ภาคประชาสังคมตูนีเซียคว้าโนเบลสันติภาพกับบทเรียนสำหรับชายแดนใต้/ปาตานี

การประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพประจำปี ค.ศ. 2015 ของคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ให้แก่กลุ่มสานเสวนา 4  ฝ่ายที่นำประเทศตูนีเซียไปสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยด้วยสันติวิธีหลังเกิดเหตุการณ์อาหรับสปริงที่เป็นการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลนั้น สามารถสร้างบทเรียนให้กับภาคประชาสังคมในปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

โดยพิธีมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจะจัดขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีเฮรัลด์ที่ 5 แห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์จะทรงเป็นประธานในพิธี

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ได้สัมภาษณ์ ดร.อับดุลรอนิง สือแต อาจารย์ประจำวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีถึงประเด็นดังกล่าว โดยมองว่าการได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของภาคประชาสังคมในตูนีเซียนั้น สามารถบทเรียนให้ภาคประชาสังคมที่นี่ได้อย่างไร

ดร.อับดุลรอนิง สือแต อาจารย์ประจำวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ดร.อับดุลรอนิง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามกับความเป็นสมัยใหม่ การเมืองในตะวันออกกลางและโลกมุสลิม และเคยตีพิมพ์บทความเรื่อง บทบาทและอนาคตของประชาสังคมอิสลามในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ลงวารสารเอเชียปริทัศน์ของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับว่าด้วย “1 ทศวรรษ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” (ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม – ธันวาคม 2556, หน้า 93-137)

ชัยชนะของภาคประชาชน (Track 3)

ดร.อับดุลรอนิง ให้ความเห็นว่า ตูนีเซียเป็นจุดเริ่มต้นของอาหรับสปริงตั้งแต่ปลาย ค.ศ. 2010 จนขยายไปยังหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น อียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย เยเมน เป็นต้น ซึ่งประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านบรรดาผู้นำประเทศที่เป็นเผด็จการ และผลักดันหรือมีกระบวนการที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น

“ตูนีเซียเป็นประเทศเดียวที่เมื่อเกิดอาหรับสปริงแล้วสถานการณ์ไม่ได้ลุกลามขยายตัวต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเหมือนประเทศอื่นๆ คือเมื่อผู้นำตูนีเซียขณะนั้นลี้ภัยออกนอกประเทศ ตูนีเซียได้เข้าสู่สถานการณ์ที่ประชาชนมีสิทธิวางอนาคตให้กับตัวเองได้”

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้นทำให้เห็นบทบาทการทำงานของกลุ่มที่เรียกกันว่า “กลุ่มสานเสวนา 4 ฝ่าย” ที่ประกอบด้วย กลุ่มสหภาพแรงงานตูนีเซีย, สมาพันธ์อุตสาหกรรม การค้า และหัตถกรรม, สหพันธ์สิทธิมนุษยชนตูนีเซีย และสมาคมนักกฎหมายตูนีเซีย ที่จัดกระบวนการที่ให้กลุ่มต่างๆ ในตูนีเซียได้มีพื้นที่พูดคุย ซึ่งทำให้ตูนีเซียเริ่มกระบวนการการเจรจาสันติภาพในประเทศด้วยแนวทางแห่งสันติได้

ปฏิบัติการของพวกเขา ส่งผลให้ความรุนแรงลดลง และเข้าสู่กระบวนการคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยผ่านกระบวนการของการเลือกตั้ง ทำให้กลุ่มสานเสวนา 4 ฝ่ายค่อนข้างมีบทบาทมาก

สันติภาพมาจากประชาชน

หากพิจารณารายละเอียดขององค์กรที่อยู่ในกลุ่มสานเสวนา 4 ฝ่ายดังกล่าว พบว่าเป็นองค์กรภาคประชาสังคม จึงถือเป็นโมเดล(ตัวอย่าง) สำคัญที่ทำให้เห็นว่า การทำโรดแม็พ (แผนที่เดินทาง) เพื่อนำไปสู่สันติภาพของประเทศนั้นเกิดจากประชาชนหรือ Track 3 ไม่ได้มาจากชนชั้นนำหรือ Track 1

Track 1 ในที่นี้อาจเป็นรัฐบาลหรือทหารที่มายึดอำนาจอย่างในประเทศอียิปต์ที่ยังไม่คงสงบ หรือประเทศซีเรียที่ยังมีสงครามกลางเมืองอยู่ในปัจจุบัน หรือแม้แต่ในประเทศลิเบียที่เกิดฝ่ายต่างๆ ขึ้นและยังไม่สามารถตกลงกันได้จนทำให้เกิดสงครามกลางเมือง

“ในขณะที่สภาพสังคมของตูนีเซียปัจจุบันยังไม่สงบสุขเสียทีเดียว แต่มันมีกระบวนการสานเสวนาอยู่ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนโดยทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุดที่จะสามารถผลักดันให้ตูนีเซียไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย”

การสานเสวนาแห่งชาติตูนีเซียในปี 2555 ล่าสุดคณะเจรจาสี่ฝ่ายแห่งตูนีเซียได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพปี ค.ศ. 2015 (แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

เปิดเวทีกลาง สร้างพื้นที่ให้ทุกฝ่าย

เมื่อกลุ่มสานเสวนา 4 ฝ่ายซึ่งเป็นภาคประชาสังคมสามารถเปิดเวทีพูดคุยและฝ่ายต่างๆ ที่เป็นกลุ่มสำคัญๆ ในตูนีเซียยอมรับบทบาทของกลุ่มสานเสวนา 4 กลุ่มนี้แล้ว ทำให้เวทีที่เปิดขึ้นมานั้นกลายเป็นเวทีที่สามารถแก้ปัญหาของประเทศ และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ให้โอกาสประชาชนทุกฝ่ายมากำหนดกระบวนการร่วมกัน

“ส่วนนี้เองที่เป็นความสำเร็จที่ชัดเจนที่สุด จึงเป็นข้อสรุปสุดท้ายของกลุ่มนี้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยชนะนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนี ในกรณีนโยบายรับผู้อพยพ แม้จะชนะด้วยคะแนนไม่ห่างกันเท่าไหร่ แต่ถือว่าเป็นชัยชนะขององค์กรภาคประชาชนอย่างชัดเจน”

นัยยะสำคัญของการมอบรางวัลครั้งนี้คือ การให้ความสำคัญกับภาคประชาชน เพราะสันติภาพในความเป็นจริงจะเป็นไปไม่ได้หากประชาชนไม่เห็นพ้อง ไม่เห็นด้วยหรือไม่มีส่วนร่วม มันจะเป็นเพียงสันติภาพเชิงลบอย่างที่หลายฝ่ายทราบกันดี กล่าวคือหากทหารหรือฝ่ายไหนเข้าไปกดทับเอาไว้ หรือใช้รองเท้าบูธเหยียบเอาไว้ มันอาจจะเกิดความสันติสุขที่อยู่ในสภาพที่ว่า ฝ่ายหนึ่งไปกดทับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ทุกฝ่ายยอมรับ

“แต่ในกรณีของภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชนที่ออกมาจัดกระบวนการของเขาเอง มันจึงเป็นการประกันความยั่งยืนของสันติภาพ ส่วนนี้จึงเป็นนัยยะที่สำคัญของการมอบรางวัลโนเบลในปีนี้”

บทเรียนต่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้/ปาตานี

จากกรณีนี้ บทเรียนที่ภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานีจะได้รับอย่างแรก คือ กำลังใจของคนที่ทำงานสันติภาพ โดยเราไม่ต้องคิดว่ามันมีแค่ความมืดที่ปลายอุโมงค์ มันมีแสงสว่างอยู่ เพียงแต่บางทีเราต้องอดทน และจะต้องศึกษาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาสังคมที่ออกมาทำงานเรื่องนี้จะต้องให้ความรู้หรือสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้ประชาชนด้วย

ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่เองว่า แนวทางสันติเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืนที่แท้จริง ถ้าหากเราให้องค์ความรู้ตรงนี้ลงไปในภาคส่วนของภาคประชาชนหรือในอดีตเราเรียกว่าคนรากหญ้า หากสันติภาพเกิดขึ้นจากประชาชนคนรากหญ้าจริงๆ หรือชุมชนจริงๆ เมื่อถึงจุดนี้แล้วไม่ว่าไม่ฝ่ายไหนก็จะใช้ความรุนแรงยากขึ้น และหากยังใช้อยู่เขาจะสูญเสียประชาชนทันที

ต้องผสานทุกฝ่าย หาเป้าหมายร่วม

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีมีองค์กรหลายๆ ฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะผสานทุกฝ่ายให้มาอยู่ในเวทีเดียวกันได้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นจุดอ่อน เพราะกระบวนการยังคงดำเนินการอยู่แต่ยังไม่ถึงจุดที่จะสามารถดึงทุกฝ่ายให้เข้ามาร่วมทำงานและพร้อมที่จะคุยในเวทีเดียวกันได้ กล่าวคือปัจจุบันเวทีมีอยู่แต่การเชื่อมต่อหรือเชื่อมโยงยังไม่เกิด เราไม่ควรสิ้นหวังเสียทีเดียว เพราะจะต้องใช้เวลาในการเชื่อม ประเด็นที่สำคัญก็คือจะต้องหาเป้าหมายร่วมของทุกฝ่ายให้เจอ

เพื่อเปลี่ยนเสียงปืนเป็นเสียงคุย

สิ่งหนึ่งของการเรียนรู้ความขัดแย้งในทางการเมืองคือ มันน่าจะเป็นบทเรียนให้ผู้คนในชายแดนใต้/ปาตานีได้เรียนรู้เป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่รู้ว่าเราจะต้องเดินไปอีกนานเพียงใด ถ้าหากทุกฝ่ายยอมรับได้ว่าสันติภาพมันไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยถ้าหากเสียงปืนยังคงดังอยู่ หรือหากความอยุติธรรมยังคงอยู่ หรือความไม่เท่าเทียมกันยังคงดำเนินอยู่ในสังคม

“ซึ่งสิ่งต่างๆ ทั้งหลายนี้ควรจะต้องแก้ไขทีละเรื่อง และเปลี่ยนจากเสียงปืนเป็นเสียงของการพูดคุย เพื่อเป็นหลักประกันให้ลูกหลานของเราในอนาคต”

คลิกอ่านบทความเรื่อง บทบาทและอนาคตของประชาสังคมอิสลามในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ โดย ดร.อับดุลรอนิง สือแต ได้ทาง http://www.deepsouthwatch.org/node/6437

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท