Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน ระบุว่า นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อพิจารณารายงานผลการพิจารณาคำร้องเพื่อเสนอแนะนโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย เรื่อง สิทธิของแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและให้ข้อเสนอเชิงนโยบายใน 7 เรื่องด้วยกัน ได้แก่    

1) รัฐบาลควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการจ้างงานข้ามชาติ เฉพาะในส่วนที่ประเทศไทยขาดแคลน และให้จัดทำแผนการจ้างงานในรายสาขาการผลิตหรือบริการ

2) การกำหนดมาตรการให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมความร่วมมือและอำนวยความสะดวกเพื่อหางานใหม่ให้แรงงานข้ามชาติทำ  

3)จัดทำแผนบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติและมีมาตรการการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่เป็นธรรม

4)จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนากลไกหรือความร่วมมือในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ

5)ดำเนินการให้กระทรวงแรงงานประสานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันในการช่วยเหลือด้านที่พักพิง การเดินทางไปศาลหรือความจำเป็นอื่น

6)ดำเนินการให้กระทรวงแรงงานหรือหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจัดทำสื่อเพื่อให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจมิติของแรงงานย้ายถิ่นหรือแรงงานข้ามชาติ และ

7)ควรศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอพยพเพื่อการมีงานทำ พ.ศ. 2492 และฉบับที่ 143ว่าด้วยการอพยพในสภาพที่ถูกกดขี่และการส่งเสริมการมีโอกาสเท่าเทียมกันและการปฏิบัติต่อคนงานอพยพ พ.ศ. 2518

นายสุรเดชฯ กล่าวเบื้องต้นว่า การจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานนั้น มีความชัดเจนว่าจะจ้างเฉพาะแรงงานที่มีความขาดแคลนหรือเห็นว่ามีความจำเป็น และไม่ได้อนุญาตให้ทำงานในทุกอาชีพ ซึ่งในเรื่องนี้กรมการจัดหางานมีหลักเกณฑ์ในการอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว โดยจะอนุญาตให้ทำงานได้เฉพาะอาชีพกรรมกร คนรับใช้ในบ้าน และช่างซ่อมเรือตันกรอส (นายท้ายเรือและนายช่างเครื่องเป็นคนๆ เดียวกัน) เพื่อไม่ให้มาแย่งงานคนไทยทำ และต้องเป็นแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายที่มีพาสปอร์ต วีซ่า และใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง หรือแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายแต่อนุญาตให้ทำงานเป็นการชั่วคราว อีกทั้งยังเปิดให้มีการขออนุญาตการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวออกนอกพื้นที่การทำงาน ซึ่งได้มีการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมแล้ว ส่วนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานนั้น หลายหน่วยงานที่เข้าร่วมหารือเห็นว่ามีความครบถ้วน เพียงแต่การบังคับใช้และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานควรจะมีการทำงานให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นและบังคับใช้ให้จริงจังเคร่งครัดมากขึ้น ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวน่าจะผ่านมติของที่ประชุม พร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับข้อเสนอนี้ไปปฏิบัติ เพี่อให้แรงงานข้ามชาติได้สิทธิหรือการปฏิบัติที่ทำให้แรงงานข้ามชาติมีชีวิตที่มีความมั่นใจมั่นคงมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net