สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8-14 ต.ค. 2558

การบินไทยทุ่ม 5.3 พันล้าน ลดพนักงานอีก 400 คน ธ.ค.นี้
 
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน กล่าวว่า สำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟเอเอ) ได้ตรวจการบินไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการประเมิน ส่วนการตรวจของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (เอียซ่า) ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนั้น ได้เตรียมความพร้อมเรื่องการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย โดยปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานสากล
 
ส่วนกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย จะเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อให้บริษัทการบินไทย ยุติและถอนฟ้องกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจ 4 คน กรณีพิพาทเรียกร้องการปรับขึ้นเงินเดือน และการจ่ายโบนัส เมื่อปี 2556 และเรียกเสียหาย 326 ล้านบาท ที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น นายจรัมพรกล่าวว่า พร้อมรับฟังข้อเสนอจากสหภาพการบินไทย แต่จะต้องพิจารณาข้อเรียกร้องอีกครั้ง โดยยืนยันว่า ยินดีประนีประนอมตาม แต่ต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่
 
สำหรับความคืบหน้าเเผนการฟื้นฟูการบินไทย ขณะนี้การบินไทยขายเครื่องบินไปเเล้ว 18 ลำ เหลืออีก 16 ลำที่ยังรอการขาย รวมถึงมีการลดเส้นทางการบิน และปรับโครงสร้างองค์กรไปแล้ว ซึ่งแผนดังกล่าวล่าช้ากว่ากำหนดเล็กน้อย ขณะที่แผนการปรับลดพนักงาน ในช่วงเดือนธันวาคมนี้จะมีการปรับลดอีก 400 คน เบื้องต้นใช้งบประมาณในการปรับลดพนักงานจำนวน 5,300 ล้านบาท และในปี 2559 การบินไทยยังคงเดินหน้าปรับลดพนักงานเพื่อลดการขาดทุน โดยวางงบประมาณไว้ที่ 2,000 ล้านบาท
 
 
องค์กรแรงงานรัฐวิสาหกิจ แถลงสาธารณะ ชวนจับตาบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ ซุปเปอร์โฮลดิ้ง
 
สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย( สพร.ท) วันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2558 ได้ออกแถลงการณ์ กรณี บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ ซุปเปอร์โฮลดิ้ง เพื่อเสนอข้อมูลต่อสาธารณชน และเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้วว่า รัฐบาลมีแนวคิดในการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติหรือ “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” โดย วัตถุประสงค์สำคัญคือต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและพัฒนารัฐวิสาหกิจ และเป็นกลไกป้องกันการเมืองเข้ามาแทรกแซงนั้น
 
สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สพร.ท) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานรวมของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล ก่อตั้งตามหมวด 5 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 โดยปัจจุบันมีสมาชิก 22 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ได้ติดตามและมีมติร่วมกันเพื่อกำหนดจัดงานเสวนาทางวิชาการเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ โดยได้เรียนเชิญ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และได้รับความกรุณาจาก. คุณบรรยง พงษ์พานิช คุณรพี สุจริตกุล และคุณกุลิศ สมบัติศิริ ด้วยท่านทั้งสาม มีความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับนโยบาย และแนวทางการจัดตั้ง “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” ทั้งนี้ได้เรียนเชิญไตรภาคีภาคแรงงาน ประกอบด้วย ฝ่ายบริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน และผู้นำองค์กรแรงงานภาคเอกชน มาร่วมรับฟังและร่วมเสวนา เพื่อทำความเข้าใจในเจตนารมณ์ของการจัดตั้ง “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” ซึ่ง สพร.ท ใคร่ขอขอบพระคุณวิทยากรทั้ง 3 ท่านมา ณ โอกาสนี้
 
ภายหลังจากการรับฟังข้อมูล ปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมเสวนาซึ่งส่วนใหญ่คือ กลุ่มผู้นำทางความคิดในภาคประชาสังคม และผู้นำองค์กรแรงงาน จำนวนกว่า 300 คน ยังไม่ได้รับความกระจ่างในประเด็นที่มีข้อห่วงใยในฐานะประชาชน ดังนั้น สพร.ท ใคร่ขอสรุปประเด็นข้อห่วงใยจากประชาชนที่มาร่วมงานเสวนา ดังนี้
 
1. ยังไม่มีคำตอบ ในเรื่องหลักประกัน หรือ ระบบตรวจสอบ ถ่วงดุล เพื่อให้ ซุปเปอร์โฮลดิ้ง ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง ภายหลังการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
 
2. ด้วยรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง จัดตั้งขึ้นด้วยพันธกิจต่างกัน แต่ไม่ว่าจะมีที่มาหรือวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งแตกต่างกันอย่างไร พันธกิจสำคัญของรัฐวิสาหกิจที่คล้ายคลึงกัน ก็คือเป็นองค์กรของรัฐ ที่มีหน้าที่สร้างหลักประกันพื้นฐานให้บริการประชาชน และเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ ทั้ง ด้านสื่อสาร โทรคมนาคม สื่อสารมวลชน ขนส่ง และพลังงาน
 
ดังนั้น หากวัตถุประสงค์ของ บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นหนักเรื่องการบริหารงานเชิงธุรกิจ และแนวทางที่รัฐจะต้องชดเชยเพื่อให้ธุรกิจมีผลกำไร โดยกรรมการล้วนเป็นมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจ ก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยงทัศนคติของนักธุรกิจที่เน้นหนักในมิติด้านธุรกิจ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ และอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการและการใช้บริการของประชาชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจในฐานะพนักงานรัฐวิสาหกิจตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ด้วย
 
3. ก่อนที่จะเดินหน้าจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติตามกำหนดเวลาที่คาดหวัง นอกจากฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจแล้วรัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนพนักงานรัฐวิสาหกิจและภาคประชาสังคม เพื่อให้มีความเข้าใจและร่วมเดินหน้าปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไปด้วยกัน เพื่อให้ได้ร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์ เพื่อร่วมสร้างความเจริญและพัฒนารัฐวิสาหกิจ อันเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา และเพิ่มประสิทธิภาพ ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างยั่งยืน และเกิดความราบรื่น ปรองดองสมานฉันท์ อันจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศ และเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวการณ์ปัจจุบัน ที่พวกเราต้องร่วมกันป้องกันความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องจากนานาอารยประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวม การประกาศวันที่ต้องแล้วเสร็จ และวันเริ่มต้นการมีบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” เป็นข้อจำกัดในการแสดงความจริงใจที่ยอมรับการมีส่วนร่วม
 
เพื่อให้นโยบายของรัฐ สามารถดำเนินงานได้ราบรื่น และเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ดังเจตนารมณ์ที่ดี และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย ดังเช่น การปฏิรูปหรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเพื่อมุ่งเน้นหาทางให้มีความคล่องตัวในเชิงบริหารเป็นหลัก แต่ละเลยผลกระทบด้านอื่น จนทำให้เกิดผลกระทบโดยไม่เจตนา สพร.ท ใคร่ขอเสนอให้ คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างกฎหมายการจัดตั้ง “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” ได้ถอดบทเรียนที่เคยได้รับผลกระทบจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ผ่านมา ซึ่งทุกวันนี้ ผู้ที่ติดตามเรื่องราวการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทราบดีว่า แม้ว่ารัฐวิสาหกิจบางแห่งจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยสามารถนำส่งผลกำไรให้รัฐเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีการนำจุดบกพร่องบางประการจากกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ทำให้บางกลุ่มนำไปอ้างและชี้นำประชาชน สร้างความแตกแยกทางความคิด จนกระทั่งกลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมือง สร้างความยุ่งยากและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ด้วยบางคนอาจหลงเชื่อว่า กำไรของรัฐวิสาหกิจนั้นมาจากการเอารัดเอาเปรียบประชาชน ด้วยขาดการดูแลอย่างใกล้ชิดจากภาครัฐ อีกทั้งที่ผ่านมา ยังมีอีกประเด็นที่เห็นได้ชัดเจนถึงผลกระทบจากการออกกฎหมายที่ ผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจ มีความเห็นว่า สาเหตุเกิดจากนักวิชาการที่มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ปราศจากความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ละเลยการมีส่วนร่วมและเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้เสีย จากผู้นำแรงงาน นั่นคือ ผลของกฎหมาย กสทช. ที่แม้ว่าจะมีการลงลายมือชื่อเพื่อคัดค้านจากประชาชนจำนวนมากในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็แทบจะไม่มีการตอบรับ ทุกวันนี้จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ทั้งกรณีคุณภาพของ 3G และ กรณีดิจิทัลทีวี ทำให้ยังมีความเข้าใจที่สับสน และประชาชนก็ต้องรับภาระเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น และที่เป็นประเด็นทำให้นำไปสู่การหาทางปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต่อ คือ การทำให้ 3 รัฐวิสาหกิจ คือ TOT CAT และ อสมท ได้รับผลกระทบโดยสูญเสียประโยชน์แก่รัฐ โดยเฉพาะเรื่องการนำส่งค่าตอบแทน และผลกำไรกลับสู่รัฐ กลับกลายเป็นไปเอื้อประโยชน์ต่อทุนบางกลุ่ม
 
ที่ประชุม สพร.ท จึงมีมติออกแถลงการณ์ เพื่อเสนอข้อมูลต่อสาธารณชน และเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล กรุณาให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ในการดำเนินการจัดตั้ง และร่างกฎหมายจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เนื้อหาสาระกฎหมายที่ร่างขึ้น จะสามารถตอบข้อกังวลทั้ง 3 ประการข้างต้น เพื่อทำให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลปัจจุบัน ยังคงมีนโยบายคำนึงถึงหลักประกันในการให้บริการที่จำเป็นพื้นฐานต่อประชาชน และสร้างระบบถ่วงดุลในการตรวจสอบการใช้อำนาจบริหาร “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” ในอนาคต ที่จะช่วยป้องกันจากการถูกแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลภาครัฐและการเมืองอย่างรอบคอบ ด้วยหากเกิดกรณีการแทรกแซง “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” จากกลุ่มอิทธิพล ที่อาจมีขึ้นในอนาคต ย่อมทำให้รัฐวิสาหกิจภายใต้ “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” ทั้งหมดถูกแทรกแซงได้โดยง่าย และนั่นคือความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยคนไทยทุกคนต่างทราบดีว่า รัฐวิสาหกิจคือทรัพย์สมบัติของชาติ
 
ด้วยความห่วงใยประเทศชาติร่วมกัน
 
 
เผย พรบ.ประกันสังคมฉบับที่4ให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมมากขึ้น จะมีผลบังคับใช้ 20 ต.ค. นี้
 
(9 ต.ค.58) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 จะมีผลบังคับใช้ 20 ต.ค.นี้ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายพัฒนาสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานกว่า 13,900,000 คน โดยให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมมากขึ้น
 
ทั้งในส่วนการตรวจป้องกันโรค ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นจากความเสียหายที่เกิดจากการรักษา การคลอดบุตร จากให้แบบเหมาจ่ายคราวละ 13,000 บาท แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง ปรับปรุงใหม่เป็นไม่จำกัดจำนวนครั้งและเงินสงเคราะห์บุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี เดือนละ 400 บาท จากเดิมจำกัดแค่ 2 คน เพิ่มเป็น 3 คน นอกจากนี้ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์จากการว่างงานและเงินสงเคราะห์ผู้เสียชีวิตด้วย
 
 
แรงงานไทยที่เคยไปทำงานลิเบีย ร้องศูนย์บริการประชาชน ถูกค้างค่าจ้างตั้งแต่ปี 53 กระทรวงแรงงานยังตอบไม่ได้ช่วยได้แค่ไหน เหตุลิเบียยังไม่สงบ สนง.ไทยก็ถูกปิด
 
(9 ต.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มแรงงานไทยในประเทศลิเบียประมาณ 200 คน นำโดยนายมานะ ผึ่งกล่อม ตัวแทนกลุ่ม เข้าเรียกร้องต่อศูนย์บริการฯ กรณีขอความเป็นธรรมเนื่องจากถูกนายจ้างค้างการจ่ายค่าจ้างในการถูกส่งไปเป็นแรงงานที่ประเทศลิเบียซึ่งได้ไปร้องต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ตั้งปี 2553 แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้ ศูนย์บริการฯ ได้ประสานให้ น.ส.ขจีพรรณ เทพเกาะ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าเจรจา โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารและข้อมูลการทำงานจากคนงานทั้ง 200 คนเพื่อให้มีความชัดเจนก่อนดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
       
โดย น.ส.ขจีพรรณเปิดเผยว่า ในกรณีนี้บางคนก็เคยร้องมาแล้วแต่บางคนก็ยังไม่เคย ซึ่งเราพยายามคัดกรองอยู่ ถ้าผู้ที่เคยร้องมาแล้วก็จะจัดเก็บเอกสารไว้ ส่วนที่ยังไม่เคยมาร้องขอ ทางเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้มาดำเนินการทำขั้นตอนให้ถูกต้อง โดยขั้นตอนต่อไปทางกรมจัดหางานจะประสานงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศให้ดำเนินการตามสิทธิประโยชน์ที่คนงานควรจะได้รับ แต่จะช่วยได้มากน้อยเท่าไรนั้นยังไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากประเทศลิเบียยังอยู่ในภาวะไม่สงบ ยังคงมีการอพยพแรงงานต่างชาติออกจากพื้นที่อยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สำนักงานแรงงานไทยในลิเบียก็จำเป็นต้องปิดทำการโดยไม่มีกำหนด
 
 
ฮอนด้า เปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ นิคมโรจนะ ปราจีนบุรี 
 
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเริ่มเดินสายการผลิตชิ้นส่วนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ณ โรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโรงงานที่มีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งของฮอนด้าในภูมิภาคเอเชีย โดยนำนวัตกรรมการผลิตอันล้ำสมัยของโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าที่เมืองโยริอิ ประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด "ผลิตยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ในโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด" (Producing the cleanest products at the cleanest plant) มาประยุกต์ใช้ 
 
พิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ฮอนด้าพร้อมเริ่มเดินสายการผลิต ณ โรงงานแห่งที่สอง ในจังหวัดปราจีนบุรีแล้ว โดยจะเริ่มเดินสายการผลิตชิ้นส่วนขึ้นรูปพลาสติก (Polymer Injection หรือ PO) ก่อน และในเร็วๆ นี้ โรงงานแห่งนี้จะเริ่มเดินสายการผลิตเต็มรูปแบบในสายการผลิตเครื่องยนต์ และรถยนต์ฮอนด้าสำเร็จรูป (CBU) ในลำดับต่อไป โดยโรงงานแห่งนี้จะเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมากที่สุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ที่ช่วยลดเวลาในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการเชื่อมตัวถัง การพ่นสี ไปจนถึงการประกอบรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีระบบการใช้น้ำหมุนเวียน เพื่อลดการใช้น้ำในทุกขั้นตอนการผลิต”
       
โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าแห่งใหม่ ในจังหวัดปราจีนบุรีนี้ มีการดำเนินงานทุกขั้นตอนที่สอดคล้องกับการประกาศวิสัยทัศน์ปี 2020 ของบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) เมื่อปี 2010 ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยความรวดเร็ว ในราคาที่ย่อมเยา และมี CO2 ต่ำ เราจึงได้มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการค้นหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เสมอมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของฮอนด้าในการสร้างสรรค์ “ผลิตภัณฑ์ที่มอบความสุขในการเดินทางให้กับผู้คน” (The Joy and Freedom of Mobility) เพื่อ “การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมอันยั่งยืน” (A Sustainable Society where People Can Enjoy Life) ตอกย้ำถึงพันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของฮอนด้า “Blue Skies for Our Children” หรือ “ท้องฟ้าที่สดใสเพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป” 
       
โดยในช่วงแรกจะเริ่มเดินสายการผลิตชิ้นส่วนขึ้นรูปพลาสติก (Polymer Injection หรือ PO) ก่อน ซึ่งสายการผลิตนี้จะเริ่มผลิตชิ้นส่วนแผงคอนโซลด้านหน้าของรถยนต์สองรุ่น ได้แก่ ฮอนด้า ซิตี้ และฮอนด้า แจ๊ซ เพื่อส่งไปประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูป ณ โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยในอนาคตเรายังเตรียมผลิตชิ้นส่วนขึ้นรูปพลาสติกสำหรับเป็นชิ้นส่วนในการประกอบ หรือ CKD เพื่อส่งออกไปยังโรงงานฮอนด้าต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ทั้งนี้ สายการผลิตชิ้นส่วนขึ้นรูปพลาสติก ณ โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตมากกว่า 360,000 ชิ้นต่อปี
 
 
แรงงานพม่าฮือประท้วงโรงงานไก่เนื้อโคราช
 
(9 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ หรือพม่า พนักงานบริษัท แหลมทองโพลทริ จำกัด โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ เลขที่ 1/10 หมู่ 8 ถ.มิตรภาพ กม.ที่ 223 ต.สูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา กว่า 300 คน ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงและยื่นข้อเรียกร้องต่อทางบริษัทฯ เป็นวันที่ 2 หลังจากได้ชุมนุมครั้งแรกเมื่อวานนี้ (8 ต.ค.) ที่บริเวณสนามกีฬาข้างบ้านพักของพนักงาน ภายในโรงงาน 
 
โดยเมื่อเวลา 09.30 น. กลุ่มพนักงานชาวพม่าได้ทยอยเดินทางมาร่วมชุมนุมบริเวณสนามกีฬาข้างบ้านพักของพนักงาน และกลุ่มมวลชนได้นั่งรอการเจรจากับทางบริษัท และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งแรงงาน, จัดหางาน, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและประกันสังคม
       
กระทั่งเวลา 11.30 น. ตัวแทนผู้ชุมนุม ผู้บริหารบริษัท และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ตั้งโต๊ะเจรจาบริเวณพื้นที่ชุมนุมเพื่อเจรจาตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเป็น 9 ข้อ จาก เดิมที่เมื่อวานนี้ (8 ต.ค.) มี 6 ข้อเรียกร้อง เพื่อให้แก้ปัญหาดังนี้ 
 
1. ให้ดำเนินการทำบัตรประกันสังคมให้พนักงานบางส่วนที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันสังคม ทั้งที่มีการหักเงินค่าประกันสังคมทุกเดือน 2. เวลาโรงงานหยุดงาน ซึ่งไม่เกี่ยวกับพนักงาน ให้โรงงานจ่ายเงินให้แก่คนงานด้วย 3. ยกเลิกการห้ามแรงงานทาแป้งทานาคาในขณะเข้าทำงาน 4. ระเบียบข้อบังคับของโรงงาน กรณีที่มีการตรวจพบว่าพนักงานดื่มสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น หรือมีความผิดเล็กๆ น้อยๆ อย่าหักค่าแรงหรือค่าล่วงเวลา ขอให้มีการแจ้งเตือนด้วยเอกสารก่อนทุกครั้ง 
 
5. ข้อกำหนดเวลาการเข้าห้องสุขา ในช่วงเวลาทำงาน/1 กะ/8 ชั่วโมง ซึ่งกำหนดไว้ให้เข้าได้ 4 ครั้งๆ ละไม่เกิน10 นาทีนั้น ขอให้ผ่อนปรนหรือยืดหยุ่น หากพนักงานรายใดใช้เวลาดังกล่าวเกินเพียงเล็กน้อย ขออย่าได้มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น 6. พนักงานที่หนังสือเดินทางกำลังหมดอายุ ขอให้ทางบริษัทฯ เร่งประสานต่ออายุให้โดยเร็ว ส่วนกรณีหมดอายุ ขอให้บริษัทช่วยหาแนวทางแก้ไขให้ด้วย อย่างเร่งรีบให้ออกจากงานโดยทันที 
 
7. เวลาพนักงานไปโรงพยาบาล ให้มีล่ามไปด้วย 8. พนักงานที่ทำข้อตกลงจ้าง (MOU) กับบริษัทเรียบร้อยแล้ว ให้หาที่พักให้พนักงานด้วย 9. ต้องการพบและให้ผู้บริหารระดับสูงมาร่วมเจรจาเท่านั้น
       
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาข้อยุติร่วมกันตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมดังกล่าว ท่ามกลางดูแลความสงบเรียบร้อยของกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง
       
ล่าสุดเวลาประมาณ 17.10 น การเจรจาได้ข้อยุติพร้อมทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน โดยมีสาระสำคัญระบุว่า นายวิสิทธิ์ ตระการกีรติ รองผู้จัดการฝ่ายบุคคล ตัวแทน บริษัทแหลมทองฯ นายจ้าง กับ ผู้แทนลูกจ้างต่างด้าวจำนวน 15 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ได้ร่วมเจรจาประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติ โดยทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันได้ ดังนี้
       
1.กรณีเอกสารหนังสือเดินทางบริษัทฯ สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ และส่งมอบให้ลูกจ้างจำนวน 430 คนได้ทันที
       
2.กรณีเงินสมทบกองทุนประกันสังคม บริษัทจะดำเนินการส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับสำนักงานประกันจังหวัดเพื่อขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง สำหรับลูกจ้างรายใดที่ถูกหักเงินและนำส่งเงินสมทบไปแล้วแต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ บริษัทฯ จะดำเนินการยื่นขอคืนเงินให้กับลูกจ้าง
       
3.กรณีค่าใช้จ่ายในการทำวีซ่าจำนวน 1,200 บาท ที่ลูกจ้างจ่ายไปแล้วนั้น เกิดปัญหาการทุจริต ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิที่ถูกต้อง บริษัทฯ ได้ดำเนินการรับมอบอำนาจจากลูกจ้างฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด ขณะอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ลูกจ้างต้องจ่ายอีกจำนวน 1,200 บาทนั้น ผู้แทนนายจ้างรับว่าจะนำเสนอผู้บริหารเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยจะแจ้งผลให้ทรายขายในวันนี้
       
4.กรณีการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 11 คน บริษัทฯ รับว่าจะรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานทั้งหมด โดยเปลี่ยนแปลงแผนกหรือหน้าที่ในการทำงาน
       
5.กรณีล่ามสำหรับพาลูกจ้างไปพบแพทย์ บริษัทฯ ได้จัดให้มีล่ามจำนวน 2 คน ลูกจ้างสามารถขอใช้บริการได้ตลอดเวลา
       
6.กรณีสภาพการจ้างอื่นๆ บริษัทฯ จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
       
7.สำหรับการหยุดงานชุมนุมประท้วงของลูกจ้างในครั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ถือเป็นความผิดและจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาแก่ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง
       
8.ลูกจ้างที่ร่วมชุมนุมประท้วงกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ
       
9.สำหรับข้อเรียกร้องอื่นๆ ของกลุ่มพนักงานชาวพม่า ลูกจ้างทั้งหมดไม่ติดใจในข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกต่อไป
       
และ 10. ค่าใช้จ่ายในการทำวีซ่า ตามขอ 3 บริษัทให้การช่วยเหลือลูกจ้างรายละ 500 บาท ลูกจ้างตกลงรับความช่วยเหนือของนายจ้าง
       
คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายได้ฟังข้อความข้างต้นรับว่าถูกต้องเป็นความจริงทุกประกร จึงขอลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัวในเวลาต่อมา 
 
 
สปส.ชงแนวทางเยียวยาผู้เสียหายจากบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม ใช้รูปแบบของสธ.เป็นต้นแบบ
 
เมื่อวันที่ 11 ต.ค.พ.ต.ต.หญิงรมยงสุรกิจบรรหาร รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการแพทย์ของสปส.ได้เห็นชอบแนวทางเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม ซึ่งจะนำรูปแบบตามมาตรา41พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2545และอัตราการชดเชยเยียวยาความเสียหายของกระทรวงสาธารณสุขมาใช้อ้างอิงในการจัดทำร่างประกาศการเยียวยาและอัตราการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประกันตน โดยการชดเชยเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม เป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2558 ทั้งนี้จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) ในวันที่13 ต.ค.นี้ ถ้าบอร์ดสปส.เห็นชอบ จะเร่งจัดทำร่างประกาศและเสนอบอร์ดแพทย์ของสปส.เพื่อออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ต่อไป โดยคาดว่าจะออกประกาศได้ภายในวันที่20 ต.ค.นี้
 
รองเลขาธิการสปส.กล่าวอีกว่า แนวทางการเยียวยาผู้ประกันตนนั้นเบื้องต้นได้วางกรอบไว้จะมีการกระจายอำนาจการวินิจฉัย โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประกันสังคมจังหวัดซึ่งอาจจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีคณะอนุกรรมการส่วนกลางขึ้นมาพิจารณากรณีร้องเรียนและขอรับการเยียวยา  แต่หากผู้ประกันตนไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณา ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของสปส.ได้ทั้งนี้เมื่อดำเนินการเยียวยาผู้ประกันตน โดยหลังจากทำไปได้ 1 ปี จะรวบรวมข้อมูลกรณีร้องเรียนและขอรับการเยียวยาเพื่อนำมาปรับปรุงระบบบริการทางการแพทย์ให้ดีขึ้น
 
 
เอกชนยังจ่าย "โบนัส" แต่เพิ่มกำลังซื้อปลายปีไม่มากนัก
 
สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย มองว่า การจ่ายโบนัสปลายปีนี้องค์กรส่วนใหญ่น่าจะยังจ่ายปกติ สำหรับโบนัสแบบคงที่ ส่วนองค์กรที่จ่ายโบนัสแบบผันแปรก็ต้องขึ้นอยู่กับผลประกอบการบริษัทและประสิทธิภาพของพนักงาน ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก บริษัทรถยนต์ ไอที
 
กลุ่มที่มีแนวโน้มจ่ายโบนัสสูงกว่าปกติเป็นกลุ่มธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ (จิวเวลรี่) เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังมีกำลังซื้อสูง ธุรกิจกลุ่มนี้ขยายโรงงานและกำลังการผลิตสูง ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมถึงองค์กรขนาดใหญ่บางแห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจมีแนวโน้มไม่มีโบนัสคงที่ แต่จะทดแทนด้วยเงินเดือนหรือสวัสดิการบางอย่าง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการไม่จ่ายโบนัสในองค์กรขนาดใหญ่ ทำยากเนื่องจากมีข้อตกลงกับสหภาพแรงงาน
 
ด้านทิศทางการปรับขึ้นเงินเดือนปี 2559 ส่วนใหญ่น่าจะใกล้เคียงปี 2558 คือ ปรับเฉลี่ย 3-12% แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลประกอบการ นโยบายองค์กร รวมถึงปัจจัยแวดล้อม เช่น อัตราขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยขององค์กรย้อนหลัง อัตราการขึ้นเงินเดือนของแต่ละประเภทธุรกิจ และแม้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว แต่บางธุรกิจมีแนวโน้มดีสวนกระแสก็อาจขึ้นเงินเดือนสูงกว่าค่าเฉลี่ย
 
ธุรกิจที่มีแนวโน้มขึ้นเงินเดือนดีตามธุรกิจที่มีทิศทางดี ได้แก่ 1.กลุ่มโลจิสติกส์และคลังสินค้า เพราะแนวโน้มการแข่งขันสูง ธุรกิจเติบโตรวดเร็วจากการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และแรงงานในธุรกิจนี้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ 2.กลุ่มธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ ที่โตสอดคล้องกับกระแสการดูแลตนเอง ใส่ใจสุขภาพ ทำให้สินค้าสุขภาพโตรวดเร็ว
 
3.กลุ่มเทรดดิ้งสินค้าเชิงนวัตกรรมที่เติบโตเพราะธุรกิจต่างๆ ต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านการผลิตและการดำเนินงาน ทำให้สินค้า เครื่องจักร เทคโนโลยี มีบทบาทเชิงรุกในตลาด 4.กลุ่มธุรกิจไอทีและอี-คอมเมิร์ซ กลุ่มนี้เป็นตลาดแรงงานเฉพาะมีความต้องการสูง โดยเฉพาะระดับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกระแสการลงทุนในอี-คอมเมิร์ซโตมาก ทำให้การปรับเงินเดือนกลุ่มนี้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
 
ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนชะลอตัว ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จากภาวะกำลังซื้อชะลอตัวในประเทศ รวมทั้งผลกระทบการส่งออกหดตัว แม้การปรับเงินเดือนอาจไม่สูง แต่แนวโน้มการตอบแทนและดูแลพนักงานรูปแบบอื่น เช่น สวัสดิการด้านประกันชีวิต ค่ารักษาพยาบาล มีแนวโน้มดีขึ้น อาจขยายไปยังครอบครัว หรือมีค่าทักษะประสบการณ์ตามอายุงาน เป็นต้น
 
สุธิดา กล่าวว่า แมนพาวเวอร์ฯ คาดว่า ในปี 2559 การจ้างงานจะมีทิศทางบวก โดยเฉพาะแรงงานในรูปแบบสัญญาจ้าง (คอนแท็กต์) หรือตามโครงการดำเนินงานระยะสั้น (โปรเจกต์ เบส) ที่กำลังเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับกว้างขวางทั้งจากลูกค้าและผู้สมัครงานหลายสาขาอาชีพ เช่น ด้านไอที เอกสาร บัญชี และงานฝ่ายผลิต
 
อัตราการเติบโตของแรงงานกลุ่มนี้สูงขึ้นกว่า 2 เท่า เทียบ 2 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว องค์กรต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายพนักงานประจำ จ้างแรงงานตามฤดูกาลกระตุ้นยอดขาย จ้างงานในโครงการต่างๆ ซึ่งมีเวลา 3-6 เดือน ส่วนพนักงานประจำเพื่อทดแทนและขยายงานน่าจะเกิดการจ้างงานไตรมาส 1-2 ปี 2559
 
สำหรับปัจจัยต้องจับตาปีหน้าคือ เสถียรภาพการเมือง เศรษฐกิจไทยและของโลก การเปิดเออีซี หากองค์กรรับมือได้ดีด้านบริหารรายได้ การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ รวมถึงการปรับตัวท่ามกลางเศรษฐกิจขาลงและทำทันเวลา ย่อมส่งผลดีระยะยาวต่อองค์กรและพนักงาน
 
ขณะเดียวกัน อยากให้มองว่าเงินเดือนและโบนัสไม่ใช่แรงจูงใจการทำงานอย่างเดียว ยังมีสวัสดิการและการดูแลพนักงานแบบอื่นที่ทำให้พนักงานมีความสุขและผูกพันกับองค์กร หากทำได้ทั้งองค์กรและพนักงานจะมีความผูกพันและความจงรักภักดี ลดอัตราการหมุนเวียนของพนักงานช่วยกันทำงานให้ประสบผลสำเร็จในที่สุด
 
ด้านธุรกิจความงาม บริษัท บิวตี้คอมมูนิตี้ สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ปีนี้บริษัทยังคงจ่ายโบนัสให้กับพนักงานเหมือนเดิม แต่อาจจะเปลี่ยนการพิจารณาเป็นจ่ายตามผลงานของพนักงานแทนต่างจากปีก่อนหน้าที่จะจ่ายในอัตรา 3.5 เดือน
 
“เงินโบนัสเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการใช้จ่ายและกำลังซื้อในช่วงปลายปี ซึ่งบริษัทยังคาดหวังว่ากำลังซื้อจะเพิ่มมากขึ้นเพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น และสินค้าของบริษัทก็สามารถนำไปเป็นของขวัญได้ ช่วยสนับสนุนให้ผลดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงเติบโตได้สวนทางเศรษฐกิจ”
 
ภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า บริษัทยังคงมีการจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานในปีนี้ แต่จะจ่ายในอัตรากี่เดือนนั้นจะต้องรอดูสถานการณ์ โดยรวมทั้งเศรษฐกิจและผลดำเนินงานของบริษัทในงวดไตรมาส 4 ก่อน ทั้งนี้ ยอมรับว่าในปีนี้คงจ่ายได้ไม่เท่ากับปีที่ผ่านมาหรือในปีก่อนหน้า ที่ให้กับพนักงานในอัตรา 8 เดือนติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว เพราะเงินโบนัสถือเป็นขวัญกำลังใจอย่างหนึ่งในการร่วมกันทำงานของพนักงาน และเพื่อให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามที่คาดหวังไว้
 
วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า แนวโน้มกำลังซื้อกำลังซื้อในช่วงไตรมาส 4 จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้นบ้าง แต่คงยังไม่กลับไปสู่ภาวะปกติแม้จะเป็นช่วงที่เริ่มจ่ายเงินโบนัสของพนักงานเงินเดือนและเป็นช่วงฤดูกาลจับจ่าย เนื่องจากภาพรวมกลุ่มพนักงานเงินเดือนยังมีภาระหนี้จากการผ่อนชำระที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ส่วนกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงก็เป็นกลุ่มคนที่มีสัดส่วนน้อยมาก จึงไม่สามารถกระตุ้นภาพรวมของกำลังซื้อได้
 
“ประเด็นหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยตัดกำลังซื้อไปอีกระยะหนึ่งคิดว่าปี 2559 ทั้งปีกำลังซื้อก็จะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 2.4-2.5%” วรวรรณ กล่าว
 
 
ยื่นศาลปกครอง ฟ้องมธ. ปมไม่รับบรรจุเป็นอาจารย์ ป้องสิทธิทางเพศ
 
วันที่ 12 ตุลาคม เคท ครั้งพิบูลย์ เดินทางมายังศาลปกครอง เพื่อยื่นฟ้อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ถูกฟ้องที่1 และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 หลังตนผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งหลังจากที่ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย(ก.บ.ม.) และมีมติ ไม่เห็นชอบจ้าง ตนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดยแจ้งเหตุผลว่า “มีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสาธารณะในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย" และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยืนยันตามมติเดิมว่า ไม่จ้างตนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
 
ทั้งนี้  เคท กล่าวว่า ตนมองถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในการรับเข้ามาเป็นอาจารย์ ต้องมีความเป็นธรรมในการรับสมัครเข้ามาตามเกณฑ์และมีระยะเวลาที่เหมาะสมในการรับเข้ามาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยอีกทั้งตนคาดหวังว่าต่อสังคมให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปให้เข้าใจสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศอีกทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่นั้นตนต้องการให้ระบุถึงสิทธิทางเพศเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใส่ลงข้อกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ สำหรับหลักฐานในการพิจารณาที่มายื่นในวันนี้ ตนมองว่าเป็นประโยชน์ในการยื่นฟ้อง
 
