สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ต.ค. 2558

เสนอให้ 300 บาทต่อวันเป็นค่าจ้างแรกเข้า
 
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานและผู้จัดทำรายงานการศึกษา สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า สภาองค์การนายจ้างเตรียมเสนอให้กระทรวงแรงงานกำหนดยุทธศาสตร์ด้านแรงงานชาติ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงใน 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2559-2563) ที่สภาองค์การนายจ้างได้ระดมความเห็นร่วมกับ 16 องค์กรภาคเอกชน ซึ่งมีทั้งหมด 9 ประเด็น เพื่อให้รัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการเตรียมพร้อมรองรับในระยะยาว เช่น การปฏิรูปค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปัจจุบันอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน ควรยกเลิกโครงสร้างการดำเนินการแบบเดิมที่ต้องปรับขึ้นทุกๆปี โดยไม่ได้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน 
 
แต่ควรจะปรับใหม่กำหนดให้ 300 บาทต่อวันเป็นค่าจ้างแรกเข้า และมีการพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจที่อิงเงินเฟ้อ คำนึงถึงทักษะฝีมือแรงงาน และประสบการณ์ของแรงงาน รวมถึงภาวะตลาดแรงงานในขณะนั้นเป็นสำคัญโดยไม่ต้องปรับทุกปี และไม่ควรเท่ากันทั้งประเทศ ขณะนี้มีกระแสการขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทต่อวันเป็น 360 บาทต่อวัน ซึ่งนายจ้างมองว่าเป็นการคิดที่ไม่อยู่บนพื้นฐานอิงข้อเท็จจริง ค่าจ้างขั้นต่ำและสวัสดิการแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรจะมีบทบัญญัติที่ต่างไปจากกฎหมายแรงงานปกติ, นโยบายแรงงานต่างชาติ ต้องมีความชัดเจนและรองรับการขาดแคลนในอนาคต, การป้องกันและแก้ปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ภาครัฐควรกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อการตรวจสอบ, การทบทวนการคุ้มครองแรงงานให้มีความเป็นสากล, ปฏิรูประบบประกันสังคม การแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันและนายจ้างมีส่วนร่วมในการตรวจสอบองค์กรและความโปร่งใส และการวางแผนรองรับแรงงานสูงอายุ ซึ่งพบว่าในปี พ.ศ.2568 หรือ อีก 10 ปีข้างหน้า สัดส่วนแรงงานสูงอายุจะคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ จะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานมากยิ่งขึ้นจะต้องมีการจัดทำยุทธศาสตร์แรงงานสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ
 
 
ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ลงนามกับเครือเซ็นทรัลให้ทุนเรียนฟรีจนจบและมีงานทำเป็นแห่งแรก
 
ผศ.ดร.เจษฏา ความคุ้นเคย คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยประเทศไทย ได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับผู้ประกอบการค้าเครือเซ็นทรัล ด้วยการกำหนดหลักสูตรร่วมกันรับนักศึกษาเข้าเรียนโดยให้ทุนการศึกษาจนจบถึง 500 ทุน ซึ่ง ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นมหาวิทยาลัยฯ แห่งแรกที่ได้รับการลงนาม MOU โดยการเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจค้าปลีก ขึ้นโดยมีรูปแบบการเรียนการสอนที่ปรับแผนการเรียนให้มีการเรียนภาคทฤษฎีที่สถาบันการศึกษาแล้วเรียนควบคู่ต่อเนื่องไปกับการเรียนภาคปฏิบัติที่สถานประกอบการเป็นระยะเวลา 2ปี ซึ่งนักศึกษาสามารถที่จะปฏิบัติงานเสมือนหนึ่งเป็นพนักงานประจำ พร้อมทั้งได้รับค่าจ้างในการลงปฏิบัติงาน ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวนี้มุ่งเน้นสร้างบัณฑิตให้มีความชำนาญด้านการค้าปลีกและตระหนักถึงธรรมชาติของการแข่งขันในธุรกิจการค้า จะสามารถวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าได้และจัดการการค้าปลีกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการนำความรู้ด้านการจัดการค้าปลีกมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน
 
โครงการดังกล่าวนี้ทางเครือเซ็นทรัล ที่เข้าร่วมโครงการกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และอีกหลายๆ สถาบันการศึกษาทั้งใน กทม.และปริมณฑลนั้น ทางบริษัทผู้ประกอบการจะเป็นผู้ออกทุนในการเรียนให้แก่นักศึกษาที่สนใจจำนวน 500 ทุนได้เรียนฟรีตลอดหลักสูตร อีกทั้งบริษัทผู้ประกอบการจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมดให้แก่นักเรียนทุน และรับเข้าทำงานกับเครือเซ็นทรัล
 
ประเทศกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มตัวที่จะมาถึงเร็วๆ นี้ ภายหลังจากการเปิดเสรี AEC ตลาดการค้าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ขึ้น จากจำนวนประชากรในกลุ่มอาเซียนที่มีรวมกันกว่า 600 ล้านคน ส่งผลให้เกิดความต้องการด้านแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางมากขึ้น และผลจากการเปิดเสรีดังกล่าวนี้นำมาซึ่งการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้าปลีก ซึ่งถือได้ว่าเป็นธุรกิจด้านบริการที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญ เพราะเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดที่สำคัญที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ
 
ผศ.ดร.เจษฏา เสริมท้ายอีกว่า โครงการนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ผลิตนักศึกษาออกไปเป็นจำนวน 2 รุ่น ซึ่งนักศึกษาที่จบไปแล้วเข้าทำงานกับบริษัทฯ ในเครือเซ็นทรัล จะได้รับเงินเดือนที่มากกว่า 2,000 บาท จากการที่นักศึกษาจบไปแล้วไปเข้าทำงานที่อื่นๆ ก็จะได้รับเงินเดือนตามกฎหมายกำหนด 15,000 บาท ส่วนนักศึกที่ได้เรียนทุนเมื่อจบเข้าทำงานในเครือเซ็นทรัล ก็จะได้เงินเดือน 17,000 บาท ทั้งนี้หากนักศึกษาท่านใดสนใจก็สามารถโทร.สอบถามรายละเอียดโครงการนี้ได้ที่ 0-2529-0674-7 ต่อ 322, 323, 444 หรือสายตรงที่ 0-2529-3598
 
 
กยศ.ยืมมือนายจ้างทวงหนี้ "หักเงินเดือน" พร้อมให้เงินรางวัลตอบแทน
 
น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.เชิญชวนองค์กรนายจ้างร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสร้างความรับผิดชอบให้กับผู้กู้ยืมชำระหนี้คืน ในโครงการ "กยศ. กรอ.เพื่อชาติ" เพื่อสร้างความรับผิดชอบให้บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมให้ชำระหนี้คืนกองทุน โดยให้นายจ้างทำหน้าที่หักเงินเดือนพนักงานชำระหนี้คืน กยศ. เริ่มโครงการตั้งแต่บัดนี้-30 ก.ย. 2559
 
ทั้งนี้ กองทุนเห็นว่าหน่วยงานองค์กรนายจ้างจะสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงของบุคลากร ที่เป็นผู้กู้ยืมเงินกองทุนไม่ให้ถูก ฟ้องร้องดำเนินคดีหรือถูกบังคับคดี อีกทั้งยังมีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือสังคม (CSR) ในการส่งเสริมบุคลากรให้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม
 
นอกจากนี้ กยศ.ได้ออกมาตรการจูงใจกรณีผู้กู้ยืมยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือน เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้วจะได้เงินคืน 1% ของเงินต้นคงเหลือสำหรับค้างชำระ หากยินยอมชำระหนี้จะได้ลดเบี้ยปรับ 100% กรณีผู้กู้ยืมปิดบัญชี สำหรับผู้กู้ที่ไม่ค้างชำระจะได้เงินคืน 3% ของเงินต้นคงเหลือ แต่สำหรับผู้กู้ที่ค้างชำระจะได้ลดเบี้ยปรับ 100%
 
 
Sony เตรียมเปิดโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนที่ประเทศไทย
 
Nikkei News รายงานว่า ค่าย Sony มีแผนใช้งบประมาณราวเกือบ 300 ล้านบาทที่จะเปิดโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนในประเทศไทย โดยสายการผลิตจะอยู่ที่ จ.ปทุมธานี ตั้งเป้าผลิตให้ได้ 1 ล้านเครื่องต่อปี
 
โรงงานผลิตสมาร์ทโฟนของ Sony ในประเทศไทยนั้น จะดำเนินการโดย SONY EMCS (บริษัทลูกของ SONY) เป็นเจ้าของและบริหารโรงงาน โดยจะมีการโอนถ่ายงานจากโรงงานของ SONY ที่จังหวัดไอจิ ในประเทศญี่ปุ่น  
 
ทั้งนี้โรงงานผลิตสมาร์ทโฟนของ SONY ในประเทศไทยนั้น ถือเป็นโรงงานแห่งแรกสำหรับการผลิตสมาร์ทโฟนของ SONY หลังจากเคยเปิดมาแล้วที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 1995 จากการร่วมลงทุนกันระหว่าง SONY และพาร์ทเนอร์ทั้งหมด 3 บริษัท โดยมี SONY ถือหุ้นอยู่ 51% แต่ในประเทศไทยนั้นจะมี SONY เป็นเจ้าของเองทั้งหมด 100 %
 
 
ชงตั้งค่าจ้างเขต ศก.พิเศษ ถูกกว่าพื้นที่อื่น หวังจูงใจลงทุน
 
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า จากกรณีสภาองค์กรนายจ้างฯเตรียมเสนอแผนยุทธศาสตร์แรงงานชาติภายใต้การเปลี่ยนแปลง 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2559-2563) ให้แก่กระทรวงแรงงานในสัปดาห์หน้านั้น ในส่วนของรายละเอียดข้อเสนอให้เขตเศรษฐกิจพิเศษจัดทำระบบค่าจ้างและสวัสดิการแยกออกจากกฎหมายแรงงานปกติ ก็เพื่อสร้างความแตกต่างในเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการของเขตเศรษฐกิจพิเศษให้แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ภายในประเทศ เขตเศรษฐกิจพิเศษควรออกแบบระบบค่าจ้างและสวัสดิการขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ โดยไม่ขึ้นตรงกับกฎหมายแรงงานทั่วไป ไม่กำหนดใช้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่ควรใช้ค่าจ้างแบบลอยตัว และไม่ใช้ระบบสวัสดิการในระบบประกันสังคมเหมือนพื้นที่อื่น เพื่อให้ระบบค่าจ้างและสวัสดิการของเขตเศรษฐกิจพิเศษถูกกว่าพื้นที่อื่น เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ได้ เนื่องจากบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงกว่าบริเวณพื้นที่อื่น และยิ่งค่าแรงแพงเท่าที่อื่นก็ไม่น่าจะจูงใจนักลงทุนได้
 
"รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการจัดการแรงงานบริเวณชายแดนให้มีค่าจ้างถูกกว่าเขตอื่นมีสวัสดิการแยกออกจากระบบประกันสังคม และจัดการด้านแรงงานต่างด้าวแตกต่างจากบริเวณอื่นของประเทศ เพื่อให้สะดวกสบายในการเข้ามาทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับได้ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์สัญญาและจำกัดจำนวนแรงงาน แต่อาจควบคุมบริเวณโรงงานแทน อาจนำรูปแบบโมเดลของเขตอุตสาหกรรมในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ชายแดนระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกมาประยุกต์ใช้ ออกแบบกฎหมายแรงงาน ค่าจ้าง และสวัสดิการขึ้นมาโดยเฉพาะ" นายธนิตกล่าว
 
 
นโยบายเร่งด่วนปี 2559 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รองรับเออีซี กว่า 190,000 คน
 
นายกรีฑา สพโชค รักษาราชการอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานต้องดำเนินการ คือ การพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งในปี 2558 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้อบรมพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับเออีซีจำนวน 122,000 คน และในปี 2559 มีเป้าหมายฝึกแรงงานรองรับเออีซี จำนวน 190,560 คน แบ่งเป็นด้านภาษา จำนวน 99,780 คน อบรมผู้ประกอบอาหารไทยรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก จำนวน 25,780 คน
 
อบรมแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 12,000 คน อบรมแรงงานด้านบริการและท่องเที่ยว จำนวน 28,000 คน พัฒนาบุคลากรด้านท่องเที่ยวและบริการให้ตามมาตรฐานอาเซียน 5,000 คน และอบรมด้านอื่น ๆ จำนวน 20,000 คน และการอบรมผู้ประกอบอาหารบนเรือ ที่ต้องเร่งดำเนินการฝึกอบรม เพราะแรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงสามารถทำงานด้านนี้ได้ อีกทั้งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานต้องเร่งออกระเบียบรองรับประกาศวิชาชีพควบคุมในสาขาช่างไฟฟ้าในอาคาร
 
 
สภาอุตสาหกรรมชี้ ไอเดีย "ลดค่าแรง แยกสวัสดิการ เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ทำยาก-แรงงานไทยไม่ยอม
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยเตรียมเสนอแผนยุทธศาสตร์แรงงานชาติภายใต้การเปลี่ยนแปลง 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2559-2563) ให้แก่กระทรวงแรงงานในสัปดาห์หน้า รายละเอียดสำคัญคือข้อเสนอให้เขตเศรษฐกิจพิเศษจัดทำระบบค่าจ้างและสวัสดิการแยกออกจากกฎหมายแรงงานปกติและมีอัตราต่ำกว่าปกติ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมากขึ้น ว่าจะกำหนดอัตราค่าจ้างลักษณะดังกล่าวในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นมองว่าเป็นเรื่องยาก ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะปัจจุบันมีการกำหนดอัตราค่าจ้างในรูปของกฎหมายอย่างชัดเจน หากจัดทำเป็นกฎหมายเฉพาะอาจลำบาก 
 
"ดังนั้นสิ่งที่น่าจะดำเนินการมากกว่าคือจ่ายในอัตราขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเหมือนเดิม แต่ใช้วิธีลดในส่วนของสวัสดิการด้านอื่น น่าจะช่วยผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า ซึ่งในส่วนของแรงงานต่างชาติ อาจกำหนดอัตราที่แตกต่างจากคนไทยได้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายเช่นกัน เพราะมีหลายประเทศก็ดำเนินการลักษณะนี้" นายสุพันธุ์กล่าว และว่า อีกทางหนึ่งที่จะสร้างความชัดเจนได้ คือภาครัฐโดยกระทรวงแรงงานต้องประกาศอัตราค่าจ้างขึ้นมาใหม่ ไม่เช่นนั้นการกำหนดอัตราค่าจ้างในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นเรื่องยาก เพราะฝ่ายแรงงานคนไทยคงไม่ยอมแน่นอน
 
 
สปส.จ่อร่าง กม.นายจ้างรับทำประกันลูกจ้างต่างด้าว
            
ปัจจุบันต้องยอมรับว่าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้หารือกับผู้แทนกรมการจัดหางาน (กกจ.) เพื่อที่จะจัดทำร่างกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว โดยกำหนดให้นายจ้าง ต้องซื้อประกันชีวิตให้แก่ลูกจ้างต่างด้าว
            
ในเรื่องนี้รักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) คุณโกวิท สัจจวิเศษ บอกว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมแยกระบบประกันสังคมแรงงานต่างด้าวออกจากแรงงานไทย และจากการหารือกับผู้แทนกรมการจัดหางาน (กกจ.) มีข้อสรุปร่วมกันว่า ต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวใหม่
            
ในข้อกำหนดในกฎหมายใหม่นี้ นายจ้างต้องซื้อประกันชีวิตให้แก่ลูกจ้างต่างด้าว ซึ่งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ต้องออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองใน 3 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต
            
หากลูกจ้างต่างด้าวไม่มีประกันชีวิตก็จะไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน ซึ่งนายจ้างจะต้องซื้อประกันชีวิตให้แก่ลูกจ้างต่างด้าวทุกปี ส่วนสิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทนนั้น แรงงานต่างด้าวทุกคนยังคงได้รับสิทธิทุกกรณีเช่นเดิม
            
รักษาการเลขาธิการ สปส. บอกว่า แรงงานต่างด้าวปัจจุบันมีสถานะเป็นผู้ประกันตนกว่า 4 แสนคน ในร่างกฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว ก็จะเขียนยกเว้นไว้โดยให้ยังคงสถานะการเป็นผู้ประกันตน และรับได้สิทธิประโยชน์ 7 กรณีเช่นเดิม
            
แต่หากครบกำหนดทำงานอยู่ในประเทศไทย และกลับเข้ามาทำงานในไทยอีกครั้ง จะไม่มีสถานะเป็นผู้ประกันตน แต่นายจ้างจะต้องซื้อประกันชีวิตให้แก่ลูกจ้างตามที่ร่างกฎหมายกำหนด หากไม่ซื้อประกันชีวิตให้แก่ลูกจ้าง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
           
ทั้งนี้จะต้องมีการสรุปตัวเลขอัตราค่าประกันชีวิตของลูกจ้างต่างด้าว และอัตราส่วนการจ่ายเงินระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงสิทธิประโยชน์ทั้ง 3 กรณีว่าเพียงพอหรือไม่ โดยการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้จะได้ข้อสรุปต้นปี 2559
 
 
ไทย-เยอรมนีหารือเพิ่มขีดความสามารถช่างเชื่อมไทย
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานต้อนรับ Mr.Joachim Hagemann ผู้เชี่ยวชาญ จากสถาบันการเชื่อม SLV Mannheim สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เข้าเยี่ยมคารวะและหารือเรื่องการทดสอบรับรองฝีมือให้กับช่างเชื่อม ณ ห้องทำงานปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 7 อาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถช่างเชื่อมไทยให้ได้ระดับมาตรฐานสากล โดยศูนย์ฝึกอบรมเชื่อมมาตรฐานสากล (Training Center of International Welding : TCIW) ที่จัดตั้งขึ้น ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสถาบันการเชื่อมมานไฮมน์ (SLV Mannheim) โดยความร่วมมือแบบ PPP (Public Private Pertnership) ซึ่งเสนอโดย InWEnt และ SLV Mannheim โดยจัดทำบันทึกความเข้าใจ MOU เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการออกใบรับรองและความ ร่วมมือแบบ PPP จากทั้งสามหน่วยงาน
 
