นักวิชาการชี้ พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับใหม่ แรงงานมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น

11 ต.ค. 2558 ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ให้ความเห็นต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่ที่จะมีผลตั้งแต่ 20 ตุลาคม ศกนี้ ว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้จะทำให้สวัสดิการและความมั่นคงในชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น ส่งผลบวกต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งทำให้ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น โดย จะขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้ประกันตน (สมาชิกกองทุนประกันสังคม) ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และ จะมีระบบกำกับดูแล ระบบควบคุมภายใน ระบบตรวจสอบ ระบบบริหารความเสี่ยง กองทุนประกันสังคมให้ดีขึ้น  โดยสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เพิ่มค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ กรณีทุพพลภาพให้ได้ประโยชน์ตลอดชีวิตเท่าเทียมกัน เดิมกลุ่มที่ทุพพลภาพก่อน 31 มีนาคม พ.ศ. 2538 ได้รับสิทธิประโยชน์เพียง 15 ปี เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรโดยไม่กำหนดจำนวนครั้งรวมเงินสังเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรแรกเกิดถึง 6 ปี มีสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน เพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงานกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวไม่ใช่กรณีเลิกจ้าง และยังมีการเพิ่มผลประโยชน์กรณีเงินสังเคราะห์ผู้เสียชีวิต 
 
อย่างไรก็ตาม ดร. อนุสรณ์ ได้กล่าวตั้งข้อสังเกตถึง  การขยายสิทธิประโยชน์เป็นเรื่องดีแต่ขอให้พิจารณาความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนประกันสังคมในอนาคตโดยเฉพาะในอีก 10-20 ปีข้างหน้าที่ประเทศจะก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มรูปแบบ โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้อัตราการพึ่งพิงสูงขึ้น ประชากรในวัยทำงานลดลงเมื่อเทียบกับประชากรวัยเกษียณที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก หากรัฐบาลไม่เลือกให้มีการจ่ายเงินสมทบในส่วนของรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างเพิ่มขึ้น อาจใช้วิธีขยายการเกษียณอายุไปที่อายุ 62-65 ปี และเริ่มจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพหรือเกษียณหลังจากนั้น จะช่วยลดการไหลออกจากเงินกองทุนมากเกินไปในอนาคต อีกด้านหนึ่ง กองทุนประกันสังคมต้องบริหารการใช้จ่ายเงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพและระมัดระวัง ไม่ควรให้ กรรมการกองทุนหรืออนุกรรมการชุดต่างๆใช้เงินกองทุนประกันสังคมไปดูงานในต่างประเทศบ่อยเกินไปหรือเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างชัดเจนต่อการทำงาน ไม่ควรมองว่า การเดินทางไปต่างประเทศเป็นสวัสดิการของกรรมการหรืออนุกรรมการ แต่ควรเพิ่มค่าตอบแทนให้คณะกรรมการและอนุกรรมการอย่างเหมาะสมและแข่งขันกับภาวะตลาดได้โดยเฉพาะอนุกรรมการด้านการลงทุนและบริหารความเสี่ยงบุคลากรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้ค่าตอบแทนสูงมากในภาคการเงินทำให้มีการลาออกและเกิดสมองไหลและไม่สามารถสรรหาบุคลากรมาทำหน้าที่ส่วนนี้ให้กับกองทุนได้เพื่อทดแทนหรือเพิ่มเติม นอกจากนี้ ต้องมีกระบวนการสรรหาผู้แทนของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในคณะกรรมการกองทุนประกันสังคมให้เป็นผู้แทนของลูกจ้างหรือนายจ้างอย่างแท้จริง เช่น ต้องนับจำนวนเสียงตามจำนวนสมาชิก ไม่ใช่ตามจำนวนสหภาพแรงงาน เนื่องจากมีการไปตั้งสหภาพแรงงานหลอกๆมีสมาชิกไม่กี่คนเพื่อนับเป็นคะแนนเสียงโหวตเข้าไปเป็นคณะกรรมการของกองทุน มีกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใสตรวจสอบได้ และหมุนเวียนกันในการทำหน้าที่ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการต้องเป็นมืออาชีพ มีความรู้ประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์
 
นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการและกระบวนการในการนำ “แรงงานข้ามชาติหรือแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกกฎหมาย” เข้ามาในระบบ และดำเนินการให้คนเหล่านี้เป็น พลเมืองทางเศรษฐกิจของรัฐไทย เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจของสังคมไทย และ เพื่อให้ “คนเหล่านี้” ร่วมจ่ายภาษี จ่ายสมทบในระบบสวัสดิการ และ จ่ายสมทบในระบบประกันสังคม ซึ่งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ได้มาร่วมใช้ประโยชน์จากระบบสวัสดิการของไทย ฉะนั้นต้องเอาเข้ามาในระบบเพื่อร่วมจ่าย การดำเนินการแบบนี้ยังช่วยลดปัญหาการทุจริตลับลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศ และปัญหาแรงงานทาสและการค้ามนุษย์อีกด้วย 
 
ตนขอเสนอด้วยว่า ระบบสวัสดิการของไทย ควรนำระบบสวัสดิการของเยอรมันมาเป็น “ต้นแบบ” ซึ่งเรียกว่า แบบวิสาหกิจนิยม (Corporatist) เป็นแบบที่เน้นความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมสมทบ ร่วมแก้ไข มากกว่า ระบบแข่งขันต่อรองแบบสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ หรือที่ภาษาทางวิชาการ เรียกว่า พหุภาคนิยม (Pluralist) ที่เน้นการแข่งขันต่อรอง เพราะแบบนี้จะสร้างความขัดแย้งในระบบแรงงานสัมพันธ์ในภาคการผลิตได้ 
 
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ได้กล่าวอีกว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมเมื่อ 27-28 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2530-31) จนกระทั่งมีการผ่านกฎหมายประกันสังคมในอีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2533) และร่วมรณรงค์ให้มีขยายความคุ้มครองประกันการว่างงานหลังวิกฤติปี พ.ศ.2540 พวกเราที่ได้ร่วมกันพลักดันระบบประกันสังคมไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการด้านแรงงาน นักเศรษฐศาสตร์ ผู้นำแรงงาน ผู้แทนนายจ้างและองค์กรพัฒนาเอกชนบางส่วนมีความห่วงใยต่อความยั่งยืนของระบบประกันสังคมในระยะยาว เพื่อให้ระบบประกันสังคมเป็นที่พึ่งของแรงงานในระบบได้อย่างมั่นคงและมีคุณภาพ ขณะนี้ทางกลุ่มกำลังหารือเพื่อจัดตั้ง องค์กรหรือชมรมเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการร่วมกับรัฐในการดูแลระบบประกันสังคมให้มีความยั่งยืน
 
ตนและมีผู้คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่า การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมและการบริหารเงินของผู้ประกันตนควรออกนอกระบบราชการ จัดตั้งเป็นองค์กรมหาชน มีความเป็นอิสระและสามารถสนองนโยบายอันชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายของผู้มีอำนาจรัฐได้ ขณะเดียวกันองค์กรมหาชนนี้ต้องสร้างระบบและกลไกให้ปลอดจากการแทรกแซงหรือนโยบายอันมิชอบของผู้มีอำนาจรัฐด้วย
 
นอกจากนี้ ดร. อนุสรณ์ คาดว่าองค์กรหรือชมรมเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนนี้จะสามารถจัดตั้งขึ้นมาได้อย่างเป็นทางการในช่วงต้นปีหน้า 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท