Skip to main content
sharethis

23 ก.ย. 2558 หลังจากที่เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการและแกนนำพรรคเพื่อไทยแสดงความคิดเห็นว่าระยะเวลา 20 เดือนถือว่านานไป และเสนอสูตร 3-3-3-2 เท่ากับ 11 เดือน นั้น ซึ่งวิษณุ มองว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเหลือ 11 เดือน การเขียน 20 เดือนถือเป็นกำหนดสูงสุด ถ้ายาวไปก็สามารถลดลงได้ ซึ่งนายจาตุรนต์อาจจะไม่ทราบที่มาของตัวเลข 6-4-6-4 ที่ไม่ใช่การกำหนดไว้ให้ยาว หากไปกำหนดแบบนายจาตุรนต์ โดยเฉพาะ 2 เดือนสุดท้ายจากสูตรนายจาตุรนต์คืออะไร ถ้าหมายถึงว่า ให้กฎหมายลูกออกมาแล้วจึงไปหาเสียง ถามว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ต้องออกกฎหมายลูกถึง 6 ฉบับ และยกตัวอย่างขึ้นมา 1 ฉบับในนั้น คือกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายกกต. เมื่อประกาศใช้แล้ว เราไม่รู้ว่าหน้าตาจะว่าอย่างไร เช่น กฎหมายพรรคการเมืองอาจจะเขียนอะไรที่พิสดารขึ้นมา ที่พูดอย่างนี้เพราะตนก็เห็นว่าพิสดารได้สารพัด เมื่อเป็นกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ กฎหมายเก่าก็ต้องยกเลิก แล้วต้องตั้งพรรคการเมืองใหม่ แล้วพรรคที่ตั้งอยู่เก่าจะทำอย่างไร จะต้องจดทะเบียนหรือต้องหาสมาชิกใหม่หรือไม่ ก็ไม่ทราบ

ล่าสุดวันนี้(23 ก.ย.58) จาตุรนต์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Chaturon Chaisang’ ตอบวิษณุ ต่อประเด็นดังกล่าว ยืนยันว่าเป็นไปได้ แต่ขึ้นกับว่าจะทำหรือไม่

โดย จาตุรนต์ ถามกลับวิษณุด้วยว่า การร่างรัฐธรรมนูญ เสนอใช้เวลา 3 เดือนนั้น ทำไมจะทำไม่ได้ เพราะประเด็นต่างๆ ก็รู้หมดแล้ว ร่างกันมาเป็นปี ข้อมูลก็เยอะแยะ ยิ่งร่างแบบไม่ให้ใครเสนอความเห็นเดือนเดียวก็เสร็จ 3 เดือน คือ เผื่อแล้วด้วยซ้ำ พอรัฐธรรมนูญใกล้เสร็จ สนช. ก็เริ่มเตรียมร่างกฎหมายลูกไว้ได้ พอร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็เริ่มร่างกันเลยก็จะเสร็จเร็วขึ้นอีกมาก

จาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการเตรียมการของพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคการเมืองใหม่ก็ให้เตรียมการได้ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จหรือเมื่อผ่านการลงประชามติแล้วก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้กฎหมายลูกเสร็จเสียก่อน ถ้ากฎหมายลูกออกมาแล้วพรรคการเมืองต้องแก้ไขอะไรก็ปรับกัน

“ลองนึกถึงวันประชุมครม. แต่ละครั้ง พอประชุมเสร็จครม. ก็กินข้าวกันเลย ไม่เห็นต้องเริ่มหุงข้าวหาปลาหลังการประชุม คือ ระหว่างครม.ประชุม คนทำกับข้าวเขาก็ทำของเขาไปได้เลย ไม่ต้องรอประชุมเสร็จ เรื่องโรดแมปก็คล้ายกัน” จาตุรนต์ กล่าว

จาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า โรดแมปจะเป็น 6-4-6-4 หรือ 3-3-3-2 ยังไม่สำคัญเท่ากับว่า เวลาร่างจะร่างแบบปิดหรือเปิด ประชาชนจะมีส่วนร่วมหรือไม่ และถ้าร่างแล้วแย่มากๆ อีก อยากให้ผ่านก็จะไม่ผ่านประชามติหรือหากจงใจร่างเพื่อไม่ให้ผ่านประชามติจะทำอย่างไร จะร่างกันไปไม่รู้จบหรือ ท่านวิษณุควรจะตอบเรื่องเหล่านี้มากกว่า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net