บทความแปล: แอนโธนี กิดเดนส์ กับทฤษฏี “หนทางเส้นที่ 3” ของคนรุ่นใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แอนโธนี กิดเดนส์ (Anthony Giddens) คือ นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษที่ยังถือกันว่าเป็นนักสังคมศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษ นับตั้งแต่จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์ผู้สนับสนุนให้รัฐแทรกแซงตลาดเป็นต้นมา กิดเดนส์เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม ปี 1938 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฮัลล์ และปริญญาโทที่ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ (London School of Economics) จนมาถึงปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาเคยเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลและมีอิทธิพลทางความคิดต่อนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในแนวคิดทางเศรษฐกิจบน "หนทางเส้นที่ 3" หรือ The Third Way อันเป็นการผสมผสานแนวคิดตลาดเสรีและการแทรกแซงของรัฐ ในบรรดาหนังสือ 34 เล่ม ที่ถูกตีพิมพ์นั้น ได้เสนอแนวคิดทางสังคมวิทยาสำคัญ ๆ ไว้หลายประการ หนังสืออันโด่งดัง ได้แก่ Central Problems in Social Theory (1979), The Constitution of Society (1984), Consequence of Modernity (1990), Modernity and Self-Identity (1991), The Transformation of Intimacy (1992), Beyond Left and Right (1994) และ The Third Way: The Renewal of Social Democracy (1998)

บทความต่อไปนี้เป็นการแปลจากบทความที่ชื่อ “แอนโธนี กิดเดนส์:ซ้ายหรือขวา หรืออะไรกันแน่?” เขียนโดยคุณเดวิด กานต์เลตต์ จาก www.theory.org.uk ที่จะทำให้เราทราบถึงแนวคิดของนักสังคมวิทยาผู้นี้อย่างคร่าว ๆ กระนั้น ผู้แปลได้ตัดและต่อบางประโยคออกไปเพื่อความเหมาะสม และความสละสลวยของประโยคยิ่งขึ้น

นักทฤษฎีคลาสสิกสุดเจ๋ง

กิดเดนส์นั้นยอดเยี่ยม เพราะเขาผสมผสานรูปแบบสังคมวิทยาแบบดั้งเดิมหรือคลาสสิกเข้ากับความคิดร่วมสมัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเขาก็มีความสุขในการผสมผสานทฤษฎีใหม่พร้อมด้วยมุมมองทางสังคมวิทยาอื่น ๆ ที่เป็นกระแสหลักแต่ก็ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นพวกหัวอนุรักษ์นิยมแก่ ๆ นั่นคือเขาไม่พยายามจะเบียดขับผลกระทบของลัทธิสตรีนิยม (Feminism) ออกไปจากความเข้าใจของตนที่มีต่อสังคมและพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางเพศสภาพ (gender) เป็นสิ่งสำคัญ

อยู่บนฝั่งเทวดา

กิดเดนส์จะไม่ปฏิเสธว่ามาร์กซ์มีความสำคัญในการพัฒนา "วิทยาศาสตร์สังคม" และสัญชาติญาณของเขาดูเหมือนจะเป็นคนจิตใจงามซึ่งสามารถพบได้ในหัวใจทางทฤษฎีของ "พวกเอียงซ้าย" แต่เขาก็ขุ่นเคืองต่อการแบ่งแยกเป็นซ้ายกับขวาในการวิเคราะห์ทางสังคม และในอดีตเขาได้รับการระบุว่าเป็นหนึ่งในสถาปนิกของ "หนทางเส้นที่ 3 " ซึ่งนายโทนี แบลร์และนายแกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์ (นายกรัฐมนตรีอังกฤษและเยอรมันคนก่อน) อาจมีความสนใจ ถึงแม้ความคิดของกิดเดนส์เกี่ยวกับ "หนทางเส้นที่ 3" จะดูจริงแท้และซับซ้อนกว่าการผสมกันระหว่างแนวคิดซ้ายและขวาของนายแบลร์ (หนังสือ ของกิดเดนส์ คือ The Third Way: The renewal of social democracy (1998) และ The Third Way and its Critics (2000)).

ในวิชาสังคมวิทยา มีการแบ่งแยกอย่างยาวนานระหว่างกลุ่มนักทฤษฎีผู้ให้ความสำคัญแก่การศึกษาเกี่ยวกับชีวิตเชิงสังคมในระดับมหภาคนั่นคือการมอง "ภาพใหญ่" ของสังคม และกลุ่มนักทฤษฎีผู้เน้นระดับจุลภาคหรือ “ภาพย่อย” ของสังคม นั่นคือมองว่าชีวิตประจำวันมีความหมายต่อปัจเจกชน กิดเดนส์มักจะมายุ่งเกี่ยวกับการแบ่งแยกเช่นนี้ เขาดูเหมือนจะยกย่องแนวโน้มของอีมิล เดอร์ไคหม์ (Emile Durkheim) ต่อทฤษฏีโดยกว้างเกี่ยวกับสังคมและตัววิชาสังคมวิทยาเอง (หนังสือของเขาที่เกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยยังล้อตามชื่องานอันยิ่งใหญ่ของเดอร์ไคหม์ ชื่อ New Rules of Sociological Method) 

แต่กิดเดนส์ปฏิเสธความคิดของเดอร์ไคหม์ที่ว่าเราควรจะสามารถสร้างกฎซึ่งพยากรณ์ว่าสังคมดำเนินไปอย่างไรโดยไม่มองความหมายซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยตัวละครที่เป็นปัจเจกชนในสังคม กิดเดนส์นั้นมีจุดยืนที่ใกล้ชิดกับ "เจ้าพ่อ" แห่งวิชาสังคมวิทยาอีกท่านหนึ่ง นั่นคือแม็ก เวเบอร์ (Max Weber) ผู้เห็นว่าการเลือกในการมีพฤติกรรมเชิงสังคมของปัจเจกชนเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด แต่กิดเดนส์ตระหนักว่าแนวคิดทั้งสองมีคุณค่าและด้วยชีวิตเชิงสังคมทั้งระดับมหภาคและจุลภาคนั้นต่างมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันตามธรรมชาติ คุณไม่ควรจะอยู่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ดังนั้นเขาจึงบังเกิดทฤษฎี structuration ซึ่งเป็นตัวเชื่อมทั้งสองด้านนี้

ทฤษฎี Structuration

Structuration

ทฤษฏีนี้ของกิดเดนส์เห็นว่าชีวิตเชิงสังคมเป็นไปมากกว่าการกระทำของปัจเจกที่ไม่เป็นระเบียบแต่ก็ไม่ได้ถูกกำหนดเพียงอย่างเดียวจากพลังทางสังคม หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งคือมันไม่ใช่เป็นเพียงกลุ่มก้อนของกิจกรรมในระดับจุลภาค แต่คุณก็ไม่สามารถศึกษามันโดยมองเพียงการอธิบายระดับมหภาค กิดเดนส์เสนอความคิดว่าความเป็นมนุษย์และโครงสร้างสังคมมีความสัมพันธ์ต่อกันและกัน และมันเป็นการกระทำของปัจเจกชนที่ซ้ำไปซ้ำมาจนก่อให้เกิดโครงสร้างทางสังคมนั่นคือ จารีตประเพณี สถาบัน หลักศีลธรรม และวิธีการทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นกระแสหลัก แต่มันยังหมายความว่าสิ่งเหล่านั้นสามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้เมื่อประชาชนเริ่มที่จะเพิกเฉยต่อพวกมัน โดยเอาสิ่งอื่นมาแทนที่หรือผลิตซ้ำพวกมันให้มีความแตกต่าง...