สำหรับศูนย์ฝึกอบรมเชื่อมมาตรฐานสากล (Training Center of International Welding:TCIW) มีภารกิจในการเตรียมบุคลากรการฝึกและทดสอบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในช่วงเริ่มต้นโครงการ และให้บริการการฝึก การทดสอบรับรองฝีมือให้กับบุคคลทั่วไป ตามมาตรฐานยุโรปและมาตรฐานของเยอรมนีส่วนแนวทางการดำเนินการต่อเนื่องของศูนย์ฯ ดังกล่าวนั้นจะจัดทำคู่มือคุณภาพภายใต้ข้อกำหนดของสถาบันการเชื่อม SLV Mannheim ในการเป็นสาขาของสถาบันการเชื่อม SLV Mannheim เพื่อให้สามารถดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตร ครูฝึกช่างเชื่อม และดำเนินการออกใบทดสอบและออกใบรับรองฝีมือช่างเชื่อม ตามแนวทางของสถาบันฯ ตลอดจนการพัฒนาความสามารถของครูฝึกช่างเชื่อมซึ่งจัดให้มีการสอบทบทวนฝีมือทุก 3 ปี
 
 
กระทรวงแรงงานเสนอ 7 มาตรการ ดูแลสิทธิแรงงานข้ามชาติ
 
กระทรวงแรงงาน หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอแนะนโยบาย การปรับปรุงกฎหมาย สิทธิของแรงงานข้ามชาติ พร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้แรงงานข้ามชาติได้สิทธิหรือการปฏิบัติที่ทำให้แรง งานข้ามชาติมีชีวิตที่มีความมั่นใจมั่นคงมากขึ้น
 
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อพิจารณารายงานผลการพิจารณาคำร้องเพื่อเสนอแนะ นโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย เรื่อง สิทธิของแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและให้ข้อเสนอเชิงนโยบายใน 7 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 
 
1. รัฐบาลควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการจ้างงานข้ามชาติ เฉพาะในส่วนที่ประเทศไทยขาดแคลน และให้จัดทำแผนการจ้างงานในรายสาขาการผลิตหรือบริการ 
 
2. การกำหนดมาตรการให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมความร่วมมือและอำนวยความสะดวกเพื่อหางานใหม่ให้แรงงาน ข้ามชาติทำ  
 
3. จัดทำแผนบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษย ชนของแรงงานข้ามชาติและมีมาตรการการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่เป็นธรรม
 
4.จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนากลไกหรือความร่วมมือในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ 
 
5.ดำเนินการให้กระทรวงแรงงานประสานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อ ร่วมกันในการช่วยเหลือด้านที่พักพิง การเดินทางไปศาลหรือความจำเป็นอื่น 
 
6.ดำเนินการให้กระทรวงแรงงานหรือหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจัด ทำสื่อเพื่อให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจมิติของแรงงานย้ายถิ่นหรือแรงงานข้าม ชาติ 
 
7.ควรศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การ แรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอพยพเพื่อการมีงานทำ พ.ศ. 2549 และฉบับที่ 143 ว่าด้วยการอพยพในสภาพที่ถูกกดขี่และการส่งเสริมการมีโอกาสเท่าเทียมกันและ การปฏิบัติต่อคนงานอพยพ พ.ศ. 2518
 
นายสุรเดช กล่าวเบื้องต้นว่า การจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานนั้น มีความชัดเจนว่าจะจ้างเฉพาะแรงงานที่มีความขาดแคลนหรือเห็นว่ามีความจำเป็น และไม่ได้อนุญาตให้ทำงานในทุกอาชีพ ซึ่งในเรื่องนี้กรมการจัดหางานมีหลักเกณฑ์ในการอนุญาตทำงานของแรงงาน ต่างด้าว 
 
"โดยจะอนุญาตให้ทำงานได้เฉพาะอาชีพกรรมกร คนรับใช้ในบ้าน และช่างซ่อมเรือตันกรอส (นายท้ายเรือและนายช่างเครื่องเป็นคนๆ เดียวกัน) เพื่อไม่ให้มาแย่งงานคนไทยทำ และต้องเป็นแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายที่มีพาสปอร์ต วีซ่า และใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง หรือแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายแต่อนุญาตให้ทำงานเป็นการชั่วคราว อีกทั้งยังเปิดให้มีการขออนุญาตการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวออกนอกพื้นที่ การทำงาน ซึ่งได้มีการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมแล้ว ส่วนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานนั้น หลายหน่วยงานที่เข้าร่วมหารือเห็นว่ามีความครบถ้วน เพียงแต่การบังคับใช้และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานควรจะมีการทำงานให้ใกล้ ชิดกันมากขึ้นและบังคับใช้ให้จริงจังเคร่งครัดมากขึ้น ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวน่าจะผ่านมติของที่ประชุม พร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับข้อเสนอนี้ไปปฏิบัติ เพี่อให้แรงงานข้ามชาติได้สิทธิหรือการปฏิบัติที่ทำให้แรงงานข้ามชาติมี ชีวิตที่มีความมั่นใจมั่นคงมากขึ้น"   รองปลัดแรงงาน กล่าว
 
 
เพลิงไหม้โรงงานทีวีบางปู เสียหาย 20 ล.ไร้เจ็บ-ตาย
 
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางปู จ.สมุทรปราการ เข้าตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้ บริษัท อาร์ จี บี ดิจิตอลเทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด เลขที่ 998 หมู่ที่ 6 ซอยเทศบาลบางปู 88 โรงหมี่ ต.บางปู อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ที่เกิดเหตุเป็นอาคารชั้นเดียวปลูกติดกัน 2 หลัง บนเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ พบเพลิงกำลังลุกไหม้ที่บริเวณด้านหลังโรงงานอาคารที่ 1 ก่อนลุกลามไปยังอาคารที่ 2 อย่างรวดเร็วเปลวเพลิงได้ลุกโหมอย่างรุนแรงจนตัวอาคารโรงงานได้ถล่มลง 
ภายหลังรถดับเพลิงเทศบาลตำบลบางปู และเทศบาลใกล้เคียงกว่า 20 คัน ระดมฉีดสกัดเพลิงใช้เวลากว่า 2 ชม. จึงสามารถควบคุมเอาไว้ได้ในวงจำกัด จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานประกอบจอทีวี การผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือการสื่อสาร ขณะเกิดเหตุมีคนงานซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวประมาณ 50 คน กำลังทำงานอยู่ภายใน จู่ ๆ ได้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นภายในห้องลำโพง ก่อนที่จะลุกลามไปลุกไหม้แผนกอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ค่าเสียหายเบื้องต้นคาดว่าไม่ต่ำกว่า 20 บ้านบาท ส่วนสาเหตุขณะนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ ซึ่งจะได้ประสานเจ้าหน้าที่วิทยาการเข้าตรวจหาสาเหตุโดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 
 
ทอท.แจกโบนัส7.5เดือน หลังกำไรสุดประวัติการณ์ 
 
นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) ว่าที่ประชุมมีมติให้จ่ายโบนัสแก่พนักงาน ทอท.ประจำปี 58 ทั้งสิ้น 7.5 เดือน ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วที่ได้ 6.5 เดือนหลังจากปีนี้บริษัทมีผลประกอบการดีมากมีรายได้และกำไรสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เปิดดำเนินการ “ปีนี้ผู้โดยสารมีการเติบโตถึง 106 ล้านคน และมียอดผู้โดยสารใช้บริการเกินความจุอยู่หลายสนามบินทำให้พนักงานต้องทำงานหนักเพื่อคอยให้บริการ ส่งผลให้บริษัทมีกำไรดีดังนั้นจึงต้องจ่ายโบนัสเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่พนักงานแต่กำไรที่สูงขึ้นส่วนหนึ่ง ทอท.ได้มีการกันไว้เป็นเงินทุนสำรองสำหรับใช้ลงทุนในอนาคตด้วยเพราะตั้งแต่ปี 59-63ทอท.ต้องมีการลงเพื่อขยายท่าอากาศยานอีกหลายแห่งมูลค่าลงทุนมากกว่า 1.3 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบัน ทอท.มีเงินสดประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทจึงต้องมีการเก็บไว้เผื่อลงทุน และเป็นภาระการกู้ให้น้อยที่สุด" สำหรับ ผลประกอบการปิดประงบประมาณ 58 ระหว่าง 1 ต.ค. 57 –30 ก.ย. 58 พบว่ามีรายได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า20% จากปีงบ 57 ที่ปิดอยู่ราว 3.97 หมื่นล้านบาท
 
 
ครม.สั่งเร่งจ้างคนพิการเพิ่มใน 290 หน่วยงานรัฐ
 
(27 ต.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 เพื่อให้เกิดการจ้างงานส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่คนพิการ ตาม พ.ร.บ. ที่กำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐที่มีผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ให้มีคนพิการทำงาน 1 คน หากมีเศษเกิน 50 คน ให้รับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน อาทิ หน่วยงานมี 169 คน ให้รับคนพิการจำนวน 2 คน
       
“กฎหมายฉบับนี้เริ่มนานแล้ว แต่เมื่อสำรวจพบว่าหน่วยงานของรัฐ 290 หน่วยงาน มีการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวเพียง 218 หน่วย มีการจ้างงานคนพิการ 1,456 คน จากที่ต้องรับให้ได้ถึง 10,929 คนหรือประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ฉะนั้น พม. จึงขอให้ครม.มีมติให้หน่วยงานภาครัฐเร่งดำเนินการตามกฎหมายนี้และกำหนดระยะเวลาให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2561” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
       
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอเสนอ ดังนี้
       
1. ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปรับคนพิการที่สามารถทำงานได้เข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือให้สัมปทานตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ให้ครบตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด ภายในปีงบประมาณ 2561
       
2. ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป รายงานผลการปฏิบัติ หรือนำเสนอแผนการดำเนินงานทุก 1 ปี โดยให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พม. เป็นผู้รวบรวมรายงานผลการดำเนินงานเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
       
สาระสำคัญของเรื่อง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รายงานว่า
       
1. สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ โดยในปี 2556 มีหน่วยงานของรัฐที่มีจำนวนผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปจำนวน 290 หน่วยงาน ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจำนวน 218 หน่วยงาน โดยจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 จำนวน 1,080 คน ให้สัมปทานตามมาตรา 35 จำนวน 376 คน รวมเป็นจำนวน 1,456 คน จากจำนวนที่ต้องจ้างคนพิการตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด จำนวน 10,929 คน คิดเป็นร้อยละ 13.32
       
2. พม. ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดในหลายรูปแบบ ทั้งการมีหนังสือแจ้งให้ปฏิบัติและการจัดประชุมชี้แจงในทุกปี และได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ และแนวทางการจัดให้สัมปทานตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติและว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการจัดจ้างเหมาช่วงงาน หรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกล่ามภาษามือหรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 โดยมีแนวทางในการจัดให้สัมปทานแทนการจ้างงานคนพิการได้ถึง 7 วิธี
       
ดังนั้น หน่วยงานของรัฐที่มีจำนวนผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป และต้องจ้างงานคนพิการเข้าทำงานตามกฎหมายจึงสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปวางแผนดำเนินการตามกฎหมายภายในปีงบประมาณ 2561 ได้
 
 
นายกแนะรัฐวิสาหกิจจ้างพนักงานออก ลดขาดทุน
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานว่า นายกฯกล่าวในการประชุม ระบุว่า ที่ผ่านมาบริษัท การบินไทย มีความพยายามจะแก้ไขปัญหาการดำเนินงานในหลายมิติ แต่ผลการแก้ไขยังไม่สามารถทำให้เกิดผลผลอย่างเป็นรูปธรรม อาจเป็นไปได้ว่า มุ่งแก้ไขปัญหาในระดับฝ่ายปฏิบัติการมากจนเกินไป แต่ละเลยการเข้าไปแก้ปัญหาในระดับเจ้าหน้าที่บริหาร เพราะผู้บริหารบางคนเงินเดือน 2-3 แสนบาท/เดือน แต่ไม่ได้ทำอะไร
 
"ที่กล่าวมา ไม่ได้หมายความว่านายกฯ จะสั่งการว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เป็นการยกตัวอย่างว่า การแก้ปัญหาอย่ามองเฉพาะระดับปฏิบัติการ หรือมุ่งแต่ลดคน ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนได้ และไม่เฉพาะในการบินไทย แต่ในรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ด้วย จึงอยากให้มีแนวทางแก้ไขเป็นไปในทิศทางเดียว และนายกฯ ไม่ได้ต้องการจะลดเงินเดือนผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ แต่เห็นว่าการมุ่งลดเงินเดือนพนักงานระดับล่างที่มีจำนวนมาก แต่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ขณะที่ผู้บริหารเงินเดือน 2-3 แสนบาท แต่ไม่ได้มีงานทำอะไร ท่านนายกฯ บอกว่านี่คือตัวอย่างที่ลองไปพิจารณาว่า แนวทางนี้จะทำให้รัฐวิสาหกิจลดขาดทุนได้" โฆษกรัฐบาลชี้แจง
 
