Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ผู้หญิงในเพลงเทิ้งใหญ่เทิ้งยาว เป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ตัวบทและบริบทผ่านเพลงจากหนังสือ อีสานร่วมสมัย : การวิเคราะห์ชนบทในตัวบทและบริบท เขียนโดย ชานนท์ ไชยทองดี หนังสือเล่มดังกล่าวได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนประกอบด้วย 1) อีสานในเพลง 2) อีสานในเรื่องสั้น นวนิยาย และภาพยนตร์ และ 3) อีสานในคติชน  โดยเน้นการวิเคราะห์บนฐานคิดแบบโครงสร้างนิยม และสัญญศาสตร์ ตามอย่างการอ่านตัวบทและการตีความ อีกทั้งผสานมุมมองสตรีนิยมเข้าร่วมในการวิเคราะห์ตัวบท งานของชานนท์มีขอบเขตการวิเคราะห์อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน และเพื่อแสดงให้เห็นถึงมุมมองการต่อสู้ต่อรองของผู้คนผ่านตัวบทที่เขาได้เลือกหยิบยกมานำเสนอ ดังนั้นงานเขียนของชานนท์ ผู้หญิงในเพลงเทิ้งใหญ่เทิ้งยาว จึงมีเนื้อหาและความน่าสนใจดังต่อไปนี้

ชานนท์ เริ่มเรื่องด้วยการบอกเล่าความเป็นมาของสังคมไทยในเรื่องเพศ โดยอ้างอิงงานของชลิดาภรณ์ ส่ง-สัมพันธ์ ในประเด็นเรื่องเพศที่เป็นกิจกรรมของอาณาบริเวณส่วนตัวซึ่งส่งผลกระทบต่อส่วนรวม จึงถูกควบคุมโดยสังคมและรัฐ และอ้างงานอิงงานของโสพิน โตธิกุล ที่กล่าวถึงบทเพลงไม่เพียงแต่เป็นรูปแบบหนึ่งของความบันเทิง หากแต่เป็นการสื่อความหมายผ่านเนื้อร้อง ท่วงทำนอง มิวสิควีดีโอ และภาพลักษณ์ลักษณ์ของตัวศิลปิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สะท้อนถึงยุคสมัย แม้ในท้ายที่สุดก็ยังคงวนเวียนอยู่ในอุดมคติแบบ “ผู้ชายเป็นใหญ่” ก็ตาม แต่ชานนท์เชื่อว่ามีบทเพลงลูกทุ่งที่ขับร้องโดยผู้หญิงส่วนหนึ่ง มีเนื้อหาสื่อสารด้านความคิด อารมณ์ และความรู้สึกในเรื่องเพศ ดังที่ปรากฏในบทเพลง เทิ้งใหญ่เทิ้งยาว ผู้หญิงในบทเพลงดังกล่าวได้ถ่ายทอดความรู้สึกถึงความต้องการผู้ชายในอุดมคติ ที่ถือได้ว่าเป็นขบถต่อจารีตในสังคมกระแสหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาที่ใช้สื่อสารความต้องการในบทเพลง ที่ใช้ลักษณะการจับจ้องการเฝ้ามอง ชานนท์จึงเชื่อว่าเป็นเพลงที่ช่วยตีแผ่แง่มุมในเครื่องความเป็นหญิง

ผู้หญิงร้องผู้หญิงมอง เป็นหัวข้อย่อยในงานเขียนส่วนนี้ของชานนท์ ได้นำแนวคิดการจ้องมอง (gaze) ที่นำเสนอโดยลอรา มัลวี (Laura Malvey) ประเด็นสำคัญคือการจ้องมองของผู้หญิงมีสถานภาพเท่ากับวัตถุแห่งการจ้องมอง (to-be-looked-at-ness) แต่ผู้หญิงยังสามารถจับจ้องเทียบได้เทียบเท่ากับสถานะการจับจ้องของผู้ชายและเกย์ ชานนท์จึงเล็งเห็นความโดดเด่นของบทเพลงนี้ จากการที่ถูกขับร้องด้วยผู้หญิงและเนื้อหาเป็นเรื่องของผู้หญิง โดยกลับมาอ้างอิงถึงงานของโสพินอีกครั้ง ในเร่ืองของเพลงเป็นจักรกลสำคัญในการสร้างความเป็นทางสังคม (Social construction of reality) ให้กับผู้ฟัง เพราะไม่สามารถรับรู้ความเป็นจริงด้วยตนเอง แต่แหล่งความรู้มาจากสื่อ เพลงซึ่งได้ทำหน้าที่สื่อประเภทหนึ่งจึงสามารถสะท้อนสิ่งที่เป็นจริงในสังคมออกมา และยังเป็นการสร้างความเป็นจริงให้กับสังคมอีกด้วย 

ในบทเพลงได้สะท้อนและสร้างความจริง  ในส่วนของการสะท้อนชานนท์เชื่อว่าเพลงเป็นกระบวนการที่บ่งชี้ว่าปัจจุบันภาพลักษณ์ สถานภาพ สิทธิของผู้หญิงก้าวไกลไปเพียงใด   โดยยกตัวอย่างเนื้อเพลงเทิ้งใหญ่เทิ้งยาวมาส่วนหนึ่งใจความว่า

“ตั้งแต่เป็นสาวผู้บ่าวกะพ้อมาหลาย ตั้งแต่พ้ออ้ายจักเป็นจั่งได๋บู๋นี่
ใจมันเต้นติ๊บติ๊บลมหายใจบ่คงที่ บ่แหม่นน้องนี้มันหลังมักอ้ายละบ่
ทรงคือสิดีครันได้อ้ายมาเป็นแฟน เบิ่งก้ามเป็นมัดๆ
สมาร์ตน้อเป็นตาซ่อยเอาไปไถนาซ่อยอีพ่อ
นาโนนนาลุ่มคือสิซุ่มดีเนาะ จั่งแม่นหล่อถึกใจ
บ่แม่นน้องเคียวห่าวใสดผู้ชายได๋ ่นกะได้สเป็คน้องเลย”

เนื้อหาสำคัญที่ชานนท์ได้ตีความคือการขบถต่อจารีตทางสังคมที่ให้ผู้หญิงเรียบร้อยเหมือนผ้าผับไว้ การที่ผู้หญิงกล้าออกมาร้องถึงความต้องการและพรรณนาถึงความงามของร่างกายผู้ชาย ซึ่งถือเป็นการต่อต้านกรอบของสังคมที่ต้องการควบคุมพฤติกรรมของฝ่ายหญิงที่ต้องรักนวลสงวนตัว ภาพของหญิงในเพลงจึงแสดงผ่านการเฝ้ามองถวิลหาชาย และยังเป็นการใช้พื้นที่การจ้องมอง (gaze) นอกจากนั้นชานนท์ยังชี้ให้เห็นถึงอำนาจฝ่ายหญิง ที่เป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอให้กับฝ่ายชาย อีกทั้งแสดงถึงความปราถนาความเป็นชาย (masculinity) ในอุดมคติผ่านกล้ามเนื้อ และหากมองเชิงสัญลักษณ์ ไถหมายถึงอวัยะเพศชาย นาหมายถึงอวัยวะเพศหญิง อีกทั้งนาที่ชุ่มฉ่ำที่เป็นสัญญะหมายถึงความพร้อมในการร่วมเพศ ดังเนื้อเพลงที่ว่า

“ครั้นได้อายมาเป็นแฟน เบิ่งก้ามแขนเป็นมัดๆ สมาร์ตน้อ
เป็นตาซ่อยเอาไปไถนาซ่อยอีพ่อ นาโนนนาลุ่มคือสิซุ่มดีเนาะ
ครันได้อ้ายรูปหล่อมาเป็นคู่นอนฝัน สิบอกอีแม่ปันนาตีนบ้านให้เฮ็ด”

ผู้หญิงช่วงชิงอำนาจของผู้ชาย เป็นความพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมของเพศสภาพระหว่างชายหญิง โดยอ้างอิงจากปราณี วงศ์เทศ  ในประเด็นดังกล่าวที่ว่าผู้หญิงมักถูกอยู่ใต้บังคับบัญชาดังคำกล่าวที่ว่า “ ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” และจากนิธี เอียวศรีวงศ์ ที่กล่าวว่าที่ผ่านมาในสังคมไทยความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงชายไม่เคยเท่าเทียมกัน แต่ชานนท์ได้ยกบทเพลงเทิ้งใหญเทิ้งยาว เป็นลักษณะของการช่วงชิงความหมายจากฝ่ายหญิงในเรื่องอำนาจจากฝ่ายชาย ในบทเพลงยังมีการใช้การโต้กลับในประเด็นแม่พันธ์ุ โดยนักร้องฝ่ายหญิงจะทำหน้าที่คัดสรรพ่อพันธุ์แทน ซึ่งขัดกับขนบสังคมไทยที่ฝ่ายหญิงขาดพื้นที่ในการสื่อสารประเด็นนี้ ดังนั้นจึงเป็นลดทอนภาพอำนาจของชายเป็นใหญ่ (patriarcahl society) และเพลงดังกล่าวยังมีการจ้องกลืนกินหมากผีผ่วน ซึ่งหมายถึงกิจกรรมร่วมเพศทางปาก (oral sex) การสื่อสารดังกล่าวยังสามารถตีความได้ว่าเป็นการรับรู้ในหมู่ชาวรักร่วมเพศ (homosexuality) เทิ้งใหญ่เทิ้งยาว จึงมักถูกนำร้องผ่านชาวรักร่วมเพศดังปรากฏในสื่อออนไลน์

ผู้หญิงที่แท้จริงเป็นอย่างไร เป็นส่วนสุดท้ายที่ชานนท์ได้เขียนถึงก่อนจะเข้าสู่บทสรุป เขาเชื่อว่าผู้หญิงมีลักษณะที่ลื่นไหล จากการแสดงออกผ่านเพลง เทิ้งใหญ่เทิ้งยาว ที่ไม่ตายตัวแน่นิ่งตามกรอบคิดสังคมกระแสหลัก อีกทั้งเป็นการระบายความคับข้องใจ (frustration) เพราะพื้นที่จริงทางสังคมได้กดทับผู้หญิงในเรื่องการแสดงความต้องการทางเพศด้วยจารีตและประเพณี ดังนั้นบทบาทของผู้หญิงจึงเป็นอย่างที่เรารับรู้โดยทั่วไปในสังคม ที่ว่าต้องเป็นแม่ ลูกสาวและภรรยาที่ดี ชานนท์ได้กล่าวถึงการแอบอิงนัยแฝงกับพฤติกรรมของการรักเพศเดียวกัน (homosexuality) เกิดจากความต้องการลดทอนความโจ่งแจ้งในเรื่องความต้องการทางเพศ ภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ ดังนั้นบทเพลง เทิ้งใหญ่เทิ้งยาว จึงเป็นการแสดงภาพตัวแทนที่ขบถต่อสังคมชายเป็นใหญ่ที่มักจะกำหนดบทบาทเพศสถานะ อีกทั้งเพื่อสำแดงให้เห็นถึงการต่อสู้ต่อรอง การควบคุมอัตลักษณ์ของคนที่เป็นเพียงการถูกสร้างขึ้นมาจากประวัติศาสตร์


บทวิจารณ์

งานเขียนของชานนท์เรื่องผู้หญิงในเพลง เทิ้งใหญ่เทิ้งยาว พยายามที่จะวิเคราะห์ถอดรหัสความหมายที่ซ้อนอยู่ใต้ตัวบทของบทเพลง โดยมองแต่เพียงนักร้องผู้หญิงที่ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของเสียงสะท้อนความต้องการอย่างแท้จริง ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวความต้องการทางเพศและการต่อสู้ต่อรองกับบทบาททางสังคมที่ถูกกดทับ      

ทว่าชานนท์และนักวิชาการสายวัฒนธรรมศึกษาในไทยชอบที่จะนำบทเพลงลูกทุ่งมาวิเคราะห์ แต่กลับหลงลืมและไม่สามารถแยกแยะออกว่าบทเพลงเหล่านั้น ไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาภายใต้บริบทสังคมแบบชนบทอย่างแท้จริง หากแต่เกิดขึ้นจากการผลิตด้วยกระบวนการอุตสาหกรรม ที่มีการแบ่งงานกันทำ (division of labor) ของบริษัทค่ายเพลง มีระบบทุนนิยมเข้ามาครอบงำจำกัดความคิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กล่าวว่าบทเพลงดังกล่าว เท่ากับเป็นภาพตัวแทนของผู้หญิงที่เลือกฝ่าฝืนวาทกรรมแนวจารีตเป็นสิ่งที่อาจจะแลดูเกินจริง เพราะชานนท์ได้ลืมตั้งคำถามกลับไปยังจุดกำเนิดและกระบวนการผลิตของบทเพลงว่าเกิดขึ้นจากสิ่งใด? มีโครงสร้างอะไรคอยกำกับและกดทับอยู่หรือไม่?

การวิเคราะห์แต่เพียงเนื้อหาของบทเพลงกับตัวนักร้อง ไม่เพียงพอที่จะนำพาไปสู่การแสวงหาความหมายที่แท้จริงได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กระบวนการผลิตเพลงแบบสมัยนิยม (popular music) ที่นักรัองทำหน้าที่เพียงผู้ส่งสาร (sender) มิได้มีอำนาจในการเลือกตัดสินใจในตัวบทของบทเพลงนั้นๆ อย่างแท้จริง นี่เป็นกระบวนการต้มตุ๋นของระบบทุนนิยม ที่หลอกล่อให้เราหลงเชื่อภาพมายาที่ถูกสร้างขึ้น โดยทำให้เชื่อสนิทใจจนมิได้ตั้งคำถามต่อที่มาและพามาสู่ความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในการวิเคราะห์ตัวบท การร้องเพลงของนักร้องในโลกของดนตรีสมัยนิยมจึงไม่ใช่การถ่ายทอดอารมณ์ที่รู้สึกอย่างแท้จริง หากแต่เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ กล่าวคือแม้ว่านักร้องเหล่านั้นมิได้มีความรู้สึกร่วมต่อเนื้อเพลงที่ถูกเลือกมาให้ร้อง แต่เพื่อปากท้องและหน้าที่จำต้องกระทำแม้ไม่ใช่เหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตเลยก็ตาม การกระทำดังกล่าวของวงการธุรกิจเพลง จึงไม่ต่างจากการขย้อนความต้องการของระบบทุนนิยม และความต้องการที่เกิดขึ้นจากสังคมชายเป็นใหญ่ ยัดใส่ปากของผู้หญิงร้องตามความนั้นออกมา ดังปรากฏให้เห็นอยู่ดาษดื่นในสื่อสมัยนิยม 

แน่นอนว่าทฤษฎีวัฒนธรรมศึกษาตามแบบสจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall) ถือได้ว่าเป็นแม่แบบการวิเคราะห์วัฒนธรรมสมัยนิยม ที่นิยมสำหรับการนำมาสวมใส่เป็นแว่นวิเคราะห์ตัวบทอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงการศึกษาสื่อ กระบวนการถอดรหัสสารที่เน้นวิเคราะห์ผู้รับสาร ที่มักจะถูกนำมาปรับใช้ในการศึกษาบทเพลงลูกทุ่งร่วมสมัยอย่างบิดเบี้ยว อีกทั้งแนวคิดการต่อรองต่อต้านในรูปแบบวัฒนธรรมกระแสรองก็ยังถูกนำมาใช้อย่างผิดๆ เพราะมักจะถูกนำมาใช้วิเคราะห์ตัวบทอย่างแข็งทื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพลงที่เป็นเครื่องมือแสวงหาผลกำไรของนายทุน หากวิเคราะห์ให้เห็นถึงโครงสร้างสังคมผ่านระบบทุนนิยมที่แฝงฝัง และชักนำความต้องการของเพศชายผ่านร่างกายเพศหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านเสียงร้อง ถึงแม้ว่าตัวผู้ร้องเพลงมิได้จำเป็นต้องเชื่อหรือรู้สึกตามนั้นเสมอไป แต่เพราะถ้าไม่ปฏิบัติตามความต้องการของนายทุนหรือโปรดิวเซอร์ที่คอยกำกับทิศทางของบทเพลง จะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อปากท้องของนักร้อง (หรือที่มักถูกเรียกว่าศิลปิน) ดังนั้นการมองตัวบทควรที่จะมองว่าใครเป็นผู้สร้างตัวบทนั้นอย่างแท้จริง มิใช่มองในลักษณะความงดงามชวนฝันของสังคมแบบเสรีนิยมแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจทำให้ตกหลุมพรางของอำนาจทุนนิยมและชายเป็นใหญ่

เหตุที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากอยากให้ลองสังเกตและตั้งคำถามใหม่ต่อบทเพลงลูกทุ่งที่ทำเพื่อการค้า เนื้อหาล้วนแล้วแต่เป็นความต้องการทางเพศของเพศชาย ที่นำข้อความที่ต้องการยัดเยียดผ่านปากของผู้หญิง เพราะเนื้อเพลงส่วนใหญ่ที่เคยมีมาในแวดวงเพลงลูกทุ่งไทย ล้วนแล้วแต่แต่งจากเพศชายทั้งนั้น การอ้างถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่องของบทเพลงลูกทุ่งประดุจกระจกสะท้อนสังคม จึงเป็นการมองแบบอุดมคติ (romanticized) มากจนเกินไป แม้ว่าผู้วิจารณ์แลดูเหมือนจะมีจุดยืนคล้ายกับธีโอดอร์ อดอร์โน ในประเด็นที่ต้องการเปิดโปงให้เห็นอุตสาหกรรมวัฒธรรมมีกลไกบางอย่างขับเคลื่อนให้ถูกเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ผู้วิจารณ์ก็มิได้เห็นด้วยกับแนวคิดของอดอร์โนเสียทั้งหมด โดยเฉพาะการที่จะนำเสนอบทเพลงแบบอุดมคติที่มีแต่ความเท่าเทียมเพื่อเป็นทางออกให้กับสังคม เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการมองสังคมชนบทผ่านเพลงที่ถูกสร้างภายใต้บริบทธุรกิจ มิได้สวยงามเหมือนอย่างที่นักวิชาการสายวัฒนธรรมมักอ้างถึง และมิได้ต่อต้านแนวคิดเสรีนิยมว่าด้วยเรื่องเพศวิถีหรือความเท่าเทียมทางเพศ หากแต่ต้องการตั้งคำถามต่อการวิเคราะห์ตัวบทที่ทำให้ดูราวกับคล้ายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่แท้จริงคือการเคลือบฉาบความหมายของชนบทให้ดูเป็นธรรมชาติและออกมาจากความจริงเสียมากกว่า

คำถามสุดท้ายที่ต้องการจะถามต่องานเขียน ผู้หญิงในเพลงเทิ้งใหญ่เทิ้งยาว คือ หากผู้แต่งเป็นผู้ชาย? แล้วตกลง เทิ้งใหญ่เทิ้งยาว ยังถือว่าเป็นการต่อรองต่อต้านแหกขนบประเพณีสังคมได้อยู่อีกหรือไม่? ทว่าบทเพลงเป็นแค่การสำเร็จความใคร่ (musturbation) ผ่านเนื้อร้องของนักแต่งเพลงชาย ที่มีความปราถนาทางเพศในแบบที่จินตนาการตนต้องการ (คล้ายกับการเขียนเรื่อง...ตามนิตยสารหรือบล็อกในอินเตอร์เน็ต) จึงใช้อำนาจในฐานะผู้แต่งยัดเยียดความต้องการของตนลงไป โดยให้หญิงสาวนักร้องอาชีพเป็นผู้ถ่ายทอด และหลอกล่อนักวิชาการสายวัฒนธรรมมานักต่อนัก ให้หลงเชื่อว่าเสียงร้องนั้นออกมาจากก้นบึ้งจิตใจของเธอจริงๆ


 

 

 ชานนท์ ไชยทองดี. (2558). อีสานร่วมสมัย : การวิเคราะห์ชนบทในตัวบทและบริบท. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ศรีปัญญา

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  กุลธีร์ บรรจุแก้ว เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีสากล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net