Skip to main content
sharethis
ชาวบ้านต้านโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะหวั่นก่อมลพิษ
 
เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ชาวบ้านจาก ต.ดอนทอง  และ ต.บ้านป่า อ.เมือง จ.พิษณุโลก  กว่า 200 คน เข้ายื่นหนังสือพร้อมคำแถลงการณ์และข้อเรียกร้องคัดค้านการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะในพื้นที่หมู่ที่ 7 ต.บ้านป่า อ.เมือง ต่อ นายชูชาติ  กีฬาแปง ผวจ.พิษณุโลก และพล.ต.นพพร เรือนจันทร์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4
 
ทั้งนี้  ตามที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งมีความจำนงจะก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าโดยการใช้เชื้อเพลิงจากขยะในพื้นที่ต.บ้านป่า และการกว้านซื้อที่ดินซึ่งอยู่ในขั้นเจรจาอีกจำนวน 64 ไร่ ซึ่งทางบริษัทได้ชี้แจงกับชาวบ้านว่าโรงงานจะนำขยะแปรรูปที่รับมาจากโรงคัดแยกขยะที่จะดำเนินการก่อสร้างโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก(อบจ.) มาเป็นเชื้อเพลิงในการเผาเพื่อนำความร้อนไปต้มน้ำและให้ไอน้ำไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์  โดยจะใช้ขยะแปรรูปวันละ 500 ตันต่อวันมีทุนดำเนินการ 1.7 พันล้านบาท  ซึ่งเรื่องนี้ ชาวบ้านเกรงว่าปริมาณขยะเปียกที่เกิดขึ้นในพื้นที่อ.เมืองพิษณุโลก มีประมาณ 600 ตันต่อวัน จะถูกผลักดัน มาทิ้งในพื้นที่ต.บ้านป่า และก่อให้เกิดมลพิษ ทำให้ต.บ้านป่าและตำบลใกล้เคียงมีความเห็นร่วมกันว่าการก่อสร้างดังกล่าว อาจก่อเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมจะเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง
 
ด้านผวจ.พิษณุโลก พร้อมผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 ได้รับทราบคำแถลงการณ์และข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้าน  และได้พูดคุยกับ ชาวบ้านที่มาประท้วง ว่าในเรื่องนี้ ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ดำเนินตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง และจะให้ผู้นำท้องถิ่น เข้าไปตรวจสอบดูแล แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ยอมยืนยันเด็ดขาดที่จะไม่ให้มีการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะ   ซึ่งในวันที่ 8 ต.ค.นี้ ทางกองพลทหารราบที่ 4 จะได้จัดเวทีกลางขึ้นในค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้ประชาชน กับ ผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงและทำความเข้าใจ อีกครั้งหนึ่ง  หลังจากนั้นกลุ่มตัวแทนได้ยื่นหนังสือและพอใจแยกย้ายกันกลับในที่สุด
 
 
ประมงปัตตานีสลายตัวแล้วหลังยื่นหนังสือ ขู่ปิดอ่าวอีกหากรัฐไม่ช่วย
 
(6 ต.ค.) จากกรณีที่กลุ่มชาวประมงอวนลากข้างพื้นบ้าน นำเรือปิดปากร่อนน้ำอ่าวปัตตานี เพื่อประท้วง และขอข้อเรียกร้องจากหน่วยงานภาครัฐให้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เนื่องจากตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่หน่วยงานรัฐออกกฎหมายห้ามเรือประมงผิดประเภทออกทำการประมงโดยเด็ดขาด กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านต้องประสบปัญหาความเดือดร้อนที่ไม่สามารถออกเรือจับสัตว์น้ำได้ และขาดรายได้
       
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด นายวีรนันท์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมกับตัวแทนชาวประมง จำนวน 20 คน ที่ห้องประชุมศูนย์ประมงชายฝั่งปัตตานี เพื่อรับฟังปัญหา และหารือแนวทางแก้ไขปัญหาความความเดือดร้อนของชาวประมงพื้นบ้าน โดยตัวแทนได้ยื่นขอเสนอมายังภาครัฐ จำนวน 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอพื้นที่ทำกิน 2.จะช่วยป้องกันไม่ให้เรืออื่นเข้ามาในเขตพื้นที่ 3.จะไม่เพิ่มจำนวนเรือ 4.ลำไหนที่ออกจากพื้นที่ที่กำหนด จนท.จะจัดการโดยเด็ดขาด 5.รวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการประมงอวนลากเล็กส่งประมงจังหวัด 6.ห้ามเรือประมงอวนลากพาณิชย์เข้ารุกล้ำภายในเขตเรือประมงอวนลากเล็กโดยเด็ดขาด ซึ่งการประชุมเป็นไปอย่าเร่งเครียด โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนข้าร่วมรับฟัง โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง
       
ซึ่งผลสรุปล่าสุด ด้าน น.ต.กนก หัวหน้าศูนย์ PIPO รับปากต่อชาวประมงพื้นบ้านลากข้าง จะนำข้อเสนอทั้งหมดเสนอไปยังศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และจะให้คำตอบแก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในวันพรุ่งนี้ พร้อมทั้งขอให้กลุ่มประมงนำเรือที่ปิดกั้นร่องน้ำออกก่อน เพราะกระทบต่อชาวประมงอื่นๆ ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านยินยอมทำตาม แต่ก็ยังคงเฝ้ารอคำตอบ ซึ่งถ้าไม่เป็นผลที่น่าพอใจชาวเรือประมงก็พร้อมที่จะปิดร่องน้ำอีกครั้ง
       
ด้าน นายอับดุลเลาะห์ กาซอ ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ในการปิดร่องน้ำในครั้งนี้เนื่องจากพวกตนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากทำงานไม่ได้ เพราะถูกกฎหมายกำหนดไม่ให้อวนลากออกทำการประมง โดยเหมารวมทั้งอวนลากขนาดเล็กด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ไม่สามารถออกทำการประมงเป็นเวลานับเดือน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว และการศึกษาของลูกๆ ซึ่งทางตนพยายามติดต่อ และยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ แต่ก็ไม่ได้รับการประสานกลับมา ซึ่งไม่สงสารประชาชน จึงจำเป็นต้องแสดงออกด้วยวิธีนี้เพราะได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
 
 
ชาวบุรีรัมย์บุกอำเภอ! เร่งเอาผิดผู้ใหญ่บ้านแอบขายยุ้งข้าว
 
6 ต.ค. 58 ชาวบ้าน บ.ส่วนรวม ม.4 ต.ห้วยราช อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ กว่า 50 คน รวมตัวกันถือป้ายประท้วง หน้าที่ว่าการอำเภอห้วยราช หลังมีบุคคลบางกลุ่มแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ และได้รับคำสั่งจากทางอำเภอ พยายามเข้าไปรื้อและเคลื่อนย้ายยุ้งฉางธนาคารข้าวของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นของกลางที่อยู่ระหว่างการแจ้งความดำเนินคดี และตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเอาผิดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการขายยุ้งฉางดังกล่าวในราคา 11,000 บาท หลังชาวบ้านร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และแจ้งความที่ สภ.ห้วยราช ให้ตรวจสอบเอาผิดกับผู้ใหญ่บ้านพร้อมพวก ที่แอบขายยุ้งธนาคารข้าว โดยไม่มีการประชุมถามความเห็นชาวบ้านที่เป็นสมาชิก ซึ่งชาวบ้านมีส่วนร่วมสมทบเงินสร้างมากว่า 30 ปีแล้ว
 
ทั้งนี้ การที่มีคนพยายามจะเคลื่อนย้ายยุ้งฉาง ถือเป็นการส่อเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ หรืออาจต้องการทำลายหลักฐาน ซึ่งชาวบ้านเห็นตรงกันว่า ต้องการให้ทางอำเภอสอบเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว หลังผ่านมานาน 3 เดือนแล้ว แต่เรื่องยังไม่คืบหน้า พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้ใหญ่บ้านออกมารับผิดชอบ และเชื่อว่าน่าจะรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยในการซื้อขายยุ้งข้าว ซึ่งยุ้งฉางดังกล่าวเป็นสมบัติของชาวบ้าน และดำเนินกิจการเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากจน มาชื้อขายและกู้ยืมข้าวไปกิน โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ
 
ด้านนายสุธี คำมาเมือง นายอำเภอห้วยราช ปฏิเสธว่า ทางอำเภอไม่ได้สั่งการให้ใคร หรือกลุ่มใด เข้าไปรื้อถอนเคลื่อนย้ายยุ้งฉางข้าวตามที่มีผู้กล่าวอ้าง เพราะขณะนี้ทางอำเภอได้ตั้งกรรมการเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ พร้อมยืนยันว่า ทางอำเภอจะให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย หากตรวจสอบพบว่ามีผู้กระทำผิด ตามที่ชาวบ้านกล่าวอ้างจริง จะดำเนินการตามกฎหมายทันที
 
 
ชาวชุมชนตลาดเฉลิมลาภ ย่านประตูน้ำ ปิดแยกราชเทวีประท้วง หลังถูกเพิกถอนสัญญาเช่าที่ทำกิน
 
ประชาชนชาวชุมชนตลาดเฉลิมลาภ และกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าภายในตลาดผ้า ประตูน้ำกว่า 300 คน ซึ่งออกมารวมตัวที่ด้านหน้าตลาดเฉลิมลาภ (ประตูน้ำ) ถนนเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โดยสาเหตุที่ประชาชนทั้งหมดออกมาประท้วง เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ยกเลิกสัญญาเช่า ซึ่งกลุ่มผู้ค้าจึงได้เรียกร้องผู้มีอำนาจลงมาช่วยแก้ไขปัญหา
 
ต่อมา พ.อ.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ ผู้บังคับการทหารม้ารักษาพระองค์ ได้เดินทางมาเจรจากับชาวบ้านถึงความเดือดร้อนในครั้งนี้ และจะให้มีการเจรจาระหว่างตัวแทนชุมชนกับตัวแทนสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อจะหาข้อยุติในวันต่อไป สร้างความพอใจให้กับชาวบ้าน ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับแล้วเปิดการจราจรตามปกติ
 
 
ปลัดอำเภอพร้อมชาวบ้าน ประท้วงหน้าโรงงานผสมยางที่ลาดหลุมแก้ว
 
เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 7 ตุลาคม 2558 นายสฤษดิ์ รัตนวงษ์ ปลัดอาวุโสอำเภอลาดหลุมแก้ว พร้อมชาวบ้านหมู่ 1 ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ได้รวมตัวกันมาชุมนุมประท้วง ที่หน้าโรงงานและได้เข้าร้องเรียนถึงปัญหาที่บริษัทแห่งหนึ่ง ในต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เป็นโรงงานผสมยางฯ อ้างว่าส่งกลิ่นเหม็น เสียงดัง และฝุ่นคลุ้ง
 
โดยมี ร.ต.ถวิล สีแตง หัวหน้าชุดมวลชน ปตอ.พัน.1 รอ. คอยควบคุมความสงบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้การชุมนุมเกิดความรุนแรง ซึ่งได้ชาวบ้านได้พูดคุยกับผู้จัดการ บริษัทดังกล่าว ถึงปัญหาที่ชาวบ้านต้องเดือดร้อนมาเป็นเวลากว่า 18 ปี
 
ด้านนายประสาน ป้องยาหยัน อายุ 52 ปี บ้านเลขที่ 6 หมู่ 1 ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี กล่าวว่า บ้านของตนอยู่ติดกับโรงงานนี้ ปัญหาที่ได้รับคือเสียงดัง ที่เกิดจากรถบรรทุกหินนำหิน มาก่อบริเวณใกล้กับบ้านจนสูงชัน เมื่อฝนตกน้ำตะกอนหินก็จะไหลเข้าบ้าน ทำให้ตนเองและครอบครัวเดือดร้อน และกลิ่น เมื่อเครื่องผสมยางแอสฟัลต์ทำงาน ก็จะส่งกลิ่นเหม็น หลายครัวเรือนมีปัญหาด้านทางเดินหายใจ เป็นภูมิแพ้กันมาขึ้น ที่ผ่านมา ร้องเรียนไปทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จนไปถึงอำเภอ ก็ไม่มีการแก้ไขแต่อย่างใด
 
ส่วนนายสฤษดิ์ รัตนวงษ์ ปลัดอาวุโสอำเภอลาดหลุมแก้ว กล่าวว่า เนื่องจากมีชาวบ้านร้องเรียนมา ผลกระทบจากโรงงานแห่งนี้ไปหลายครั้ง จึงได้ประสานส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาพูดคุย เพื่อที่จะให้โรงงานและชาวบ้านอยู่ร่วมกันได้
 
เบื้องต้น ได้ทำบันทึกข้อตกลงให้โรงงานดำเนินการผลิตต่อไปได้ ถึงวันที่ 30 พ.ย. 58 เพื่อผลิตยางแอสฟัลต์ให้กับกรมทางหลวง โดยหลังจากครบกำหนด ยินดียุติการดำเนินกิจการ หากผิดข้อตกลง ยินยอมให้ดำเนินตามกฎหมายต่อไป
 
 
แท็กซี่เชียงใหม่ฮือร้องโดนสหกรณ์ฯ รีด-บีบหนัก/ผู้ว่าฯ-ขนส่งฯ-ทหาร ออกโรงรับเรื่องเอง
 
(9 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าปัญหาแท็กซี่สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ หลังมีการนำเสนอข่าว “โดนทุกดอก! ชำแหละมาเฟียแท็กซี่เชียงใหม่ รีดหนักทั้งค่าป้าย-คิว-ดอกเบี้ยมหาโหด” ซึ่งสหกรณ์นครลานนาเดินรถ จำกัด ได้มีมติที่ประชุมห้ามแท็กซี่ที่เป็นสมาชิกนำรถไปวิ่งกับผู้ได้รับสัมปทานรายใหม่ คือ บริษัท คาร์เรนทัลเชียงใหม่ จำกัด ตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นมา และมีหนังสือแจ้งนายทะเบียนสหกรณ์จังหวัดฯ ให้ผู้ฝ่าฝืนออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ แล้วกว่า 30 ราย และรอจ่อคิวอีกนับร้อยราย รวมทั้งยื่นโนติสเรียกค่าเสียหายนับแสนบาท พร้อมค่าปรับรายวันอีก 1 พันบาท/วันนั้น
       
ล่าสุดช่วงสายที่ผ่านมา กลุ่มแท็กซี่สนามบินฯ กว่า 50 คัน นำโดยนายนพดล เพศยนาวิน แกนนำ ได้ขับแท็กซี่เข้ามาจอดเรียงรายที่วงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัดฯ พร้อมนำป้ายมาประท้วงและเรียกร้องให้ช่วยเหลือกรณีถูกสหกรณ์นครลานนาเดินรถฯเอาเปรียบ 
 
ต่อมานายปวิณ ชํานิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ , นายชาญชัย กีฬาแปง ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ , พ.อ.สงบศึก วังแก้ว รองเสธ มทบ.33 ค่ายกาวิละ , นายทอง พันทอง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เข้าเวรศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เข้ารับหนังสือพร้อมดำเนินการแก้ปัญหาให้อย่างเร่งด่วน
       
นายนพดล เพศยนาวิน แกนนำแท็กซี่สนามบินเชียงใหม่ เปิดเผยว่า พวกตนรวมตัวมาพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และขนส่งจังหวัดเชียงใหม่วันนี้ เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม และเดือดร้อนจากการดำเนินการของสหกรณ์นครลานนาเดินรถ ทั้งหมด 8 ประเด็น คือ 1.การออกคำสั่งโดยมิชอบของสหกรณ์ฯที่ไม่ให้รถแท็กซี่สมาชิกมาวิ่งกับบริษัทคาร์เรนทัลใครมาวิ่งถือว่าขัดมติ  2.ใช้กำลังในการถอดป้ายสมาชิกเมื่อวันที่ 2 ต.ค.58 ที่ผ่านมา 3.เก็บค่าป้ายทะเบียนรถแท็กซี่ราคาแพงเกินจริงและไม่ออกใบเสร็จให้ 4.สั่งระงับไม่ให้รถแท็กซี่ ที่ขัดมติ และถูกถอนสมาชิก ไม่สามารถต่อภาษีได้ เพราะจะต้องมีเอกสารแนบจากสหกรณ์เท่านั้น 5.ไม่ได้รับเงินปันผลในบางปี แต่ไม่แจ้งให้ทราบว่าขาดทุน เพราะเหตุใด 6.สหกรณ์นครลานนาเดินรถ นำชื่อไปพ่วงท้ายผู้ครอบครองรถในสมุดทะเบียนรถ 7.สหกรณ์นำชื่อสมาชิกที่เซ็นชื่อร่วมประชุมไปอ้างว่า จะไม่วิ่งรถกับบริษัทคาร์เรนทัล และ 8.ล่าสุดให้สมาชิกที่ร่วมวิ่งกับบริษัทคาร์เรนทัลชดเชยเงินค่าเสียหาย 1 แสนบาท และรายวัน 1 พันบาทเพราะติดสติ๊กเกอร์บริษัทใหม่ อ้างว่า ทำให้สหกรณ์ฯเสียหาย
       
“พวกเราเดือดร้อนกันมาก จึงมาร้องเรียนต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และท่านขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ทำการช่วยเหลือ ผดุงความยุติธรรมให้ทำมาหากินต่อได้”
       
ด้านนายชาญชัย กีฬาแปง ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แท็กซี่ทั้งหมดสามารถวิ่งรถได้ตามปกติ โดยเรื่องการต่อภาษีนั้น สามารถต่อภาษีได้ ที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะกฏหมายขนส่ง ต้องเสียภาษีผ่านสหกรณ์ ซึ่งต้องดูว่าคนละฉบับจะสามารถออกได้ไหม แต่ระหว่างที่รอนี้สามารถต่อภาษีไปก่อนได้เลย 
 
สำหรับชื่อสหกรณ์นั้นต่อไปจะไม่มีวงเล็บพ่วงท้ายด้านหลังอีก ต่อไปให้เขียนข้างบน เพื่อกันการเข้าใจผิดอีก ซึ่งเจ้าของรถ ยังเป็นผู้ถือครองรถอยู่โดยได้สั่งการลงไปแล้ว
       
สำหรับค่าดำเนินการ 2 แสนกว่าบาทต่อคันนั้น เนื่องจากช่วงที่มีการจัดงานพืชสวนโลกในจังหวัดเชียงใหม่ เราต้องการระดมใแท็กซี่จำนวนมากรับส่งนักท่องเที่ยว ทางสหกรณ์นครลานนาเดินรถ ซึ่งดูแลรถสองแถวสี่ล้อแดง จึงได้ตกลงว่า รถสองแถวสี่ล้อแดง 1 คัน แลกรถแท็กซี่ 1 คัน จากนั้นก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังงานพืชสวนโลก เสร็จสิ้น ทางสหกรณ์ก็ขอยืนยันมติเดิมคือ รถแท็กซี่เพิ่มมา 1 คัน รถสองแถวหายไป 1 คัน
       
แต่อย่างไรก็ตามมติคณะกรรมการก็สามารถพิจารณาใหม่ได้ตลอด เช่นเดียวกับเพิ่มจำนวนรถในสหกรณ์ของเจ็ดยอดบราเทอร์มาแล้ว 50 คัน ซึ่งก็อนุมติไปแล้ว บางทีไปฟังความข้างเดียวก็ทำให้เข้าใจเจ้าหน้าที่ผิดได้ 
 
 
เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งสงขลารวมตัวยื่นหนังสือถึง “นายกรัฐมนตรี” จี้แก้ปัญหาราคากุ้งขาวตก
 
(9 ต.ค.) เครือข่ายเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สงขลา เริ่มออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังจากที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคากุ้งขาวตกต่ำ โดยที่ศาลากลาง จ.สงขลา เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง 3 กลุ่ม นำโดย นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ประธานสมาพันธ์เกษตรกร จ.สงขลา นายปรีชา สุขเกษม กรรมการสมาพันธ์เกษตรกร จ.สงขลา และนายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จ.สงขลา
       
รวมตัวเข้ายื่นหนังสือให้แก่ นายเอกรัฐ หลีเส็น รองผู้ว่าราชการ จ.สงขลา ผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาราคากุ้งขาวตกต่ำอย่างผิดปกติ นอกจากนี้ ยังมีการสะท้อนปัญหา และแนวทางแก้ไขให้แก่ส่วนราชการใน จ.สงขลา ได้รับทราบ
       
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สงขลา ทั้ง3 กลุ่ม ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ทำให้ราคากุ้งทุกขนาดตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้กุ้งขนาด 40 ตัวต่อกิโลกรัมจาก 270 บาท เหลือ 200 บาท ขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัม จาก 220 บาท เหลือ 160 บาท และขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม จาก 200 บาท เหลือ 140 บาท
 
ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มห้องเย็นออกแคมเปญการประกันราคารับซื้อกุ้ง และเป็นการชี้นำให้ราคากุ้งตกต่ำลง โดยก่อนหน้าที่จะมีการประกันราคารับซื้อกุ้ง ราคากุ้งหน้าฟาร์มจะสูงกว่าราคาที่เสนอรับประกัน รวมทั้งการอนุญาตให้มีการนำเข้ากุ้งจากประเทศอินโดนีเซีย เข้ามาของกรมประมง จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ เพราะเป็นการตีตลาดกุ้งไทย และสิ่งที่น่าวิตกมากที่สุดคือ โรคกล้ามเนื้อขาวขุ่น ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงในประเทศอินโดนีเซีย จนเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว มีโอกาสเข้ามาปนเปื้อนในไทย และยิ่งทำให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยได้รับผลกระทบหนักขึ้นไปอีก
       
นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ประธานสมาพันธ์เกษตรกร จ.สงขลา ในฐานะตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สงขลา เปิดเผยว่า ข้อเสนอที่ทางเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องการให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา และช่วยเหลือ เช่น การประกันราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ เช่น กุ้งขนาด 60-100 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาต้องสูงกว่าราคาที่ประกาศเสนอรับซื้ออีก 30 บาทต่อกิโลกรัม หรือ ขนาด 40-50 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาต้องสูงกว่า 50 บาท
       
ต้องยับยั้งนโยบายการนำเข้ากุ้งจากประเทศอินโดนีเซีย ให้ตรวจสอบโครงการประกันราคารับซื้อกุ้งของห้องเย็นบางห้องเย็น เพราะหลังโครงการนี้ออกมาทำให้ราคากุ้งตกต่ำลงทันทีกิโลกรัมละ 30-40 บาท จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และขยายวงเงินสินเชื่อ และให้กรมประมงแต่งตั้งตัวแทนสมาพันธ์เกษตรกร จ.สงขลา ติดตามการดำเนินการแก้ปัญหาในครั้งนี้ และต้องได้รับคำตอบจากรัฐบาลภายใน 30 วัน แต่หากยังไม่มีผลปฏิบัติที่ชัดเจนทางเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สงขลา อาจจะมีการยกระดับการเคลื่อนไหวให้เข้มข้นต่อไป
 
 
ชาวเทพาลุกฮือ! เจรจา กฟผ.ยุตินำเรือขุดเจาะดินในทะเล ขณะอีกฝ่ายยังชี้แจงไม่กระจ่าง
 
(9 ต.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า 500 คน ได้นัดรวมพลที่อาคารอเนกประสงค์บ้านปากน้ำเทพา ม.7 ต.เทพา อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อเรียกร้องเจ้าหน้าที่ กฟผ.ให้มาชี้แจงตามที่ได้ตกลง และประสานงานกันไว้กับประมง อ.เทพา เมื่อวานนี้ ซึ่งทางเครือข่ายโดยมี นายดิเรก เหมนคร เป็นผู้ตั้งคำถาม 3 ข้อด้วยกันคือ
       
1.ตามที่ทางเครือข่ายฯ ไปหานายอำเภอได้ยื่นหนังสือว่า เรือที่จอดอยู่ในทะเลทำความเดือดร้อน ให้เอาขึ้นฝั่งได้ไหม ตัวแทน กฟผ. คือ นายอัฐพล มหาโยธี หัวหน้าแผนกธรณีวิศวกรรม ตอบว่า ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะทำตามข้อเรียกร้อง จากนั้นจึงได้ถามตัวแทน กฟผ. ว่าเรือได้ขออนุญาตในการขุดเจาะดินจากใคร หน่วยงานใดบ้างหรือเปล่า ทางเจ้าหน้าที่ กฟผ. ได้บอกว่าได้ยื่นหนังสือขออนุมัติจากประมงอำเภอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้แสดงหนังสือตัวนั้นออกมา
       
จากนั้นทางเครือข่ายก็เลยถามกลับไปว่า ประมงอำเภอได้อนุมัติให้เรือสำรวจมาขุดเจาะดินในทะเลหรือเปล่า ทางประมงอำเภอตอบอย่างชัดเจนว่า เขาไม่ได้ขออนุมัติแต่อย่างใด เพราะได้หนังสือแค่ขอชี้แจง และขออำนวยความสะดวกเท่านั้น ทางเครือข่ายฯ เลยบอกประชาชน ตกลงว่าตอนนี้หนังสือที่ กฟผ.แสดงเป็นหนังสือแค่ขอชี้แจง และขออำนวยความสะดวกเท่านั้น ไม่ใช่หนังสือขออนุมัติการขุดเจาะ ซึ่งทาง กฟผ.พูดไม่ตรงกับความจริง
       
หลังจากนั้น ชาวบ้านจึงได้แสดงความไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ กฟผ.ตอบไม่เป็นความจริงต่อหน้าชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ กฟผ.เบี่ยงประเด็นว่า เป็นแค่คนรับจ้างขุดเจาะดินเท่านั้น ไม่ทราบว่าอนุมัติหรือไม่ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ ทางเครือข่ายจึงถามว่าเมื่อไม่มีใบอนุญาตแล้วคุณไปเจาะได้อย่างไร ทางเครือข่ายจึงต้องการให้เอาเรือออกภายในวันนี้ 18.00 น. แต่ยังไม่ได้ถามข้อสองต่อ ก็มีนักการเมืองท้องถิ่นนำพาตัวออกไป ทำให้ชาวบ้านโห่ร้อง และเกิดการแตกตื่น หลังจากนั้นชาวบ้านจึงไปแสดงสัญลักษณ์ที่ปากน้ำเทพาว่า “ไม่เอาถ่านหิน”
 
 
จลาจลหน้าโรงพักถลางยุติ ทหารรุดเจรจายอมสลายตัว
 
จากกรณีชายวัยรุ่น 2 คน ที่เสียชีวิตจากการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ถลาง จ.ภูเก็ต ขับรถกระบะอีซูซุ สีขาว ทะเบียนตราโล่ 40310 ไล่ติดตามแล้วเฉี่ยวชนกับรถ จยย.ฮอนด้า สกู้ปปี้ สีดำแดง ทะเบียนป้ายแดง 19-764 ที่ทั้งสองคนขับขี่และซ้อนท้ายกันมา บนถนนสายน้ำตกโตนไทร ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง เมื่อช่วงสายวานนี้ (10 ต.ค.) ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ระบุว่าได้ขับรถไล่สกัดจับวัยรุ่นทั้งสอง เนื่องจากสงสัยว่าจะมียาเสพติด ทำให้ทางกลุ่มญาติและเพื่อนๆของผู้ตายเกิดความไม่พอใจ รวมตัวกันปิดล้อมที่หน้า สภ.ถลาง เพื่อเรียกร้อง ทางเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง ก่อนที่เหตุการณ์จะลุกลามเป็นเหตุจลาจลจนไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ เพราะมีชาวบ้านทยอยมาร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้นกว่าพันคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น โดยเริ่มจากการปิดแยกถนนเทพกระษัตรี ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงพักถลางในช่วงบ่าย และบานปลายไปจนถึงการจุดไฟเผาทำลายรถยนต์ของตำรวจและประชาชนที่จอดอยู่หน้าโรงพักพังเสียหายจำนวนหลายคันในช่วงค่ำ อีกทั้งยังได้มีการนำก้อนหินปาใส่อาคารโรงพักจนกระจกแตกหลายแห่ง
 
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 03.00 น. วันที่ 11 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีการชุมชุมยืดเยื้อกันของกลุ่มชาวบ้านที่หน้าโรงพักถลางเป็นเวลาร่วม 10 กว่าชั่วโมง จนกลายเป็นเหตุรุนแรงตามมา ทางตำรวจ สภ.ถลาง จึงได้มีการประสานขอกำลังเสริมจากทหารมณฑลหารบกที่ 41 (มทบ.41) เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบจลาจล จ.พังงา และ จ.กระบี่ ให้เข้ามาช่วยควบคุมเหตุการณ์ โดยทาง พล.ต.ธีร์ณฉัฏฐ์ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมลฑลทหารบกที่ 41 ได้เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อหาทางออกของปัญหาร่วมกัน และชี้ให้เห็นว่าหากรวมตัวกันก่อเหตุวุ่นวายต่อไป ก็จะสร้างความเสียหายให้กับทาง จ.ภูเก็ต มากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย หลังการพูดคุยกันประมาณ 30 นาที ทางกลุ่มผู้ที่มาชุมนุมจึงยอมแยกย้ายสลายตัวกันกลับไป โดยที่ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้มีการดำเนินคดีกับใคร
 
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ทางกลุ่มชาวบ้านยังได้มีการนัดรวมตัวกันอีกในเวลา 09.00 น.ของวันนี้ เพื่อที่จะร่วมเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า ทางผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งย้าย 4 นายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับเหตุขับรถชน 2 วัยรุ่นเสียชีวิตออกจากพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วยตำรวจสัญญาบัตรยศ "ร.ต.ท." 1 นาย และตำรวจชั้นประทวนอีก 3 นาย ขณะที่ความเสียหายเบื้องต้นพบว่า มีรถยนต์ถูกเผาทั้งหมด 9 คัน อาคารโรงพักถลางกระจกพังเสียหาย และตำรวจชุดปราบจลาจลถูกชาวบ้านรุมทำร้ายได้รับบาดเจ็บไปหลายนาย. ต่อมาที่หน้าทวิตเตอร์ของพล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกตร. ได้โพสต์ข้อความว่า "ชื่อตร.ถลางถูกไปช่วยราชการระหว่างรอผลการตรวจสอบฯ 1.ร.ต.ท.สุชาติ ลือชา 2.ดต.ประสาย ผึ้งผล 3.ส.ต.ต.กัณฑพล คงหนูเกตุ 4.ส.ต.ต.ภานุวิทย์ แก้วสังข์
 
 
ชาวบ้านฮือ!! บุกกุฏิเจ้าคณะอำเภอฯ ขับไล่จากวัด ตร.-ทหารเข้าคุมสถานการณ์-หวิดปะทะ
 
เวลา 09.30 น. วันที่ 11 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพิจิตรว่า มีชาวบ้านถ้ำคะนอง หมู่ที่ 4 ตำบลสากเหล็ก อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร จำนวนกว่า 300 คน นำโดยนายบัญเชิญ คำเด่น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร ได้เดินทางมารวมตัวกันขับไล่ พระครูพิเชษฐ์ อรรถกิตกุฏิ อายุ 65 ปี เจ้าอาวาสวัดถ้ำคะนอง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะ อำเภอสากเหล็ก เพื่อขับไล่ออกจากวัด เนื่องจากชาวบ้านอ้างมีหลักฐานว่าเจ้าคณะอำเภอสากเหล็ก ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นพระสงฆ์ (ปาราชิก) โดยแอบมีสีกาเข้าไปในกุฏิ และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน รวมทั้งสร้างความแตกแยกให้ชาวบ้านหลายเรื่อง
 
โดยขณะชาวบ้านบุกจะเข้าไปยังกุฏิดังกล่าวเพื่อขับไล่ เจ้าอาวาสวัด ให้ออกจากวัด ภายใน 24 ชั่วโมง ได้เกิดการกระทบกระทั่งเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มที่มาขับไล่เจ้าอาวาสวัดกับลูกศิษย์ เจ้าอาวาสวัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สากเหล็ก และทหารจากกองพันขนส่งที่ 23 ประจำอำเภอสากเหล็ก จำนวน 50 นาย ที่เข้าสังเกตการณ์อยู่ ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านปะทะกับกลุ่มเจ้าคณะอำเภอสากเหล็ก โดยมีปากเสียงกันนานกว่า 20 นาที จึงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
 
เบื้องต้นพระครูพิเชษฐ์ อรรถกิต เจ้าคณะอำเภอสากเหล็ก ไม่ยอมย้ายออกไปจากวัดถ้ำคะนอง อ้างว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดตามที่ชาวบ้านกล่าวหา จึงขออยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำคะนองต่อไป ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจจึงชุมนุมกดดันปิดกุฏิเจ้าคณะอำเภอสากเหล็กต่อไป จนกว่าเจ้าคณะอำเภอสากเหล็กจะย้ายออกจากวัดไปโดยดี
 
ต่อมา นายประพันธ์ ตั้นวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนา และพระสงฆ์ระดับผู้ใหญ่ของจังหวัดพิจิตร ได้เดินทางมาไกล่เกลี่ยเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เรื่องยุติโดยเร็ว และไม่ให้เกิดความรุนแรง โดยผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาจังหวัดพิจิตร ได้มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง และจะเรียกทั้ง 2 ฝ่ายมาสอบสวน จากนั้น ในวันที่ 14 ต.ค. จะสรุปข้อเท็จจริง เสนอไปยังเจ้าคณะจังหวัดให้เป็นผู้ตัดสิน นอกจากนี้ยังขอให้พระครูพิเชษฐ์ อรรถกิต ออกไปอยู่วัดข้างเคียงเป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อลดแรงกดดันของชาวบ้าน
 
ด้านพระครูพิเชษฐ์ อรรถกิต อายุ 65 ปี เจ้าอาวาสวัดถ้ำคะนอง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอสากเหล็ก กล่าวว่า กรณีที่มีชาวบ้าน ออกมาขับไล่เพื่อไม่ให้จำวัดถ้ำคะนอง โดยกล่าวหาว่ามีสีกา เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะสีกาคนดังกล่าวนั้น เป็นภรรยาของคนขับรถของอาตมา ที่มาหาคนขับรถไม่ใช่อาตมา อีกทั้งเรื่องนี้อาตมาก็ชี้แจงไปแล้ว ทางชาวบ้านผู้นำหมู่บ้านก็ไม่ฟัง นำชาวบ้านมาขับไล่ ซึ่งไม่ถูกต้อง
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net