Skip to main content
sharethis




หลักสูตรปริญญาโทสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเกียรติจาก ดร.ไมล่า สไตฟ์เว่นส์ (Dr. Maila Stivens) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสตรีศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย มาเป็นอาจารย์อาคันตุกะ ศาสตราจารย์สไตฟ์เว่นส์มีความสนใจเรื่องสตรีนิยมข้ามพรมแดน (transnational feminism) กับโลกาภิวัฒน์ (globalization) เป็นพิเศษ และบรรยายหัวข้อดังกล่าวให้แก่นักศึกษา คณาจารย์ ตลอดจนบุคคลภายนอกที่สนใจเข้าร่วมรับฟังระหว่างที่พักอยู่ในประเทศไทย

ศาสตราจารย์สไตฟ์เว่นส์เสนอว่าการก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ของภูมิภาคในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกระบวนการสร้างเพศสถานะแบบใหม่และทบทวนของเดิมที่มีอยู่ โลกาภิวัฒน์กระตุ้นการไหลเวียนของแรงงานข้ามชาติและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม สร้างความกำกวมเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคล พฤติกรรมในครัวเรือนและการใช้ชีวิตล้วนเปลี่ยนแปลงไป สร้างคำนิยามแบบใหม่ให้กับ “ครอบครัว” ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงฟิลิปปินส์ย้ายถิ่นฐานไปทำงานเป็นผู้ดูแลเด็กและคนชราให้กับครอบครัวอื่นทั่วโลก เหตุที่ได้รับความไว้วางใจมากเป็นพิเศษเนื่องจากผู้หญิงฟิลิปปินส์พูดภาษาอังกฤษได้ นับถือศาสนาคริสต์เช่นเดียวกับชาวตะวันตกส่วนใหญ่ และภาพเหมารวมความเป็นผู้หญิงเอเชียดูไม่มีพิษภัยกับเจ้าของบ้านหากต้องรับเข้ามาอาศัยร่วมชายคาเดียวกัน ผู้หญิงฟิลิปปินส์เหล่านี้ต้องทิ้งบ้านทิ้งลูกให้อยู่ในความดูและของสามีหรือญาติผู้ใหญ่ที่บ้านเกิด ความเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” จึงไม่ถูกจำกัดด้วยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อีกต่อไป แรงงานสตรีข้ามชาติเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงครอบครัว ส่งรายได้มหาศาลจำนวนกว่า 400 พันล้านดอลล่าร์กลับไปให้ครอบครัวในปี พ.ศ. 2556 ตามสถิติของธนาคารโลก

ในขณะเดียวกันนั้นเอง นักอนุรักษนิยมใหม่ (neo-traditionalist) มองว่าโลกาภิวัฒน์คือการเปรอะเปื้อนของวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้อัตราการแต่งงานและมีบุตรลดลง ครอบครัวขยายกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวด้วยสภาวะกดดันทางเศรษฐกิจและปัญหาสังคมรอบด้าน ถึงขนาดว่ามีงานวิจัยศึกษาอัตราการเจริญพันธุ์ในผู้หญิงเอเชียเผยแพร่ออกมา นักอนุรักษนิยมใหม่พยายามรณรงค์การธำรงไว้ซึ่งคุณค่าของครอบครัวและค่านิยมในสังคมตะวันออกแบบดั้งเดิม อาทิเช่น รัฐบาลของประเทศสิงคโปร์กำหนดให้มีคำปฏิญาณขึ้นในปี พ.ศ. 2556 ว่าชาวสิงคโปร์พร้อมสามัคคีสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์และมีความสุข ด้วยนโยบายการสร้างชาติเช่นนี้ ภาระหนักตกอยู่ที่ผู้หญิงว่าต้องเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการผลิตประชากรและเลี้ยงดูให้มีคุณภาพ รับบทบาทเป็น “แม่ผู้ครองแผ่นดิน” ผู้หญิงชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งเรื่องงานและภาระครอบครัวในคราวเดียวกัน เป็นกับดักที่เกิดจากการคิดแบบคู่ขั้วตรงข้าม (dichotomy) โลกาภิวัฒน์สร้างภาพว่าผู้หญิงมีศักยภาพทำงานในพื้นที่สาธารณะนอกบ้านได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ส่วนนักอนุรักษนิยมใหม่สร้างวาทกรรมเฉพาะถิ่นว่าผู้หญิงเอเชียพร้อมเสียสละเพื่อดูแลครอบครัว ผู้หญิงไม่มีทางเลือกมากนัก ต้องยอมจำนนต่อภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับบทบาทมารดาข้ามชาติ หากไม่ไปทำงานก็ถูกกดดันด้วยภาวะทางเศรษฐกิจ พอไปก็รู้สึกผิดในฐานะแม่

โลกาภิวัฒน์สร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนและปะทะกันทางความคิด ศาสตราจารย์สไตฟ์เว่นส์ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มสตรีนิยมตะวันตกมีมุมมองแบบคู่ขั้วตรงข้ามเช่นกัน คิดว่าผู้หญิงเอเชียล้าสมัยยอมให้ผู้ชายกดขี่ข่มเหง สถาปนาตนเองว่าเสรีนิยมมากกว่าและอยากยื่นมือเข้ามาช่วยปลดปล่อยผ่านการรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ชุดความคิดนี้มีข้อบกพร่อง กล่าวคือเป็นการเปิดโอกาสและสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มสตรีนิยมกระแสหลักเป็นผู้กำหนดนโยบายการต่อสู้เรียกร้องเพียงฝ่ายเดียว และตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างสตรีนิยมกระแสรองออกจากบริบททางสังคมด้วย กลุ่มสตรีนิยมตะวันตกที่เป็นกระแสหลักมองว่าการต่อสู้เรียกร้องเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ทางโลก (secular space) เท่านั้น และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา (sacred space) คือตัวสร้างปัญหาการกดขี่ผู้หญิงมุสลิม ก่อให้เกิดการโต้แย้งยืดเยื้อยาวนานต่อประเด็นดังกล่าว ข้อถกเถียงหลักก็คือความคิดคู่ขั้วตรงข้ามแบบนี้เกิดจากความผิดพลาดของการประยุกต์ใช้เหตุผลในยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) ว่าสิ่งๆ หนึ่งหรือข้อเท็จจริงในสถานการณ์หนึ่งมีความเป็นเอกภาพ นักสตรีนิยมยุคหลังล่าอาณานิคมออกมาต่อต้านโดยกล่าวว่าสตรีนิยมกระแสหลักใช้ประสบการณ์ตรงของตนเองเป็นศูนย์กลางในการตัดสินและคิดแทนผู้หญิงคนอื่นๆ การพิจารณาดังกล่าวจึงอาจไม่ถูกต้อง เที่ยงตรง และแม่นยำ

ศาสตราจารย์สไตฟ์เว่นส์เห็นพ้องต้องกันกับนักสตรีนิยมข้ามพรมแดนคนอื่น เช่น ไลลา อาบู ลูกอด (Lila Abu-Lughod) และไอว่า อ่อง (Aihwa Ong) ที่เสนอให้ศึกษาปัญหาของผู้หญิงมุสลิมในลักษณะการเมืองเรื่องอำนาจทับซ้อน (intersectionality) บนพื้นฐานความเข้าใจวัฒนธรรมเปรียบเทียบ (cultural relativism) การตีความหมายของคำว่า “secular space” เกิดความผิดเพี้ยน คำนี้ไม่ได้กินความหมายเพียงแค่ “พื้นที่ทางโลก” แต่อาจจะแปลได้ว่า “พื้นที่ทางปัญญา” ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นปัญญาสามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาหากรู้จักตั้งคำถามและไตร่ตรองคำตอบอย่างรอบคอบ ศาสตราจารย์สไตฟ์เว่นส์ยกตัวอย่างกลุ่มผู้หญิง Sisters in Islam (SIS) ในประเทศมาเลเซียประกอบการอภิปราย กลุ่ม SIS ต้องการความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย โดยเฉพาะกฏหมายครอบครัว และการปฏิบัติทางสังคมที่เสมอภาค ทว่ามิได้ต้องการแยกตนเองออกจากศาสนาอิสลาม จึงเลือกใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาทำงานร่วมกับผู้ชายมุสลิมที่เปิดใจกว้าง ใช้โอกาสที่พรรคการเมืองแต่ละฝ่ายในมาเลเซียกระหายอยากได้รับเสียงสนับสนุนประชานิยม เพื่อประนีประนอมต่อรองให้ตีความคำภีร์อัลกุรอานใหม่ พวกเขาไม่ได้ต้องการหักล้างคำสอนแต่อย่างใด เพียงขอให้พิจารณาตัวบทด้วยใจเป็นธรรมต่อสตรีมากยิ่งขึ้น การเรียกร้องนี้คืบหน้าไปด้วยดีและอยู่ในขั้นตอนขยายผลการทำงาน

การบรรยายพิเศษในครั้งนี้ทำให้เห็นความคืบหน้าทิศทางการศึกษาของสตรีนิยมและทราบหัวข้องานวิจัยที่ได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้ นับเป็นคุณประโยชน์อย่างมากต่อการเรียนการสอนเรื่องสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษาในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้เงื่อนไขการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รองรับการขับเคลื่อนของพหุวัฒนธรรมที่ชัดเจนขึ้นทุกที 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net