูรณาการทรัพยากร งบประมาณ และกระบวนการทำงานระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพในระดับพื้นที่ โดยมีองค์กรหลักด้านสุขภาพอย่างน้อย 4 องค์กร ร่วมกันทำหน้าที่หน่วยเลขานุการกิจเพื่อเป็นแกนกลางในการประสานงาน ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
นพ.ณรงศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนารูปแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา การทำงานฯ ได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 อีกทั้งได้ประชุมหารือกับ กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกฎหมายพิเศษรองรับ โดยกำหนดให้เป็นเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขต 13 ซึ่งคณะทำงานฯ ได้รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมด มาปรับปรุงเป็นเอกสารรูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งสำนักเลขาธิการ ครม. ได้เวียนขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่าหน่วยงานส่วนใหญ่เห็นชอบในหลักการ และบางหน่วยงานมีข้อสังเกตเพิ่มเติม โดยขณะนี้ คณะทำงานฯ ได้เชิญประชุมหน่วยงานที่มีข้อสังเกตมาประชุมร่วมกันแล้ว และได้ร่วมกันปรับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จพร้อมส่งไป ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป