เพนกวิน การศึกษาเพื่อความเป็นไท: วิชาหน้าที่พลเมืองสำเร็จรูปและ 11 ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา

เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน วัย 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท น่าจะเป็นชื่อปรากฏอยู่ในสื่อหลายที่ หลังจากที่เขาถูกรวบตัวมายัง สน.ปทุมวันและถูกซักถามประวัติก่อนปล่อยตัว เหตุเกิดขึ้นหลังจากเขาตั้งคำถามพร้อมชูป้าย ช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม โดยถามกับผู้ฟังว่า "มีใครจะถามอะไรไหม" ในงานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ผลงานความก้าวหน้าของรัฐบาลในการปฏิรูปการแก้ทุจริตคอร์รัปชัน" เนื่องในงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2558 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ (อ่านรายละเอียด)

อย่างไรก็ตาม เพนกวิน ไม่ได้เป็นเพียงนักเรียนธรรมดาที่มาชูป้ายและตั้งคำถาม พล.อ.แระยุทธ์ แต่เขามีการทำกิจกรรมโดยเฉพาะในประเด็นการปฏิรูปการศึกษามาก่อนหน้าอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสนี้ ‘ประชาไท’ จึงสัมภาษณ์เขาถึงภูมิหลัง การทำกิจกรรม ข้อเสนอ 11 นโยบายปฏิรูปการศึกษาไทย (ฉบับปรับปรุง) ของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท(อ่านรายละเอียดทั้ง 11 ข้อด้านล่างสุด) มุมมองต่อวิชาหน้าที่พลเมืองสำเร็จรูป และข้อเสนอเปลี่ยนเป็นวิชาปรัชญาและจริยธรรมแทน คำถามเต็มๆ ที่เขาอยากถาม พล.อ.ประยุทธ์ ในวันนั้น ผลกระทบหลังการตั้งคำถาม รวมไปถึงมุมมองต่อการการพยายามผลักเข้าฝั่งฝ่ายการเมือง เป็นต้น

พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

สนใจวิชาประวัติศาสตร์ ชอบอ่านงานสุจิตต์ วงษ์เทศ

เพนกวิน เล่าว่าเขาเรียนสายภาษาจีน สำหรับการแสวงหาความรู้นั้น เพนกวิน เผยว่านอกจากในหนังสือคืออินเตอร์เน็ต รวมทั้งมีกระบวนการพูคุยกับเพื่อนและอาจารย์

จากที่ เดชรัตน์ สุขกําเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เขียนถึง พริษฐ์ หรือ เพนกวิน ด้วย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เล่าถึงเพนกวินที่เขารู้จักในฐานะผู้ติววิชาประวัติศาสตร์ให้ลูกสาวตน(อ่านรายละเอียด) เป็นเครื่องชี้วัดแสดงให้เห็นว่าตัวเพนกวินมีความสนใจวิชาประวัติศาสตร์ด้วยนั้น โดยตัวเขาอธิบายเพิ่มเติมว่า สนใจประวัติศาสตร์ โดยตนเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบอ่านมาตั้งแต่เด็ก แล้วแรกๆ ที่อ่านคือประวัติศาสตร์

“แรกๆ เด็กๆ ไม่มีอะไรให้อ่านก็อ่านประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่พอขึ้นประถมปลายและมัธยมก็ได้ยินครูประวัติศาสตร์มาเล่าว่า เห้ยจริงๆแล้วประวัติศาสตร์มันมีหลายเวอร์ชั่นนะ ผมก็เลยลองไปหาอีกหลายๆ อย่าง ประวัติศาสตร์กระแสลอง ประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งมาลองอ่านดู” เพนกวิน กล่าว

สำหรับนักวิชาการที่ติดตามอ่านประวัติศาสตร์นั้น เพนกวิน กล่าวว่าที่ตนชอบมากๆ มี สุจิตต์ วงษ์เทศ ของจิตร ภูมิศักดิ์ ตนก็ชอบแต่ว่าเก่าแล้ว อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็อ่านบ้าง  โดยนอกจากวิชาประวัติศาสตร์ เพนกวิน ระบุว่าตนสนใจวิชาภาษาไทย ตนมีความสนใจมาทางสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

การทำกิจกรรม

สำหรับสาเหตุที่เข้ามาทำกิจกรรมและเป็นเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท นั้น เพนกวิน เล่าว่า เข้ากลุ่มนี้เมื่อปีที่แล้ว และช่วยพี่ไนซ์ (ณัฐนันท์ วรินทรเวช อดีตเลขาธิการกลุ่มนี้) ทำงานมาบ้าง และเมื่อพี่ไนซ์หมดวาระ กลุ่มก็เลยเลือกให้ตนเป็นเลขาธิการกลุ่มต่อ เนื่องจากมีประสบการณ์เคยช่วยงานพี่ไนซ์ทำกลุ่มมาก่อน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่ได้ทำกิจกรรมอื่น นอกจากกิจกรรมโรงเรียนมากกว่า

เพนกวิน อธิบาย กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ว่าเป็นกลุ่มกิจกรรมด้านการศึกษาโดยนักเรียน มีสมาชิกประมาณ 40-50 คน กิจกรรมที่กลุ่มทำนั้นมีความหลากหลาย ทั้งกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ การยื่นหนังสือข้อเรียกร้องกับกระทรวงศึกษาเกี่ยวกับการปฏิรูปศึกษา รวมทั้งมีการเดินขบวนด้วยรอบหนึ่ง ส่วนกิจกรรมที่ทำบ่อยๆ จะเป็นกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับการศึกษา

11 ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา ของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

เพนกวิน อธิบายที่มาของ 11 ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา ของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทนี้ ว่า แต่แรกถูกร่างขึ้นโดยพี่ไนซ์ เลขาธิการกลุ่มคนก่อน พอมาถึงสมัยตนก็มีการปรับปรุงแก้ไขขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยกระบวนการในการแก้ไขนั้น โดยหลักแล้วตนเป็นคนร่าง และให้สมาชิกดูอีกทีเพื่อแก้ไข

หากพิจารณาแต่ละข้อแล้วข้อที่เพนกวิน ให้ความสำคัญที่สุดคือข้อที่ 11 ที่ให้หลักปรัชญาการศึกษาเพื่อความเป็นไท สนับสนุนเคารพความหลากหลายและความสามารถที่แตกต่างกัน โรงเรียนยังควรเปิดกว้างสำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากความหวาดกลัว ส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดอำนาจนิยม ดำเนินการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ เน้นนักเรียนเป็นหลักสำคัญกว่าสถาบัน และเป็นการศึกษาเพื่อดึงศักยภาพของผู้เรียนมาสร้างสรรค์โลก

เพนกวิน กล่าวว่า ข้อ 11 นี้ เป็นรากฐานของทุกข้อเสนอ โดยใช้ปรัชญาการศึกษาเพื่อความเป็นไทในการวางหลักสูตร เพราะว่าปรัชญานี้คือว่าด้วยการมองคนเป็นคน มองว่านักเรียนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากับผู้ใหญ่ทุกคน เรามีทักษะในการเรียนรู้ติดมาแล้ว แต่เราต้องการการฝึกฝน ซึ่งการศึกษาจะต้องนำมาซึ่งการเปิดกว้างทางความคิด สร้างสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของผู้เรียนอย่างแท้จริง หากการศึกษาของเรายึดถือตรงนี้เป็นหลักจริงๆ แล้ว คิดว่าปัญหาต่างๆ ของการศึกษาไทยจะคลี่คลายไปมาก

ภาพเพนกวินและเพื่อนกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ยื่นข้อเรียกร้องต่อ รมว.ศึกษาฯ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียด)

ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน

ข้อเสนอที่สำคัญต่อมา เพนกวิน ยกเรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนในข้อที่ 10 เรื่องการคุ้มครองเด็ก เรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงในโรงเรียน เรื่องการยกเลิกชุดนักเรียน ทรงผมนักเรียน เรื่องการคุ้มครองการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ตรงนี้จะทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย เป็นสถานที่ที่น่าเรียน การเรียนรู้มีความสุขสนุกไปด้วยได้

“เด็กจะได้มองว่าโรงเรียนไม่ใช่คุก ครูไม่ใช่ผู้คุม และการเรียนไม่ใช่ยาพิษ”  เพนกวิน กล่าวถึงผลที่จะได้จากการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

การศึกษาทุกวันที่มันเป็นอำนาจนิยม อย่างเครื่องแบบ แต่ตนคิดว่าเครื่องแบบมันไม่สามารถสร้างระเบียบ สร้างวินัยที่มีผลต่อสังคมได้ แต่กลับให้อำนาจครูในการลงโทษนักเรียนมากขึ้น ครูมีข้ออ้างมากขึ้นในการลงโทษนักเรียน ลักษณะความสัมพันธ์เช่นนี้ยิ่งทำให้เด็กยิ่งมีความรู้สึกว่าครูเป็นปฏิปักษ์ต่อนักเรียน ช่องว่าระหว่างครูกับนักเรียนจะยิ่งห่างกันขึ้นไปเรื่อยๆ และครูกับนักเรียนจะรู้สึกว่าเป็นศตรูกัน ไม่รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันการเรียนที่ดีกันมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

เรื่องข้อเสนอการแก้ไขหลักสูตรการศึกษา ลดจำนวนวิชาหลักสูตรแกนกลางนั้น เพนกวิน กล่าวว่า การศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมปลาย ต้องให้ความสำคัญกับการเลือกของเด็กมากๆ เพราะว่าเด็กเขามีความชอบของตัวเองอยู่แล้ว เด็กแต่ละคนมีความต่างกันไป เราไม่ควรจะบังคับเด็กให้เหมือน ให้เรียนเหมือนกันมากเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาว่าพอเรียนมากเกินไปแล้วก็ต้องสอบมาก พอสอบมากเกินไป เรียนมากเกินไป สุดท้ายเราจะไม่ได้อะไรสักอย่าง”

เพนกวิน กล่าวด้วยว่า คำที่ว่า “เรียนไปทำไมไม่ได้ใช้” จริงๆ มันได้ใช้ แต่ว่าถ้าจะได้ใช้มันต้องตรงตามความต้องการด้าย อย่างนักเรียนที่เรียนฟิสิกส์ แล้วจบไปเป็นนักภาษาศาสตร์อาจจะได้ใช้ไม่มาก เท่ากับคนที่จะไปเป็นวิศวะ ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกตามความสนใจของตัวเอง

สำหรับข้อกังวลว่าถ้าปล่อยให้เด็กเลือกเองตามอิสระจะส่งผลให้เด็กที่ไม่สนใจเรียนมีโอกาสที่จะหาเหตุผลในการไม่เรียนนั้น เพนกวิน กล่าวว่าในความหมายของตนคือนักเรียนมีโอกาสให้เลือกเรียนตามที่แต่ละคนสนใจมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องบังคับว่าความเป็นนักเรียนแล้วต้องเรียนวิชานั้นนี้ แต่จริงๆ แล้ว เราควรจะเลือกได้ว่าถ้าเราชอบเรียนประวัติศาสตร์ก็สามารถขอลงวิชาทางนี้มากหน่อย แต่ถ้าไม่ชอบเรียนเลขก็เอาหน่วยกิตตรงนี้ไปลงวิชาสังคมเพิ่ม

“สำหรับคนที่ชอบ ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบแล้ว ก็รู้สึกว่าสบายทั้งนั้นล่ะครับ” เพนกวิน กล่าว

ต่อข้อกังวลเรื่องที่หากมีการเรียนหลากหลายมาก แล้วเมื่อถึงเวลาทดสอบจากข้อสอบกลางวัดมาตรฐานจากส่วนกลางอาจเกิดปัญหานั้น เพนกวิน กล่าวว่า การจะเปิดหลักสูตรตามที่ตนพูดถึงต้องมีการแก้ไขการสอบกลางด้วยเพราะว่าอย่างไรวิชาบังคับมันยังคงอยู่ เราก็ควรจะสอบวิชาบังคับที่เป็นความรู้พื้นฐานจริงๆ

การเคลื่อนไหวต่อไป

สำหรับทิศทางการเคลื่อนไหวผลักดัน 11 ข้อนี้เพื่อให้ฝ่ายนโยบายนำไปปฏิบัติต่อไปนั้น เพนกวิน กล่าวว่าจะพยายามเลือกทีละประเด็นมาเคลื่อนไหว ตนไม่ได้เชื่อในเรื่องการเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด แต่เชื่อว่ามันต้องค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ไม่จะหมดวาระของตนเองแล้ว ก็เชื่อว่ารุ่นต่อไปจะสานต่อ หรือแม้จะหมดสิ้นกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทยไปแล้ว ในอนาคตก็คิดว่าจะมีกลุ่มอื่นๆ มาสานต่อไปเรื่อยๆ

เพนกวิน กล่าวถึงการเคลื่อนไหวที่ทำอยู่คือการเคลื่อนในโซเชียลมีเดียโดยการรณรงค์เข้าชื่อใน  change.org เพื่อเรียกร้องกระทรวงศึกษาธิการให้เปลี่ยนวิชา "หน้าที่พลเมือง" เป็น "ปรัชญาและจริยศาสตร์" (อ่านรายละเอียด) รวมทั้งมีการยื่นข้อเรียกร้องกับกระทรวงศึกษาธิการ (อ่านรายละเอียด) และการแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดียนั้นก็จะเป็นการกระตุ้นให้สังคมร่วมกันเปลี่ยนไปด้วยกันได้

คลิปเพนกวินขอล่าชื่อเปลี่ยนวิชา "หน้าที่พลเมือง" เป็น "ปรัชญาและจริยศาสตร์"

หน้าที่พลเมืองสำเร็จรูป

สำหรับกรณีที่ไปชูป้ายพร้อมพยายามตั้งคำถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “สอนเด็กไทยไม่ให้โกงให้เหตุผลสร้างจริยธรรมดีกว่าท่องจำหน้าที่พลเมือง” นั้น รวมทั้งมีการเสนอให้เปลี่ยนวิชาหน้าที่พลเมืองเป็นวิชาปรัชญาและจริยธรรมแทนนั้น เพนกวิน กล่าวว่า ปัญหาของวิชาหน้าที่พลเมืองมีหลายส่วน ไม่ใช่มีปัญหาแค่เพียงเรื่องการต้อท่องจำอย่างเดียว แต่ถ้าลองสังเกตจากหลักสูตรที่กระทรวงศึกษากำหนดมานั้น จะกำหนดไว้สำเร็จรูปแล้วว่าหน้าที่พลเมืองนี้เด็กต้องมีคุณสมบัติ 1 2 3 4 5 6 ตนคิดว่ามันเหมือนการกำหนดคำตอบไปแล้ว

“มันเหมือนการกำหนดคำตอบไปแล้ว แล้วค่อยตั้งคำถามทีหลัง ซึ่งมันผิดธรรมชาติ เราจะต้องตั้งคำถามก่อนแล้วค่อยสร้างคำตอบ เราควรจะเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น มีการวิพากษ์มีการอภิปรายเพื่อแสวงหาว่าจริงๆ แล้ว ความดีคืออะไร เพื่อให้เด็กสร้างค่านิยมความดีในแบบของตนเองมายึดถือได้ สิ่งนี้เองที่เราเรียกจริยธรรม” เพนกวิน กล่าวถึงเหตุผลในการเปลี่ยนจากวิชาหน้าที่พลเมืองเป็นวิชาจริยศาสตร์

สำหรับวิชาปรัชญานั้น เพนกวิน กล่าวว่าเป็นวิชาที่ให้กระบวนการเพื่อสร้างความเข้าใจความดีหรือหน้าที่พลเมืองต่างๆ

“เมื่อคนสามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง จะรู้สึกว่าจริยธรรมนั้นเป็นของตัวเอง ไม่มีใครบังคับเขาให้ทำอย่างนั้น ไม่มีใครบังคับให้เขาคิดอย่างนั้น เขาจะยึดมั่นด้วยตัวเอง” เพนกวิน กล่าว

คำถามเต็มๆ ที่อยากถาม พล.อ.ประยุทธ์ วันนั้น

“การศึกษาคือยาต้านโกงที่ดีที่สุด มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ท่านประยุทธ์หรือรัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรจากวิชาหน้าที่พลเมือเป็นวิชาปรัชญาและวิชาจริยศาสตร์ และท่านมีความคิดเห็นอย่างไรว่าวิชาหน้าที่พลเมืองนั้นมันจะสามารถปลูกฝังจริยธรรมได้อย่างยั่งยืนจริงๆ และท่านเห็นด้วยหรือไม่วิชาปรัชญาหรือวิชาจริยศาสตร์นั้นจะสร้างอนาคตของประเทศไทยที่จะปราศจากการโกงได้ดีกว่า” เพนกวิน กล่าวถึงคำถามที่จะถาม พล.อ.ประยุทธ์ ในวันนั้นหากมีโอกาส

ป้ายที่ พริษฐ์ ถือระหว่างตั้งคำถาม ก่อนถูกรวบตัว

ผลกระทบหลังการตั้งคำถาม

เพนกวิน กล่าวว่า หลังจากที่ตนชูป้ายก็ถูกควบคุมตัวไป สน.ปทุมวัน ซึ่งไม่มีอะไร มีเพียงตอนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวนั้น คาดว่าเป็นตำรวจหรือไม่ก็ทหารพยายามขอร้องไม่ให้สัมภาษณ์ โดยตนก็ยืนยันกลับไปว่าบทสัมภาษณ์ของตนนั้นจะไม่กล่าวหากระทบเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็เหมือนเจ้าหน้าที่ทหารจะไม่พอใจ

แต่หลังจากนั้นไม่มีอะไรเกิดขึ้น ส่วนในสังคมที่โรงเรียน เป็นเรื่องผลตอบรับส่วนมากไปในทางที่จะเห็นด้วย มีบ้างที่อาจารย์เป็นห่วงความปลอดภัยของตนมากกว่า

คลิปเหตุการณ์เพนกวินพยายามชูป้ายและตั้งคำถาม พล.อ.ประยุทธ์

การพยายามผลักเข้าฝั่งฝ่ายการเมือง

สำหรับโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีความพยายามผลักตนไปฝั่งฝ่ายทางการเมืองใดการเมืองหนึ่งนั้น เพนกวิน มองว่าเป็นปัญหาของสังคมไทยอย่างหนึ่ง ที่อาจเป็นเพราะว่าเราไม่เคยเรียนปรัชญา ทำให้ไม่ใจกว้างพอที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง

“บางทีเราอาจไม่ได้ฟังด้วยซ้ำว่าอีกฝ่ายหนึ่งเขาพูดอะไร เราอาจจะฟังไม่จบด้วยซ้ำไป บางทีเราอาจจะได้ได้ยินแค่โทนเสียแล้วตัดสินไปเลยว่าใครเป็นอย่างไร ที่สำคัญที่สุดผมว่าสังคมไทยยังก้าวไม่ข้ามเรื่องของการโจมตีที่ตัวบุคคล เพราะตัวผมเองไม่ได้มีฝักฝ่ายอะไร แต้ไม่ว่าผมจะเป็นใคร จะเป็นนักเรียน จะเป็นอาจารย์ จะเป็นนักวิชาการหรือผมจะเป็นใคร ผมคิดว่าสิ่งที่ผมพูดมันเป็นสิ่งเดียวกัน สิ่งที่จะเกิดมันก็ควรจะเป็นสิ่งเดียวกัน ความถูกต้องไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามคนพูด” เพนกวิน กล่าว

11 นโยบายปฏิรูปการศึกษาไทย (ฉบับปรับปรุง) กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

1. แก้ไขหลักสูตรการศึกษา

            ในระดับมัธยมปลาย ใช้วิธีลงทะเบียนเรียนตามความสนใจของนักเรียน กล่าวคือ ลดจำนวนวิชาในหลักสูตรแกนกลางลงให้เหลือเพียง 5 วิชา คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา โดยเป็นความรู้พื้นฐานของสายวิชานั้น ๆ และเน้นการประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวัน ส่วนวิชาอื่น ๆ นั้นปรับเป็นวิชาเลือกให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจของนักเรียน โดยแบ่งเป็นหมวด ๆ เช่น หมวดวิชาวิทยาศาสตร์ หมวดวิชาสังคมศึกษา หมวดวิชาศิลปะ หมวดวิชาสุขพลานามัย เป็นต้น เพื่อให้การศึกษาสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถออกแบบการเรียนรู้ของตนได้มากขึ้น

            เนื้อหาวิชาโดยทั่วไปควรเน้นถึงปรัชญาของวิชานั้น ๆ เน้นที่ทักษะกระบวนการเรียนรู้และวิธีการคิด สามารถเชื่อมโยงความรู้จากวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เชื่อมโยงความรู้เข้าสู่ชีวิตประจำวันได้ และมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานศึกษาแต่ละแห่งได้

2. ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ

            2.1 เน้นทักษะการสื่อสารจริง ควบคู่กับทักษะด้านไวยากรณ์และคลังคำศัพท์ และเพิ่มโอกาสฝึกใช้ภาษาจริงในห้องเรียนมากขึ้น เช่น การเขียนความเรียงภาษาต่างประเทศ การนำเสนอหน้าชั้นเรียน การสนทนาจริงในชั้นเรียน เป็นต้น

            2.2 ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้วัฒนธรรมของต่างประเทศควบคู่กับการเรียนภาษาของประเทศนั้นๆ

            2.3 มีการทดสอบทักษะภาษาในโรงเรียนครบทั้งด้านการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน

            2.4 เพิ่มโอกาสให้มีครูชาวต่างชาติดำเนินการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างทั่วถึงมากขึ้น

3. ส่งเสริมความรู้เพื่อรับการเข้าสู่ ASEAN

            3.1 ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลอันมีประโยชน์ต่อการดำรงตนใน ASEAN ได้อย่างแท้จริง เช่น วัฒนธรรมและมารยาทของแต่ละประเทศ เศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในประชาคมอาเซียน หรือสอนภาษาของประเทศสมาชิกประชาคม ASEAN อย่างลึกซึ้ง ไม่ควรเน้นเฉพาะการเรียนรู้เพียงผิวเผินที่ไม่ส่งผลต่อการดำรงตนใน ASEAN เช่น จำธงชาติหรือแต่งชุดประจำชาติของแต่ละประเทศใน ASEAN

            3.2 ส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยกระตือรือร้นในติดตามข่าวสาร สถานการณ์ ทั้งในประเทศ ในอาเซียน และข่าวโลก ที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งนักเรียนต้องสามารถวิเคราะห์ข่าวสาร และนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้ เพื่อให้เกิดการปรับตัวและพัฒนาของนักเรียนในอนาคต

            3.3 จัดกิจกรรมหรือจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับ ASEAN ให้แก่เยาวชนในแต่ละพื้นที่

4. เพิ่มการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการศึกษา

            4.1 ส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่นนั้น ๆ และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษามากขึ้น โดยการส่งเสริมให้ตัวแทนสมาชิกชุมชนและผู้ปกครองเข้าร่วมเป็นกรรมการสถานศึกษา

            4.2 เปิดโอกาสให้แต่ละสถานศึกษาสามารถตีความหลักสูตรและแนวทางการสอนได้ตามแนวทางของแต่ละสถานศึกษา เพื่อให้แต่ละสถานศึกษามีเอกลักษณ์อย่างแท้จริง สร้างความหลากหลายทางการศึกษาให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง

5. ปรับปรุงระบบข้อสอบกลางและการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา

            5.1 ลดการสอบกลางให้เหลือแต่น้อยเท่าที่จำเป็น และแก้ไขการทดสอบความรู้ระดับประเทศเป็นการทดสอบเฉพาะความรู้วิชาพื้นฐาน ความรู้เฉพาะทางด้านต่าง ๆ ควรให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นผู้กำหนดหรือทดสอบเอง ไม่ควรกำหนดให้เป็นการสอบกลางในระบบการรับนักเรียนเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้การทดสอบความรู้เฉพาะทางมีความละเอียดมากขึ้น

            5.2 สร้างระบบการทดสอบที่มีเสถียรภาพ ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาในระยะเวลาอันสั้น และมีการแจ้งการเปลี่ยนแปลงแก่นักเรียนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม

6. ปรับปรุงระบบการวัดผลการศึกษา

            6.1 การเก็บคะแนนวัดผล ควรเน้นการเก็บคะแนนด้วยวิธีการที่พัฒนานักเรียนพร้อมกับการเก็บคะแนน เช่นการทำโครงงาน ชิ้นงาน ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติด้วยตนเอง มากกว่าเน้นการสอบเก็บคะแนน และการสอบเก็บคะแนนนั้นควรเน้นการตอบแบบอัตนับมากกว่าปรนัย เพื่อให้นักเรียนสามารถแสดงความรู้ ความคิดเห็นและฝึกฝนทักษะการเขียนได้มากขึ้น

            6.2 การตัดเกรดนักเรียน จากการรวมคะแนนเก็บและคะแนนสอบ ควรเปลี่ยนจากการตัดเกรดแบบ เกรด 1 ถึง 4 หรือ A ถึง D มาเป็น การคิดคะแนนแบบร้อยละ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและสะท้อนประสิทธิผลทางการเรียนของนักเรียนได้ละเอียดและแม่นยำขึ้น

7. สนับสนุนให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค

            7.1 ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ผู้ที่มีความไม่พร้อมด้านเศรษฐกิจจะต้องได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ และควรมีการกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่ทุกท้องที่อย่างเท่าเทียม

            7.2 ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้สถานศึกษามีทรัพยากรสำหรับการจัดการศึกษาอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็น เงิน เทคโนโลยี อุปกรณ์การสอน และลดความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษาระหว่างภูมิภาค

            7.3 ส่งเสริมการสร้างศูนย์การเรียนรู้ ห้องสมุดประชาชน ศุนย์เยาวชน ศูนย์เด็กเล่น และสถานที่อื่นๆ เพื่อการพัฒนามนุษย์อย่างทั่วถึง

8. การประเมินสถานศึกษาและครู

            8.1 การประเมินสถานศึกษาจากหน่วยงานภายนอก ควรทำการประเมินอย่างลับ หรือไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้ได้ผลใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด

            8.2 การประเมินควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาและช่วยเหลือ ไม่ใช่เพื่อการลงโทษสถานศึกษา

            8.3 ควรมีการสำรวจความคิดเห็นครู บุคลากรและนักเรียนเพื่อประกอบการประเมินสถานศึกษาด้วย

            8.4 การประเมินครูควรจัดทำเทอมละครั้งเป็นอย่างต่ำ ดำเนินการโดยลับ และเป็นไปอย่างเข้มงวดทั้งในด้านวิชาการ จริยธรรมและจิตวิทยา ทั้งโดยบุคลากรคนอื่นและโดยนักเรียนด้วย อนึ่ง นักเรียนควรมีสิทธิร้องเรียนหรือเสนอให้ประเมินครูก่อนกำหนดได้เป็นรายบุคคล

            8.5 เพิ่มน้ำหนักของสัมฤทธิผลของนักเรียนต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของครูให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนตำแหน่งหรือวิทยฐานะ

9. บุคลากรทางการศึกษา

            9.1 สร้างมาตรฐานในการคัดกรองบุคลากรทางการศึกษาให้เข้มงวดและมีคุณภาพ ยกระดับหลักสูตรครุศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น

            9.2 เปิดโอกาสให้สถานศึกษามีสิทธิ์คัดกรองบุคลากรเอง

            9.3 ส่งเสริมขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของครู เช่น ส่งเสริมให้ครูได้สอนในท้องถิ่นของตนเอง สร้างมาตรฐานในการเลื่อนขั้นครูอย่างเป็นระบบ ให้สิทธิพิเศษครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์พิเศษ   มากขึ้น

            9.4 จัดจ้างบุคลากรสนับสนุนการศึกษาสำหรับแต่ละโรงเรียน เพื่อทำงานที่ไม่เกี่ยวกับการสอนเช่น งานธุรการ แทนครู เป็นการแบ่งเบาภาระให้ครูสามารถทุ่มเทกับการสอนได้อย่างเต็มที่

10. ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน

            10.1 กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกระตือรือร้นในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนอย่างจริงจัง โดยกำหนดมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา และเปิดช่องทางร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษาให้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

            10.2 ทรงผมนักเรียนและเครื่องแบบ

            เครื่องแบบและทรงผมไม่สามารถปลูกฝังระเบียบวินัยได้อย่างแท้จริง แต่เป็นการปลูกฝังระบบความคิดอำนาจนิยมให้นักเรียน จึงควรยกเลิกหรือลดความเข้มข้นในการบังคับแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนลง เป็นการเปิดกว้างทางความคิดและเคารพสิทธิส่วนบุคคลของนักเรียน

            10.3 ระเบียบวินัย

            ควรส่งเสริมเรื่องระเบียบ จิตสาธารณะ และมารยาทสังคม เช่น ส่งเสริมให้เกิดการเข้าแถว การทิ้งขยะให้ลงถัง มากกว่าที่จะใส่ใจกับกฎระเบียบที่บีบบังคับความคิดและการแสดงออก เช่น การเดินแถว การแต่งกาย อันไม่สามารถปลูกฝังระเบียบวินัยได้อย่างยั่งยืน

            10.4 การใช้ความรุนแรงต่อนักเรียน

            แม้ว่าจะได้มีการยกเลิกการลงโทษนักเรียนด้วยการเฆี่ยนตีไปแล้ว แต่การใช้ความรุนแรงต่อนักเรียนก็ยังปรากฏอยู่ในระบบการศึกษาไทย การใช้ความรุนแรงไม่ได้จำกัดเฉพาะการทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการลงโทษประเภทอื่นๆเช่น การบังคับวิ่งรอบสนาม การพูดประจาน ดูถูกความเป็นมนุษย์ทำให้เกิดความอับอาย สิ่งเหล่านี้ได้บั่นทอนจิตใจของนักเรียนมาอย่างยาวนาน จึงควรถูกยกเลิกอย่างแข็งขัน

            10.5 เพศทางเลือก

            ในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์แล้วว่าเพศทางเลือกนั้นไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตและไม่ใช่จิตเภท จึงไม่จำเป็นต้องบำบัด ดัดนิสัยหรือรักษาใดๆ ทั้งสิ้น จึงควรกระตือรือร้นในการยกเลิกกฎระเบียบที่มีลักษณะกีดกัน เลือกปฏิบัติต่อนักเรียนเพศทางเลือก

            10.6 การตั้งครรภ์ในวัยเรียน

            แม้ว่าการตั้งครรภ์ในวัยเรียนจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของนักเรียนอยู่บ้าง แต่โรงเรียนจะต้องไม่ปิดโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนเหล่านั้นด้วยการกดดันหรือลงโทษทางวินัยเพียงเพราะขัดกับมาตรฐานทางมโนธรรมของครูหรือโรงเรียนเท่านั้น ในทางกลับกัน นักเรียนที่ตั้งครรภ์ควรได้รับความช่วยเหลือทางการเรียนเพื่อให้สามารถเรียนได้ทันนักเรียนคนอื่นในสภาวะที่ตนก็ต้องดูแลครรภ์และเลี้ยงดูบุตรด้วย

11. หลักปรัชญาการศึกษาเพื่อความเป็นไท

            สนับสนุนเคารพความหลากหลายและความสามารถที่แตกต่างกัน โรงเรียนยังควรเปิดกว้างสำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากความหวาดกลัว ส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดอำนาจนิยม ดำเนินการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ เน้นนักเรียนเป็นหลักสำคัญกว่าสถาบัน และเป็นการศึกษาเพื่อดึงศักยภาพของผู้เรียนมาสร้างสรรค์โลก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท