Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เป็นเวลาหลายปีทีเดียวที่ข้าพเจ้าได้พบเกย์และเลสเบี้ยนจำนวนมากให้ความสนใจในพุทธศาสนาด้วยจุดเริ่มต้นที่ว่า พุทธศาสนาไม่ได้รังเกียจคนรักเพศเดียวกันอันเป็นทางเลือกอีกทางของชาวยิวหรือคริสเตียน  แต่โชคร้ายที่ประสบการณ์ส่วนตัวได้สอนให้ข้าพเจ้ารู้ว่า พุทธศาสนาเองก็มีการรังเกียจคนที่รักเพศเดียวกันเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้เปิดเผยรุนแรงเหมือนกับศาสนาในตะวันตก

การเข้าไปศึกษาเรียนรู้พุทธศาสนาในระยะเริ่มต้นของข้าพเจ้าเป็นการศึกษาเรียนรู้กับอาจารย์ผู้ชายชาวเอเชียซึ่งมีทัศนคติเหยียดเพศ (Sexism) และรังเกียจคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) นับเป็นประสบการณ์ที่สร้างความประหลาดใจให้กับข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่งในขณะนั้น  ถึงแม้จะไม่เหมือนกับศาสนาในตะวันตกเสียทีเดียว เพราะพุทธศาสนาไม่มีคำสอนที่บ่งบอกถึงอาการรังเกียจคนรักเพศเดียวกันอย่างชัดเจนนัก แต่ก็ทำให้ข้าพเจ้าต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งในการทำความเข้าใจต่อคำสอนดั้งเดิมที่รังเกียจคนรักเพศเดียวกันที่มีอยู่ในคำสอน

ข้าพเจ้าตระหนักรู้ได้ในทันทีเมื่อพบเห็นความคาดหวังอย่างแรงกล้าที่มีอยู่ในสถาบันครอบครัวชาวเอเชียเมื่อครอบครัวต้องการมีลูกหลานไว้สืบสกุล  นี่อาจไม่ใช่หลักฐานการรังเกียจรักเพศเดียวกันที่ข้าพเจ้าพบในพุทธศาสนาโดยตรง แต่ถ้าคุณเป็นสมาชิกในครอบครัวที่คาดหวังให้คุณมีลูกมีหลานสืบสกุลในขณะที่คุณต้องการครองตัวเป็นโสดล่ะ

การเข้าไปสำรวจตรวจสอบทำให้ข้าพเจ้าพบอะไรที่ลึกยิ่งขึ้น  ข้าพเจ้าพบว่าการรังเกียจรักเพศเดียวกันในพุทธศาสนาไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากศาสนาในตะวันตก ซึ่งการรังเกียจนี้ทำหน้าที่สัมพันธ์ควบคู่ไปกับทัศนคติเหยียดผู้หญิง

ในพุทธศาสนานั้นการรังเกียจผู้หญิงได้ถูกทำให้เป็นเรื่องถูกต้องผ่านคำสอนทั้งในพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน  การรังเกียจผู้หญิงไม่ใช่การรังเกียจธรรมดาๆ เท่านั้น แต่อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับผู้หญิงหรือมีลักษณะแนวโน้มไปทางผู้หญิงก็จะถูกรังเกียจไปด้วย  ดังนั้น สำหรับเกย์บางคนที่มีลักษณะออกหญิงในสายตาของสังคมที่รักต่างเพศมีอำนาจเหนือกว่าหรือในระบบสังคมที่ยึดถือเอาผู้ชายเป็นใหญ่แล้วละก็ เกย์เหล่านั้นจะถูกทำให้ต่ำกว่าหรือถูกเลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้หญิงไปเลย

ต่อมาข้าพเจ้าได้เข้าใจถึงปัญหาหลักๆ ในพุทธศาสนาที่มีต่อเรื่องเพศอันมีจุดเริ่มต้นมาจากคำสอนในวัดว่า ไม่เคยมีการตีความคำสอนเรื่องเพศให้สอดรับกับวิถีชีวิตของฆราวาสเลย  ทางที่ดีที่สุดในความคิดของข้าพเจ้าก็คือการยอมรับให้เรื่องเพศเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของฆราวาสนี่เองที่ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจในเวลาต่อมาว่าไม่มีศาสนาไหนทั้งในตะวันตกหรือแม้แต่ตะวันออกที่จะเป็นพันธมิตรที่ดีกับเกย์ได้อย่างแท้จริง นอกเสียจากศาสนานั้นจะมีการยอมรับในตัวเองและในคำสอนว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเท่าๆ กับที่มีความหมายให้ปฏิเสธกิจกรรมทางเพศเสีย

ยกตัวอย่างเพศสัมพันธ์ที่นอกเหนือไปจากการสืบพันธ์แล้วก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องดี นั่นหมายความว่าใครก็ตามที่มีกิจกรรมทางเพศไม่ว่าจะรักต่างเพศหรือรักเพศเดียวกัน  ถ้าเป็นการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศเพื่อความพึงพอใจทางกามมักจะถูกมองว่าเป็นคนบาปในสายตาของชาวคริสต์  หรือไม่ก็เป็นคนโง่เขลาที่ถูกจองจำอยู่ภายใต้ตัณหาราคะในมุมมองของพุทธศาสนา

ทั้งการรังเกียจผู้หญิงและรังเกียจเกย์เกือบจะทำให้ข้าพเจ้าต้องถอนตัวออกจากการศึกษาเรียนรู้พุทธศาสนา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้าพเจ้าพบว่าถ้าข้าพเจ้าเป็นเกย์ที่เปิดเผยตัวเองมากเกินไป ข้าพเจ้าอาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากอาจารย์สอนสมาธิชาวพุทธทั้งหลายก็เป็นได้  อย่างไรก็ตามก่อนที่ข้าพเจ้าจะละทิ้งพุทธศาสนาข้าพเจ้าก็โชคดีเพียงพอที่ได้พบอาจารย์หญิงสอนสมาธิในพุทธศาสนานิกายเซ็น คือ ท่านธรรมะกรุณาและท่านธรรมะสาริกา  นอกจากท่านทั้งสองจะทำให้ข้าพเจ้าได้รับรู้ถึงความบากบั่นในการต่อสู้กับโครงสร้างสังคมที่ยึดถือเอา ‘ผู้ชายเป็นใหญ่’ และการต่อสู้กับทัศนคติ ‘เหยียดเพศ’ แล้ว  ท่านยังทำให้ข้าพเจ้าได้ตระหนักรู้ว่าท่านเป็นอาจารย์เซ็นที่มีจิตใจเปิดกว้างและยอมรับเพศวิถีของข้าพเจ้าได้อีกด้วย

แต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือท่านทั้งสองได้ช่วยเหลือให้ข้าพเจ้ามีความเจริญรุดหน้าในการปฏิบัติธรรมเป็นลำดับในเวลาต่อมา ถ้าไม่ได้พบกับอาจารย์หญิงทั้งสองท่าน  อิทธิพลโฮโมโฟเบียจากอาจารย์ผู้ชายท่านนั้นอาจทำให้ข้าพเจ้าไม่ได้เข้ามาบวชและไม่ได้ยกฐานะขึ้นเป็นอาจารย์เซ็นก็เป็นได้

 
 
หมายเหตุผู้เขียน          

“คุยเรื่องเพศกับพระ” เดือนนี้ผู้เขียนมีบทความแปลมานำเสนอ ชื่อบทความ “อาการ ‘รังเกียจรักเพศเดียวกัน’ ในพุทธศาสนา”แปลจากต้นฉบับ What about Homophobia in Buddhism? เขียนโดยพระอาจารย์เซ็น วัชระกรุณา

บทความนี้เขียนจากมุมมองของคนที่เป็นคนนอกพุทธศาสนามองเข้ามายังพุทธศาสนา (ซึ่งปัจจุบันคนเขียนกลายเป็นชาวพุทธไปแล้ว) ผู้เขียนบทความคือ พระอาจารย์เซ็น วัชระกรุณา ชาวอเมริกันอดีตเคยนับถือศาสนาที่มีความรังเกียจคนรักเพศเดียวกันมาก่อน ต่อมาท่านรู้สึกเบื่อหน่ายกับคำสอนศาสนา เนื่องจากศาสนาที่ท่านนับถือไม่เปิดพื้นที่ให้กับคนที่รักเพศเดียวกันได้มีที่เหยียบที่ยืน ท่านจึงมองหาศาสนาอื่นๆ ที่ปลอดจากการเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีวิถีทางเพศที่แตกต่าง

ต่อมาท่านพบพุทธศาสนาและเกิดความสนใจ เพราะพุทธศาสนาไม่มีการรังเกียจคนที่รักเพศเดียวกัน ท่านจึงเข้าไปศึกษาเรียนรู้และเกิดศรัทธาอยากบวชเป็นพระภิกษุ แต่ในที่สุดก็ถูกปฏิเสธเนื่องจากท่านเป็นคนรักเพศเดียวกัน ท่านจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับชาวอเมริกันว่า พุทธศาสนาเองก็มีการรังเกียจคนรักเพศเดียวกันอยู่ โดยที่คนอเมริกันมักจะมองว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่มีการรังเกียจคนรักเพศเดียวกัน  บทความนี้จึงเป็นมุมมองที่เขียนจากประสบการณ์ของผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความพึงพอใจทางเพศที่แตกต่าง ปัจจุบันท่านได้บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเซ็นและได้รับการยกย่องให้เป็นอาจารย์เซ็น

สำหรับบทความต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ เคยเผยแพร่ในเว็บไซต์  www.apgf.org ต่อมาเว็บไซต์นี้ได้สูญหายไปแล้ว ผู้เขียนเก็บมาแปลไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และใช้ประกอบในการอบรมในบางครั้ง


เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.teenpath.net
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net