ทั้งนี้ นายกฯได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจมุ่งแก้ปัญหาที่พนักงานระดับปฏิบัติการมากเกินไปโดยไม่ได้พิจารณาการทำงานของผู้บริหารระดับสูง ที่แต่ละคนมีผลตอบแทนที่สูง เดือนละ 2-3 แสนบาท แต่ไม่ได้ทำอะไร จึงอยากให้พิจารณาด้วยว่าผู้บริหารแต่ละองค์กรมีจำนวนเกินความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งมอบหมายให้แต่ละรัฐวิสาหกิจไปทบทวนความเหมาะสมในการทำงาน ของผู้บริหารระดับสูงด้วย ว่าในปัจจุบันมีความเหมาะสมมากเพียงใด เพื่อให้แผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาสามารถฟื้นฟูกิจการได้ตามแผนเร็วขึ้น
 
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการฟื้นฟูรัฐสาหกิจว่า มีการเดินหน้ามา 1 ปีแล้ว ความก้าวหน้าบางเรื่องไปได้ช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องบุคลากร โดยตนจะใช้อำนาจที่มีอยู่ หากจำเป็นต้องเออรี่รีไทร์ ก็ดำเนินการ และดูแลเขา เพราะบางทีต้องลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลงให้ได้ ซึ่งหลายๆ รัฐวิสาหกิจ ตนได้สั่งการไปแล้ว
 
 
เครือข่ายแรงงาน วอนรัฐมนตรีแรงงานช่วยแก้ปัญหาแรงงาน-พนักงานรัฐวิสาหกิจถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ต้องจ่ายชดเชย 326 ล้านบาท
 
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า คสรท.และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้เข้าพบพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานโดยขอให้รัฐมนตรีช่วยแก้ปัญหาในกรณีพนักงานรถไฟฟ้าใต้ดิน และพนักงานร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ข้อพิพาทนายจ้างกับลูกจ้างที่จ.ชลบุรีนอกจากนี้ ขอให้หาแนวทางช่วยเหลือแกนนำสหภาพการบินไทยซึ่งศาลตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายกว่า 326 ล้านบาทกรณีชุมนุมเรียกร้องขึ้นเงินเดือนเมื่อปี 2556 รวมถึงกรณีแรงงานข้ามชาติไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้เพราะนายจ้างไม่แจ้งขึ้นทะเบียน ตลอดจนข้อเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ360 บาททั่วประเทศ
 
 
ที่ประชุม ก.พ.อ.ไฟเขียวเสนอครม.ปรับเพิ่มเงินเดือน 8% อาจารย์มหา’ลัย เกือบ 2 หมื่นคน ย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค.57 ใช้งบฯ 740 ล้านบาท
 
(28 ต.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับขึ้นเงินเดือน 8% ให้แก่ข้าราชการพลเรือนสามัญในสถาบันอุดมศึกษาสายวิชาการ เช่นเดียวกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการปรับเพิ่ม 8% ไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยข้าราชการพลเรือนสามัญฯ ที่จะได้รับการปรับเพิ่มมีทั้งสิ้น 19,696 คน แบ่งเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฎ 4,571 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 4,152 คน มหาวิทยาลัยรัฐ 7,237 คน และมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 3,736 คน ทั้งนี้ให้ปรับเพิ่มย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 เป็นต้นไป ซึ่งใช้งบประมาณรวม 740 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป  รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในสถาบันอุดมศึกษา โดยเป็นการจัดสรรทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกทั้งใน และต่างประเทศ 4,750 ทุน และทุนพัฒนาอาจารย์หลังปริญญาเอก 250 ทุน รวม 5,000 ทุน ใช้งบประมาณ 14,915 ล้านบาท ทั้งนี้การส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกนั้น จะทำให้ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าสถาบันอุดมศึกษากลุ่มเก่าจะมีอาจารย์วุฒิปริญญาเอกเพิ่มขึ้น 1,960 คน และทำให้สัดส่วนอาจารย์วุฒิปริญญาเอกเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 67% ขณะที่สถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่จะมีอาจารย์วุฒิปริญญาเอกเพิ่มขึ้น 2,790 คน และสัดส่วนอาจารย์วุฒิปริญญาเอกเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 29% อีกทั้งคาดว่าอาจารย์กลุ่มนี้จะมีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติในฐานข้อมูล ISI หรือ Scopus เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4,750 เรื่องด้วย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท