Skip to main content
sharethis
ศ.ดาโต๊ะ ดร.ออสมาน บาการ์จากมหาวิทยาลัยบรูไน ระบุมุสลิมไม่ได้มีมิติเดียว ทั้งมินดาเนา, ปาตานีและอาเจะห์ก็มีจุดร่วมและจุดต่าง แต่จะก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้อย่างไร ชี้ความรู้คือแนวทางสู่สันติภาพ แต่ปัจจุบันเราใช้ความรู้สึก ชี้การสานเสวนาจะนำสู่สันติได้
 
 
ศ.ดาโต๊ะ ดร. ออสมาน บาการ์ ผู้อำนวยการศูนย์อิสลามศึกษาสุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดีน มหาวิทยาลัยบรูไนดารุสลาม (Universiti Brunei Darussalam)
 
ศ.ดาโต๊ะ ดร. ออสมาน บาการ์ ผู้อำนวยการศูนย์อิสลามศึกษาสุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดีน มหาวิทยาลัยบรูไนดารุสลาม (Universiti Brunei Darussalam) ประเทศบรูไน อภิปรายสะท้อนความคิดจากปาฐกถาจาก 3 พื้นที่ขัดแย้ง คือ อาเจะห์, มินดาเนา และปาตานีหรือชายแดนใต้ของไทย ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ TriPEACE via ASEAN Muslim Societies (ไตรสันติภาพบนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซียน) เรื่อง Muslim Societies, Knowledge and Peacebuilding in Southeast Asia “สังคมมุสลิม, ความรู้ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
ศ.ดาโต๊ะ ดร.ออสมาน บาการ์ : งานนี้สำคัญต่ออาเซียน
 
ศ.ดาโต๊ะ ดร. ออสมาน บาการ์ กล่าวถึงธีมของการจัดการประชุมครั้งนี้ที่ว่าด้วย “สังคมมุสลิม ความรู้ และการสร้างสันติภาพ” เป็นธีมที่ดีมากซึ่งจำเป็นต้องมีการสานต่อ การจัดงานครั้งนี้ยังเป็นสิ่งสำคัญต่ออาเซียน ซึ่งเรากำลังมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็นประชาคมเดียวกัน นับได้ว่าเป็นข้อท้าทาย เพราะอาเซียนถือเป็นกลุ่มภูมิภาคที่มีความหลากหลายที่สุดก็ว่าได้ โดยเฉพาะในด้านศาสนา แม้ว่าอาเซียนจะเน้นไปที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ก็ไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้ถ้าขาดปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยหนุนเสริม ในภาวะของความต่างทั้งด้านศาสนาและเชื้อชาติ นี้จึงมีความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องอยู่ในภาวะของการใช้ชีวิตได้อย่างสันติ
 
ประเด็นที่สอง คือ ครั้งนี้เป็นการรวมตัวของ 3 พื้นที่ขัดแย้ง ซึ่งคาดหวังว่าจะมีความร่วมมือที่ดีแบบนี้ต่อไป ประการที่สาม คือ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ดาโต๊ะเองได้ติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ในมินดาเนาหรืออาเจะห์อย่างต่อเนื่อง เห็นถึงความล้มเหลวและความสำเร็จที่มี แต่ในปัจจุบันนี้ ก็นับได้ว่าเป็นสิ่งที่เป็นสัญญาณที่ดี
มินดาเนา,ปาตานีและอาเจะห์มีจุดร่วมและจุดต่าง
 
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญของการจัดงานครั้งนี้คือ การใช้คำว่าสังคมมุสลิมที่มี “s” นับว่าเป็นการยอมรับว่าสังคมมุสลิมไม่ได้มีมิติเดียว เพราะมีความต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แม้กระทั่งในบริบทของโลกมาเลย์เอง ก็ต้องทำความเข้าใจสังคมมุสลิมมินดาเนา สังคมมุสลิมปาตานีหรือสังคมมุสลิมอาเจะห์ แน่นอนว่าทั้ง 3 พื้นที่เป็นสังคมมุสลิม มีฐานคิดของอิสลามเหมือนกัน แต่เมื่อมองไปที่แก่นของความขัดแย้งของทั้ง 3 พื้นที่แล้ว ก็มีบริบททางประวัติศาสตร์และรากทางสังคมวัฒนธรรมบางอย่างที่ต่างกันไป มีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง
 
ฉะนั้นเมื่อรากของปัญหามีความต่างแล้ว ก็ไม่สามารถคาดหวังให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในรูปแบบเดียวกันได้ จำเป็นต้องมีการศึกษาถึงจุดเหมือนและจุดต่างของความขัดแย้ง จุดที่เหมือนอาจมีการริเริ่มแนวทางจัดการปัญหาร่วมกันของภูมิภาค ในขณะที่จุดต่างก็จะต้องรับรู้และให้เห็นถึงแนวทางแก้ไขเฉพาะในแต่ละพื้นที่ ในการสร้างสันติภาพนี้ไม่มีหนทางเฉพาะ มีขั้นตอนของการพัฒนาและจัดการที่ต่างกันไป
ความรู้คือแนวทางที่จะนำไปสู่เป้าหมาย
 
แน่นอนว่าเป้าหมายของเราคือการสร้างสันติภาพ แต่สำหรับดาโต๊ะนั้น ความรู้คือแนวทางที่จะนำไปสู่เป้าหมาย การศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ การจัดการองค์ความรู้ของอิสลามที่จะต้องดำเนินคู่กันไปในกรอบคิดไม่ว่าเป็นฟัรดูอีน(บังคับทุกคน) หรือฟัรดูกีฟายะห์(บังคับสำหรับสังคม/ชุมชน) การศึกษาจำเป็นต้องเข้าถึงทุกระดับ และสิ่งหนึ่งที่สำคัญของความรู้คือการสนทนา ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นระหว่างอิสลามกับสิ่งภายนอกเท่านั้นแต่ภายในอิสลามด้วยเช่นกัน เนื่องจากในสังคมมุสลิมกันเองเราก็มีความขัดแย้งต่อกัน องค์ความรู้แบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่ก็มีความขัดแย้งต่อกัน
การสานเสวนานี้เป็นสิ่งจำเป็นที่เราเห็นได้จากบทเรียนของมินดาเนาที่มีการสานเสวนาระหว่างมุสลิมกับคริสเตียนอยู่บ่อยครั้ง การสานเสวนานี้ไม่ได้หมายถึงการเสวนาในประเด็นทางปรัชญาศาสนา หากแต่เป็นประเด็นร่วมกันไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การพัฒนาสังคม เราจำเป็นต้องศึกษาถึงศิลปะของการอยู่ร่วมกัน
 
ท้ายสุด แน่นอนว่าอิสลามไม่ได้สอนถึงความรุนแรง เราจำเป็นที่จะต้องใช้การเสวนาร่วมกัน มองบนฐานของความเป็นมนุษย์ที่เป็นลูกหลานของท่านนะบีอาดัมเหมือนกัน เราจำเป็นต้องสื่อสารถึงสังคมมุสลิมให้ใช้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง 
 
ในปัจจุบันเราใช้ความรู้สึกของเราที่มีต่อผู้อื่น มิใช่ความรู้ ถ้าเราเข้าถึงองค์ความรู้อิสลามแล้วแน่นอนว่ามีรายละเอียดอยู่ แต่เราไม่ได้นำมันมาพัฒนาต่อ ไม่ว่าจะใช้เพื่อพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพยากรมนุษย์ก็ตาม ขณะเดียวกันก็ควรเปิดพื้นที่ให้กับทรัพยากรจากสังคมอื่นให้เข้ามาได้ด้วยเช่นกัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net