ระเบียบและการผลิตซ้ำทางสังคม

แต่ถ้าปัจเจกชนพบว่ามันยากที่จะกระทำในทางใด ๆ ที่พวกเขาวาดฝันไว้ อะไรคือธรรมชาติของพลังทางสังคมที่มองไม่เห็นซึ่งทำให้เกิดแรงต้านนั้น? กิดเดนส์พบว่าคำตอบคือการนำไปอุปมาอุปไมยกับภาษา นั่นคือถึงแม้ภาษาจะเกิดขึ้นเพียงในเหตุการณ์ที่เราพูดหรือเขียนถึงมัน ผู้คนจะตอบสนองอย่างรุนแรงต่อผู้ที่เพิกเฉยต่อกฎและระเบียบของมัน ในทางเดียวกัน "กฎ" ของระเบียบทางสังคมอาจจะอยู่เพียง "ในหัวของเรา" กล่าวคือพวกมันมักไม่ได้ถูกเขียนลงไปและมักจะไม่มีอำนาจอย่างเป็นรูปธรรมในการเกื้อหนุนพวกมัน กระนั้นคนทั่วไปอาจจะตกใจเมื่อการคาดหวังทางสังคมที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้รับการปฏิบัติตาม

การศึกษาเชิงสังคมวิทยาของฮาโรลด์ การ์ฟิงเกล ในทศวรรษที่ 60 พบว่าเมื่อบุคคลตอบสนองในรูปแบบที่ไม่ได้เป็นไปตามคาดหวังต่อคำถามหรือสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ผู้แสดงคนอื่นสามารถตอบกลับอย่างโกรธแค้นต่อการล่วงละเมิดความเข้าใจร่วมกันของ "พฤติกรรมแบบปกติ" นี้ (ดู Garfinkel ปี1984 (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1967)).ในกรณีของเรื่องเพศสภาพ รูปแบบของการผลิตซ้ำทางสังคมนี้ก็ยิ่งชัดเจนมาก ดังนั้นการกระทำในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้เสริมสร้างและผลิตซ้ำชุดของการคาดหวังและมันเป็นชุดของการคาดหวังของคนอื่นแบบนี้เองที่ก่อให้เกิด "พลังทางสังคม " และ "โครงสร้างทางสังคม" ซึ่งนักสังคมวิทยาทั้งหลายพูดถึง ดังที่กิดเดนส์ได้กล่าวไว้ว่า "สังคมมีเพียงรูปแบบและรูปแบบได้เพียงแค่มีผลกระทบต่อมนุษย์ ดังนั้นโครงสร้างจึงถูกผลิตและผลิตซ้ำในสิ่งที่มนุษย์กระทำ" (Giddens & Pierson, 1998, หน้า 77)

ยุคสมัยใหม่ ยุคหลังยุคใหม่และยุคหลังจารีต (Modernity, post-modernity and the post-traditional)

ประเด็นเกี่ยวกับยุคสมัยใหม่

พวกเราไม่ได้อยู่ในยุคหลังสมัยใหม่ กิดเดนส์กล่าวว่าไว้ มันเป็นเวลาแห่งยุคสมัยใหม่ช่วงปลาย ๆ ต่างหาก เขาไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตเชิงสังคมซึ่งนักวิชาการทั้งหลายขนานนามว่าเป็นแนวคิดแบบยุคหลังสมัยใหม่ ดังเช่นความสงสัยต่อการพรรณนาอันยิ่งใหญ่ (Grand narrative) ความผิวเผินที่ถูกปรุงแต่ง ลัทธิบริโภคนิยม และอื่น ๆ  กิดเดนส์ไม่โต้แย้งต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น แต่เขากล่าวว่าเราไม่ได้ก้าวพ้นยุคสมัยใหม่จริง ๆ มันเพียงแค่เปลี่ยนรูปร่างเท่านั้น

ดังนั้นจึงเป็นการไม่เหมาะสมที่จะเรียกว่าเป็นยุคหลังสมัยใหม่ มันเป็นเพียงยุคสมัยใหม่ที่ถูกประโคมขึ้นเท่านั้น หรือกล่าวได้ว่าเป็นยุคสมัยใหม่ตอนปลาย กิดเดนส์นั้นกล่าวถูกต้องอย่างแน่นอนที่ว่า ยุคหลังสมัยใหม่ไม่ใช่ยุคใหม่ (new era) อย่างสิ้นเชิง แต่นักคิดคนสำคัญของยุคหลังสมัยใหม่อย่างเช่น ฌอง ฟรองซัวส์ ลีโอตารด์ก็ไม่ได้กล่าวจริง ๆ ว่า ยุคหลังสมัยใหม่นั้นเข้ามาแทนที่และไล่ตามยุคสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม การเน้นไปที่ยุคสมัยใหม่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะความขัดแย้งซึ่งสำคัญที่สุดสำหรับกิดเดนส์นั้นอยู่ที่วัฒนธรรมยุคก่อนสมัยใหม่ (จารีต) และวัฒนธรรมสมัยใหม่ (หลังจารีต) ปรากฏการณ์เหล่านั้นซึ่งบางคนเรียกว่าเป็น "ยุคหลังสมัยใหม่" ตามการนิยามของกิดเดนส์ มักเป็นรูปแบบสุดโต่งของยุคสมัยใหม่ที่ถูกพัฒนาอย่างเต็มที่

ยุคหลังจารีต

เป็นเรื่องสำคัญว่าการจะเข้าใจต่อกิดเดนส์ได้ต้องมุ่งไปที่ความสนใจในธรรมชาติของยุคหลังจารีตที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อจารีตเข้าครอบงำ การกระทำของปัจเจกชนนั้นไม่ต้องถูกวิเคราะห์และคำนึงถึงมากนักเพราะการเลือกได้ถูกกำหนดโดยจารีตและประเพณี (แน่นอน นี่ไม่ได้หมายความว่าจารีตจะไม่สามารถได้รับการคำนึงถึงหรือถูกท้าทาย) อย่างไรก็ตาม ในยุคหลังจารีต เราไม่ได้วิตกกังวลเกี่ยวกับจารีตที่ถูกสร้างโดยชนรุ่นก่อน และทางเลือกนั้นจะเป็นไปอย่างน้อยที่สุดดังที่ถูกกำหนดไว้โดยกฎหมายและความคิดของสาธารณชน คำถามทั้งหมดเกี่ยวกับว่าจะทำตัวอย่างไรให้เหมาะสมในสังคมกลายเป็นเรื่องสำคัญซึ่งเราจะต้องนำมาพิจารณาและตัดสินใจเกี่ยวกับมัน สังคมนั้นดูเหมือนจะทวีความตระหนักถึงตัวเองและครุ่นคิดมากขึ้นถึงสภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างหมิ่นเหม่ กิดเดนส์ประทับใจกับปริมาณของการตระหนักในตัวเองเช่นนี้ ซึ่งได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกแง่มุมของสังคม ตั้งแต่รัฐบาลไปจนถึงความสัมพันธ์ทางเพศ

ยุคสมัยใหม่นั้นเป็นยุคหลังจารีต สังคมไม่สามารถเป็นยุคสมัยใหม่ได้อย่างเต็มที่หากทัศนคติ พฤติกรรม หรือสถาบัน ได้รับอิทธิพลอย่างยวดยิ่งจากจารีต เพราะการยอมต่อจารีตหรือทำสิ่งต่าง ๆ เพียงเพราะคนอื่นในอดีตบอกให้ทำคือสิ่งตรงกันข้ามกับการตระหนักถึงตัวเองแบบยุคสมัยใหม่ ดังนั้น กิดเดนส์เห็นว่าสังคมทั้งหลายซึ่งพยายามทำตัวเองให้ทันสมัยตามรูปแบบกระแสหลักโดยกลายเป็นบางสิ่งเช่นประชาธิปไตยทุนนิยม แต่ก็ไม่ทอดทิ้งจารีตอื่น ๆ เช่นความไม่เท่าเทียมกันทางเพศดูเหมือนจะล้มเหลวในความพยายามที่จะกลายเป็นสังคมสมัยใหม่

ยุคสมัยใหม่และอัตลักษณ์ส่วนบุคคล 

ยุคสมัยใหม่และตัวตน

ในสังคมสมัยใหม่ซึ่งไม่ได้หมายความถึง "สังคมทั้งหลายในปัจจุบัน" แต่เป็น "สังคมทั้งหลายซึ่งมีความเป็นสมัยใหม่ได้ถูกพัฒนาอย่างเต็มที่" อัตลักษณ์ส่วนบุคคลกลายเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้จะมีคนกล่าวว่าพวกเขาไม่เคยสนใจต่อคำถามหรือความวิตกเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตัวเอง แต่พวกเขาก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงต่อการถูกบังคับให้ตัดสินใจเลือกในสิ่งต่าง ๆ ตลอดชีวิตของตน ไม่ว่าการแต่งกาย หน้าตา หรืองานอดิเรก จนไปถึงการตัดสินใจที่มีผลกระทบอย่างมาก เช่นความสัมพันธ์ทางเพศ ความเชื่อ และอาชีพ ในขณะที่สังคมยุคก่อนหน้านี้พร้อมระเบียบทางสังคมซึ่งตั้งมั่นคงบนจารีตได้มอบบทบาท(เกือบจะ)ชัดเจนแก่ปัจเจกชน แต่ในสังคมยุคหลังจารีตนั้น เราต้องสร้างนิยามให้กับตัวเอง...

การเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ

ความโดดเด่นของคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ในสังคมสมัยใหม่นั้น เป็นทั้งผลลัพธ์และสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในระดับสถาบันโดยทั่วไป กิดเดนส์ตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างแง่มุมที่เป็น "จุลภาค" หรือเล็กที่สุดของสังคม นั่นคือการตระหนักรู้ภายในเกี่ยวกับตัวตนและอัตลักษณ์ของปัจเจกชน และในแง่มุม "มหภาค" หรือขนาดใหญ่ของรัฐดังเช่นบริษัททุนนิยมข้ามชาติและยุคโลกาภิวัฒน์ ระดับอันแตกต่างเหล่านั้นที่เคยได้รับการศึกษาแยกจากกันโดยวิชาสังคมวิทยา แท้ที่จริงมีอิทธิพลต่อกันและไม่สามารถเข้าใจได้อย่างโดด ๆ ยกตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งเราสามารถเห็นได้ในเวลา 60 ปีที่ผ่านมานั่นคือ ระดับของการหย่าร้างและการแยกกันอยู่ขณะที่ผู้คนย้ายความสัมพันธ์จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง มีการเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อเรื่องทางเพศ และมีความหลายหลายทางเพศที่ชัดเจนกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ไม่สามารถเป็นที่เข้าใจโดยการสันนิษฐานว่าถูกชักจูงโดยสถาบันทางสังคมและรัฐ ไม่ใช่เพียงเพราะการคิดแบบเดิมเกี่ยวกับทั้งขวาและซ้าย นั่นคือการที่ทั้ง “ระบบทุนนิยม” และ "ฝ่ายอำนาจที่กำหนดศีลธรรม"ของรัฐ ต้องการให้ประชาชนมีชีวิตครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวอย่างมั่นคง แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ไม่สามารถถูกอธิบายโดยการมองไปที่เพียงระดับของปัจเจกนั่นคือ เราไม่สามารถเพียงแต่บอกว่าจู่ ๆ มนุษย์เริ่มต้นที่จะเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการดำรงชีวิตด้วยตนเอง การอธิบายที่จริงจังจะต้องวางอยู่ ณ บางจุดระหว่างความสัมพันธ์ของระดับมหภาคและจุลภาค และเรื่องทางเพศที่เห็นได้ชัดเจนนั้นเกี่ยวข้องกับการเสื่อมถอยของศาสนาและการพุ่งขึ้นของการคิดเชิงเหตุผล นั่นคือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดจากการที่ปัจเจกชนเปลี่ยนแปลงในการมองชีวิตอย่างไร ซึ่งในทางกลับกันเกิดจากอิทธิพลและการสังเกตการณ์ต่อตัวสังคม การพัฒนาเหล่านั้นยังเป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงในกฎซึ่งเกี่ยวข้องกับการแต่งงานและเรื่องทางเพศ (มหภาค) แต่ความต้องการต่อการเปลี่ยนแปลงก็มาจากระดับของชีวิตประจำวัน (จุลภาค) สิ่งเหล่านั้นเกิดจากผลกระทบของกระบวนการทางสังคมเพื่อให้มีความเท่าเทียมและความเป็นอิสระของผู้หญิง (มหภาค) ซึ่งพวกมันเกิดจากความไม่พึงพอใจภายในชีวิตประจำวัน (จุลภาค) ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงก็มาจากจุดประสานกันของพลังแห่งจุลภาคและมหภาค

สื่อและตัวตน

สื่อมวลชนดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของปัจเจกชนต่อความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของพวกเขา ไม่ว่าในละครเศร้าเคร้าน้ำตา หรือการซุบซิบเรื่องคนดัง ความต้องการ "เรื่องดี ๆ " มักเสริมการมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ เพราะเกือบไม่มีใครที่โผล่หน้าในโทรทัศน์ที่จะยังคงแต่งงานอย่างมีความสุขไปตลอดชีวิต ไม่ว่าเรากำลังพูดถึงตัวละครในจินตนาการหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงที่มีตัวตนจริง ๆ เราจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรับสื่อว่าความมั่นคงของการแต่งงานระหว่างคนต่างเพศแบบผัวเดียวเมียเดียวนั้นเป็น "อุดมคติ" ที่น้อยรายคาดหวังว่าจะบรรลุถึง เราได้รับการส่งเสริมให้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ของเราเองผ่านทางนิตยสารและหนังสือที่สอนให้ผู้อ่านช่วยตัวเอง (อย่างชัดเจน) และในภาพยนตร์ ตลก และละคร (อย่างอ้อม ๆ ) ข่าวและสื่อเกี่ยวกับวิชาการได้บอกกับเราถึงการค้นพบของงานวิจัยเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่แท้จริงในชีวิตครอบครัว ความรู้เหล่านี้ก็ได้ถูก "ปรับเปลี่ยนใหม่" โดยคนธรรมดาซึ่งจะนำไปสู่รูปแบบของการใช้ชีวิตซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับจารีต ข้อมูล และความคิดจากสื่อไม่ได้เพียงแต่สะท้อนโลกเชิงสังคม แต่ยังกำหนดรูปทรงของมันและเป็นจุดศูนย์กลางของการตระหนักถึงตัวเองตามแบบยุคสมัยใหม่

กิจกรรมเชิงตระหนักรู้ของตัวตน

การสร้างบทพรรณนา

หากตัวตนถูก "สร้าง" มากกว่าจะเป็นการรับช่วงต่อหรือเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งกับที่แล้ว มันจะอยู่ในรูปแบบไหนกัน? อะไรคือสิ่งที่เราสร้าง? กิดเดนส์บอกว่าในระดับของยุคหลังจารีต อัตลักษณ์ส่วนบุคคลนั้นกลายเป็นกิจกรรมเชิงตระหนักรู้ของตัวตน นั่นคือความพยายามของเราในการกระทำและการครุ่นคิดอย่างต่อเนื่อง เราสร้าง ธำรงรักษา และเขียนใหม่ ต่อการพรรณนาชีวประวัติของตัวเราเอง นั่นคือเรื่องที่ว่าเราเป็นใคร และเราได้มาสู่จุดที่เรายืนอยู่ในขณะนี้ได้อย่างไร

ดังนั้นอัตลักษณ์ส่วนบุคคลจึงไม่ใช่ชุดของร่องรอย หรือลักษณะที่สังเกตได้ มันเป็นความเข้าใจเชิงตระหนักรู้ของตัวบุคคลที่มีต่อชีวประวัติของตัวเอง อัตลักษณ์ส่วนบุคคลมีความต่อเนื่อง นั่นคือมันไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง โดยเจตจำนง แต่ความต่อเนื่องเป็นเพียงผลผลิตของความเชื่อเชิงตระหนักรู้ของบุคคลเกี่ยวกับชีวประวัติของตัวเอง (Giddens, 1991, หน้า 53)

อัตลักษณ์ส่วนบุคคล มั่นคงขึ้นอยู่กับการอธิบายต่อชีวิต พฤติกรรม และอิทธิพลของตัวบุคคล ซึ่งดูน่าเชื่อถือในความคิดของพวกเขา และสามารถถูกอธิบายต่อเนื่องโดยปราศจากความยากเย็น มัน "อธิบาย"อดีต และถูกมุ่งเน้นไปยังอนาคตที่ถูกคาดหวังไว้

