หลากมุมมองต่อปัญหาโรงไฟฟ้าหินกรูดที่มีอิทธิพลต่อทิศทางของกระบวนการตัดสินใจ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ประเด็นของการพัฒนาโครงการระดับชาติ และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นประเด็นที่สามารถถกเถียงได้เสมอ (debatable) โดยเฉพาะเมื่อประชาชนเหล่านั้นคือคนท้องถิ่น ผู้ซึ่งนอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการใหญ่ดังกล่าวแล้ว ยังต้องแบกรับปัญหาหรือผลกระทบต่างๆ ที่ตามมา เช่น ปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ประชาชนล้มป่วยเป็นจำนวนไม่น้อย หรือปัญหาการสร้างเขื่อนปากมูน ที่ทำให้ความหลากหลายของปลาลดลง เกิดความสูญเสียแก่ระบบนิเวศน์ทางน้ำ รวมทั้งประชาชนขาดรายได้จากอาชีพดั้งเดิม และวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป หรือปัญหาที่ว่าอาจรวมไปถึงการขีดเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ท้องถิ่นอย่างการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับซ้อนพื้นที่ของชาวบ้านที่อยู่มาแต่ดั้งเดิมให้ไม่สามารถทำมาหากิน หรืออาศัยในพื้นที่ของตนเองได้เหมือนเก่า หรือถ้าหากมองตัวอย่างในบริบทของสังคมเมืองแล้ว เราอาจพบปัญหาเหล่านี้ในรูปแบบของการเวนคืนที่เพื่อพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และเป็นข้อถกเถียงอยู่เสมอว่าเราจะประสานผลประโยชน์ของชาติ กับคนท้องถิ่นได้อย่างไร โดยเฉพาะในโลกประชาธิปไตยปัจจุบันที่มีแนวคิดของการมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น จนแทบจะทุกปัญหาได้ก่อให้เกิดขบวนการประชาสังคม หรือการเคลื่อนไหวของภาคพลเมืองขึ้นมาเพื่อต่อรองผู้มีอำนาจต่างๆ ทั้งรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

บทความนี้เลยมุ่งที่จะนำเสนอตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งของปัญหาการพัฒนาดังกล่าว คือปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยจะนำมาเชื่อมโยงกับกรอบคิดทางการเมืองต่างๆ เช่น กรอบขบวนการทางการเมืองและสังคม กรอบปรัชญาการเมืองและจริยศาสตร์ และแนวคิดและเครื่องมือของประชาธิปไตยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต่างก็ส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจ (Decision making process) ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความหลากหลายของการมองปัญหาดังกล่าว โดยอาจเป็นการกล่าวในลักษณะหยาบๆ เท่านั้น เพื่อให้เห็นภาพรวมของประเด็น แต่ก็อาจสามารถแสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งของกระบวนการตัดสินใจที่ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอนได้เช่นกัน

จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์กับนางจินตนา แก้วขาว ผู้นำของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด อันเป็นการรวมตัวของประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาดังกล่าว ทำให้เห็นภาพของการต่อสู้ของประชาชน ตั้งแต่ปี 2540 โดยเฉพาะความมุ่งมั่น และจริงจังของผู้นำอย่างคุณจินตนาเอง หรือยุทธวิธีการต่อสู้ที่มีความสร้างสรรค์ รวมทั้งเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ เช่น ปรับเปลี่ยนการต่อสู้บนถนน ที่มีความเสี่ยงต่อความรุนแรงและไม่ปลอดภัยสูง ไปสู่แนวทางแห่งสันติ เช่น การทำโปสการ์ดถึงนักท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถร่วมต่อต้านได้ นอกจากนั้นแล้วการรักษา (maintain) มวลชนหลังจากที่ประสบความสำเร็จแล้วก็ถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ทำให้กลุ่มอนุรักษ์ฯ นี้สามารถมีอำนาจเข้าไปต่อรองในระดับจังหวัด หรือสามารถต่อรองกับประเด็นปัญหาการพัฒนาอื่นๆ ได้ ซึ่งเมื่อเรามองประเด็นข้างต้น เราจะสามารถอธิบายการพลวัตการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ตามทฤษฎีระดมทรัพยากร (Resource Mobilization Theory) ที่ให้น้ำหนักกับองค์กรการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement Organization) ในการทำหน้าที่รวบรวมทรัพยากร เช่น เงิน แรงงาน และกำหนดยุทธวิธีการต่อสู้ ด้วยวิธีการขัดขวางระบบปกติ (disruptive tactics) เช่น การระดมมวลชน, การสร้างอัตลักษณ์ร่วม (collective identity) (โดยอัตลักษณ์ที่ว่าคือ การเป็นกลุ่มสิ่งแวดล้อม) และการสร้างเหตุการณ์การชุมนุมประท้วง เป็นต้น ซึ่งวิธีการในลักษณะนี้เกิดขึ้นนอกระบบโครงสร้างทางสังคมแบบปกติ ทำให้มักได้รับการต่อต้านจากรัฐ นอกจากนั้นแล้วยังสามาถอธิบายการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้โดยทฤษฎีกระบวนการทางการเมือง (Political Process Theory) ซึ่งให้ความสำคัญในด้านความสำเร็จจากความพร้อมขององค์กรในฐานะที่เป็นสถาบันที่มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น อันมีทั้งปัจจัยผู้นำ สมาชิก แรงจูงใจ ยุทธวิธี รวมทั้งปัจจัยความพร้อมทางด้านจิตสำนึกของการต่อสู้ของกลุ่ม และปัจจัยโครงสร้างโอกาสทางการเมือง โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของกลุ่มต่อต้าน ซึ่งในที่นี้กลุ่มต่อต้านดังกล่าวก็คือ วัดบางวัดที่ให้การสนับสนุนโรงไฟฟ้า ดังนั้นแล้วเมื่อเรามองปรากฏการณ์การรวมตัวของประชาชนบางสะพาน ต่อทิศทางกระบวนการตัดสินใจในการสร้างโครงการดังกล่าวแล้วจะพบว่า หากไม่มีขบวนการต่อต้านจากประชาชน กระบวนการตัดสินใจจากภาครัฐ และผู้ลงทุนก็จะเป็นไปอย่างง่าย ซึ่งการเกิดขึ้นของการเคลื่อนไหวของประชาชน โดยเฉพาะที่มีการจัดตั้งอย่างดี มีความเป็นสถาบัน และมีความเข้มแข็ง ก็จะทำใหสามารถมีอำนาจต่อรองและมีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ในปัจจุบันแทบจะทุกโครงการพัฒนามักจะมีองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของประชาชนเข้ามาอยู่ในพื้นที่การต่อรองด้วย ถึงแม้จะไม่ใช่กลุ่มในพื้นที่จริงๆ ก็สามารถมีอิทธิพลได้ ตัวอย่างเช่นกลุ่มสมัชชาคนจนที่มีพลวัตจากการเคลื่อนไหวเพียงประเด็นเขื่อนปากมูน มาเป็นการเคลื่อนไหวกับกลุ่มต่างๆ ในประเด็นที่ต่างออกไป เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน เป็นต้น

มุมมองต่อมาที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจในโครงการพัฒนาที่มีความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ของชาติ และท้องถิ่น ที่เห็นได้ชัดคือ การอ้างถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของทั้งชาติ โดยมักมีการอ้างคำพูดที่ว่า เพื่อประเทศชาติพัฒนา ชาวบ้านและชุมชนต้องเสียสละบ้าง โดยการมองในมุมนี้ จะสามารถอธิบายได้ด้วยกรอบของปรัชญาการเมืองและจริยศาสตร์ ผ่านแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม (utilitarianism) ที่เสนอโดยเบนแธม (Jeremy Bentham) และมิลล์ (John Stuart Mill) ที่ว่า การกระทำที่ดีที่สุดคือการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด (The greatest happiness of the greatest number) โดยแนวคิดนี้จะมองผลลัพธ์เป็นหลัก และไม่ให้ความสำคัญกับวิธีการหรือเจตนา ซึ่งหากเรามองปัญหาดังกล่าวเพื่อหาการตัดสินใจแล้ว กระบวนการตัดสินใจก็จะเป็นไปในลักษณะที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และละเลยท้องถิ่น กล่าวคือชาวบางสะพานต้องสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด แต่กระนั้นแนวคิดนี้มักจะไม่ได้รับความนิยมในการอธิบายปรากฏการณ์ลักษณะดังกล่าวในปัจจุบัน เพราะแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนได้รับความสนใจมากขึ้น เพื่อที่จะให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์มากขึ้น หรือที่เรียกว่าการให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human centric) แทนที่การให้รัฐเป็นแกนกลาง (State centric) หรือเป็นผู้ได้ประโยชน์หลักอันเกี่ยวข้องกับแนวคิดของประชาธิปไตยที่จะพูดต่อไปนี้

แนวคิดและเครื่องมือของประชาธิปไตยนั้นมีผลอย่างยิ่งในโลกเสรีประชาธิปไตย และโลกในภาวะโลกาภิวัตน์ ที่เหตุการณ์ในประเทศหนึ่งๆ สามารถที่จะรับรู้ถึงประเทศอื่นๆได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังมีอิทธิพลต่อองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่พร้อมจะสร้างแรงกดดันต่อกระบวนการตัดสินใจ โดยแนวคิดของประชาธิปไตยที่ว่านั้นก็มีหลากหลายแนวคิด ทั้งหลักธรรมาภิบาล หรือหลักการบริหารงานอย่างโปร่งใส การตรวจสอบ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน การกระจายอำนาจ หรือการให้อำนาจการตัดสินใจแก่ชุมชน และเครื่องมือของประชาธิปไตยนั้นมีตัวอย่างเช่น การทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความเห็นของผู้ได้เสียประโยชน์ต่างๆ (stakeholder) โดยกรณีโรงไฟฟ้าหินกรูดนั้นในตอนแรกประชาชนได้ขอให้รัฐทำประชาพิจารณ์ แต่กลับได้รับการปฏิเสธ เพราะได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานไปแล้ว ทำให้ชาวบ้านต้องหาเครื่องมือของประชาธิปไตยอื่น ก็คือการระดมมวลชนเพื่อต่อสู้บนท้องถนน หรือการเมืองภาคประชาชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการลดทางเลือกของประชาชนลง ทำให้กระบวนการตัดสินใจนั้นก็มีน้อยลงเช่นกัน นอกจากนั้นแล้วยังมีเครื่องมือชนิดอื่น เช่น การทำประชามติ อันเป็นการหาฉันทามติสุดท้ายอันเป็นกระบวนการตัดสินใจที่เป็นรูปธรรมที่สุด ซึ่งหากเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ถูกใช้อย่างเป็นธรรม หรือไม่ละเมิดกลไกของประชาธิปไตย ซึ่งในที่นี้คือ การที่รัฐบาลไม่ให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อนการอนุมัติใดๆ ทำให้กระบวนการตัดสินใจในโครงการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย และไม่เห็นหัวประชาชนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแท้จริงตามระบอบการปกครองนั่นเอง

กล่าวโดยสรุปแล้วการมองปัญหาโครงการพัฒนาต่างๆ นั้น โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระดับชาติ ที่ขัดแย้งกับท้องถิ่นหรือในกรณีศึกษาคือโรงไฟฟ้าหินกรูดนั้นเป็นสิ่งที่ถกเถียงได้มาก และมีมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งมุมมองดังกล่าวเหล่านี้เองส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจ ที่แตกต่างกันด้วย เช่น หากเรายึดมุมมองของกรอบขบวนการทางสังคมและการเมือง เราก็จะได้กระบวนการตัดสินใจที่มีตัวแสดง (actor) เพิ่มขึ้น เช่นกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่ทำให้ตัวเองสามารถมีบทบาทต่อกระบวนการตัดสินใจในระดับจังหวัดและประเทศได้ หรือหากเรามองผ่านมุมมองของแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม ก็จะทำให้กระบวนการตัดสินใจมุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์และความสุขของคนส่วนใหญ่ และชาวบ้านบางสะพานต้องยอมเสียสละเพื่อให้ประชาชนไทยได้มีความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าที่มากขึ้น และหากเรามองผ่านแนวคิดและเครื่องมือของประชาธิปไตยก็จะทำให้กระบวนการตัดสินใจเป็นไปอย่างยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด ซึ่งมุมมองต่างๆ เหล่านี้ยังมีอีกมากมายที่ผู้เขียนไม่ได้หยิบยกมาเสนอ และผู้เขียนเองก็เชื่อว่ายังมีอีกหลายมุมมองที่ผู้เขียนคิดไม่ถึง ทำให้การศึกษากระบวรการตัดสินใจนั้นไม่สามารถตอบได้อย่างทั่วไป (general) ว่า มุมมองใดควรสร้างเป็นมาตรฐานของกระบวนการตัดสินใจได้มากแค่ไหนนั่นเอง
 

 

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เป็นผลจากการศึกษาและลงพื้นที่จริงของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯในโครงการค่ายอาสาพัฒนาชนบทปลายปี ปีการศึกษา 2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท