ชำนาญ จันทร์เรือง: อนุรักษ์นิยมแบบไทยๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในการศึกษาวิชารัฐศาสตร์สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาก็คือสิ่งที่เรียกว่า “อุดมการณ์ทางการเมือง(political ideology)” เพราะเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการทางการเมือง, การใช้อำนาจรัฐ และการให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาล อีกทั้งยังสะท้อนสภาพของสังคมและวัฒนธรรมทางการเมืองของแต่ละสังคมอีกด้วย ซึ่งเราสามารถแบ่งอุดมการณ์ทางการเมืองออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เสรีนิยม(liberalism),อนุรักษ์นิยม(conservatism) และฟาสซิสม์(fascism) โดยไม่มีสังคมไหนที่เป็นเสรีนิยมหรืออนุรักษ์นิยมหรือฟาสซิสม์ร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งสังคม อยู่ที่ว่าพฤติกรรมและแนวความคิดของส่วนใหญ่จะค่อนไปทางใดมากกว่า

จากอดีตจวบจนปัจจุบันสังคมไทยผ่านการปกครองมาหลายรูปแบบ แต่จากพฤติกรรมของผู้คนในสังคมไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เราจะพบว่าแท้จริงแล้วสังคมไทยเรานั้นมีอุดมการณ์ทางการเมืองค่อนไปทางอนุรักษ์นิยมแต่เป็นอนุรักษ์นิยมแบบไทยๆ

ผมจะยกตัวอย่างประกอบเปรียบเทียบหลักการของอนุรักษ์นิยมโดยทั่วไปกับตัวอย่างของอนุรักษ์นิยมแบบไทยๆ ดังนี้

1)ระเบียบและความมั่นคง(order and stability)

พวกอนุรักษ์นิยมเชื่อว่าระเบียบและความมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องรักษาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องศาสนา ชาติกำเนิด และความรักชาติ ซึ่งไทยเราก็มีสิ่งดังกล่าวนี้เช่นกัน แต่ยังมีเพิ่มเติมไปมากกว่านั้นก็คือ ระบบโซตัส(SOTUS)ซึ่งย่อมาจาก Senoir(อาวุโส),Order(กฎ,ระเบียบ,คำสั่ง),Unity (ความเป็นเอกภาพ,ความสามัคคี) และ Spirit(จิตวิญญาณ,ความสำนึกรักพวกรักพ้อง) ซึ่งระบาดไปทั่วในสถาบันการศึกษาต่างๆไม่เว้นแม้ในระดับโรงเรียนมัธยม

2)ความชั่วร้ายของคน(wickedness of man)

พวกอนุรักษ์นิยมเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมๆกับธรรมชาติที่โหดร้าย น่ากลัว ดังนั้นมนุษย์จึงต้องการรัฐบาลมาช่วยให้สังคมมนุษย์ให้ไร้ซึ่งความวุ่นวายและป่าเถื่อน โดยใช้กฎหมายและศาสนาเข้ามาจัดการ พวกอนุรักษ์นิยมจึงไม่เชื่อในตัวมนุษย์ ซึ่งในสังคมไทยจะเห็นได้ชัดมากตัวอย่างเช่นการเรียกร้องให้มีการใช้อำนาจนอกระบบเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยไม่เชื่อในวิธีการแก้ปัญหาตามวิถีทางของประชาธิปไตยที่เน้นการเจรจาและการประนีประนอม เป็นต้น นอกจากนั้นสังคมไทยมักจะนิยมชมชอบและเรียกร้องให้มีการใช้กฎหมายที่มีโทษที่รุนแรง โดยเชื่อว่าหากกฎหมายยิ่งแรงคนทำผิดจะยิ่งน้อยลง ซึ่งก็ไม่เป็นความจริง เช่น การใช้โทษประหารชีวิตกับผู้ต้องหาคดีอาญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งคดียาเสพติดหรือคดีข่มขืน เป็นต้น

3)ประสบการณ์(experience)

พวกอนุรักษ์นิยมเชื่อในในประสบการณ์มากกว่าเหตุผล เพราะเขาไม่เชื่อว่ามนุษย์จะใช้หลักเหตุผลได้อย่างถูกต้อง เราคนไทยจึงมักได้ยินอยู่คำพูดของผู้ใหญ่อยู่เสมอว่าตนเอง “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ซึ่งก็หมายถึงเกิดมาดูโลกก่อนนั่นเอง ฉะนั้น อย่ามาเถียง

4)สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป(gradual change)

พวกอนุรักษ์นิยมไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการปฏิวัติ(revolution) หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเขาต้องการให้มันเกิดขึ้นอย่างค่อยๆเป็น ค่อยๆไป ดังนั้นพวกอนุรักษ์นิยมจึงมีความหวาดกลัวต่อการปฏิวัติเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นการถอนรากถอนโคนระบบสังคมแบบเดิมที่เขาเห็นว่าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ควรเป็นไปอย่างช้าๆ ของไทยเราก็เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากเมื่อคราใดที่มีการรณรงค์ให้มีประชาธิปไตยแบบเต็มใบหรือมีการรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ก็จะได้ยินเสียงค้านว่า “ประชาชนยังไม่พร้อม”อยู่เสมอ ทั้งๆที่แท้จริงแล้วใครกันแน่ที่ไม่พร้อม

5)ไม่เชื่อในความเท่าเทียมกัน(equality)

พวกอนุรักษ์นิยมไม่ชอบความเท่าเทียมกัน เพราะเขาเชื่อว่ามันจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพ(ของเขา) โดยเนื้อแท้เขาสนับสนุนรัฐบาลที่มีรากฐานอยู่ที่การเป็นผู้ดี และต่อต้านพวกทุนนิยมที่เข้าสู่อำนาจจากความร่ำรวย และต่อต้านระบอบประชาธิปไตย เพราะมันอยู่ตรงกันข้ามกับระเบียบและความมั่นคง ซึ่งพวกอนุรักษ์นิยมของของไทยเราหลายคนยังเชื่อว่าเสียงที่มีคุณภาพของคนในเมืองที่จำนวนน้อยดีกว่าเสียงของคนชนบทที่แม้ว่าจะมีจำนวนมากและเป็นเสียงส่วนใหญ่แต่ไร้คุณภาพ

6)ไม่เชื่อในความเป็นสากล(universalism)

พวกอนุรักษ์นิยมไม่เชื่อว่าจะมีอะไรเป็นสิ่งที่เป็นสากลใช้ได้กับทุกสังคม เช่น หลักสิทธิมนุษยชน หลักประชาธิปไตย ฯลฯ โดยเชื่อว่าแต่ละสังคมต่างมีวิถีการพัฒนาเป็นของตนเอง ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละสังคม เช่น หลักสิทธิมนุษยชนเป็นของฝรั่งไม่เหมาะกับคนไทย หรือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ต้องมีทหารคอยเช็คบิลนักการเมืองที่ออกนอกลู่นอกทาง เป็นต้น

ฉะนั้น พวกอนุรักษ์นิยมจึงมักถูกเรียกว่า ฝ่ายขวา(right wing)บ้าง พวกระมัดระวัง(cautious)บ้าง พวกเชื่องช้า(slow)บ้าง หรือไม่ก็แรงๆแบบไทยๆไปเลยว่าพวก “ไดโนเสาร์ เต่าล้านปี”บ้าง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าไทยเราจะถูกจัดอยู่ในสังคมที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม แต่ในบางครั้งก็ถูกผลักไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วโดยฝ่ายเสรีนิยม(liberalism) เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ฯลฯ หรืออาจถูกดึงให้ถอยหลังด้วยการรัฐประหารของฝ่ายฟาสซิสม์(fascism)โดยเฉลี่ยทุก 4- 5 ปี/ครั้ง

จากบทเรียนของประวัติศาสตร์ทั่วโลก กงล้อการเมืองจะต้องหมุนไปข้างหน้าเสมอ แม้ว่าบางครั้งอาจถอยหลังกลับไปไกล เช่น พม่าหรือคิวบาก็ตาม แต่ที่สุดแล้วก็ยังได้กลับมาเดินหน้าต่ออยู่นั่นเอง ฉะนั้น การเมืองการปกครองของไทยของเราจึงต้องเดินหน้าต่อไป ไม่มีใครสามารถหยุดนาฬิกาประชาธิปไตยได้อย่างเป็นการถาวรหรอกครับ
 

 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 30 กันยายน 2558
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท