Skip to main content
sharethis

15 ต.ค. 2558 ที่อาคารอเนกประสงค์ บริเวณสี่แยกห้วยปริก ต.ห้วยปริก อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางใต้ 8 องค์กร หรือ 12 เสือใต้ ร่วมจัดเวทีสัมมนาเชิงวิชาการ “รวบรวมปัญหายางพาราเพื่อเป็นแนวทางเสนอให้มีการแก้ไขโดยด่วน” โดยมีแกนนำ และตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางจาก 16 จังหวัด เข้าร่วมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ท่ามกลางสภาพอากาศที่มีฝนตกพรำๆ ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา

การระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ มีหัวข้อที่จะนำเสนอในเวที ประกอบด้วย ทิศทางราคายางและการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในวันนี้, พ.ร.บ.การยางฯ เจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมโอกาสและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง, มาตรการแก้ไขปัญหาตามมติ คสช.ที่ 26/8/57 และ มติ ครม. 21/10/57 ที่เกษตรกรจะเข้าถึงโอกาสได้อย่างไร, หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยจะมีวิทยากรผลัดเปลี่ยนการนำเสนอ อาทิ  นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มแห่งประเทศไทย นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย นายทวี ขวัญศรีสุทธิ์ กรรมการเครือข่ายชาวสวนยาง นายเสวก ทองเกตุ กรรมการสมาคมเครือข่ายเกษตรกรสถาบันเกษตรกรยางพาราไทย เป็นต้น ซึ่งผลจากการร่วมประชุมเสวนาทางวิชาการในวันนี้ เพื่อหาข้อสรุปเป็นแผนภาพรวมของการพัฒนายางพาราทั้งระบบ และนำเสนอเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน ให้กับคณะทำงานเพื่อร่วมพัฒนายางพาราต่อไป

นายมนัส บุญพัฒน์ กล่าวว่า เวทีในวันนี้จะเป็นเวทีระดมความคิดเห็นเวทีสุดท้าย เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาอย่างเป็นระบบในการแก้ไขปัญหายางพารา และในเวลา 16.00 น.วันนี้ 15 ตุลาคม 2558 นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แจ้งจะเข้าร่วมรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหา พร้อมลงนามข้อตกลงร่วมเพื่อขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาอย่างเป็นระบบในการแก้ไขปัญหายางพารา และจะร่วมแถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เราได้เชิญหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

ร้องประยุทธ์ชดเชยส่วนต่างที่ 60 บ.ต่อกิโล

ขณะที่วานนี้(14 ต.ค.58) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฝั่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางและตัวแทนแนวร่วมกู้ชีพ พร้อมนายกัมพล เพิงมาก ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ภาคกลาง และภาคตะวันออก เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอและเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนพร้อมรายชื่อตัวแทนกู้ชีพชาวสวนยางจากทั่วประเทศจำนวน25 คนต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์บริการประชาชนฯ

โดยนายสุนทร กล่าวว่า ตามที่แนวทางร่วมกู้ชีพชาวสวนยางประกาศเขตภัยพิบัติราคายางพาราตกต่ำตั้งแต่วันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ที่จ.สุราษฎร์ธานี จนถึงปัจจุบันแนวร่วมกู้ชีพฯ แต่ละจังหวัดได้ทยอยประกาศเขตภัยพิบัติราคายางพาราตกต่ำในหลายพื้นที่ ที่เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ให้เกษตรกรแสดงออกอย่างถูกกฎหมายเพื่อสะท้อนความเดือดร้อนจากราคายางตกต่ำให้รัฐบาลได้รับรู้โดยขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนคือ 1. ให้ชดเชยส่วนต่างของยางพาราที่กิโลละ 60 บาท เพื่อเป็นการชดเชยรายได้ ให้กับชาวสวนยางที่จดทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย

นายสุนทร กล่าวอีกว่า 2. ให้อนุมัติกองทุนข้าวสาร ที่แนวร่วมกู้ชีพเคยเสนอต่อนาย อำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ 3.ให้ชะลอการตัดโค่นยางพาราตามนโยบายทวงคืนพื้นป่า และตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองระดับจังหวัดโดยมีเกษตรกรเข้าร่วม เพื่อแยกพื้นที่สวนยางของคนจนและนายทุน ตามคำสั่ง 4. ให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และคนกีดยางในที่ดินดังกล่าว สามารถจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ได้มีการยื่นรายชื่อตัวแทน แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางทั่วประเทศจำนวน 25 คน เพื่อขอพูดคุยโดยตรงกับนายก ในการหาทางออกจากปัญหาครั้งนี้ ขณะเดียวกันแนวร่วมกู้ชีพฯ ขอเสนอโครงการชดเชยส่วนต่างโครงการยางพาราซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือชาวสวนยางรายย่อยไม่เกิน 15 ไร่ เป็นการชดเชยรายได้แก่เกษตรที่คำนวณมาจากผลผลิตยางต่อปีคูณกับส่วนต่างราคา ตามที่คณะทำงานศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติการชดเชยส่วนต่างราคายางพาราแทนการรับซื้อผลผลิตเก็บเข้าสต็อกกำหนดเพื่อให้ความช่วยเหลือนี้ครอบคลุมไปถึงคนกรีดยางด้วย

“ที่พล.ต.สรรเสริญแก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พูดชี้นำล่วงหน้าว่าโครงการช่วยเหลือเกษตรรายย่อย ทำเกษตรกรเสียนิสัย และทำให้กลไกตลาดบิดเบือนนั้น การพูดเช่นนี้พล.ต.สรรเสริญ ทราบหรือไม่ว่าไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล เกษตรกรกำลังจะตาย เลือดกำลังไหล ลูกต้องออกจากโรงเรียน บอกให้ใช้โครงการระยะยาว มันไม่ถูกต้อง วันนี้พี่น้องเขาเตรียมการเคลื่อนไหวทั่วประเทศวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช แค่บอกว่ารัฐบาลไม่มีเงินก็พูดตรงๆ ไม่ต้องพูดลีลา อ้อมค้อม เอาแบบแมนๆ เราจะได้เดินหน้าได้ถูกต้องว่าต้องเดินหน้าอย่างไร ซึ่งรัฐบาลต้องไปคุยกับชาวสวนเอง หากรัฐบาลหรือนายกฯ เพิกเฉยมีการเคลื่อนไหวเร็วๆ นี้แน่นอน” นายสุนทร กล่าว

ที่มา : มติชนออนไลน์, 14 ต.ค.58 และ 15 ต.ค.58

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net