Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อกล่าวถึงการปฏิรูปกฎหมายจะพบว่ามีมาช้านานก่อนประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบการปกครองที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตย ซึ่งการปฏิรูปกฎหมายทั้งช่วงก่อนและหลังปฏิรูปที่อยู่ในแวดล้อมของระบอบการปกครองในแต่ละยุคสมัยย่อมส่งผลถึงหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ เงื่อนไขที่แตกต่างกันไปด้วย ในสมัยหนึ่งการปฏิรูปกฎหมายอาจจำกัดเฉพาะกษัตริย์/ขุนนางที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูป มาในอีกสมัยหนึ่งอาจมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ปฏิรูป แต่ไม่ว่าบุคคลหรือองค์กรใดเข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปกฎหมาย อย่างน้อยควรมีหลักการบางอย่างที่สำคัญเพื่อการปฏิรูปว่าแท้ที่จริงแล้วจะปฏิรูปกฎหมายไปสู่สิ่งใด

คำตอบที่ได้จากการปฏิรูปมีหลายคำตอบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎหมายในแต่ละเรื่อง ถ้าปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน ก็ย่อมคาดหมายได้ว่าจะนำไปสู่การมีที่ดินทำกิน ถ้าปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา ก็ย่อมคาดหมายได้ว่าจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและบุคลากรทางการศึกษา หรือถ้าปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ก็ย่อมคาดหมายได้อีกเช่นกันว่าจะนำไปสู่ความยุติธรรมในสังคม ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญที่ต้องการให้เกิดขึ้นในการปฏิรูป อาจเรียกโดยรวมว่า  ปฏิรูปกฎหมายเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ/สร้างความเป็นธรรม แต่กลับพบว่าการปฏิรูปกฎหมายที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมอย่างที่ควรจะเป็น กล่าวคือ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นอยู่เสมอคือการที่ประชาชนได้รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือทั้งแง่นโยบายและกฎหมาย แต่นั่นก็เป็นเพียงวิถีทางท้าย ๆ ที่จะถูกนำมาใช้ ดังนั้นการปฏิรูปกฎหมายควรมีหลักคิดอย่างไรจึงจะช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมได้


การปฏิรูปกฎหมายที่จะช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม อย่างน้อยที่สุดควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังนี้

1. การปฏิรูปกฎหมายเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะต้องผ่านการสำรวจ ศึกษา วิจัยอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้ทราบว่าเรื่องที่จะปฏิรูปนั้นมีสภาพปัญหาอย่างไรและมีข้อเสนอแนะอย่างไร ซึ่งก็คือ “องค์ความรู้”
ที่เป็นเงื่อนไขประการแรกก่อนที่จะนำไปสู่การปฏิรูปในรายละเอียด มิเช่นนั้นแล้วการปฏิรูปกฎหมายเป็นได้เพียงแค่การใช้ความรู้สึกนึกคิด ความปรารถนาส่วนตน และอาจไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน

2. การปฏิรูปกฎหมายจะต้องมองในภาพรวมทั้งระบบ ในแง่สภาพปัญหาจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีส่วนสำคัญในการช่วยการลดความรุนแรงทางตรงและทางอ้อมที่ก่อร่างหรือฝังรากลึกในสังคม ในแง่บุคคลต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ที่หมายความรวมถึง บุคคล ชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยทางสังคมอื่นที่ให้ความสนใจหรือขับเคลื่อนในเรื่องนั้น ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของบุคคล/หน่วยทางสังคมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงกับแหล่งของปัญหาอย่างแท้จริง

3. การปฏิรูปกฎหมายต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลายหรือที่เรียกว่า พหุนิยม (Pluralism)

4. การปฏิรูปกฎหมายต้องอยู่บนพื้นฐานหลักสิทธิมนุษยชน เช่น หลักคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หลักนิติรัฐ/หลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตย เป็นต้น

5. การปฏิรูปกฎหมายจะต้องมีความเป็นอิสระ หมายความว่า ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการปฏิรูปกฎหมายต้องไม่ถูกครอบงำจากอิทธิพลโดยตัวบุคคล เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ – ลูกศิษย์ หรือ
ถูกครอบงำจากตำรา หรือจากหน่วยทางสังคมเดิมที่ตนเคยร่วมงานมาก่อน หรืออคติ 4 ได้แก่ ฉันทาคติ  โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการปฏิรูปจะไม่มีหลักให้ยึดเหนี่ยวแต่ประการใด หากแต่ผู้ที่ทำหน้าที่ต้องตระหนักถึงความเป็นอิสระเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดในการปฏิรูปกฎหมาย


เหตุที่การปฏิรูปกฎหมายไม่ประสบผลสำเร็จ อาจเกิดจากปัจจัยดังนี้

1. ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการปฏิรูปกฎหมายขาดความจริงใจ แต่กลับภูมิใจที่ได้เข้ามาทำหน้าที่ในการปฏิรูปกฎหมาย โดยอาศัยงบประมาณแผ่นดิน ชื่อเสียงองค์กรเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างเครือข่ายให้กับตนเอง

2. เกิดการประนีประนอมทางความคิดที่ละเลยจุดมุ่งหมายสำคัญต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่ด้วยเพราะสายใยสัมพันธ์แห่งอำนาจในทางมิชอบหรือเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน จึงทำให้การต่อสู้ทางความคิดต้องบิดเบี้ยวไป

3. บุคลากรในการปฏิรูปกฎหมายยังไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพียงพอ จึงจะต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการปฏิรูปกฎหมาย เช่น การให้ทุนการศึกษา การอบรมสัมมนา เป็นต้น

4. ทัศนคติ (Attitude) หรือกระบวนทัศน์  (Paradigm) ที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งจะต้องเปิดใจเพื่อยอมรับหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

การปฏิรูปกฎหมายในมุมมองข้างต้นเป็นเพียงข้อคิดปฏิรูปกฎหมายบางประการเท่านั้นที่อาจจะช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม เนื่องจากการทำงานเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดีไม่ได้มีแผนที่ความคิดเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น และการยึดมั่นในหลักการของตนอย่างเหนียวแน่นอาจทำให้ผู้ปฏิรูปมีความคับแคบทางความคิดจนเกินไป เพราะถึงที่สุดแล้วการปฏิรูปกฎหมายไม่ใช่การทำงานอย่างโดดเดี่ยว แต่ยังเป็นการทำงานเชิงสัมพันธภาพทางอำนาจของคนในสังคมอีกด้วย และกฎหมายที่ปฏิรูปก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะยืนยันว่าผู้ใช้บังคับกฎหมายจะอำนวยความยุติธรรมให้กับคนในสังคมได้เสมอไป ดังนั้นข้อคิดปฏิรูปกฎหมายที่ได้นำเสนอไปนั้นจึงเป็นเพียงหลักการสำคัญ ๆ ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกฎหมายได้ตระหนักและอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิรูปกฎหมาย
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net