Skip to main content
sharethis

รัฐบาลจีนมีโครงการบีบให้ผู้คนท้องถิ่นดั้งเดิมย้ายถิ่นฐานเพื่อไปตั้งรกรากใหม่โดยอ้างเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาความยากจน แต่นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องการตั้งรกรากใหม่มองว่าโครงการนี้ส่งผลตรงกันข้ามทั้งสองด้าน

6 ต.ค. 2558 ฟรองชัวร์ เอ็น ดูเบ นักศึกษาปริญญาเอกจากสำนักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหนิงเซี่ย และนักศึกษาฝึกงานด้านการตั้งรกรากใหม่ของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเขียนบทความลงในเว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรัม เกี่ยวกับเรื่องที่ทางการจีนมีนโยบายให้ประชาชนต้องโยกย้ายออกจากถิ่นฐานเดิมเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความยากจนในชนบทและปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม แต่นโยบายบังคับย้ายถิ่นดังกล่าวกลับส่งผลเสียทั้งกับตัวประชาชนและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

บทความระบุว่ารัฐบาลกลางของจีนมีแผนการสั่งย้ายถิ่นประชากร 10 ล้านคนเพื่อให้ไปตั้งรกรากใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2593 โดยอ้างว่าเป็นการแก้ปัญหาความยากจนในชนบทและปัญหาสิ่งแวดล้อม มีประชากร 7 ล้านคนที่ถูกสั่งย้ายถิ่นฐานไปก่อนหน้านี้แล้ว ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ก็เคยเรียกร้องให้ข้าราชการท้องถิ่นดำเนินการในเรื่องการโยกย้ายถิ่นอย่างเต็มที่โดยอ้างเรื่อง "มาตรฐานด้านระบบนิเวศและการพัฒนา"

ถึงแม้จะมีข้ออ้างเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่ดูเบก็ระบุว่าการสั่งโยกย้ายถิ่นฐานโดยรัฐบาลจีนส่งผลกระทบด้านลบคือผู้อพยพภายในประเทศจะมีความเสี่ยงต่อการแปลกแยกทางสังคม เสี่ยงต่อการถูกกีดกันทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดความขาดแคลนด้านวัตถุ

บทความของดูเบระบุว่าเมื่อพิจารณาจากโครงการโยกย้ายถิ่นฐานตลอด 30 ปีที่ผ่านมาของจีนจะพบว่าฝ่ายรัฐบาลจีนมักใช้อุบายหลอกลวงชุมชนให้ย้ายถิ่นฐานที่อยู่จากถิ่นเดิม โดยในประเทศอื่นๆ ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายรัฐไม่ให้เงินชดเชยหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ควรได้รับตามที่สัญญาไว้และฝ่ายรัฐมักจะไม่ค่อยอยากหารือร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในจีนเช่นกัน โดยผู้ย้ายถิ่นฐานภายในประเทศอยู่ในสภาพความยากจนซ้ำซากและต้องเผชิญความเสี่ยงสูง

จากข้อมูลที่รวบรวมจากผู้ถูกสั่งย้ายถิ่นจากโครงการของรัฐในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยพบว่าพวกเขาต้องอยู่อาศัยในบ้านที่คับแคบกว่าเดิมมากและมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการเข้าถึงสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานอย่างสาธารณสุขและการศึกษายังไม่เสมอต้นเสมอปลาย นอกจากนี้ยังทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกสับสนหรือว่างเปล่า ขาดอำนาจควบคุมสิ่งต่างๆ และใฝ่หาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เช่นในกรณีของผู้ย้ายถิ่นฐานชาวมองโกเลีย

บทความของดูเบยังระบุอีกว่าเรื่องนี้ไม่เพียงแค่ส่งผลเสียต่อตัวผู้จำต้องย้ายถิ่นฐานเองเท่านั้น มันยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ง่ายขนาดแค่สั่งย้ายถิ่นประชากรก็จะแก้ปัญหาได้ด้วย มีโครงการสั่งย้ายผู้คนท้องถิ่นบางโครงการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่นั้นๆ เป็นปศุสัตว์แบบระบบอุตสาหกรรมซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการปศุสัตว์แบบเดิมของคนท้องถิ่น

จากปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้ดูเบระบุว่าการไล่ที่ผู้คนโดยอ้างเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือการพัฒนาบุคคลจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและอาจจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาได้ว่าเป็นความไม่ซื่อสัตย์ จนถึงบัดนี้โครงการย้ายถิ่นฐานประชากรของรัฐบาลจีนไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาความยากจนได้จริง และถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานการศึกษาข้อมูลพบว่าโครงการนี้ส่งผลเสีย แต่สภาพที่มีการปิดกั้นเสรีภาพสื่อในจีนก็ทำให้มีการถกเถียงในเรื่องนี้น้อยและดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนจะแสดงท่าทีเร่งปฏิบัติการในโครงการนี้มากยิ่งขึ้นด้วย

ดูเบยังได้เสนอบทเรียนจากชุมชนชาวทิเบตในมณฑลชิงไห่ในแง่ตัวอย่างที่ดีสำหรับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่สร้างความเสี่ยงและความเสียหายน้อยกว่า นั่นคือการให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นเจ้าของโครงการจัดการเชิงอนุรักษ์ซึ่งทำให้เกิดการเสริมพลังและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการปกป้องที่อยู่อาศัยของตนเองแทนการบีบให้ย้ายถิ่นฐาน โดยดูเบเรียกร้องให้ผู้นำจีนเล็งเห็นว่ามีทางออกอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นวิธีการที่ยืดหยุ่นและสร้างการมีส่วนร่วมได้มากกว่า


เรียบเรียงจาก

Population resettlement in China a lose-lose scenario, François N. Dubé, East Asia Forum, 10-02-2015
http://www.eastasiaforum.org/2015/10/02/population-resettlement-in-china-a-lose-lose-scenario/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net