Skip to main content
sharethis

บีอาร์เอ็นให้สัมภาษณ์นิเคอิ เอเชียน รีวิว บอกไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับ 'มาร่า ปาตานี' หรือ องค์กรร่วมของขบวนการปลดแอกเอกราชซึ่งร่วมคุยกับรัฐบาลไทย ยืนยันว่ายังดำเนินการทางทหารในพื้นที่พร้อมดำเนินงานการเมืองในเวทีโลก- ขณะเดียวกันพบเอกสารอ้างว่าเป็นแถลงการณ์บีอาร์เอ็น ระบุไม่ปฏิเสธแนวทางสันติวิธี แต่เรียกร้องให้มีกระบวนการสันติภาพที่มีองค์กรต่างประเทศมาร่วมและทำอย่างจริงใจและโปร่งใส

12 ต.ค. 58 ตัวแทนสี่คน ซึ่งอ้างตัวว่า เป็นฝ่ายข้อมูลของบีอาร์เอ็น หรือ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี :ซึ่งเป็นองค์กรปลดแอกเอกราชสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์กับ นิเคอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่า องค์กรบีอาร์เอ็นไม่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยกับรัฐบาลไทย และมองด้วยว่า การพูดคุยนี้เป็น “ปรากฎการณ์ในแง่ลบ” ในขณะที่มีเอกสารที่อ้างว่า เป็นแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นเผยแพร่ออกมาในอินเทอร์เน็ตวันนี้ กล่าวว่า บีอาร์เอ็นไม่ได้ปฏิเสธกระบวนการสันติภาพ หากแต่ต้องทำอย่างจริงใจ และไม่ใช่อุบายทางการเมือง

โดยประชาไทแปลและถอดความบทความในนิเคอิ โตเกียว รีวิว ชื่อ Thailand condlict: Southern Thai insurgents stake out peace terms ซึ่งเขียนโดย แอนโทนี เดวิส โดยตัวแทนของบีอาร์เอ็นคนหนึ่งกล่าวว่า “ให้ผมพูดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพตอนนี้: บีอาร์เอ็นจะไม่มีวันเกี่ยวข้องเด็ดขาด” และกล่าวด้วยว่า “วิธีการที่กระบวนการนี้ถูกจัดขึ้น ถูกคัดค้านอย่างหัวชนฝาโดยบีอาร์เอ็นตั้งแต่แรก” แต่เขาก็กล่าวเสริมว่า บีอาร์เอ็นไม่ได้ปฏิเสธการเจรจา และกระบวนการสันติภาพ “หากการพูดคุยนั้นเคารพมาตรฐานและวิธีการสากล”

ผู้แทนของบีอาร์เอ็นนั้นนำโดย ชายคนหนึ่งซึ่งแนะนำตัวเองว่าชื่อ “ยูซูฟ” พบกับ แอนโทนี เดวิส นักเขียนรับเชิญของ นิเคอิ เอเชียน รีวิว ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ณ เมืองหลวงหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และให้สัมภาษณ์เป็นภาษามาเลย์

ยูซูฟกล่าวกับ นิเคอิ เอเชียน รีวิวว่า บีอาร์เอ็นเชื่อว่า กระบวนการสันติภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับมาร่าในตอนนี้ ซึ่งมีผู้ที่อ้างว่าตัวเองเป็นบีอาร์เอ็นอยู่ด้วยอย่างน้อยสี่คน นั้นไม่มีความน่าเชื่อถือ และควรจะล้มเลิกไปซะ เพื่อให้เกิดการริเริ่มใหม่ และหากมีการเจรจาอีกครั้งก็ควรจะเอากลุ่มปลดแอกเอกราชหลากหลายกลุ่ม และภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมด้วย “เราได้เตรียมที่จะเชิญ หรือสร้างพื้นที่ ให้กับภาคส่วนอื่นๆ ด้วย เพราะปัญหานี้เกี่ยวข้องกับทุกคนในปาตานี”

“เรายินดีที่มาเลเซียมาเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพใดๆ แต่มาเลเซียอย่างเดียวนั้นไม่พอ” ยูซูฟกล่าว “มันจำเป็นต้องมีองค์กรนานาชาติอื่นๆ มาร่วมด้วย พูดตรงๆ ก็คือ เรามีความไม่ไว้ใจอย่างสูงกับการพูดคุยใดๆ กับรัฐบาลไทย ซึ่งไม่ได้นำเอาประชาคมนานาชาติมาเกี่ยวข้องด้วย”

“เราไม่รู้สึกว่ามันแปลก เมื่อไหร่ที่มีการเจรจา คุณจะเห็นการมีส่วนร่วมจากประชาคมนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือ องค์กรเอกชนนานาชาติ นี่มันเป็นเรื่องปกติมากๆ”

แม้พวกเขายอมรับว่า มีความรุนแรงลดลง ผู้แทนบีอาร์เอ็นกลับปฏิเสธที่จะยอมรับว่า กลุ่มก่อความไม่สงบนั้นเริ่มเสียโมเมนตัม เพราะเจอฏิบัติการต่อต้าน และการสูญเสียการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ พวกเขากล่าวว่า บีอาร์เอ็นกำลังขยายการทำงานทางการเมืองทั้งภายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในเวทีนานาชาติ ในขณะที่ยังคงรักษาการกดดันทางทหารเอาไว้

“การลดลงของปฏิบัติการทางทหารเป็นแค่เรื่องชั่วคราว แต่ภาพใหญ่ของกลุ่มนั้น เรายังเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เครื่องพิสูจน์ก็คือ หลังการรัฐประหาร [พ.ค. 2557] รัฐบาลชุดนี้มากดดันเราอย่างหนัก แต่เราก็ยังคงปฏิบัติการต่อไป หากใครก็ตามในกองทัพไทยคิดว่า นี่จะจบลงในไม่กี่ปี ผมขอบอกไว้ง่ายๆ ว่า ให้พวกเขารอดู”

ตัวแทนบีอาร์เอ็นกล่าวว่า เขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารและยุทธวิธี อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามว่า บีอาร์เอ็นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระเบิดนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ยูซูปฟกล่าวว่า “ในทางหลักการแล้ว ปฏิบัติการที่อยู่นอกปาตานีนั้นไม่ใช่นโยบายของเรา อย่างไรก็ตาม ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง มันไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่เหตุการณ์อย่างนั้นจะเกิดขึ้น”

ยูซูฟยังกล่าวกับ นิเคอิ เอเชียน รีวิว อีกว่า บีอาร์เอ็นได้เฝ้าติดตามข่าวเกี่ยวกับกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย (ไอเอส) อย่างใกล้ชิด “เหตุการณ์ในตะวันออกกลาง และอุดมการณ์สุดโต่ง คือสิ่งที่เรารู้สึกว่า ห่างไกลพวกเรามากๆ เนื่องจากบีอาร์เอ็นถูกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2503 อุดมการณ์ของบีอาร์เอ็นได้ถูกพัฒนาจนไปไกลกว่า การก่อการร้ายและกลุ่มสุดโต่งที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศาสนา และเราก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับมัน”

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเพิ่มว่า บีอาร์เอ็นนั้นกังวลกับอิทธิพลของไอเอสต่อเยาวชนมุสลิมในสามจังหวัด “เราอยู่ในโลกโลกาภิวัฒน์ และมันยากมากที่จะป้องกันไม่ให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลจากภายนอก แต่เราก็ระแวดระวังเทรนด์ของโลกที่อาจทำให้เยาวชนเราลุ่มหลง”

แอนโทนี เดวิส ตั้งข้อสังเกตไว้ตอนท้ายว่าา การเก็บตัวของบีอาร์เอ็นนั้นแสดงถึงความพยายามที่จะแยกตัวเองออกจากมาร่า และพวกเขายังดูไม่มีความคาดหวังต่อรัฐบาลทหารไทย ว่าจะยอมรับข้อเรียกร้องเพื่อสืบสานการเจรจาที่แท้จริง 

 

แถลงการณ์บีอาร์เอ็น ย้ำไม่ได้ปฏิเสธเจรจาสันติภาพแต่รัฐไทยต้องจริงใจ

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ (12 ต.ค.) มีการเผยแพร่เอกสารที่อ้างว่าเป็นแถลงการณ์ของฝ่ายข้อมูล ของบีอาร์เอ็น โดยลงวันที่ 12 ตุลาคม โดยใจความสำคัญระบุว่าไม่ได้ปฏิเสธกระบวนการเจรจาสันติภาพ แต่รัฐไทยจะต้องจริงใจและไม่ใช้การเจรจาเป็นอุบายทางการเมือง

ในขณะที่เอกสารที่อ้างว่าเป็นแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็น กล่าวว่า “ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าขบวนการบีอาร์เอ็นปฏิเสธสันติวิธีหรือกระบวนการสันติภาพผ่านการพูดคุยสันติภาพและการเจรจา บีอาร์เอ็นได้ตระเตรียมการที่จะบรรลุสันติภาพผ่านสันติวิธี อย่างไรก็ตามกระบวนการสันติภาพนั้น จะต้องให้เกียรติและจริงใจที่จะต้องการมีสันติภาพจริงๆ ไม่ใช่การใช้กระบวนการสันติภาพเป็นรูปแบบหนึ่งของอุบายทางการเมืองเพื่อหลอกลวงและบ่อนเซาะยุทธศาสตร์เพื่อความก้าวหน้าของประชาชนมลายู-ปาตานี”

ทั้งนี้แถลงการณ์ดังกล่าวลงวันที่ 12 ตุลาคม 2015 หรือสองวันหลังวันครบรอบการก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธ ของบีอาร์เอ็น ประชาไท ยังไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของแถลงการณ์ได้

ในเอกสารดังกล่าว บีอาร์เอ็น ยังอ้างถึงเงื่อนไข 5 ประการที่เคยเสนอไปถึง “การยึดครองโดยสยาม” ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการสันติภาพที่ประเทศไทยแสดงออกเหมือนว่าได้สอบถามประชาชนมลายู-ปาตานี ผ่านกระบวนการเจรจากับบีอาร์เอ็น โดยในแถลงการณ์ตั้งคำถามว่าเป็นความจริงใจหรือไม่ และระบุด้วยว่า การเจรจาควรดำเนินไปอย่างเป็นทางการ ยึดมาตรฐานและบรรทัดฐานของนานาชาติ ซึ่งรวมถึงการมีคนกลางและผู้สังเกตการณ์จากประเทศอื่น “เพราะปัญหาของปาตานีเป็นเรื่องของการที่ชาติหนึ่งยึดครองอีกชาติหนึ่งเป็นอาณานิคม จุดยืนและการมีอยู่ของชาติมลายู-ปาตานีจะต้องได้รับการรับรอง”

“แต่เป็นที่ชัดเจนว่าประเทศไทยไม่เคยยอมรับข้อเท็จจริงว่ารากฐานของปัญหาปาตานีคือการยึดครองและการทำให้เป็นอาณานิคม ด้วยเหตุผลนี้ ประเทศไทยจึงปฏิเสธเงื่อนไขห้าประการ (ในปี 2556) ตั้งแต่เจรจาครั้งแรก” ในแถลงการณ์ยังกล่าวด้วยว่า “การยึดครองของสยาม” มุ่งที่จะกลืนชาติและทำให้คนมลายูกลายเป็นคนสยามผ่านระบบการศึกษาทั้งที่คนมลายูก็มีอัตลักษณ์ของตน อย่างไรก็ตามในแถลงการณ์อ้างว่า “กระบวนการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงใช้การหลอกลวงเพื่อทำลายคนรุ่นหนุ่มสาวของปาตานีด้วยการอนุญาตให้มีการใช้ยาเสพติดเพื่อทำให้สถานการณ์เลวร้าย และเพื่อกล่าวหาว่ากลุ่มนักรบที่ต้อต้านรัฐไทยเกี่ยวข้องด้วย” ในแถลงการณ์ยังกล่าวด้วยว่า “เพราะผู้ยึดครองทั่วโลกต่างหวาดกลัวการลุกฮือของประชาชน นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ “การยึดครองของสยาม” พยายามที่จะเจือยาพิษให้กับคนรุ่นหนุ่มสาวของปาตานีด้วยยาเสพย์ติดและความชั่วร้ายต่างๆ” แถลงการณ์ที่อ้างว่าเป็นของบีอาร์เอ็นกล่าว

ในตอนท้ายของแถลงการณ์ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้ ระบุด้วยว่า การต่อสู้ของบีอาร์เอ็น เป็นการต่อสู้ของประชาชนเพื่อปกป้องเอกราชและนำมาตุภูมิกลับคืนมา ซึ่งสิ่งดังกล่าวเป็นสิทธิของทุกชาติที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเอง โดยในแถลงการณ์อ้างถึงมติของสมัชชาใหญ่แห่งประชาชาติที่ 1514 (มติที่ 1514 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2503)  ในแถลงการณ์ระบุอีกว่า บีอาร์เอ็นเชื่อว่าไม่มีการต่อสู้เพื่ออิสรภาพเพื่อให้เกิดสันติภาพใด ที่จะไม่มีเหยื่อ ด้วยเหตุนี้บีอาร์เอ็นจึงพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อลดผู้ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุดในความขัดแย้งนี้ นี่จึงทำให้เห็นว่าประชาชนยังคงสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ บีอาร์เอ็นเชื่อว่าประชาชนทุกคนของปาตานีจากทุกพื้นฐานและศาสนาจะต้องมีชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต ซึ่งจะต้องเป็นอิสระจากการยึดครอง การกดขี่ และการถูกเลือกปฏิบัติ “บีอาร์เอ็นสนับสนุนทุกๆ ความพยายามของทุกๆ กลุ่ม ในทุกๆ ภาคส่วน ในเงื่อนไขที่ว่าความพยายามของพวกเขาเป็นไปเพื่อสร้างปาตานี ไม่ใช่บ่อนทำลายปาตานี อย่างกรณีที่เกิดขึ้นจาก “การยึดครองของสยาม” ที่ไม่มีเกียรติ”

ในตอนท้ายของแถลงการณ์ยังทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “เป็นไปไม่ได้ที่ปาตานีจะไม่ได้รับอิสรภาพ อิสรภาพ และอิสรภาพ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net