Skip to main content
sharethis

ปาฐกถา “ประวัติศาสตร์วิพากษ์ : สยาม ไทย กับปาตานี” โดย ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรียนรู้อีกครั้งเรื่องสยามกับปาตานีในเรื่องการปกครอง หะยีสุหลงกับความชอบธรรมในการต่อสู้ ประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ตายแต่ปาตานียังไม่ตาย พร้อมย้ำคนพื้นที่ต้องทำประวัติศาสตร์ของตัวเองให้ปรากฏ

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ประวัติศาสตร์วิพากษ์ : สยาม ไทย กับปาตานี” ในงานสัมมนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ปีที่ 2 “ประวัติศาสตร์สยาม-ปาตานี: ข้อมูลใหม่ ในความสัมพันธ์กับนครเมกกะฮ" ณ หอประชุมใหญ่ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2558 จัดโดย สถาบันสันติศึกษา ม.อ. และวิทยาลัยวันศุกร์ ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Project) และสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.อ. ปัตตานี

ประวัติศาสตร์คือความบังเอิญ แต่อย่าเชื่อทั้งหมด
ธเนศ เริ่มต้นปาฐกถาด้วยการอธิบายลักษณะพิเศษของประวัติศาสตร์ในมุมมองของเขาว่า ประวัติศาสตร์เป็นความบังเอิญที่กินเวลานาน และบังเอิญว่า ในการตีความเรื่องราวในประวัติศาสตร์นั้นมีปัจจัยต่างๆ มากมายที่มาด้วยตัวของมันเองด้วย โดยไม่มีคนมากำหนดให้เป็นไปในลักษณะนั้น

“ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่พยายามจะเขียนให้ชัดเจนว่าช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนั้นๆ ทั้งที่ไม่สามารถไปตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นประเด็นหลักอยู่ที่ “ความบังเอิญมากกว่าความจงใจ” แต่ “ความบังเอิญ” เป็นคำที่ไม่ค่อยดี นักประวัติศาสตร์จึงไม่ชอบ”

ธเนศ บอกว่า ที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อจะบอกว่าอย่าเชื่อประวัติศาสตร์ทั้งหมด เพราะมันไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด

“แต่อันไหนที่มีหลักฐานชัดเจนเราก็เชื่อได้ ไม่เป็นปัญหาใดๆ ตัวอย่างปัญหาทางการเมืองระหว่างไทยกับปาตานีที่ปัจจุบันมีการพูดคุยเพื่อสันติภาพกันอยู่ ซึ่งเราเองยังไม่รู้แน่ชัดเลยว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง เรื่องไหนเขาจัดฉากขึ้นมา”

“ที่ยกตัวอย่างเหตุการณ์ปัจจุบันนั้นขึ้นมา ทำให้เห็นว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มันไม่นิ่ง ที่สำคัญเราไม่ควรมองประวัติศาสตร์ในแง่ดีหรือในแง่ร้ายจนเกินไป”

สยามกับปาตานีในเรื่องการปกครอง
จากนั้น ธเนศ นำเข้าสู่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปาตานีในอดีตว่า เป็นความสัมพันธ์แบบเมืองบรรณาการ ซึ่งทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นแบบนี้ทั้งหมด กล่าวคือเมืองใหญ่จะทำตัวเป็นศูนย์กลาง แล้วก็แผ่อำนาจออกไป เมืองเล็กต่างๆ จะถูกจัดสรรอำนาจแตกต่างกันไป ยิ่งอยู่ไกลจากเมืองใหญ่ก็ยิ่งมีอำนาจในการปกครองตนเองสูง

โดย ธเนศ ยกตัวอย่างระหว่างปาตานีกับนครศรีธรรมราชว่า นครศรีธรรมราชจะอยู่ใกล้บางกอกมากกว่า เพราะฉะนั้นการปกครองนครศรีธรรมราชจะมีความใกล้ชิดมากกว่าปาตานีหรือกลันตันในอดีตที่มีอำนาจปกครองตนเองและมีเจ้าเมืองเป็นของตนเอง

“เมื่อสยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเส้นทางการค้าของบริติช จนสยามกระชับการปกครองโดยตั้งคนของตนเองปกครองที่ปาตานี กล่าวคือจากที่เคยตามใจคนปาตานีก็กลับต้องตามใจคนกรุงเทพ จนทำให้เกิดการปะทะขัดแย้งกันขึ้นมา”

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูปการปกครอง จนนำมาสู่การปะทะขัดแย้งต่างๆ ในช่วงเวลานั้น ได้เกิดกระแสชาตินิยมเพื่อปกครองตนเองขึ้นมา ตัวอย่างเช่นการเคลื่อนไหวของหะยีสุหลงที่จบการศึกษามาจากมักกะฮฺ (ประเทศซาอุดิอาระเบีย) ก็มีแรงบันดาลใจมาจากชาตินิยมอาหรับที่ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ
 
หะยีสุหลงกับความชอบธรรมในการต่อสู้
คนรุ่นหะยีสุหลงเคลื่อนไหวในช่วงเวลาเดียวกันกับคณะราษฎรที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ที่เริ่มมีแนวคิดชาตินิยม เริ่มมองความเป็นอิสระของตัวเอง ของภูมิภาคหรือของชุมชนตัวเอง ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ก็มีการเคลื่อนไหวในแบบหะยีสุหลงเหมือนกัน ในพื้นที่อื่นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้เช่นกัน

ทุกขบวนการก็มีความชอบธรรมที่จะต่อสู้ไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้นการเคลื่อนไหวของหะยีสุหลงและขบวนการกลุ่มอื่นๆ ก็เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่พยายามจะสร้างความเป็นชาติของตัวเองขึ้นมา แต่ก็พบว่าพวกเขาต่อสู้กับกรุงเทพฯ ไม่ได้ ในขณะที่คณะราษฎรสามารถยึดอำนาจจากส่วนกลางได้ และสร้างรัฐแบบใหม่ขึ้นมาได้ และกลุ่มอื่นๆ ก็ค่อยๆ ลดอำนาจลงจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาตินิยมสยามไป แต่ก็มีการตีความที่หลากหลายออกไปและทำให้เราเกิดการรับรู้และเกิดความเข้าใจขึ้นมา

ประวัติศาสตร์ปาตานีถูกทำให้ตายกับที่ยังไม่ตาย
“เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานีพบว่าเป็นความบังเอิญที่ควบคุมไม่ได้ และประวัติศาสตร์ที่เรารู้ส่วนใหญ่ในโลกนี้ เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ตายตัวเพื่อได้ใช้ประโยชน์ เช่น ทำอย่างนี้จะได้เอกราช ทำอย่างนี้จะทำให้เจริญก้าวหน้า คำถามคือ ทำไปแล้วได้เอกราชหรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ มันแสดงให้เห็นว่ามีปัจจัยที่ไม่แน่นอนสูงกว่า แต่เขาไม่ยอมบอก”

“สำหรับผมแล้วประวัติศาสตร์ปาตานียังคงเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ตาย ซึ่งเราเองก็ไม่ต้องการที่จะอยู่กับความไม่แน่นอนต่อไป เพราะมันจะไม่จบ ดังนั้นเราจะต้องนำสังคมไปสู่ข้อยุติที่ทุกฝ่ายควรยอมรับพร้อมกันได้ของสถานการณ์ต่างๆ”

คนพื้นที่ต้องทำประวัติศาสตร์ตัวเองให้ปรากฏ
ท้ายสุด เมื่อศึกษาจนเข้าใจประวัติศาสตร์แล้ว นักประวัติศาสตร์จะต้องระลึกอยู่ตลอดเวลาว่า คนสร้างประวัติศาสตร์ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ความจริงไม่ได้อยู่กับเราทั้งหมด เราไม่ได้มีความสามารถขนาดนั้น มันอยู่ที่การรวมตัวกันของข้อมูลต่างๆ และยังมีอีกเยอะที่เรายังไม่รู้และค้นไม่เจอ

“นักประวัติศาสตร์อย่าไปทำแทนคนอื่น ทุกคนต้องทำประวัติศาสตร์โดยเฉพาะคนในพื้นที่แห่งนี้ต้องทำเอง หรือคนปาตานีต้องทำประวัติศาสตร์ของตัวเอง ทำความจริงให้ปรากฏ ทำความไม่แน่นอนให้ใกล้เคียงความแน่นอนที่สุด อนาคตของประวัติศาสตร์ยังคงมีอยู่” ธเนศ กล่าวทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net