นอกจากนี้ นายนคร ชมพูชาติ ทนายความ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญต้องสอดคล้องกฎหมาย(พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ ) ออกมาแล้ว โดยกฎหมายใหญ่จะต้องเป็นภาพกว้างขึ้น แต่ในคดีนี้เรื่องการตรวจสอบแนวคิดการวินิจฉัยการใช้ดุลยพินิจรับคนเข้าทำงาน โดยการตรวจสอบครั้งนี้เพื่อให้เห็นเหตุผลชัดเจนขึ้น แม้มหาวิทยาลัยจะมีการอ้างหลักพิจารณาต่างๆ ซึ่งต้องมองเรื่องทางเพศวิถีด้วยในการประกอบการพิจารณาด้วย ตนหวังให้ศาลปกครองช่วยทำให้สังคมเห็นถึงความซับซ้อนต่างๆ
 
อย่างไรก็ตามตนมั่นใจในการใช้ดุลพินิจและการตรวจสอบของศาลปกครองที่จะสามารถดูรายละเอียดหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องและหวังว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะให้ข้อมูลแก่ศาลด้วย ส่วนการบังคับใช้พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ นั้น นายนคร ระบุ ต้องดูรายละเอียดว่าใครรับผิดชอบกฎหมายนี้และจะมีขั้นตอนการปฏิบัติ มีกรอบการดำเนินการอย่างไร เพราะกฎหมายเป็นเพียงฐาน แต่ก็อยู่ที่การนำไปใช้ด้วย
 
 
นักเตะ ทีโอที เอสซี ได้รวมตัวไปพูดคุยกับบอร์ดบริหารชุดใหม่ของทีม เพื่อทวงเงินที่ยังค้างจ่ายกว่า 3 เดือน
 
ความเคลื่อนไหวของทีม "ฮัลโหล" ทีโอที เอสซี ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายวันนี้(12 ต.ค.) นักเตะทีม ทีโอที เอสซี ได้รวมตัวกันไปพูดคุยกับบอร์ดบริหารชุดใหม่ของทีม และ เทเวศน์ กมลศิลป์ กุนซือคนใหม่ เพื่อเจรจาเรื่องเงินเดือนที่ยังค้างจ่ายกว่า 3 เดือน ที่บมจ.ทีโอที แจ้งวัฒนะ
 
ทั้งนี้ บอร์ดบริหารชุดเก่า รวมไปถึงสตาฟฟ์โค้ชชุดเก่าอย่าง รอยเตอร์ โมไรร่า และ อภิสิทธิ์ ไข่แก้ว ได้ออกจากทีมไปเรียบร้อยแล้ว โดย ทีโอที ได้สปอนเซอร์รายใหม่เข้ามาสนับสนุนแล้ว นั่นคือ บริษัท ที เอ็ม บี โฮลดิ้ง จำกัด โดยมีรายงานว่า ผู้สนับสนุนรายนี้พร้อมจะทำทีมในระยะยาว และได้เตรียมแผนที่จะพาทีมสู้ศึกดิวิชั่น 1 หากฤดูกาลนี้ต้องตกชั้น
 
นอกจากนั้นยังแต่งตั้ง เทเวศน์ กมลศิลป์ ลูกหม้อเก่าของทีโอที อดีตโค้ช เกษตรศาสตร์ เอฟซี และ ขอนแก่น เอฟซี มาคุมทีมแทนในปัจจุบัน
 
โดยจากการสอบถามเบื้องต้น บอร์ดบริหารชุดใหม่ของทีโอทีฯ ได้มีการเรียกนักเตะเข้าไปคุยเป็นการส่วนตัวแบบรายคน เพื่อหาทางออกถึงเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในช่วงเย็น 
 
 
"ดาว์พงษ์"สั่งภาคเอกชนทบทวนข้อมูลความต้องการแรงงาน 11 กลุ่มสาขาให้ชัดเจนเตรียมเดินสายหารือสภาหอการค้าฯ-สภาอุตฯ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หวังผลิตอาชีวะป้อนตรงเป้าหมาย
 
(12 ต.ค.)ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษากลุ่มอาชีพ (อ.กรอ.อศ.) 33 กลุ่มอาชีพ โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป้นประธาน ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เสนอข้อมูลความต้องการกำลังคนใน11 กลุ่มสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน แต่กลับพบว่าข้อมูลยังไม่มีความชัดเจน เพราะตนต้องการเห็นขีดความสามารถการผลิตคนในแต่ละสาขาของสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน และความต้องการกำลังคนของภาคเอกชน ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ โดยให้ได้ข้อมูลที่มีความชัดเจนมากกว่านี้ ดังนั้น จึงมอบให้ที่ประชุมกลับไปทบทวนข้อมูลให้ใกล้เคียงกับการวางแผนผลิตกำลังคนใหม่ ขณะเดียวกันระหว่างนี้ตนก็จะไปหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน เพื่อต้องการทราบข้อมูลที่ชัดเจน และร่วมกันจัดทำแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานและวางแผนการจัดทำข้อมูลความต้องการกำลังคนด้านอาชีวศึกษา
 
“ ศธ.เป็นหน่วยงานผลิตคนป้อนสู่ตลาดแรงงาน ดังนั้น ภาคเอกชนก็ต้องเร่งจัดทำข้อมูลที่ชัดเจนมาเสนอให้ผมพิจารณาโดยเร็ว เพื่อจะผลิตคนได้ตรงตามความต้องการ ซึ่งเท่าที่พูดคุยกันในที่ประชุมส่วนใหญ่มีความเห็นว่า มีบางสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ แต่กลับไม่มีการเรียนการสอนเลย” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ระหว่างรอการจัดทำข้อมูลใหม่สิ่งที่ตนมอบให้อาชีวศึกษาทำในขณะนี้ คือ การเดินหน้าระบบทวิภาคี การโอนภารกิจอาชีวศึกษาเอกชน มาอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย ส่วนการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีวศึกษานั้น ตนกำลังดูข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ว่า ที่ผ่านมาเด็กอาชีวศึกษา กู้เงิน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ประมาณเท่าไหร่ และมีส่วนที่ต้องการ แต่เข้าไม่ถึงทุนอีกจำนวนกี่คน โดยจะดูแนวทางให้เข้าถึงได้ และอาจจะไปหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กอาชีวศึกษาได้มีสิทธิกู้ยืมเงินจากกองทุน กยศ. มากขึ้น โดยเฉพาะสาขาวิชาที่กำลังขาดแคลนบุคลากร.
 
 
ดาน่า สไปเซอร์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดโรงงานแห่งที่ ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง
 
บริษัท ดาน่า สไปเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือ บริษัท ดาน่า โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จัดพิธีเปิดโรงงานแห่งที่ 3 ของบริษัท ดาน่า สไปเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) พัฒนาโดยบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) โดยโรงงานแห่งดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ 6,450 ตร.ม. จะช่วยผลิตเกียร์สำหรับรถยนต์ขนาดกลาง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
 
 
ประกันสังคมคาด ต้องใช้งบถึง 4.5 พันล้านบาท ถึงรองรับสิทธิประโยชน์ตาม กม.ใหม่ได้
 
(12 ต.ค.58) ที่กระทรวงแรงงาน นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รักษาการรองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายโกวิท สัจจเศษ รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและรักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ร่วมกันแถลงข่าวถึงสิทธิประโยชน์ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 นั้น โดยนายสุรเดชกล่าวว่า สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ สปส.คาดการณ์ว่า จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกประมาณปีละ 4,500 ล้านบาท ซึ่งโดยเฉลี่ย สปส.ใช้งบประมาณในกรณีเจ็บป่วยปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งในพ.ร.บ.ใหม่ ได้กำหนดให้สปส.สามารถลงทุนในช่องทางที่เพิ่มขึ้น โดยสปส.สามารถลงทุนอสังหาริมทรัพย์และในต่างประเทศได้ แต่ต้องแก้ระเบียบการลงทุนอีกครั้ง
 
นายสุรเดช กล่าวว่า พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนในหลายกรณี โดยเฉพาะในเรื่องการขยายความคุ้มครอง ที่ขยายไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 300,000 คน ให้สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 ได้ ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งกรณีที่ลูกจ้างชั่วคราวเป็นสมาชิกมาตรา 40 ก็ให้ถือว่าขาดไป อีกทั้งยังคุ้มครองลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศและไปทำงานต่างประเทศ ก็ให้สามารถส่งเงินสมทบได้อย่างต่อเนื่อง จากเดิมจะต้องยุติและกลับมาส่งใหม่เมื่อกลับมาทำงานในประเทศไทย
 
   “กรณีเจ็บป่วยนั้น ผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังจะได้รับสิทธิประโยชน์ แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิก็จะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต ครอบคลุมไปถึงการเจ็บป่วย ทุพพลภาพและเสียชีวิต หรือสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกาย โดยไม่เกิดจากการทำงาน และครอบคลุมการทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย เนื่องจากถือว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะเครียด โดยจะได้รับเงินทดแทนในอัตราไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าจ้าง จากเดิมไม่ได้รับสิทธิและได้รับค่าทดแทนการขาดรายได้ไปตลอดชีวิต ซึ่งกฎหมายยังได้กำหนดให้ผู้ทุพพลภาพก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2558 ที่กำหนดให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 15 ปี ได้รับค่าทดแทนการขาดรายได้ตลอดชีวิตด้วย”นายสุรเดช กล่าวและว่า อีกทั้ง ยังเพิ่มสิทธิกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ 36 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนคูณด้วย 4 เท่ากับค่าจ้างประมาณ 2 เดือน เดิมจ่ายแค่ 1.5 เดือน แต่ถ้าผู้ประกันตนส่งเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะจ่ายให้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนคูณด้วย 12 เท่ากับค่าจ้างประมาณ 6 เดือน จากเดิมจ่ายเพียง 5 เดือน
 
นายสุรเดช กล่าวอีกว่า ได้เพิ่มสิทธิในกรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับค่าคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง ๆ ละ 13,000 บาท ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรอายุ 0 - 6 ปี มีสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน เหมาจ่ายรายเดือนๆ ละ 400 บาท ต่อคน จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 คน ขณะที่กรณีว่างงาน เพิ่มความคุ้มครองกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างไม่สามารถให้ลูกจ้างมาทำงานได้โดยยังไม่มีการเลิกจ้าง ซึ่งจะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ และผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน เช่น น้ำท่วมบ้านทำให้ลูกจ้างไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้แต่สถานประกอบการสามารถกั้นน้ำและทำงานตามปกติ หรือ กรณีโรงงานถูกน้ำท่วม จะได้รับเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน จากเดิมที่ไม่ให้การคุ้มครอง
 
นอกจากนี้ นายสุรเดช ยังกล่าวว่า หากผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนได้รับสิทธิประโยชน์เงินชราภาพกำหนดจ่ายเงินให้ทายาทในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ บุตร สามีภรรยา บิดามารดา และบุคคลที่ผู้ประกันตนได้ระบุไว้ แต่หากไม่มีทายาท ผู้ที่มีสิทธิจะเป็น พี่น้องร่วมสายเลือด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ส่วนผู้ประกันตนที่ไม่ใช่สัญชาติไทยหากทำงานครบสัญญาจ้างและเดินทางกลับประเทศให้มีสิทธิรับเงินชราภาพแม้จะส่งเงินสมทบไม่ถึง180เดือนก็ตาม นอกจากนี้ยังกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากเกินเพียงวันเดียวก็จะคิดค่าปรับร้อยละ 2 ต่อเดือน และกำหนดว่าหากนายจ้างแจ้งจำนวนเข้าออกของผู้ประกันตนไม่ตรงกับความจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ทั้งนี้ นายสุรเดชกล่าวว่า ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใส กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) จะต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบที่กำหนดและต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ด้วย
 
 
สกอ.เตรียมแผน 10 ปี ผลิตแพทย์เพิ่ม
 
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการ การอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมโครงการผลิตแพทย์เพิ่มตามนโยบายรัฐบาล ปีงบประมาณ 2561-2570 ว่า ที่ประชุมได้มีการจัดเตรียมแผนงานการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยเป็นแผนระยะ 10 ปี ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย 21 แห่ง จะร่วมกันผลิตแพทย์เพิ่ม จากเดิมผลิตรวมปีละประมาณ 3,000 คน เป็นปีละ 3,452 คน เพราะขณะนี้ประเทศไทยยังขาดแคลนแพทย์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2570 ประเทศไทยต้องมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1 : 1,200 คน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1 : 2,000 คน ซึ่งจะใช้งบประมาณในการผลิตทั้งหมดประมาณ 9,400 ล้านบาทต่อปี หากสำนักงบฯ จัดสรรให้ตามนี้ ก็จะทำให้กำลังการผลิต ทั้งทาง
 
ด้านอาจารย์ผู้สอน การฝึกนักศึกษาแพทย์ทั้งระดับพรีคลินิก และระดับคลินิก เพียงพอต่อการผลิตแพทย์เพิ่มอย่างมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการประชุมพิจารณาแผนดังกล่าวอีกสักระยะ ก่อนที่จะสรุปสุดท้ายเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป
 
รองเลขาธิการ กกอ.กล่าวต่อว่า ส่วนการ เคลื่อนย้ายแรงงานเสรีของสาขาวิชาชีพแพทย์หลังจากเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตแพทย์ เพราะโครงการนี้เป็นการผลิตแพทย์ในประเทศ แต่เราก็คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่อาเซียน ซึ่งก็อาจจะมีการปรับปรุงโครงการได้ตลอดเวลา.
 
 
มจษ.ช่วยนศ.ไร้เงินกู้ วางแนวทางดูแลเร่งด่วน
 
มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ.) ออกแนวทางช่วยเหลือนักศึกษาที่ไม่ผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ประเภทผู้กู้รายใหม่ วาง 4 แนวทาง หวังเป็นอีกหนึ่งช่องทางลดภาระค่าใช้จ่าย ช่วยนักศึกษาให้สามารถศึกษาต่อได้ 
 
นายบุญเกียรติ ชีระภากร ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา มจษ. กล่าวว่า หลังจากมหาวิทยาลัยได้มีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการอนุมัติให้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาไปนั้น มีนักศึกษาจำนวน 216 คน ที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้ยืม เนื่องจากงบประมาณที่รัฐบาลให้มานั้นไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ยื่นกู้ที่มีจำนวน 533 คน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับทุกสถาบัน เนื่องจากผู้กู้ยืมที่ผ่านมาไม่ส่งเงินคืนเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลกระทบต่อนักศึกษาในปัจจุบัน
 
“มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญทางการศึกษาของเยาวชน และต้องการช่วยเหลือนักศึกษาที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาประเภทผู้กู้รายใหม่ ให้มีสถานะทางการศึกษาต่อไป ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ได้ศึกษาต่อหรืออาจได้รับความเดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่าย จึงกำหนดแนวทางช่วยเหลือนักศึกษาที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้ยืมกองทุนดังกล่าว ด้วยกัน 4 แนวทาง” นายบุญเกียรติ กล่าว
 
นายบุญเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางแรกให้นักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ตามประกาศของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ยื่นเรื่องขอกู้กับกองทุนให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ. แทน อาทิ สาขาวิชา การศึกษาปฐมวัย ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ การแพทย์แผนจีน เป็นต้น
 
แนวทางที่สองคือการจัดสรรทุนการศึกษาให้เปล่า โดยมหาวิทยาลัยจะพิจารณาตามคุณสมบัติที่ทุนการศึกษาแต่ละทุนกำหนด แนวทางที่สาม จ้างนักศึกษาช่วยงานตามหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ทางกองพัฒนานักศึกษาได้ประสานไปยังกองบริหารงานบุคคลแล้ว ว่ามีหลายหน่วยงานใดที่ต้องการรับนักศึกษาช่วยงานบ้าง และแนวทางสุดท้าย ส่งเสริมให้นักศึกษาทำงาน Part Time โดยเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานภายนอกที่เปิดรับสมัครพนักงาน Part Time เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาทราบต่อไป โดยทั้ง 4 แนวทางนั้น จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยเหลือนักศึกษาได้ไม่มากก็น้อย หากนักศึกษามีปัญหาหรือต้องการปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องของทุนการศึกษาต่างๆ ก็สามารถมาปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้เช่นกัน
 
 
ก.แรงงาน หารือ ILO ผุดโครงการช่วยเหลือแรงงานในอุตฯ ประมงและอาหารทะเล
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า Mr.Maurizio Bussi รักษาการผู้อำนวยการการใหญ่ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว (ILO) ได้นำคณะหารือแนวทางการขยายความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทั้งนี้ ILO ได้เสนอโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการป้องกันและลดการใช้แรงงานบังคับ การใช้แรงงานเด็ก และรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับอื่นๆ รวมทั้งการขจัดการหาประโยชน์จากแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล นับเป็นโครงการความร่วมมือร่วมกันที่จะช่วยในการขับเคลื่อนนโยบาย การวิเคราะห์เรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เพื่อที่จะนำเข้าไปสู่การรับอนุสัญญาเกี่ยวกับแรงงานบังคับและอนุสัญญาของ ILO ฉบับที่ 188
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ดังกล่าวถือเป็นโครงการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กระบวนการตรวจแรงงาน ในลักษณะของการบูรณาการไม่เฉพาะของกระทรวงแรงงานเพียงหน่วยงานเดียว แต่เป็นการบูรณาการกันระหว่างต่างกระทรวง อาทิ ทหารเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง  นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการที่เน้นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในรูปแบบของความสมัครใจในเรื่องของการทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practice หรือ GLP) ซึ่งจะมีการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มากขึ้น อีกทั้งเป็นการทำงานร่วมกับ NGO หรือสหภาพแรงงานต่างๆ โดยเน้นไปที่แรงงานประมงและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทะเล สำหรับโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป (EU) เพื่อช่วยประเทศไทยแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องแรงงานที่เกี่ยวข้องกับประมง
 
"การทำงานร่วมกับสหภาพ และ NGO อยากให้มีการทำงานร่วมกันแบบไตรภาคีจริงๆ มีภาครัฐเข้าไปร่วมด้วย ไม่เช่นนั้นภาพที่ออกมาเหมือนภาครัฐไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งในความเป็นจริง ๆ ประเทศไทยได้มีการดำเนินการในเรื่องของการดูแลแรงงานข้ามชาติดีมาก ทั้งในแง่ทางกฎหมาย เชิงการคุ้มครอง เรื่องของหลักประกันทางสังคม  จึงมีการพูดคุยกันว่าอยากให้ภาครัฐมีส่วนร่วมมากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการวางแผน กระบวนการที่ทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลาดำเนินงาน ซึ่งรักษาการผู้อำนวยการการใหญ่ ILO เห็นด้วยที่จะตั้งเป็นคณะกรรมการเป็นที่ปรึกษาเพื่อที่จะดูแลกำกับโครงการนี้ร่วมกัน" ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
 
นอกจากนี้ ในรายละเอียดของโครงการกระทรวงแรงงานมีความยินดี แต่เนื่องจากว่าโครงการฯ มีรายละเอียดในหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และเพื่อให้การดำเนินโครงการสอดคล้องการทำงานของกระทรวงแรงงานและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย จะมีการรายงานให้กับคณะกรรมการซึ่งกำกับดูแลหลายๆ กระทรวงในเรื่องของนโยบายด้านนี้ให้ได้รับทราบด้วย ทั้งนี้ อาจมีการปรับในรายละเอียดบางส่วน หรือปรับในแนวปฏิบัติเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเร็วๆ นี้
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน  กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ได้มีการหารือประเด็นการขยายโครงการว่าด้วยความร่วมมือแก้ไขปัญหาแรงงานอพยพและโยกย้ายถิ่นฐาน (Triangle Project) เฟส 2 เป็นโครงการในลักษณะของการดูแลแรงงานข้ามชาติ เน้นในเรื่องของการบริหารจัดการเกี่ยวกับเรื่องของแรงงานข้ามชาติ อาทิ การส่งเสริมให้มีกระบวนการที่ทำงานต่อเนื่อง แรงงานสามารถทำงานในทักษะที่ได้รับไปจากการมาทำงานในประเทศไทย เรื่องของการโอนเงินกลับบ้าน กระบวนการจัดการต่างๆ เพื่อทำให้เกิดระบบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาเฟสแรก เน้นการสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของกระบวนการตรวจแรงงานของกระทรวงแรงงาน อาทิ การปรับแก้กฎหมาย การทำความเข้าใจระหว่างรัฐให้เป็นรูปแบบของไตรภาคี
 
"คาดว่าโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล จะสามารถดำเนินการในเดือนธันวาคม 2558 ส่วนโครงการ Triangle เฟส 2 คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2558" ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม คาดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้ภาพการทำงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานประมงมีความชัดเจนมากขึ้นว่าประเทศไทยมีการดูแล จัดการเกี่ยวกับเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย การนำเข้าแรงงานที่ถูกต้อง การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานประมง ระบบการจัดการว่าแรงงานประมงไม่ได้ถูกบังคับ เพราะโครงการ Triangle ที่ผ่านมามีการวิจัย ซึ่งผลออกมาว่า 60% ของแรงงานประมงยังพอใจที่จะทำงานในอาชีพประมงต่อ นั่นแสดงให้เห็นว่านายจ้างไม่ได้ไม่ดีไปทุกคน รวมทั้งเรื่องของการจ้างงานก็ไม่ได้ไม่ดีไปทุกราย ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐที่สำคัญ คือ ต้องจัดระบบให้ดีในเรื่องของการดูแลคุ้มครอง ทั้งเรื่องของการดูแลการนำเข้า การตรวจแรงงานให้ได้รับสภาพการจ้างงานที่ดี เรื่องกระบวนการรับเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นต้น
 
 
เตือนคนไทยทำงานในญี่ปุ่นแบบผิดกฎหมายอาจรับโทษจำคุก 3 ปี
 
มีคำเตือนจากสถานทูตไทยในกรุงโตเกียว เรื่องการลักลอบการเข้าทำงานในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างหรือนายหน้าคนไทย ที่แนะนำนักศึกษา หรือแรงงานไทยเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย เพราะอาจจะต้องรับโทษจำคุกถึง 3 ปี
 
นอกจากโทษจำคุกแล้ว อาจจะต้องเสียค่าปรับเป็นเงินถึง 3 ล้านเยน หรือประมาณ 9 แสนบาท โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตำรวจญี่ปุ่นได้เข้าตรวจค้นสถานบันเทิง ซึ่งเป็นกิจการของคนไทย และพบว่า มีการนำเข้าแรงงานอย่างผิดกฎหมาย
 
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตำรวจญี่ปุ่นได้เข้าตรวจค้นสถานบันเทิงยามราตรี 2 แห่ง มีชื่อว่า เบญจรงค์ และนิวเบญจรงค์ ย่านยูชิมะในกรุงโตเกียว โดยมีการจับกุมเจ้าของร้าน และนักเรียนสาวไทยที่ไปทำงานที่ร้านแห่งนี้ 1 คน เนื่องจากเดินทางเข้าประเทศด้วยวีซ่านักเรียน แต่กลับมาทำงานในสถานบันเทิงแห่งนี้ ส่วนเจ้าของร้านโดนข้อหาทำผิดกฎหมายคนเข้าเมือง
 
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกประกาศเตือนคนไทย ให้ระวังกับการเป็นนายจ้าง หรือเป็นผู้แนะนำให้แรงงานต่างชาติลักลอบเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุกกว่า 3 ปี หรือปรับเป็นเงิน 3 ล้านเยน คิดเป็นเงินไทยกว่า 9 แสนบาท
 
สถานทูตอยู่ระหว่างการประสานงานกับตำรวจกรุงโตเกียว เพื่อขอยืนยันรายละเอียดเพื่อให้การช่วยเหลือ แต่ขอฝากเตือนคนไทยทุกคนว่า ต้องระวังกับการแนะนำ หรือถูกแนะนำให้เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย เพราะจะถูกเนรเทศ และอาจถูกห้ามเข้าญี่ปุ่นในอนาคตด้วย
 
ทั้งนี้การลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายในญี่ปุ่น แบ่งได้เป็น 3 กรณี คือ 1. การว่าจ้างคนต่างชาติเข้าทำงานแล้วอยู่เกินกว่าที่วีซ่ากำหนด 2. คือกรณีผู้ที่จะเข้าทำงานในญี่ปุ่น จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้าง และมีการลงวีซ่าอย่างถูกต้อง 3. ผู้ถือวีซ่านักศึกษาและขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้องแล้ว จะไม่สามารถทำงานเกินจำนวนชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด และจะไม่สามารถทำงานใดๆ ในสถานบันเทิงของญี่ปุ่นได้ 
 
หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ข้อมูลการพำนักของคนต่างชาติ หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองใกล้บ้านท่านเอง
 
 
สวนสุนันทา นำร่องปรับเงินเดือน บรรจุก่อนได้ย้อนหลัง ธ.ค. 2557
 
รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ดำเนินการปรับอัตราเงินเดือนดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ และมีผลย้อนหลังตั้งแต่ครม.มีมติ โดยพนักงานมหาวิทยาลัยในปัจจุบันมีอยู่สองสายงานคือสายวิชาการ เป็นอาจารย์ผู้สอน และดำรงตำแหน่งทางวิชาการในระดับต่างๆ
 
กับสายสนับสนุนวิชาการ คือเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่สนับสนุนการเรียนการสอน ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้จะมีบทบาทเข้ามาแทนที่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งค่อยๆ ลดจำนวนลง และคาดว่าจะหมดไปในที่สุด ดังนั้นพนักงานมหาวิทยาลัยจึงเป็นกลุ่มคนที่มีภาระหน้าที่และบทบาทสำคัญในการจัดและสนับสนุนการเรียนการสอน ซึ่งตนเชื่อว่าคนเหล่านี้ทำงานด้วยความรักในวิชาชีพ และทุ่มเทเพื่องานเช่นเดียวกับข้าราชการ
 
การดำเนินการเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้พนักงานมหาวิทยาลัยรู้สึกว่าตนมีศักดิ์ศรี มีความผาสุกในการทำงาน มีความรักในองค์กรทุ่มเทและรักในงานที่ทำ ผลที่ได้กลับมาจะส่งผลสู่มหาวิทยาลัยและนักศึกษาในที่สุดซึ่งกล้าพูดได้ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ปรับเงินเดือนพนักงานขึ้นตามมติครม.ครั้งนี้ โดยพิจารณาจากสองกลุ่มคือ พนักงานมหาวิทยาลัยที่บรรจุเข้าทำงานก่อนเดือนธันวาคม 2557
 
กลุ่มนี้จะได้รับการปรับขึ้นย้อนหลังตั้งแต่เดือนธันวาคม ส่วนผู้ที่บรรจุเข้าทำงานหลังจากนั้นก็ปรับขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ยึดตามวันที่บรรจุเข้าทำงานเป็นสำคัญ เชื่อว่าการตัดสินใจปรับเงินเดือนขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยทุกคน อันจะนำไปสู่ความผาสุกขององค์กรในภาพรวม
 
 
อุตสาหกรรมรองเท้าอ่วม! แบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว หลังยอดขายร่วงต่อเนื่องถึง 70% หวั่นผู้ประกอบการรายเล็กกว่า 1,000 ราย ปิดกิจการ 
 
นายชนินทร์ จิตต์โกมุท นายกสมาคมรองเท้าไทย เปิดเผยว่า ในปี 2559 ผู้ประกอบการ รายย่อยในอุตสาหกรรมผลิตรองเท้าที่มีอยู่กว่า 1,000 ราย มี แนวโน้มปิดกิจการลงจำนวนมาก หลังจากในช่วงที่ผ่านมาของปี 2558 มียอดขายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องกว่า 70% เมื่อเทียบกับยอดขายในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแรงซื้อในประเทศที่อ่อนตัวลง
 
ทั้งนี้ กำลังซื้อที่ลดต่ำลงส่ง ผลต่อแรงซื้อในประเทศลดลงตามไปด้วย จากเดิมที่ผู้ประกอบการรายย่อยเคยขายได้เฉลี่ยกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน เหลือเพียง 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน และขณะนี้มีหลายรายที่ต้องปิดกิจการ ซึ่งทางกลุ่มได้หารือกันว่าปี 2559 จะอยู่กันอย่างไร จะแบกรับภาระ คนงานได้หรือไม่ ที่สำคัญเพื่อความอยู่รอดผู้ประกอบการต้องปรับตัวเอง
 
นายชนินทร์กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่ส่วนมากได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว อาทิ พม่า และกัมพูชาบางส่วน เช่นเดียวกับผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก อย่างไต้หวันเองก็ย้ายฐานไปยังกัมพูชา เช่นกัน ซึ่งรายใหญ่คงไม่มีปัญหาแต่รายกลางและเล็กในไทย โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวที่ทำรองเท้าป้อนตลาดในประเทศเดิมเคยมองว่าจะอยู่รอด แต่ตอนนี้คงจะลำบากหากไม่ปรับตัวเองในการทำงานหลายๆ ด้านมากขึ้น เพื่อให้ทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนเร็ว
 
"ขณะนี้ผู้ผลิตไทยจะรับจ้างผลิตและทำแบรนด์สินค้าของตนเองไปพร้อมกันแต่เพียงเท่านี้ ก็ไม่เพียงพอในสถานการณ์ปัจจุบันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่ตกต่ำ หลายรายต้องหันไปใช้วิธีการนำเข้าจากต่างประเทศมาทำตลาดการขาย เฉพาะวัตถุดิบเป็นต้น ซึ่งที่สุดก็อาจต้องเลือกเพราะเวลานี้การ รับจ้างผลิตเอง ออเดอร์ก็หนีไป เพื่อนบ้านหมดแล้ว เพราะต้น ทุนต่ำ" นายชนินทร์กล่าว
 
นายชนินทร์กล่าวถึงการส่งออกในอุตสาหกรรมรองเท้าว่า ในปีนี้จะติดลบกว่า 5% และในปี 2559 ก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะการผลิตของไทยเป็นเพียงส่วนน้อยมากของตลาดโลก ที่มีผู้ค้าหลักๆ คือจีนและเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบหนังมากสุดในโลกแล้ว และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เวียดนามสั่งนำเข้าวัตถุดิบประเภทหนังฟอก ชิ้นส่วนต่างๆ  ดังนั้นในอนาคตไทยต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ผลิตรองเท้า เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนให้กับตลาดโลกแทน รวมถึงการเป็นผู้กระจายวัตถุดิบสู่ภูมิภาค จากความได้เปรียบทางภูมิประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC).
 
 
ส.อ.ท.ลดเป้าผลิตรถยนต์ปี 58 เหลือ 1.95-2 ล้านคัน ลดลง 5 หมื่น-1 แสนคัน
 
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2558 ลงเหลือ 1.95-2 ล้านคัน ลดลงจากเป้าหมายเดิม 50,000-100,000 คัน ซึ่งในส่วนของยอดผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกนั้น ยังคงเป้าหมายเดิมที่ 1.2 ล้านคัน แต่ได้ปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์เพื่อการจำหน่ายในประเทศลงมาเหลือที่ 7.5-8 แสนคัน
 
 
สรุปผลศึกษาตั้งอู่ตะเภาเป็นนิคมอุตฯการบิน ลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท
 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมเปิดเผยว่า ได้รับทราบรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย  สรุปแล้วว่าจะเสนอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินที่สนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากพื้นที่มีความพร้อมและเหมาะสมในการพัฒนา โดยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยจะพัฒนากิจกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) และกิจกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (Original Equipment Manufacturer : OEM)  วงเงินลงทุน 15,000 ล้านบาท โดยมี อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 22% และอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 6.34% และประมาณการรายได้ตลอดสัญญา 30 ปี ที่ 2.4 แสนล้านบาท
 
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนในการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถเปิดให้เอกชนลงทุนได้ โดยหลังจากนี้จะนำผลการศึกษาไปหารือกับกองทัพเรือ (ทร.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่และเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายฯของกระทรวงคมนาคม เรื่องการจัดตั้งนิคมอุตสากรรมการบิน เพื่อหาข้อสรุปร่วมกับและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) พิจารณาต่อไป ในขณะเดียวกัน จะต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรไว้ด้วย โดยคาดว่าในช่วงแรก มีความต้องการทั้งวิศวกรและบุคลากรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องประมาณ 1,800 คน จนถึงปี 2566 และระยะต่อไป ถึงปี 2576 จะต้องการบุคลากรถึง 3,500 คน
 
สำหรับการศึกษาวิเคราะห์พบว่า อัตราการเติบโตด้านอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคใน 20 ปีข้างหน้าจะสูงมาก โดยมีคำสั่งซื้อเครื่องบินจำนวน 12,820 ลำ ซึ่งสูงสุดในโลกสัดส่วน  36% โดยในปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีการเติบโตของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ เส้นทางระหว่างประเทศ 55% และภายในประเทศ 45% โดยสายการบินที่บินเข้าประเทศไทยทั้งหมดมีการซ่อมบำรุงอากาศยานมูลค่าถึง 23,200 ล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากไทยมีศูนย์ซ่อม 3 แห่ง คือดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ซึ่งมีขีดความสามารถรองรับได้เพียง 40% หรือประมาณ 9,300 ล้านบาทต่อปี ทำให้อีก 60% มูลค่าประมาณ 139,000 ล้านบาทต้องไปซ่อมต่างประเทศ
 
ดังนั้น หากสามารถจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานที่อู่ตะเภาได้ จะทำให้ดึงเม็ดเงิน 60% กลับมาอยู่ในประเทศไทยได้ โดย แบ่งการลงทุนเป็น 3 ระยะ ๆ ละ 5,000 ล้านบาท (ระยะที่ 1 ปี 2559-2561 , ระยะที่ 2 ปี 2564-2566 และระยะที่ 3  ปี 2569-2571 ซึ่งจะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานครบวงจรหรือ Aeropolis : มหานครอากาศยาน) โดยระยะแรกจะมีการก่อสร้างอาคารสำหรับซ่อมเครื่องบิน (แฮงก้า) 2 หลัง รองรับเครื่องบินได้ 48 ลำต่อปี ระยะที่ 2 ก่อสร้างเพิ่มอีก 2 หลังและระยะที่ 3 ก่อสร้างเพิ่มอีก 2 หลัง  อย่างไรก็ตามแม้จะพัฒนาเต็มทั้ง 3 ระยะแต่พบว่า ขีดความสามารถสูงสุดรองรับการซ่อมบำรุงได้เพียง 60% ดังนั้นจะต้องพิจารณาพื้นที่อื่นสำหรับขยายเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานเพิ่มเติมอีกด้วย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท