'มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล' เสนอ สตช.เรียกเบียร์ยี่ห้อดังชี้แจงด้วย

ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เสนอ สตช.เรียกบริษัทเบียร์ยี่ห้อดังเข้าชี้แจง ไม่เฉพาะดารา 24 คน กรณีพร้อมใจโพสต์ภาพโชว์ขวดเบียร์ลงสื่อออนไลน์ ชี้มุ่งสื่อสารกับนักดื่มที่เป็นผู้หญิง ระบุทุกวันนี้มีผู้หญิงเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากมูลนิธิฯ พบผู้ชายมักใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเครื่องมือนำไปสู่การล่วงละเมิด ด้านสำนักอบรมศึกษากฎหมายเเห่งเนติบัณฑิตสภาระบุโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องดูเจตนา
 
11 ต.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เรียกดารานักแสดงและบุคคลมีชื่อเสียงจำนวน 24 คน เข้าให้ข้อมูลกรณีมีการโพสต์ภาพถ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยจงใจแสดงตราสัญลักษณ์ของยี่ห้ออย่างชัดเจนรวมไปถึงบางรายมีการเขียนข้อความในลักษณะเชิญชวนให้ดื่ม ว่าหากมองในมุมผู้หญิงถือว่าตั้งใจใช้ความเป็นผู้หญิงสร้างการจดจำ ธุรกิจนี้มุ่งเป้าไปที่ดาราผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ มุ่งสื่อสารกับนักดื่มที่เป็นผู้หญิง จงใจดึงผู้หญิงเข้ามาเพิ่มยอดขาย ที่น่าห่วงคือกลุ่มเยาวชนหญิงมีสัดส่วนดื่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อยู่ในโลกออนไลน์ เห็นได้จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2557 พบผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไปกว่า 3.6 ล้านคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 2 แสนคน ขณะเดียวกัน ทุกวันนี้มีผู้หญิงเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากมูลนิธิฯมีปัญหาจากการดื่ม เช่นจัดปาร์ตี้เลยเถิดไปสู่การถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งฝ่ายชายมักใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเครื่องมือนำไปสู่การล่วงละเมิด
 
นายจะเด็ด กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการที่ สตช.เรียก 24 ดาราเข้าให้ข้อมูลนั้น ต้องสืบไปว่าทำไมดาราเจาะจงแสดงภาพและพูดถึงสินค้ายี่ห้อนี้ เพราะอาจเป็นผู้ว่าจ้างด้วย ซึ่งศิลปินดาราเป็นเพียงเครื่องมือทำการตลาดเท่านั้นและหากพบว่ามีความผิดตามกฎหมายจริงต้องดำเนินคดีกับบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายนี้ให้ถึงที่สุดและอยากเรียกร้องให้ธุรกิจนี้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ หยุดทำผิดกฎหมาย ขอให้ประชาชนผู้บริโภคร่วมกันติดตาม และศิลปินดาราควรนำเหตุการณ์นี้มาเป็นบทเรียน อย่าให้ภาพลักษณ์ตัวเองต้องเสื่อมเสียเพราะเรื่องแบบนี้ จะเผยแพร่ภาพอะไร ควรรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะกับเยาวชน
 
ด้านนางฐานิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า การเป็นแบบอย่างสำคัญมาก เด็กและเยาวชนจะเกิดการเลียนแบบอิริยาบถ พฤติกรรมของศิลปินดารานักแสดงที่เป็นไอดอล ซึ่งผู้ปกครองพ่อแม่ย่อมรับไม่ได้ หากลูกจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หันมานิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามแบบคนที่ชื่นชอบ ทั้งที่มีความเสี่ยงส่งผลกระทบทั้งความรุนแรง อุบัติเหตุ อาชญากรรม ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับปรุงกฎหมายในการใช้สื่อสาธารณะที่มีผลต่อเยาวชน เพราะบทลงโทษจะทำให้เกิดความตระหนัก หวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะสร้างการระมัดระวังในการโพสต์หรือเผยแพร่โดยเฉพาะดาราที่มีเด็กและเยาวชนติดตามเยอะๆ นอกจากนี้ประชาชนต้องตื่นตัวอย่านิ่งเฉยช่วยเฝ้าระวังหากพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ขอให้รีบแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
 
สำนักอบรมศึกษากฎหมายเเห่งเนติบัณฑิตสภาระบุโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องดูเจตนา
 
ด้าน Nation TV รายงานว่านายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายเเห่งเนติบัณฑิตสภา กล่าวถึง การถ่ายภาพและโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551มาตรา 32 หรือไม่ ว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551มาตรา 32 บัญญัติ ห้ามมิให้ ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรง หรือโดยอ้อม
 
ส่วน วรรค 2 บัญัติว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้ทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์กับสังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น
 
ขณะที่ วรรค 3 ระบุ บทบัญญัติวรรค 1 และ วรรค 2 มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร
 
โดยมาตรา 43 พระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดว่า หากผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 32 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งวรรค 2 บัญญัติด้วยว่า นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
ขณะที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 บัญญัติ ว่าบุคคลจะต้องได้รับผิดทางอาญา ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นเเต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญัติให้ต้องรับผิดเมื่อกระทำโดยประมาทหรือเว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งให้ต้องรับโทษแม้โดยกระทำไม่มีเจตนา โดยวรรค 2 ระบุ กระทำโดยเจตนา ได้แก่การกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลในการกระทำนั้น
 
จากบทบัญญัตของกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า การกระทำใด จะเป็นความผิดได้ต้องครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนด และต้องมีเจตนาชักจูงให้ผู้อื่นดื่มไม่ว่าทางตรงหรือทางอัอม ซึ่งความรับผิดทางอาญาต้องมีเจตนา เว้นแต่กฎหมายจะกำหนดให้รับผิดด้วยแม้จะกระทำโดยประมาท
 
เมื่อถามว่า หากการถ่ายภาพและการโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอลฮอล์แม้จะติดฉลากเครื่องดื่มเพียงเล็กน้อย และเป็นการโพสต์เฮฮาในกลุ่มเพื่อน ไม่มีข้อความชักชวนให้ซื้อเครื่องดื่มยี่ห้อนั้น จะมีความผิดหรือไม่ นายสราวุธ เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายเเห่งเนติบัณฑิตสภา กล่าวว่า หากข้อเท็จจริงไม่แสดงให้เห็นว่าผู้โพสต์ภาพต้องการชักจูงให้ดื่มไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ก็ไม่ผิด
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท