ยุกติ มุกดาวิจิตร: มนุษย-สังคมศาสตร์ กับ ภววิทยาปริวรรตของดิจิทัล [คลิป]

26 ก.ย. 2558 ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 ของศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ "สามัญดิจิทัล: พหุลักษณ์ของเทคโนโลยีสื่อและข้อมูลในสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัย" เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องเอนกประสงค์ริมน้ำ ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น

คลิปการนำเสนอของยุกติ มุกดาวิจิตร "มนุษย-สังคมศาสตร์ กับ ภววิทยาปริวรรตของดิจิทัล"

ในช่วงเช้ามีการปาฐกถาหัวข้อ "มนุษย-สังคมศาสตร์ กับ ภววิทยาปริวรรตของดิจิทัล" โดยยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การนำเสนอของยุกติ อธิบายคำที่ใช้คือ "ภววิทยาปริวรรต" ว่าในที่นี้คือ "Ontological currency" หมายถึง "currency" ในความหมายกว้าง ไม่ใช่เงินตรา ทั้งนี้ "สิ่งดิจิทัล" หรือ "ปรากฏการณ์ดิจิทัล" มีลักษณะที่เรียกว่าเป็น "ภววิทยา" หรือความเป็นตัวตนที่มีลักษณะเป็น "Currency"

ทั้งนี้ วิดีโอการนำเสนอแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรก จะเล่าเรื่องสามัญของ "ดิจิทัล" [ชมวิดีโอ]
ส่วนที่สอง จะอธิบายสิ่งที่เรียกว่า "ภววิทยาปริวรรต" ของสิ่งที่เรียกว่า "ดิจิทัล" [ชมวิดีโอ]
ส่วนที่สาม จะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า "วิพากษวิธีดิจิทัลศึกษา" ซึ่งจะมี 4 วิภาษวิธีด้วยกัน [ชมวิดีโอ]
ส่วนที่สี่ แสดงตัวอย่างการทดลองศึกษา 2 ตัวอย่าง [ชมวิดีโอ]

ตอนหนึ่งยุกติกล่าวว่า การอธิบายภาวะการมีอยู่หรือความเป็นดิจิทัลแบบหนึ่ง คือการอธิบายดิจิทัล กับเทคโนโลยีที่มีมาก่อน นั่นก็คือเทคโนโลยีอนาล็อก (Analog) ซึ่งคำว่าอนาล็อกมาจากคำว่า "Analogy" คือ ภาพแทนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ข้อมูลแผ่นเสียงเป็นภาพแทนคลื่นเสียง นาฬิกาซึ่งบอกเวลาด้วยเข็มนาฬิกา ซึ่งเป็นภาพแทนของเวลา นาฬิกาไม่ใช่เวลา แต่เป็นภาพแทนเวลา เป็นภาพแทนแบบอนาล็อก

แต่ดิจิทัล จริงๆ ดิจิทัลก็เป็นอนาล็อกของสิ่งอื่นๆ เหมือนกัน แต่การปรากฏตัวของมันต่างจากสื่ออนาล็อกอื่นๆ ดิจิทัลต้องแปลงสัญญาณจากคลื่นอื่นๆ ให้เป็นตัวเลข อย่างเช่น กรณีของคลื่นเสียง ในภาพที่แสดงอยู่คือการปรากฏตัวของเสียงแบบอนาล็อกก็จะเป็นความต่อเนื่องกัน แต่การปรากฏตัวของดิจิทัลจะขาดตอน แต่ดูเสมือนว่ามันมีความต่อเนื่อง และเมื่อดิจิทัลถูกจัดวางให้ละเอียดมากขึ้น ก็จะใกล้เคียงกับอนาล็อกมาขึ้นเรื่อยๆ (ดูภาพประกอบ)

ไม่ต่างอะไรกับภาพดิจิทัล ที่มีความละเอียดน้อย ซูมเข้าไปมากๆ ก็จะแตก นี่เป็นแพทเทิร์นการปรากฏตัวของดิจิทัล"

แต่ลักษณะสำคัญพิเศษของ "ภาวะดิจิทัล" ก็คือ การที่สัญญาณดิจิทัลสามารถแปลงเป็นอะไรได้มากมาย ระบบดิจิทัล สามารถแปลงสัญญาณภาพ เสียง หรือแม้กระทั่งรูปทรงสามมิติ ให้กลายเป็นตัวเลขได้ทั้งสิ้น และแปลงกลับได้ด้วย คือทั้งแปลงไปและแปลงกลับ

นอกจากนั้นระบบดิจิทัลยังเอื้ออำนวยให้เกิดการเผยแพร่ตัวมันผ่านสื่ออื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากกว่าระบบอนาล็อก โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาไปมากขึ้น โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ต ทำให้สัญญาณดิจิทัลเป็นระบบการสื่อสารที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น สำหรับสื่อบางประเภท ระบบอนาล็อกแทบจะหมดที่ยืน เช่น การอ่าน การถ่ายรูป แต่ขอให้คิดให้ดี เมื่อโลกของอนาล็อกในบางมิติหายไป เช่น การถ่ายภาพ มันไม่ได้หายไปแต่เทคโนโลยี เทคนิควิธีของการผลิตซ้ำภาพ แต่มันหายไปทั้งอุตสาหกรรม มันหายไปทั้งวัฒนธรรมของการสร้างอนาล็อกแบบนั้นขึ้นมา ขณะเดียวกันมันเกิดวัฒนธรรมของการสร้างภาพดิจิทัลขึ้นมาอีกมากมาย

การอัดภาพ การล้างภาพ เปลี่ยนไป พอเทคโนโลยีการถ่ายภาพถูกลง เข้าถึงง่ายขึ้น การแชร์ภาพทำได้ง่ายขึ้น ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด สิ่งที่เปลี่ยนเช่นความหมายทางสังคมใหม่ๆ ของการถ่ายภาพ เมื่อโอกาสและต้นทุนถ่ายภาพอำนวยขึ้น ไม่ต้องยกกล้องตัวใหญ่ๆ มาวางถ่ายภาพอาหาร ใช้แค่โทรศัพท์มือถือก็ถ่ายภาพอาหารได้แล้ว ภาพที่ถ่ายโดยเครื่อมือที่ไม่ได้ถูกเรียกว่ากล้องถ่ายภาพ มีมากกว่าเครื่องมือที่ถูกเรียกว่ากล้องไปแล้ว เรามีวัฒนธรรมการถ่ายภาพแบบใหม่ๆ เช่น เซลฟี เป็นต้น

เงินมีสถานะดุจเดียวกับดิจิทัล เพราะเงินเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสิ่งอื่นได้ คนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก แต่ที่จริงเป็นเรื่องพิเศษมากที่คุณไม่สามารถถือรีโมต (หยิบรีโมตเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นมา) สัก 200 อัน เพื่อที่จะนำไปแลกโทรศัพท์มือถือได้ แต่เอารีโมตไปขายในตลาด เพื่อนำเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือ การแลกเปลี่ยนสิ่งของกันโดยตรงไม่จำเป็นอีกต่อไป เงินกลายเป็น "Abstract form of value" นี่คือสิ่งที่คาร์ล มาร์กซ์ พูด

มีคนกล่าวด้วยว่า ดิจิทัลมีสถานะทำนองเดียวกันนั้น เราอาจจะเข้าใจภาวะดิจิทัลได้เมื่อทำความเข้าใจสภาวะของเงิน มันอาจจะเป็นวิธีที่จะทำให้เข้าใจสถานะทางสังคมของดิจิทัลได้ ในโลกนี้มีคนที่ศึกษาเรื่องเงินอย่างเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ 2 คน เมื่อเป็น 100 ปีมาแล้ว คือ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และ จอร์จ ซิมเมล (Georg Simmel) ซึ่งเขียนเรื่อง "The Philosophy of Money"

ที่น่าสนใจคือ 2 คนนี้เวลาพูดถึงเงิน มาร์กซ์ พูดถึงด้านลบของเงิน บอกว่าเป็นที่หนึ่งที่จะพบภาวะแปลกแยกของมนุษย์ คุณใช้เงินมากๆ คุณจะแปลกแยกจากตัวคุณเอง เพราะคุณไม่รู้ถึงค่าของแรงงานที่ทำงานมาเป็นเงินที่ถูกขูดรีดไปแล้วเท่าไหร่ และมีความแปลกแยกต่างๆ มากมาย ในขณะที่ ซิมเมล มองในด้านบวก บอกว่าเงินนี้ขยาย ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ด้านใหม่ๆ ขยายปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ดิจิทัลก็มี 2 ด้าน สภาวะของความเป็นออนไลน์ ของดิจิทัล จึงถูกมองในลักษณะหนึ่งว่ามันมีภาวะของ "virtual" คือยังไม่จริง หรือยังลวง เช่น เราเห็นภาพถ่าย ดูเหมือนจริงมาก แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเส้นประ มันเป็นรอยแตกของพิกเซลเมื่อคุณซูมเข้ามา มันเป็นภาพลวง ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ดิจิทัลมันเปิดโอกาสใหม่ๆ เช่น นี่เป็นคลิปที่อธิบายการใช้การเขียนด้วยมือ ให้เป็นอักษรจีน อันนี้เป็นเรื่องที่ "fascinating" (น่าหลงใหล) มากๆ แต่เดิมภาวะการเขียนของโลกสมัยใหม่ ถูกกักขังไว้ในระบบของอักษรเสียง โลกของการพิมพ์เป็นอักษรเสียง คุณไม่สามารถพิมพ์ด้วยอักษรจีนได้ ถ้าคุณจะพิมพ์ก่อนหน้านี้ ในสมัยที่ดิจิทัลยังไม่พัฒนาขนาดนี้ การแปลงสัญญาณไปเป็นดิจิทัลทำแบบนี้ไม่ได้ แต่เดิมมันถูกกักผ่านตัวกลางที่เป็นอักษรเสียง

ในส่วนของ "วิพากษวิธีดิจิทัลศึกษา" ยุกติอธิบายไว้ 4 อย่างได้แก่ 1. ภาวะ(ไม่)สื่อกลาง 2. ภาวะสินค้า 3. ภาวะ(ไม่)ปิดกั้นการเข้าถึง 4.ภาวะ(พ้น)มนุษย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท