Skip to main content
sharethis

ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากโดยเฉพาะตั้งแต่ที่มีร่างข้อตกลงถูกนำเสนอในเว็บวิกิลีกส์ หลังจากที่มีการบรรลุข้อตกลงแล้วกระแสต้านในประเด็นต่างๆ ที่กังวลกันยังคงดำเนินต่อไปทั้งเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ต ผลกระทบต่อแรงงานหรือธุรกิจขนาดเล็ก ผลกระทบผู้บริโภค ซึ่งแม้กระทั่งฮิลลารี คลินตัน ผู้เคยสนับสนุนก็หันมาแสดงท่าทีคัดค้าน


31 ม.ค. 2557 ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ
ภาพจาก 
Stop FastTrack (CC BY 2.0)

9 ต.ค. 2558 เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจากหลายกลุ่มหลังจากที่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมารัฐมนตรีกระทรวงการคลัง 12 ประเทศประกาศร่วมมือกันในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศอย่างสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตของผู้คนในหลายๆ ด้าน

ในขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรและผู้ผลิตในประเทศของพวกเขาโดยการยกเลิกภาษีจำนวนมาก รวมถึงมีพันธกิจในด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมด้วย

อย่างไรก็ตาม ความตกลง TPP ยังคงต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาสหรัฐฯ อีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งเดอะการ์เดียนระบุว่าความตกลง TPP จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโลกถึงร้อยละ 40 และกลายเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2559 ถ้าหากความตกลงดังกล่าวนี้ได้รับการรับรองจากสภาจะกลายเป็นมรดกชิ้นสำคัญของรัฐบาลโอบามา

ในแง่หนึ่ง ความตกลง TPP ถูกมองว่าเป็นการท้าทายอิทธิพลของประเทศจีนในภูมิภาคแปซิฟิก แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีประชาชนหลายกลุ่มที่มองว่า TPP เป็น "การเจรจาลับ" ที่จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้คนอย่างกลุ่มคนงานยานยนต์เม็กซิโกหรือชาวไร่แคนาดา นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงในเรื่องสิทธิในการผูกขาดของผู้พัฒนายาชีวภาพ

ซึ่งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกลุ่มด้านสาธารณสุขได้โต้เถียงเรื่องระยะเวลาคุ้มครองข้อมูลการค้นพบยา โดยเสนอระยะเวลา 5 ปีเพื่อไม่ให้เป็นภาระโครงการประกันสุขภาพของรัฐ ทางด้านสหรัฐฯ ยอมลดเวลาคุ้มครองจาก 12 ปี เหลือ ราว 5-8 ปี จากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ มีท่าทีต้องการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบรรษัทยาเพื่อจูงใจให้ค้นคว้ายารักษาโรคที่ต้องใช้ต้นทุนสูง

แต่เดิมแล้ว TPP มาจากความตกลงด้านยุทธศาสตร์หุ้นส่วนการค้า (TPSEP หรือ P4) ระหว่างประเทศบรูไน, ชิลี, นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ ก่อนที่ต่อมาจะมีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมเพื่อสร้างข้อตกลงในวงกว้างมากขึ้นได้แก่ประเทศ ออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, เปรู, เวียดนาม และสหรัฐฯ ทำให้มีประเทศที่เข้าร่วมตกลงเพิ่มขึ้นเป็น 12 ประเทศ โดยมีการประชุมหารือเจรจากันเป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งบรรลุร่างข้อตกลงได้ในวันที่ 5 ต.ค. 2558

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีเอกสารข้อตกลง TPP รั่วไหลผ่านเว็บไซต์จอมแฉวิกิลีกส์ในปี 2556 ซึ่งทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งคนทำงานด้านสาธารณสุข, นักกิจกรรมเพื่อเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต, นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, นักสหภาพแรงงาน, นักกิจกรรมเชิงรณรงค์ในประเด็นต่างๆ และนักการเมือง ทั้งในเรื่องการเจรจาอย่างปิดลับและในเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อประเด็นของพวกเขา เช่นในเรื่องราคายา หรือเรื่องการที่กลุ่มเสรีภาพอินเทอร์เน็ตและนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นกังวลว่าข้อตกลงการค้าจะมีการปิดกั้นเรื่องลิขสิทธิ์มากขึ้นและอาจส่งผลให้เกิดความเข้มงวดต่อระบบการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) และอาจจะส่งผลต่อวัฒนธรรม "โดจินชิ" ซึ่งเป็นผลงานของแฟนการ์ตูนมือสมัครเล่นที่บางส่วนเป็นการวาดจากตัวละครหรือฉากเรื่องในการ์ตูนที่พวกเขาชื่นชอบ

สำนักข่าวรัสเซียทูเดย์รายงานว่าในด้านทรัพย์สินทางปัญญานั้น มีความตกลงที่ทำให้ประเทศสมาชิกที่ลงนาม TPP ต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศของตนให้เข้ากับกฎหมายส่วนขยายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ (US's Copyright Extension Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ระบุให้ลิขสิทธิ์มีอายุเท่ากับ 70 ปีหลังจากผู้สร้างเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลของนิวซีแลนด์แถลงต่อประชาชนว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตอายัดบัญชีผู้ใช้ถ้าหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้น

ในเรื่องเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตก็มีหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าจะทำให้เกิดการควบคุมหรือเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตมากขึ้น เช่น เมแกน ซาลี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิดิจิทัลจากองค์กรโอเพนมีเดียกล่าวว่า นอกจากเรื่องการเซ็นเซอร์เว็บไซต์แล้วยังมีความกังวลเรื่องการลงโทษผู้ใช้งาน การสั่งให้ผู้ใช้จ่ายเงิน เรื่องเหล่านี้ทำให้พวกเขาต้องหารือกันอย่างปิดลับ

นอกจากนี้ยังมีความกังวลอีกว่าจะมีการสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตคอยทำหน้าที่ตรวจตราการใช้งานของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคน รวมถึงการนำเนื้อหาบางอย่างออก และอาจจะกำหนดให้การแชร์ไฟล์ การเปิดโปง หรือการสะเดาะกลอนดิจิทัล (breaking digital locks) เป็นความผิดแม้ว่าจะทำไปด้วยเจตนาที่ถูกกฎหมายก็ตาม

ไมรา ซุตตัน จากมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (EFF) กล่าวว่าเนื้อหาของร่าง TPP ฉบับนี้คงไม่ต่างจากฉบับที่เคยรั่วไหลในวิกิลีกส์มาก่อน ซุตตันวิจารณ์อีกว่าสิทธิด้านต่างๆ ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 800 ล้านคน ทั้งเรื่องเสรีภาพ ความเป็นส่วนตัว และการสามารถเข้าถึงความรู้ ต่างก็ต้องมาแขวนอยู่กับการต่อล้อต่อเถียงเรื่องข้อตกลงการค้าขายรถและนม และการพิจารณาเรื่องนโยบายดิจิทัลไม่ควรมีอยู่ในการหารือข้อตกลงเกี่ยวกับการค้า

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่างโจเซฟ สติกลิตซ์ และนอม ชอมสกี นักวิชาการสหรัฐฯ ยังเคยวิจารณ์ความตกลง TPP ว่าเป็นการส่งเสริมผลประโยชน์ต่อเฉพาะกลุ่มคนรวยระดับสูง ที่สร้างความเสี่ยงอย่างมาก และมีลักษณะเน้นแสวงหาผลกำไรและครอบงำโดยการบีบให้คนงานจากชาติต่างๆ ต้องแข่งขันกันเองจนมีค่าแรงที่ต่ำลงเป็นการเพิ่มความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ส.ว. เบอร์นี แซนเดอร์ส หนึ่งในผู้ลงชิงชัยการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2559 เคยกล่าวต่อต้านการเร่งอนุมัติข้อตกลง TPP ไว้ตั้งแต่ปี 2557 โดยให้เหตุผลในเรื่องเดียวกันคือผลทางลบต่อครอบครัวคนทำงานในขณะที่เน้นส่งเสริมบรรษัทยักษ์ใหญ่มากเกินไป

ฮิลลารี คลินตัน นักการเมืองผู้ลงชิงชัยการเลือกตั้งปี 2559 ในนามพรรคเดโมแครตได้กล่าวต่อต้านความตกลง TPP เช่นกันเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเดอะการ์เดียนมองว่าเป็นการพยายามเรียกคะแนนเสียงจากกลุ่มเสรีนิยมที่ต่อต้าน TPP อย่างหนักและยังถือเป็นการตีตัวออกห่างจากนโยบายของรัฐบาลโอบามามากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในการรณรงค์หาเสียงของเธอ

แม้ว่าก่อนหน้านี้คลินตันจะเคยวางตัวสนับสนุน TPP แต่ในการให้สัมภาษณ์ต่อรายการของช่องพีบีเอสสหรัฐฯ ว่าถึงแม้เธอจะยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมดของความตกลงนี้แต่เธอก็กังวลว่ามันจะทำให้เกิดการชักใยทางการเงิน เช่นการที่บรรษัทยาได้รับผลประโยชน์มากแต่คนไข้และผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์น้อย และเชื่อว่าข้อตกลงนี้ถึงจะมีเป้าหมายที่ดีแต่คงทำไม่ได้ดีเท่ามาตรฐานที่เธอตั้งไว้ในสมัยที่เธอยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

การเปลี่ยนท่าทีของคลินตันทำให้นักการเมืองในสหรัฐฯ หลายคนที่ต้าน TPP มาก่อนหน้านี้พากันวิพากษ์วิจารณ์เธอ เว้นแต่เบอร์นี ซานเดอร์ส ที่กล่าวต่อต้าน TPP ว่าเป็นความตกลงที่เขียนโดย "พวกวอลสตรีทและบรรษัทอเมริกา" แต่ก็แสดงความชื่นชมคลินตันที่เปลี่ยนใจหันมาต่อต้าน TPP

ทางด้านนักกิจกรรมประกาศว่าพวกเขาจะต่อสู้เพื่อคัดค้าน TPP ต่อไป โดยอีวาน เกรียร์ จากองค์กร 'สู้เพื่ออนาคต' (Fight For the Future) กล่าวว่า TPP เป็นความตกลงของบรรษัทที่ต้องการผูกขาดและเป็นการทำลายธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจใหม่ และเขาหวังว่ารัฐสภาสหรัฐฯ จะโหวตไม่ให้ร่าง TPP ผ่านความเห็นชอบ

เดอะการ์เดียนรายงานถึงข้อตกลงช่วงสุดท้ายก่อนหน้าที่ร่างข้อตกลงจะเสร็จสิ้นว่า กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของนิวซีแลนด์อย่างฟอนเทอร์รา ต้องการเข้าถึงตลาดในสหรัฐฯ แคนาดา และญี่ปุ่นได้มากขึ้น ในขณะที่สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ตกลงกันว่าจะจำกัดจำนวนการผลิตยานพาหนะในท้องถิ่นเหลือแค่ร้อยละ 62.5 เพื่อเปิดทางให้ต่างชาติซึ่งเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นหลังจากเม็กซิโกทำให้การลงทุนด้านยานยนต์บูมขึ้นมา นอกจากนี้กลุ่มโตโยต้ามอเตอร์คอร์ปจากญี่ปุ่นได้ทำข้อตกลงว่าพวกเขาจะสามารถซื้อชิ้นส่วนรถยนต์จากเอเชียได้อย่างอิสระมากขึ้นในการผลิตยานยนต์เพื่อขายในสหรัฐฯ โดยแลกการจ่ายกับภาษีศุลกากรให้สหรัฐฯ ในสัญญาระยะยาว นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ชวนถกเถียงในเรื่องแนวทางการเจรจายุติข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับรัฐบาลให้แยกเป็นอิสระจากศาลของประเทศนั้นๆ ด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Groups Issue Warning: Pro-Corporate TPP Could Kill the Internet, Common Dreams, 06-10-2015
http://www.commondreams.org/news/2015/10/06/groups-issue-warning-pro-corporate-tpp-could-kill-internet

TPP copyright provision: Countries to adjust their laws to match US policy, Russia today, 07-10-2015
https://www.rt.com/usa/317927-tpp-copyright-new-zealand/

TPP deal: US and 11 other countries reach landmark Pacific trade pact, The Guardian, 05-10-2015
http://www.theguardian.com/business/2015/oct/05/trans-pacific-partnership-deal-reached-pacific-countries-international-trade

Hillary Clinton breaks with Obama to oppose Trans Pacific Partnership, The Guardian, 07-10-2015
http://www.theguardian.com/us-news/2015/oct/07/hillary-clinton-opposes-trans-pacific-partnership-tpp

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net