Skip to main content
sharethis

กรมราชทัณฑ์แถลงข่าว 'ปรากรม วารุณประภา' เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ตามหมายขังศาลทหาร โดย จนท.พบผูกคอกับลูกกรง พยายามช่วยเหลือส่งโรงพยาบาลแต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยเรือนจำพิเศษ กทม. ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว

แฟ้มภาพ "ปรากรม วารุณประภา" เมื่อครั้งมียศร้อยตำรวจเอก และสอบปกป้องดุษฎีนิพนธ์สาขา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยทำดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง ภาวะผู้นำด้านการบรรเทาสาธารณภัยในยุคโลกร้อนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2556 (ที่มา: Dusit.ac.th)

24 ต.ค. 2558 - วันนี้ (24 ต.ค.) ช่วงบ่ายวันนี้ มติชนออนไลน์ ได้เผยแพร่ "แถลงข่าวกรมราชทัณฑ์ เรื่อง ผู้ต้องขังเสียชีวิต" กรณี พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา หรือสารวัตรเอี๊ยด ผู้ต้องขังตามข้อกล่าวหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวตามหมายขังศาลทหาร เมื่อคืนวันที่ 23 ตุลาคม โดยมีรายละเอียดดังนี้

"กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2558 เวลาประมาณ 22.00 น. จากเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯว่า ข.ช.ปรากรม วารุณประภา ผู้ต้องขังระหว่างสอบสวนในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งได้รับตัวไว้ควบคุมตามหมายขังของศาลทหารกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2558 ได้พยายามฆ่าตัวตายด้วยการใช้ผ้าจากเสื้อผู้ต้องขังที่ทางเรือนจำจ่ายให้ตามระเบียบผูกคอตัวเองกับลูกกรงห้องขังภายในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีโดยเวรรักษาการณ์กลางคืนในวันดังกล่าวได้ตรวจพบจึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาและเปิดห้องขังเข้าไปให้การช่วยเหลือในทันที"

"ในเบื้องต้นพบว่าผู้ต้องขังยังไม่เสียชีวิต จึงได้พยายามใช้เครื่องช่วยหายใจและให้การปฐมพยาบาล พร้อมกับนำตัวส่งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในทันที จนกระทั่งนำตัวส่งถึงทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และได้รับแจ้งจากแพทย์ในเวลาต่อมาว่าผู้ต้องขังได้เสียชีวิตแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นมีดังนี้"

"1. ห้องขังที่เรือนจำชั่วคราว ไม่ใช่ห้องขังเหมือนเรือนจำปกติทั่วไป แต่ใช้อาคารที่ทำการของหน่วยทหาร ซึ่งมีประตูทึบผนังปูน 4 ด้าน ไม่สามารถมองตรวจตราจากภายนอกได้ ต้องเปิดประตูจึงจะมองเห็น ภายในห้องขังมีเครื่องหลับนอนผู้ต้องขัง ใช้ระบบขังเดี่ยว ผู้ต้องขังทั้งหมดไม่มีโอกาสพบกัน"

"2.การควบคุมผู้ต้องขังเวลากลางคืนจะมีเวรผลัดละ 1 คน คอยเดินตรวจตรา ซึ่งขณะนี้ เรือนจำชั่วคราวมีผู้ต้องขังรวม 5 คน ประกอบกับเป็นวันหยุดราชการ ไม่มีการสอบสวน ผู้ต้องขังถูกขังห้องเพียงลำพัง ไม่มีโอกาสพบคู่คดี จะมีการเดินตรวจเป็นระยะเท่านั้น"

"3.คดีนี้เป็นคดีสำคัญ ผู้ต้องขังเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง อาจมีปัญหาในการปรับตัว เพราะเพิ่งรับตัวไว้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558"

"การเสียชีวิตของผู้ต้องขังในครั้งนี้ เป็นการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน จึงต้องดำเนินการชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และส่งศพให้สถาบันนิติเวช สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวด้วย เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานรายงานผู้บังคับบัญชาต่อไป จึงแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน"

เคยพ้นราชการหลายปี ก่อนกลับมาอยู่ บก.ปอท. จับเครือข่ายบรรพต ทำคดี พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์

ในอดีต พ.ต.ต.ปรากรมหรือที่รู้จักในชื่อ "สารวัตรเอี๊ยด" เป็นบุตรของ พล.ต.ท.วัฒนชัย วารุณประภา จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และได้รับทุนกระทรวงกลาโหมไปศึกษาต่อหลักสูตรนายร้อยที่อังกฤษ เข้ารับราชการทหารที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ก่อนโอนมารับราชการตำรวจสังกัดศูนย์ข้อมูลข่าวสาร รับหน้าที่เป็นอนุกรรมการจัดซื้อจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ทดแทนระบบคอมพิวเตอร์เดิมที่ล้าสมัย และยังที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทำหน้าที่ตามเสด็จสมด็จพระสังฆราช และถูกกล่าวหาในข้อหาปลอมแปลงลายพระหัตถ์ของพระสังฆราชกรณีเส้นทางเสด็จของสมเด็จพระสังฆราช จนเป็นเหตุให้ออกจากราชการ ต่อมาเขาพ้นข้อหาเนื่องจากอัยการสั่งไม่ฟ้อง และผ่าน พ.ร.บ.ล้างมลทิน

และปรากรมได้กลับมารับราชการอีกครั้งในเดือนมกราคม 2558 ตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติให้ปรากรมเลื่อนยศจาก ร้อยตำรวจตรี เป็น พันตำรวจตรี และเข้ารับราชการสังกัดกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตรวจสอบเว็บไซต์ที่เข้าข่ายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 เคยมีบทบาทในการจับกุม "เครือข่ายบรรพต" เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558

และต่อมาได้ช่วยราชการตำรวจที่กองกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามรับหน้าที่ตรวจสอบพยานหลักฐานข้อมูลคดีเครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ กระทั่งถูกจับกุมพร้อม "หมอหยอง" ดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ในรายงานของข่าวสด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจค้นและอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาในข้อกล่าวหาแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ 3 ราย โดยที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในซอยพหลโยธิน 24 ที่พักของ พ.ต.ต.ปรากรม ได้พบรถยนต์ และรถยนต์จักรยานยนต์บิ๊กไบค์ และรถจักรยานยนต์นำขบวนทะเบียนตำรวจเกือบ 30 คัน รวมทั้งอาวุธปืน วิทยุสื่อสาร รวมถึงเงินสด พระเครื่องเบญภาคี พระสมเด็จวัดระฆัง และพระเครื่องอื่นๆ ทองคำ และนาฬิกา โดยในรายงานข่าวระบุว่าส่วนหนึ่งทั้งรถ-พระเป็นของ "บิ๊กกิ๊ก" หรือ พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ จำเลยคดี 112 โดยต้องสงสัยเป็นของกลางที่ยังไม่ได้ตรวจยึด (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

เจ้าของทำดุษฎีนิพนธ์เรื่องภาวะผู้นำของ กทม. บรรเทาสาธารณภัยยุคโลกร้อนจนสำเร็จ ป.เอก ที่สวนดุสิต

ทั้งนี้ในปี 2549 ปรากรม เมื่อครั้งมียศร้อยตำรวจเอก ยังเคยลงทะเบียนเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยทำดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง ภาวะผู้นำด้านการบรรเทาสาธารณภัยในยุคโลกร้อนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสอบปกป้องดุษฎีนิพนธ์ในเดือนพฤศจิกายนปี 2556 มี รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี และ ดร.ปาริชาติ นิติมานพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นประธานการสอบปกป้องดุษฎีนิพนธ์ดังกล่าว (อ่านข่าวย้อนหลัง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net