Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

จุดเด่นด้านหนึ่งในการวิจารณ์งานเขียน “ผู้หญิงในเพลงเทิ้งใหญ่เทิ้งยาว” จากหนังสือ อีสานร่วมสมัย: การวิเคราะห์ชนบทในตัวบทและบริบท เขียนโดย ชานนท์ ไชยทองดี1 ของกุลธีร์ บรรจุแก้ว2 คือการวิเคราะห์ให้เห็นความสัมพันธ์ของ “เนื้อเพลง”ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางวัฒนธรรมของหญิงชายและชี้ให้เห็นถึงระบบทุนนิยมในวงการเพลงลูกทุ่งที่ไม่ได้คำนึงถึงจริยธรรม คุณธรรม ศิลธรรมในเนื้อเพลงเท่าที่ควร การวิจารณ์ของกุลธีร์เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในสังคมไทยปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามการวิจารณ์ของกุลธีร์ ก็ชี้ให้เห็นว่านักวิชาการที่สนใจทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเทศไทยยังคงมีลักษณะการแยกชนบทออกจากเมือง เช่น ข้อวิจารณ์ของกุลธีร์ที่กล่าวถึงชานนท์และนักวิชาการสายวัฒนธรรมศึกษาในไทยว่า “ชอบที่จะนำบทเพลงลูกทุ่งมาวิเคราะห์ แต่กลับหลงลืมและไม่สามารถแยกแยะออกว่าบทเพลงเหล่านั้น ไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาภายใต้บริบทสังคมแบบชนบทอย่างแท้จริงเมื่อแยกวิธีการผลิตออกจากบริบทเนื้อเพลงความเป็นชนบทจึงถูกแยกออกจากเมืองทันที

วิธีคิดของการแยกชนบทออกจากเมืองในการวิจารณ์ของกุลธีร์ ยังมีลักษณะเฉพาะลงไปอีก พิจารณาจากความสนใจในการวิจารณ์แบบแยกส่วนความสัมพันธ์ด้านการผลิตเพลง ดังข้อวิจารณ์ที่กล่าวถึงการวิเคราะห์ตัวบทของเพลง “การวิเคราะห์ตัวบทที่ทำให้ดูราวกับคล้ายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่แท้จริงคือการเคลือบฉาบความหมายของชนบทให้ดูเป็นธรรมชาติและออกมาจากความจริงเสียมากกว่า”

วิธีคิดแบบแยกส่วนชนบทออกจากเมือง ที่พบเห็นในร่องรอยความคิดที่เคลือบแฝงโดยจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวของนักวิชาการ เป็นปัญหาต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของชนบทไทย เนื่องจากเป็นความคิดที่มีแนวโน้มที่จะเห็นว่าชนบทยังไม่เปลี่ยนแปลงเท่าที่ควร กรณีการวิจารณ์ของกุลธีร์ แม้มีประโยชน์ในการทำความเข้าการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมไทยภายใต้ระบบทุนนิยม แต่ในขณะเดียวกันในคำถามสุดท้าย ที่กุลธีร์พยามที่จะชี้ให้เห็นถึงอำนาจการครอบงำในการผลิตเพลง “ในฐานะผู้แต่งยัดเยียดความต้องการของตนลงไป โดยให้หญิงสาวนักร้องอาชีพเป็นผู้ถ่ายทอด และหลอกล่อนักวิชาการสายวัฒนธรรมมานักต่อนัก ให้หลงเชื่อว่าเสียงร้องนั้นออกมาจากก้นบึ้งจิตใจของเธอจริงๆ3 นัยความหมายในประโยคอาจจะไม่สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของ “นักร้อง” ไปเสียทั้งหมด เนื่องจากนักร้องหลายคนต่างต้องใช้ก้นบึ้งของหัวใจร้องและกุลธีร์ก็คงไม่สามารถเข้าถึงความรู้สึกของ ดาหลา ธัญญาพร4 ได้ในทุกด้านของชีวิต เมื่อกล่าวถึงอำนาจระหว่างคู่ตรงข้ามและละเลยอำนาจโดยสภาพแวดล้อมทั่วไป จึงทำให้เหมือนว่าการวิจารณ์ในประเด็นนี้อ่อนด้อยลง และเมื่อนำ“อารมณ์ความรู้สึกคนฟัง” ที่เข้าดูมิวสิควีดีโอในในยูทูป จำนวน 17, 485,645 คนกดชอบ 41,014 คนกดไม่ชอบ 4,966

มาร่วมพิจารณา แม้ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าคนเข้าดูในยูทูปเป็นคนชนบทหรือไม่ แต่ก็พอจะพิจารณาได้ว่า “บทเพลงเทิ้งใหญ่เทิ้งยาว” เป็นที่ชื่นชอบของมวลชนมากพอสมควร เป็นเสียงเทิ้งใหญ่เทิ้งยาว ที่มีอำนาจทางวัฒนธรรมที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับคุณค่าจริยธรรมแบบเดิมแล้ว เป็นลักษณะสำคัญของสังคมชนบทที่ผสมผสานกับสังคมเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เทิ้งใหญ่เทิ้งยาว จึงเป็นเสียงของการเปลี่ยนแปลงในชนบทที่ชี้ให้เห็นว่าคุณค่า คุณธรรม จริยธรรมแบบเมืองกับชนบทก็ไม่ได้ต่างกันหากพิจารณาผ่านความรู้สึกนึกคิดทางร่างกายและกามารมณ์5

 

อ้างอิง 

1 อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ

2 อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีสากล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา

3 http://prachatai.org/journal/2015/09/61517

https://www.youtube.com/watch?v=BKtSg5UdXPI

5 พัฒนา กิตติอาษา(2543)คนซิ่งอีสาน : ร่างกาย กามารมณ์ อัตลักษณ์ และเสียงสะท้อนของคนทุกข์ในหมอลำซิ่ง.ห้องไทยศึกษานิทัศน์ สาขาวิชาศึกษาทั่วไป สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.นครราชสีมา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net