Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดปัตตานีนัดไต่สวนคำร้องคดีวิสามัญ 4 ศพบ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี นัดไต่สวนคดีครั้งต่อไปในวันที่ 9 พ.ย. 2558 เวลา 09.00 น.

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้รับแจ้งจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา เวลา  09.00 น. ศาลจังหวัดปัตตานีได้นัดไต่สวนคำร้องคดีหมายเลขคำที่ ช.11/2558 คดีชันสูตรพลิกศพ ( ไต่สวนการตาย ) ของพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25  มี.ค. 2558 เวลาประมาณ 17.20 น. ที่ได้มีการสนธิกำลังระหว่างฉก.ปัตตานี 25 นปพ. 431 ฉก. ทพ.41 กำลังตำรวจจาก สภ.ทุ่งยางแดง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และ ทหารจากร้อย ร. 35314 ฉก.ปัตตานี เข้าปฏิบัติการตรวจสอบความผิดปกติในพื้นที่ หมู่ที่ 6 บ้านโต๊ะชูด ต. พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ. ปัตตานี ส่งผลให้มีการจับกุมชาวบ้านจำนวน 22 คน และมีชาวบ้านเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ (วิสามัญฆาตกรรม) ในที่เกิดเหตุ 4 คน คือนายสุไฮมี เซ็น นายซัดดัม วานุ นายคอลิด สาแม็ง และนายมะดารี แม้เราะ หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ให้ข่าวสารต่อสาธารณะว่าผู้เสียชีวิต 2 คน คือ นายอันวาร์ ดือราแม และนายมากูรอซี แมเราะ เป็นแกนนำก่อความไม่สงบในพื้นที่ทุ่งยางแดงระดับปฏิบัติการ (RKK) ได้ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่แต่ชาวบ้านใกล้เคียงที่เกิดเหตุและญาติเชื่อว่าผู้ตายไม่มีอาวุธและไม่ได้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

ต่อมาทางผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผลการสอบสวนปรากฏว่า จากการข่าวและพยานบุคคลยืนยันว่า ไม่ปรากฏว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คน มีพฤติการณ์เป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบมาก่อน มีเพียงบางรายที่เคยถูกจับเพราะเสพน้ำกระท่อม ก่อนถูกยิงเสียชีวิตในขณะที่วิ่งหลบหนีเจ้าหน้าที่ ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทั้ง 4 ราย มีอาวุธปืนแต่อย่างใด คณะกรรมการจึงมีความเห็นเชื่อว่าผู้ตายทั้ง 4 ราย ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรงและไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ส่วนการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่นั้น คณะกรรมการมีความเห็นว่าจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการครั้งนี้ น่าเชื่อว่ามีเหตุผลเพียงพอ เนื่องจากมีข้อมูลด้านข่าวกรองและข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอยู่ในพื้นที่  ส่วนอาวุธที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าพบอยู่กับผู้ตาย ไม่มีหลักฐานบ่งชี้เชื่อมโยงกับผู้ตาย และจากการตรวจสอบอาวุธปืนดังกล่าว ไม่พบว่าเคยใช้ในการกระทำความผิดมาก่อน จึงไม่สามารถสรุปได้ คงให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ แต่น่าเชื่อว่าไม่ใช่เป็นอาวุธของผู้ตายตั้งแต่เริ่มต้น และได้เสนอแนะให้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ชาวบ้านทั้ง 4 คนเสียชีวิต  ทั้งให้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามระเบียบโดยเร็ว  นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการปรับปรุงระบบการข่าวกรองให้แม่นยำมากขึ้น การเข้าปิดล้อมตรวจค้นควรมีผู้นำท้องถิ่นเข้าร่วมด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ผิดพลาดดังกล่าวอีก และถ้าเกิดเหตุคล้าย กับกรณีดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงเร่งชี้แจงข้อเท็จจริงโดยเร็ว

ในการไต่สวนการตายเป็นคดีวิสามัญในวันที่ 12 ต.ค. 2558 ดังกล่าวข้างต้น ญาติผู้ตายทั้ง 4 ได้แต่งตั้งทนายความ จาก ศูนย์ทนายความมุสลิม โดยทนายความได้ยื่นคำร้องเพื่อซักถามพยานของพนักงานอัยการ โดยศาลได้ไต่สวนพยานไปแล้ว 4 ปาก คือ พ.ต. ลิขิต กระฉอดนอก เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วย ฉก.ที่ 41  จ.ส.ต.อัมพร เลี่ยเห้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจศูนย์ปฏิบัติการชายแดนใต้ อส.ทพ. วิรัตน์ชัย บือซา อาสาสมัครทหารจากหน่วย ฉก.ที่ 41  และนายแพทย์อรัญ รอกา แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ และได้เลือนนัดไต่สวนคดีครั้งต่อไปในวันที่ 9 พ.ย. 2558 เวลา 09.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net