"อัตลักษณ์ส่วนบุคคลไม่อาจถูกพบในพฤติกรรมหรือในปฏิกิริยาจากคนรอบข้างซึ่งแม้จะมีความสำคัญเพียงใด แต่มันอยู่ในความสามารถของมนุษย์ที่จะทำให้การพรรณนาอย่างใดอย่างหนึ่งดำเนินต่อไป ชีวประวัติของปัจเจกชนนั้น หากเขายังคงมีปฏิสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอกับคนอื่น ๆ ในโลกประจำวัน ก็ไม่อาจเป็นเรื่องจินตนาการล้วน ๆ มันต้องบูรณาการอย่างต่อเนื่องต่อเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในโลกภายนอก และนำมันไปผสมกับ "เรื่องราว" ที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ เกี่ยวกับ “ตัวตน" (Giddens, 1991, หน้า 54)

ทันสมัยจริง ๆ

อีกครั้ง นี่คือรูปแบบทันสมัยมาก ๆ กิดเดนส์ได้เชื่อมโยงการอุบัติขึ้นของการพรรณนาของตัวตนเข้ากับการเกิดขึ้นของความรักแบบโรแมนติก แน่นอนว่าอารมณ์และความใคร่ย่อมดำรงอยู่คู่มนุษย์ตลอดกาล แต่วาทกรรมเกี่ยวกับความรักแบบโรแมนติกนั้นกล่าวกันว่าได้พัฒนามาจากปลายศตวรรษที่ 18 ความรักแบบ     โรแมนติกได้แทรกความคิดเรื่องการพรรณนาเข้าไปในชีวิตของปัจเจกชน นั่นคือเรื่องราวเกี่ยวกับคนสองคนที่มีความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยกับกระบวนการทางสังคมที่กว้างขึ้นไป เขาเชื่อมโยงการพัฒนาแบบนี้เข้ากับการอุบัติขึ้นของนวนิยายในเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นคือรูปแบบต้น ๆ ของสื่อมวลชน ซึ่งได้แนะนำการพรรณนาเกี่ยวกับชีวิตรักเชิงอุดมคติ (หรือน้อยกว่าอุดมคติ) เรื่องราวเหล่านั้นไม่ได้สร้างความรักให้เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับความเท่าเทียมกัน แน่นอนว่าในทางกลับกัน ผู้หญิงถูกนำเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกแห่งความเป็นผู้หญิง และความเป็นแม่ ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่รู้จักของผู้ชาย อย่างไรก็ตามตัวละครผู้หญิงนั้นมักจะเป็นอิสระและกระตือรือร้น ส่วนโลกของผู้ชายนั้นแยกตัวออกจากเรื่องในครอบครัวทั้งด้านอารมณ์และร่างกายและมักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับความเด็ดเดี่ยวต่อเป้าหมายในโลกภายนอก

ในขณะที่ความสัมพันธ์อย่างเร่าร้อนอาจจะมาและจากไปอย่างคาดเดาไม่ได้ การพรรณนาเกี่ยวกับความรักแบบโรแมนติกที่ดำรงอยู่ยาวนานและมุ่งไปที่อนาคตได้สร้าง "อนาคตร่วมกัน" ซึ่งทำให้ชีวิตของคนทั้ง 2 เป็นสิ่งที่สมเหตุผล แล้วมอบบทบาทอันน่าจดจำและสำคัญให้กับความสัมพันธ์ของพวกเขา การเกิดขึ้นของ "ชีวประวัติเชิงพรรณนาร่วมกัน" นำปัจเจกชนไปสู่การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา ดังนั้นแม้ว่าความสัมพันธ์กับคู่ของตนจะออกนอกลู่นอกทาง เรื่องราวยังคงถูกธำรงรักษาไว้ และบัดนี้ชีวประวัติของตัวตนก็ได้มีชีวิตเป็นของตัวเอง

วิถีชีวิต

เลือกอนาคตของคุณ

ในยุคหลังจารีต ด้วยบทบาททางสังคมไม่จำเป็นต้องถูกส่งมายังเราโดยสังคม เราต้องเลือก "วิถีชีวิต" เองถึงแม้แน่นอนว่าทางเลือกจะไม่ถึงขั้นไร้ขีดจำกัด  "ทางเลือกวิถีชีวิต" อาจจะดูเหมือนเป็นสิ่งสวยหรูของชนชั้นสูง แต่กิดเดนส์ยืนยันว่าทุกคนในสังคมสมัยใหม่ต้องเลือกวิถีชีวิต ถึงแม้ว่ากลุ่มต่าง ๆ จะมีความเป็นไปได้แตกต่างกัน (และความมั่งคั่งดูแน่นอนว่าจะเพิ่มขอบเขตของทางเลือก)  "วิถีชีวิต" นั้นไม่ใช่แค่เกี่ยวกับอาชีพที่สวยหรูและการใช้จ่ายเงินเพื่อแสดงฐานะตน แต่ความหมายของมันยังประยุกต์ไปถึงระดับที่กว้างกว่าเดิมของทางเลือก พฤติกรรม ทัศนคติและความเชื่อ (ไม่ว่าจะระดับที่ใหญ่หรือน้อยกว่า)

วิถีชีวิตสามารถกล่าวได้ว่าเป็นเหมือนกับรูปแบบที่ถูกกำหนดไว้แล้วสำหรับการพรรณนาแห่งตัวตน แต่การเลือกของวิถีชีวิตหนึ่ง ๆ นั้น ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกถึงประเภทใด ๆ ของเรื่องราวชีวิต ดังนั้นวิถีชีวิตจึงเป็นเหมือนประเภทของภาพยนตร์ ในขณะที่ผู้กำกับสามารถเลือกจะสร้างภาพยนตร์รัก หรือตะวันตกหรือสยองขวัญ เราในฐานะ "ผู้กำกับ" ของการพรรณนาชีวิตของเราเองสามารถเลือกวิถีชีวิตแบบชนบท หรือในเมือง วิถีชีวิตที่มุ่งเน้นไปในความสำเร็จของงาน หรือมุ่งเน้นไปที่การเข้าสมาคม กีฬา ความรัก หรือความสุขสมกับเรื่องบนเตียง

เหนือจารีตขึ้นไป

ในด้านหนึ่งทางเลือกซึ่งเรามีในสังคมสมัยใหม่อาจจะถูกกระทบโดยความสำคัญของจารีต แต่อีกด้าน คือเสรีภาพในระดับหนึ่ง ทางเลือกทุกวันนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากิน หรือสวมใส่ ใครที่เราจะคบค้าด้วยคือการตัดสินใจทั้งหมดซึ่งวางตำแหน่งของตัวเราในฐานะเป็นคน ๆ นั้น ไม่ใช่ใครอื่น และดังที่กิดเดนส์ได้กล่าวไว้ว่า "ยิ่งปัจเจกชนเคลื่อนย้ายตัวเองไปอยู่ในรูปแบบหลังจารีตมากเท่าไร วิถีชีวิตยิ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับแกนหลักของ   อัตลักษณ์ส่วนบุคคลมากเท่านั้น กล่าวคือการสร้างและการสร้างอัตลักษณ์ซ้ำ"
       
ความสำคัญของสื่อในการหล่อหลอมวิถีชีวิตสมัยใหม่จำนวนมากแก่มวลชนควรจะชัดเจน ขอบเขตของวิถีชีวิต หรืออุดมคติของวิถีชีวิตที่ถูกเสนอผ่านสื่ออาจจะมีจำกัด แต่ในเวลาเดียวกัน มันมักจะกว้างกว่าที่เราจะคาดหวังว่าเพียง “บังเอิญเจอ” ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นสื่อในยุคสมัยใหม่ได้เสนอความเป็นไปได้และยกย่องความหลากหลาย แต่ยังเสนอการตีความแบบแคบ ๆ ของบทบาทหรือวิถีชีวิตแบบใดแบบหนึ่ง อันนี้ขึ้นอยู่ว่าคุณจะมองไปที่ไหน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท