Skip to main content
sharethis
รองปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้ สถานการณ์แรงงานไทยยังปกติ ย้ำเร่งแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายให้หมดประเทศ
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับ สำนักข่าว INN ว่า สถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบัน มีความสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ซึ่งถึงแม้อัตราเงินเฟ้อจะติดลบ ส่งออกยังเบาบาง ก็ยังถือว่าภาพรวมไม่น่าเป็นห่วง หรือจำเป็นต้องเฝ้าระวัง ขณะที่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี นั้น จากนี้ไปหน่วยงานที่รับผิดชอบจะดำเนินการให้เข้มข้นเพื่อให้ปัญหาหมดไป โดยเฉพาะแรงงานที่ผิดกฎหมาย หรือแรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรสีชมพู และจะมีการบังคับให้กฎหมายจริงจังกับผู้กระทำผิด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่
 
 
สหรัฐฯจัดไทย เป็นประเทศแก้ปัญหาใช้แรงงานเด็ก ก้าวหน้าสูงสุด
 
กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ได้มีการเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์และการจัดการการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายที่สุด ประจำปี ค.ศ. 2014 ซึ่งประเมินความพยายามและผลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของ 140 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า รายงานดังกล่าว ปรับประเทศไทยขึ้นจากระดับที่มีความก้าวหน้าปานกลางในปีก่อน เป็นระดับที่มีความก้าวหน้าอย่างสำคัญ ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เนื่องจาก ไทยสร้างความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมสำคัญๆ 5 ประการ ประกอบด้วยแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก, ออกกฎกระทรวงแรงงาน กำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานในภาคเกษตรและภาคประมง, จัดสรรงบประมาณของรัฐเพื่อยุติการใช้แรงงานเด็กและสนับสนุนโครงการต่างๆ ของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง, ตรวจแรงงานเชิงรุกโดยทีมสหวิชาชีพ และปฏิบัติตามแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2552 - 2557 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558 - 2563 
 
ทั้งนี้ ในปีนี้ มีเพียง 13 ประเทศ ที่ถูกจัดอยู่ในระดับสูงสุด โดยรายงานฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริการับทราบความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กของรัฐบาลไทย ตลอดจนเห็นว่า ไทยได้บูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กด้วย
 
 
กองทุนการออมแห่งชาติ ให้สิทธิผู้เกษียณ สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ภายใน 1 ปี เพิ่มโอกาสผู้สูงวัยได้สะสมเงินมากขึ้น
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา พระราชบัญญัติการให้สิทธิแก่ผู้สมัครเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติบางกรณี และการโอนเงินจากกองทุนประกันสังคมในกรณีชราภาพ ไปยังกองทุนการออมแห่งชาติ ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยให้สิทธิแก่ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สามารถสมัครเป็นสมาชิก กอช. และให้สิทธิในการนำส่งเงินสะสมได้ต่อไปอีก 10 ปี โดยจะเปิดให้ผู้สนใจสมัครได้ภายในระยะเวลา 1 ปี สิ้นสุดในวันที่ 25 กันยายน 2559 ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถสะสมเงินได้นานยิ่งขึ้น ในการสะสมเงินบำนาญไว้ใช้ในอีก 10 ปีข้างหน้า พร้อมแนะนำสมาชิกกลุ่มดังกล่าว สะสมเงินให้เต็มจำนวน 13,200 บาทต่อปี เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุด โดยยืนยันว่า เมื่อเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนแล้ว ถือว่าสูงกว่าการนำเงินฝากไว้ที่ธนาคารอย่างแน่นอน
 
สำหรับจำนวนสมาชิก กอช. (ยอด ณ วันที่ 30 กันยายน 2558) มีสมาชิกทั้งสิ้น 311,718 ราย ส่งเงินสะสมแล้ว 292 ล้านบาท ทั้งนี้ สมาชิกประเภทกลุ่มอายุ 30 - 50 ปี มีสัดส่วนมากที่สุด จำนวน 158,122 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 50.73 รองลงมาเป็นสมาชิกอายุ 50 ปีขึ้นไป จำนวน 138,780 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.52 และสมาชิกอายุ 15อ - 30 ปี จำนวน 14,816 ราย หรือ ร้อยละ 4.75 ขณะที่สัดส่วนจากจำนวนสมาชิกทั้งหมดเป็นกลุ่มอาชีพเกษตรกรมากที่สุด กว่าร้อยละ 73.56
 
 
พบสิงหาคมว่างงาน 3.7แสนคน เพิ่มขึ้นเกือบแสน
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กองวิจัยตลาดแรงงาน ได้รายงานสถานการณ์การว่างงานประจำเดือนสิงหาคม โดยพบว่า ในเดือนสิงหาคมมีผู้ว่างงานจำนวน 377,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่ามีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 90,000 คน ด้านสถานการณ์การเลิกจ้างนั้น มีผู้ประกันตนมาขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 52,157 คน แบ่งเป็นเลิกจ้าง  6,451 คน ลาออก 45,704 คนเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น 6,451 คน
 
สาเหตุการเลิกจ้างที่มากที่สุด คือ นายจ้างลดจำนวนพนักงาน รองลงมา คือ นายจ้างปิดกิจการ ส่วนสาเหตุของการลาออกจากงานมากที่สุดคือ ต้องการเปลี่ยนงาน รองลงมา ต้องการประกอบธุรกิจส่วนตัว ผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในเดือนสิงหาคมได้รับการบรรจุงาน  35,289 คน คิดเป็นร้อยละ 67.66
 
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ส่วนตำแหน่งงานว่างนั้น มีสถานประกอบการแจ้งตำแหน่งงานว่าง 36,793 อัตรา เป็นชาย  6,096 อัตรา หญิง  3,731 อัตราและไม่ระบุเพศ จำนวน 39,626 อัตรา และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่าอัตราว่างงานลดลง 4,525 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 11 ส่วนใหญ่เป็นงานในโรงงานการประกอบ และบรรจุภัณฑ์ รองลงมาได้แก่ พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด
 
 
"สหภาพบินไทย" แต่งดำประท้วง ปมถูกฟ้อง 326 ล้านจากการชุมนุมขอโบนัส
 
(5 ต.ค.) ที่ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนแวนชั่น ได้มีการจัดงานเสวนา "ละเมิดสิทธิแรงงาน ฟ้อง 326 ล้าน การบินไทยได้อะไร" โดยผู้ร่วมฟังการเสวนานั้นแต่งกายในชุดสีดำ ประท้วงกรณีบริษัทการบินไทย ฟ้องร้อง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ในกรณีพิพาทเรียกร้องการปรับขึ้นเงินเดือน และการจ่ายโบนัส
 
จากการที่พนักงานชุมนุมเพื่อขอโบนัสและขอให้ปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี ในอัตราร้อยละ 7.5 เมื่อเดือนมกราคม 2556 เนื่องมาจากอดีตประธานกรรมการบริษัทฯ นายอำพน กิตติอำพน ประกาศว่า บริษัทฯมีผลกำไรเป็นที่น่าพอใจ แม้ในช่วงเวลานั้นจะไม่มีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จึงเป็นเหตุทำให้พนักงานร้องขอค่าตอบแทน เรื่องนี้หากจะมองกันอย่างผิวเผิน ก็อาจจะมองเพียงว่า เป็นปัญหาความขัดแย้งภายใน พนักงานชุมนุมเป็นเรื่องชั่วร้าย เป็นผู้ร้ายทำลายภาพลักษณ์ แต่ไม่มองไกลไปว่าการชุมนุมของพนักงานระดับล่าง ได้สะท้อนแง่มุมอะไรบ้างที่เป็นปัญหาจริง ๆ ในองค์กร
 
"จำได้ว่า ในคืนวันที่ 19 มกราคม 2556 แทบจะต้องกราบขอร้องให้พนักงานยุติการชุมนุม พนักงานยืนยันไม่ยอม ต้องใช้ความเป็นผู้หญิง ความเป็นมิตร ใช้สารพัดวาทะศิลป์กว่าที่จะยอมกันได้ เพราะสิ่งที่พนักงานยังไม่ได้ในคืนนั้น คือ การลาออกของอดีตประธานกรรมการบริษัทฯ ด้วยคำสัญญาว่า จะพยายามทำให้สำเร็จ พนักงานจึงยุติการชุมนุม" นางแจ่มศรีกล่าว
 
นางแจ่มศรีกล่าวต่อว่า เมื่อมีการฟ้องร้องเป็นคดี เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องภายในอีกต่อไป องค์กรแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างให้ความสนใจและเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน และอาจเป็นการจงใจเจตนาทำลายสหภาพแรงงานฯ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยตรวจสอบและถ่วงดุล ช่วยปกป้องผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจ สหภาพแรงงานฯจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องช่วยกันรักษาไว้ ยิ่งรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีชื่อเสียงด้านทุจริตคอร์รัปชั่น ไร้ธรรมาภิบาล ผู้บริหารขาดคุณธรรมและจริยธรรม การทำให้สหภาพแรงงานฯอ่อนแอจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่งสำหรับคนรักชาติ
 
 
นศ.กว่า 100 คน วิทยาลัยอาชีวศึกษาสหตรัง รวมตัวประท้วง หลังผู้บริหารมีคำสั่ง ให้ครูอัตรจ้าง 7 คน เขียนใบลาออก โดยไม่ชี้แจงสาเหตุ บางคนสอนมากว่า 20 ปี ได้รับผลกระทบ
 
เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาสหตรัง ถนนตรัง-พัทลุง ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.ตรัง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีนักศึกษาชายและหญิง กว่า 100 คน รวมกลุ่มประท้วงผู้บริหารวิทยาลัย หลังจากที่มีคำสั่งให้ครูผู้สอนในอัตราจ้าง 7 คน ทำหนังสือลาออก มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยไม่มีการชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจน ส่งผลต่อความรู้สึกของบรรดาครูอัตราจ้าง และโดยเฉพาะบางคนนั้น สอนอยู่ที่สถาบันดังกล่าวมานานหลายสิบปี มีผลกระทบต่อความมั่นคงเรื่องรายได้ในครอบครัวทันที
 
นางจิราพร แสงศรี ครูสอนวิชาบัญชี ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ครูที่ถูกผู้บริหารให้เขียนใบลาออก กล่าวว่า สอนที่วิทยาลัยแห่งนี้มานาน 22 ปี ที่ผ่านมาปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายมาโดยตลอด แต่ก็มาถูกคำสั่งให้ลาออกแบบฉับพลัน ไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ทำให้รู้สึกแปลกใจมากแม้ที่ผ่านมารับรู้มาโดยตลอด ว่าการบริหารจัดการในวิทยาลัยอาชีวศึกษามีปัญหา แต่ก็ไม่น่าจะมาลงที่ครูผู้สอน ทุกคนที่รับรู้ก็คิดในลักษณะเดียวกัน ว่าไม่ถูกต้องอาจารย์ทุกคนที่เขียนหนังสือลาออกได้รับอัตราจ้าง เดือนละ 15,000 บาท และไม่มีการเลื่อนขั้นเงินเดือนแต่อย่างใด
 
 
พนง.ทีโอทีชวดโบนัสปี′58 ผู้บริหารรับสภาพขาดทุน 1.3 พันล้าน
 
นายมนต์ชัย หนูสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนาชี้แจงสถานการณ์ของทีโอทีให้แก่พนักงาน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ว่าในการพบกับพนักงานครั้งนี้เพื่อดำเนินการชี้แจงกรณีต่างๆ ได้แก่ สิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานที่ทีโอทีทำไว้ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร่งรัฐเอาผิดปมแก้สัญญาสัมปทาน การคืนเสาโทรคมนาคมตามสัญญาสัมปทาน และความคืบหน้าในการหาพันธมิตรทางธุรกิจ
 
นายมนต์ชัยกล่าวว่า พนักงานทีโอทีได้สอบถามว่าจะดำเนินการฟ้องร้องเรื่องสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์หรือไม่ ซึ่งยืนยันว่าจะใช้สิทธิทางกฎหมายปกป้องสิทธิของโทีโอทีแน่นอน แต่ยังไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเพราะได้ให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ให้ถี่ถ้วนก่อน พร้อมทั้งส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้พิจารณาในสิทธิความถี่ใหม่ และอยากให้เกิดข้อยุติก่อนการประมูล 4จี ในเดือนพฤศจิกายน หากได้คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์กลับมาทีโอทีมีแผนจะดำเนินการเอง ผ่านอัพเกรดเป็นระบบ 4จี "รับปากว่าจะไม่ให้ล้มเหลวเหมือนการให้บริการบนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์แน่นอน" นายมนต์ชัยกล่าว และว่า เรื่องนี้คงขึ้นอยู่กับ กสทช. ว่าจะทำอย่างไร แต่เรื่องข้อพิพาทส่วนใหญ่เรื่องจะจบที่ศาล เพราะไม่มีใครกล้าฟันธงได้นอกจากศาล 
 
นายมนต์ชัยกล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเรื่องเสาโทรคมนาคมกับคู่สัญญาสัปทาน คือเอไอเอสนั้น คาดว่าจะเจรจากันได้รู้ผลภายในปีนี้ โดยมี 3 แนวทางคือ 1.ตั้งบริษัทร่วมทุน (จอยซ์ เวนเจอร์) 2.กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเสาโทรคมนาคม และ 3.สัญญาเช่าระยะยาว ส่วนเรื่องการเร่งรัดเอาผิดกับเอไอเอสกรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานนั้น อยู่ระหว่างขอคำปรึกษากับสำนักงานอัยการสูงสุด 
 
นางปรียา ด่านชัยวิจิตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบริหารทรัพย์สิน กล่าวระหว่างเสวนาร่วมกับพนักงานทีโอที ว่าปีนี้ขอให้พนักงานทุกคนทำใจ เนื่องจากปี 2558 ทีโอทีมีรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า ส่งผลให้ถึงสิ้นเดือนกันยายน บริษัทมีสถานภาพการเงินขาดทุน 1,300 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะขาดทุนเพิ่มขึ้นจนถึงสิ้นปี ส่งผลให้ต้นปี 2559 พนักงานจะไม่ได้รับโบนัส และอาจมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ขอยืนยันว่าทีโอทีจะยังมีอนาคต หากได้รับคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์กลับคืนมาเพื่อใช้ประโยชน์ ได้เสาโทรคมนาคมคืนจากคู่สัญญาสัมปทาน และสามารถหาพันธมิตรทางธุรกิจมาร่วมให้บริการ 3จี ทีโอที
 
 
ลูกจ้างร้องตกค้างบรรจุพ้อดึงคนนอกเสียบแทน
 
นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) กล่าวภายหลังเข้าพบ น.พ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คนใหม่ เพื่อยื่นข้อสรุปถึงสถานการณ์การจ้างงานพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ซึ่งเป็นข้อตกลงจากการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ สธ. เลขานุการ รมว.สาธารณสุข และตัวแทนฝ่ายลูกจ้างจังหวัดละ 1 คน ว่า ขณะนี้ พกส.มีประมาณแสนกว่าราย แต่ยังมีปัญหาลูกจ้างชั่วคราวตกค้างไม่ได้รับการบรรจุอยู่ประมาณ 2-3 หมื่นราย อาทิ พนักงานเข็นเปล พนักงานขับรถ พนักงานโรงครัว ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานบัญชี เป็นต้น ซึ่งบางรายทำงานมานานกว่า 20 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้รับการบรรจุ โดยเป็นปัญหาจากต้นสังกัดที่มีการจ้างบุคคลภายนอกมาเป็น พกส. แทนที่จะทยอยผลักดันให้ลูกจ้างชั่วคราวที่อยู่มานานเป็น พกส.ก่อน จึงขอให้ทำการบรรจุลูกจ้างส่วนที่ตกค้างให้เป็น พกส.ก่อน ห้ามเปิดคนนอกสอบเป็น พกส.
 
นายโอสถ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเสนอในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของ พกส.ด้วย โดยในส่วนของการรับแรกเข้าทำงานให้เริ่มที่ 7,590 บาท ซึ่งเป็นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่ สธ.กำหนด เพราะขณะนี้มี พกส.จำนวนมากที่ยังได้ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว โดยบางรายได้ค่าจ้างอยู่ที่ประมาณ 6,000 กว่าบาทเท่านั้น และในส่วนที่ยังไม่ถึง 9,000 บาท ซึ่งเป็นค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐบาลก็ขอให้ทยอยปรับให้ถึง และขอให้คิดค่าประสบการณ์ทำงานด้วย ซึ่งจะเป็นขวัญและกำลังใจให้ผู้ที่ทำงานมานาน คือ อายุงาน 10 ปี เป็น 500 บาท อายุงาน 20 ปี เป็น 1,000 บาท ส่วนค่าล่วงเวลา (โอที) ขอให้ปรับเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
 
"สำหรับค่าเสี่ยงภัยของ 3 จังหวัเชายแดนใต้ และ 4 อำเภอ จ.สงขลา เรื่องนี้ขอให้ สธ.เขียนแผนดำเนินงานของบประมาณจากรัฐบาล ขณะที่คณะกรรมการ พกส.จะปรับเพิ่มเป็นเขตละ 1 คน รวม 12 เขตและส่วนกลางอีกหนึ่งคน รวมทั้งหมด 13 คน เป็นตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง จากการหารือร่วมกับปลัด สธ.คนใหม่ก็รับปากว่าจะช่วยติดตามเรื่องที่ยังค้างคาอยู่ให้" นายโอสถ กล่าว
 
 
'อินดัสเทรียลออล' ยื่นหนังสือประท้วงรัฐบาลไทย ต่อความล้มเหลวในการคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมและต่อรองของแรงงานราว 39 ล้านคน ชี้เกือบครึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ
 
7 ต.ค. 2558 อินดัสเทรียลออล สหภาพแรงงานระดับโลกที่มีสมาชิกทั้งโลกรวมราว 50 ล้านคน และมีเครือข่ายสหภาพแรงงานในไทย 7 แห่ง ยื่นหนังสือประท้วงรัฐบาลไทย ต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) หน่วยงานในสังกัดของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในนครเจนีวา โดยระบุถึงการละเมิดสิทธิแรงงาน 18 กรณี ในแถลงการณ์ที่อินดัสเทรียลออลยื่นต่อคณะกรรมการด้านเสรีภาพในการรวมตัวของไอแอลโอ เมื่อวันพุธ ระบุว่า รัฐบาลไทยล้มเหลวในการคุ้มครองแรงงานราว 39 ล้านคน ซึ่งเกือบครึ่งของจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ
 
นายเยอร์กี ไรนา เลขาธิการไอแอลโอ กล่าวในแถลงการณ์ว่า ประเทศไทยนับเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกของบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการในการคุ้มครองแรงงาน กลุ่มคนที่นับเป็นกำลังหลักสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ต้องไม่ละเลยปล่อยให้มีการละเมิดแรงงานเกิดขึ้นในบริษัทย่อยหรือสายการผลิตของตน ถ้อยแถลงยังระบุอีกว่า ราวร้อยละ 75 ของกลุ่มแรงงาน ไม่ได้รับการรับประกันจากรัฐบาล เกี่ยวกับเสรีภาพในการรวมตัวกันและเสรีภาพในการร่วมเจรจาต่อรอง ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเป็นสมาชิกสหภาพของแรงงานต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นร้อยละ 1.5 เท่านั้น โดยในหลายกรณีที่เกิดขึ้น แรงงานจะถูกไล่ออกเมื่อพยายามรวมกลุ่มเพื่อการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง หรือถูกกดดันให้ลาออก ขณะที่เมื่อเรื่องเข้าสู่ชั้นศาล กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ก็ลากยาวยืดเยื้อออกไปจนทำให้แรงงานต้องยอมรับเงินชดเชยและลาออกเอง
 
 
"วันงานที่มีคุณค่า" ยื่น 4 ข้อเรียกร้อง ขอขึ้นค่าแรงรายวันเป็น 360 บาท
 
กลุ่มมวลชนจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ประมาณ 200 คน นำโดย นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และนายสาวิทย์ แก้วหวาน รวมตัวชุมนุมเนื่องในวันงานที่มีคุณค่า (World Day for Decent Work) ซึ่งกำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ได้กำหนดขึ้นและจัดเป็นประจำของทุกปี โดยกลุ่มแรงงานฯมีข้อเรียกร้องที่ยื่นถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่มีข้อเรียกร้องแบ่งเป็น 4 หมวด คือ
 
1.ว่าด้วยคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน อาทิ ขอเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศวันละ 360 บาท พร้อมให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงกรณีนายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงการจัดตั้งธนาคารแรงงาน และยกระดับการคุ้มครองคนงานให้มีมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน 2.ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของคนงาน ขอให้มีการปฏิรูปกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ใหม่ และให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มแรงงานกรณีประธานและกรรมการสหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจการบินไทย ถูกผู้บริหารฟ้องเรียกค่าเสียหาย 326 ล้านบาท
 
3.การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต้องไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ต้องยึดมั่นในผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนให้เข้าถึงบริการจากรัฐโดยความเท่าเทียมด้วยราคาที่เป็นธรรม และ 4.การมีส่วนร่วมให้รัฐบาลเร่งทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ทำให้คนงานสามารถเข้าถึงหลักการงานที่มีคุณค่า มีหลักประกันให้คนงานสามารถเข้าถึงหลักการได้จริง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันสามารถทำได้ทันทีเพราะมีอำนาจเต็ม โดยเฉพาะการเสริมสร้างอำนาจการต่อรองให้กับคนงานสามารถร่วมตัวจัดตั้งองค์กร น่าจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สถานการณ์ละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศดีขึ้นและได้รับการยอมรับและหมายถึงบทบาทของไทยในเวทีโลก เพื่อให้คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานดีขึ้นต่อไป 
 
น.ส วิไลวรรณ กล่าวว่า ในการมารณรงค์และเรียกร้องข้อเสนอในวันนี้ อยากให้รัฐบาลเร่งทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ทำให้คนงานได้เข้าถึงหลักการได้จริง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานที่แพร่กระจายลุกลามรุนแรงขึ้น ข้อเสนอทั้งหมดล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม สงบสุขปรองดองตามนโยบายของรัฐบาลด้วย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net