Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 กันยายน 2558 นี้ ทาง CSCD ร่วมกับหลายหน่วยงานภายในและภายนอก ม.อ. จะจัดโครงการประชุมวิชาการนานาชาติ Muslim Societies, Knowledge and Peacebuilding in Southeast Asia “สังคมมุสลิม, ความรู้ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”ณ หอประชุมอิหม่าม อัลนาวาวีย์ ชั้น 4 อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานว่า การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้จะเป็นสะพานเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศที่สนใจงานด้านสังคมมุสลิมหรือมุสลิมศึกษา เพราะเป็นการประชุมที่รวม 3 องค์ปาฐกจาก 3 มหาวิทยาลัยใน 3 พื้นที่ความขัดแย้ง และ 3 กระบวนการสันติภาพไว้ด้วยกัน

สำหรับองปาฐกทั้ง 3 คน ได้แก่ 1.ศาสตราจารย์ ดร.มาคาปาโด อบาตอน มุสลิม อธิการบดี Mindanao State University ประเทศฟิลิปปินส์ 2.ศาสตราจารย์ ดร.ยุสนี ซาบี อดีตอธิการบดี Universitas Islam Negeri Al-Raniry เมืองบันดา อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และ 3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จ.ปัตตานี

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นการประชุมวิชาการครั้งนี้จึงเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิชาการระดับอธิการบดีใน 3 ประเทศที่มีพื้นที่ขัดแย้ง คือ มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยจะมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ(MOU) ระหว่างทั้ง 3 มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับสังคมมุสลิมและสันติศึกษา ซึ่งจะเป็นจุดเด่นของการประชุมวิชาการครั้งนี้

ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยอีกว่า นักวิชาการที่เข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้จะเป็นสมาชิกเครือข่ายนักวิชาการในภูมิภาคต่อไป โดยในอนาคตอาจจะจัดประชุมวิชาการนานาชาติที่ว่าด้วยเรื่องนี้ครั้งต่อไปที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย หรือที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ถือเป็นการพัฒนาความร่วมมืออีกระดับของนักวิชาการที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง

แต่อย่างไรก็ตาม การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ ไม่จำกัดเฉพาะนัดวิชาการในพื้นที่ขัดแย้งเท่านั้น แต่ได้เชิญนักวิชาการในประเทศอาเซียนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ขัดแย้งเข้ามาร่วมด้วย เช่น จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไน และ University Science Malaysia

ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยด้วยว่า ไฮไลท์ของการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ คือเวทีอภิปรายสาธารณะ เรื่อง “ความรู้ทางเลือกในพื้นที่ความขัดแย้ง” ซึ่งนำนักวิชาการกับนักเคลื่อนไหวในกระบวนการสันติภาพมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเปิดกว้างคนให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นด้วย

 “สิ่งที่คนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์จากการประชุมวิชาการครั้งนี้ คือในมิติศาสนาและสังคมมุสลิมจะเป็นพื้นที่สันติภาพหรือเป็นแกนหลักในการสร้างสันติภาพได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาเรามักพูดประเด็นวัฒนธรรม แต่ไม่เคยพูดถึงประเด็นศาสนาที่เชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างไร ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะรับรู้ว่าศาสนาจะมีส่วนแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่และในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างไร” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

สำหรับองค์กรร่วมจัดประชาชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. CSCD 2.สถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยฟาฎอนี 3.คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี 4.สถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ 5.วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี 6.ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ (PRC) ม.อ.ปัตตานี 7.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และ 8.วิทยาลัยประชาชน (People’s College)

จุดเริ่มต้นมาจากนักวิชาการรุ่นใหม่

ผศ.ดร.ศรีสมภพ เล่าถึงความเป็นมาของการจัดโครงการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ว่า เกิดจาก CSCD มีแผนที่จะประชุมทางวิชาการประจำ 2558 เกี่ยวกับความขัดแย้งหรือสันติภาพร่วมกับสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และพยายามสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในพื้นที่กับต่างประเทศด้วย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายนักเนื่องจากต้องหาประเด็นที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันให้ได้

ผศ.ดร.ศรีสมภพ เล่าต่อไปว่า ต่อมาศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSW) ร่วมกับ CSCD ได้จัดงานบรรยายหัวข้อ เมื่อมุสลิมเผชิญความขัดแย้ง : คิดใคร่ครวญถึง ‘หลักเจตนารมณ์แห่งชารีอะห์’ ในประสบการณ์ของมุสลิมตะวันตก" ที่มี ศ.ดร.ยาซิร อูดะฮฺ (Jasser Auda) นักวิชาการมุสลิมชาวแคนาดา ผู้อำนวยการสถาบันมะกอศิด กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรมาบรรยายที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ใน ม.อ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 ซึ่งได้รับความสนใจจากวิชาการรุ่นใหม่ๆจากหลายสถาบันทั้งในและนอกพื้นที่จำนวนมาก

ผศ.ดร.ศรีสมภพ เล่าอีกว่า ในช่วงค่ำหลังฟังบรรยายแล้ว นักวิชาการรุ่นใหม่กลุ่มนี้ได้นัดพูดคุยหารือกันต่อ จนมีตกลงร่วมกันว่าจะจัดประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมมุสลิม โดยดึงความร่วมมือจากนักวิชาการต่างประเทศมาด้วย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ เพราะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความน่าสนใจ เพราะมีปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธ์และศาสนาเกิดขึ้น

ผศ.ดร.ศรีสมภพ บอกด้วย แนวคิดของการจัดประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ คือ สังคมมุสลิม ความรู้ และกระบวนการสันติภาพ เพื่อให้รับรู้ว่าสังคมมุสลิมมีการจัดการเรื่องศาสนาอย่างไร และ มีแนวคิดทางด้านสังคมอย่างไร ความรู้เหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างไร เพื่อให้เห็นว่าอิสลามส่งเสริมสันติภาพไม่ใช่ส่งเสริมความรุนแรง

“คำว่าสังคมมุสลิมในที่นี้ไม่เฉพาะนักวิชาการมุสลิมเท่านั้น เพราะสังคมมุสลิมทุกประเทศมีความหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อและวัฒนธรรมอยู่ด้วย ดังนั้นงานนี้จะมีนักวิชาการที่ไม่ใช่มุสลิมเข้าร่วมด้วย เพื่อมาเรียนรู้ร่วมกันว่า ความรู้ที่เกี่ยวสังคมมุสลิมจะนำไปสู่กระบวนการสร้างสันติภาพได้อย่างไร” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

 

คลิกอ่านกำหนดการ

การประชุมวิชาการนานาชาติ "สังคมมุสลิม ความรู้ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" (Muslim Societies, Knowledge and Peacebuilding in Southeast Asia)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net