Skip to main content
sharethis

หากจะพูดว่า การตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อทำรายงานข้อเสนอแนวทางปรองดองซึ่งเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ วันที่ 2 ก.ค. 2558 เป็นสัญญาณที่ดีของอนาคตการเมืองไทย ก็อาจจะไม่แน่ชัดนัก หรืออาจจะสะดุดหยุดคิด และมองสถานการณ์ที่เป็นอยู่อีกพักใหญ่ คำถามคำโตลอยขึ้นมาใจใน นี่เรากำลังจะปรองดองกันจริงหรือ?...

แม้ว่าเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ได้เปิดเผยว่า ในรายงานมีการกำหนดขั้นตอนกระบวนการสร้างความปรองดองว่าจะมีการให้ “อภัยโทษ” ให้มีการนิรโทษกรรม ทว่ากลับมีเงื่อนไขบางประการ และหากกระบวนการดังกล่าวได้ดำเนินไปจริงๆ ย่อมมีผู้ตกขบวนการปรองดองครั้งนี้แน่นอน โดยเฉพาะกับคดี 112 และคดีอาญาความผิดร้ายแรง ขณะที่คณะรัฐประหารกลับได้รับการนิรโทษกรรมผ่านรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย

ประเทศไทยไม่ได้มีการพูดถึงการนิรโทษกรรม หรือการปรองดองเป็นครั้งแรก ท่ามกลางประวัติศาสตร์การเมืองไทย เรามีการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้วทั้งสิ้น 22 ฉบับ(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่) นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การนิรโทษกรรมที่เกี่ยวข้องกับความวุ่นวายทางการเมือง การชุมนุม และความรุนแรงทางการเมืองมีอยู่ด้วยกัน 3 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเหมือนกับตัวแปรสำคัญในการคลายปมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา

ประชาไทสัมภาษณ์ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตหนึ่งในแกนนำนักศึกษา 18 คนที่จับกุม และดำเนินคดีร้ายแรง ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ถึงสถานการณ์ และปัจจัย ทำให้เกิดการนิรโทษกรรมเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 พร้อมมองความเป็นไปของสถานการณ์ปัจจุบัน ท่ามกลางความท้าทายของกระแสโลก เมื่อเราอยู่กับกระแสอนุรักษ์นิยมที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว

ภาพจากแฟ้มภาพประชาไท

“สถานการณ์สงครามภายในของไทยเอง มันเป็นแรงกดดันสำคัญอีกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ปีกขวา เช่นกลุ่มทหารสายปฏิรูป หรือปีกขวาที่ไม่ใช่ขวาจัด เริ่มต้องคิดมากขึ้น เพราะถ้าแนวโน้มจากปี 19 ดำเนินต่อเข้าปี 20 แล้วยังปล่อยให้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ สถานการณ์ในไทยอาจจะไม่แตกต่างจากอินโดจีนคือ เกิดสงครามรุนแรงภายใน และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลปีกขวา”

“เมื่อทหารสายปฏิรูปยึดอำนาจ และมีฐานกำลังที่สำคัญคือจากปีกของยังเติร์ก ซึ่งอาจจะรวมถึงกลุ่มทหารกลุ่มประชาธิปไตยบางส่วน ก็จะเริ่มเห็นชัดเจนว่ามันมีความพยายามที่จะปรับทิศทางนโยบายแบบขวาจัดของรัฐไทย เพราะพวกเขาเชื่อว่าถ้าขวาจัดไปเรื่อยๆ สุดท้ายจะพ่ายคอมมิวนิสต์”

ประชาไท : ถ้ามองไปสมัย 6 ตุลาคม 2519 เป็นช่วงที่มีความขัดแย้ง เรียกได้ว่ารุนแรงมาก มีการจับกุมนักโทษการเมืองจำนวนมาก หลายคนหลบหนีเข้าป่าเพื่อร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ถึงที่สุดก็มีการนิรโทษกรรม และการออกนโยบาย 66/23 ในช่วงนั้นมีแรงกดดันจากภายนอก หรือแรงขับเคลื่อนจากภายใน มีปัจจัยอะไรบ้าง?

สรุชาติ : การจับกุมที่เกิดขึ้นในยุคนั้นเป็นที่รู้จักกันในต่างประเทศคือ Bangkok 18 เป็นผลพวงจากเหตุการณ์หน้าธรรมศาสตร์ และสนามหลวงในเช้าวันที่ 6 ตุลา เป็นสิ่งที่คนไม่คาดคิด ก่อนหน้านั้นการยึดอำนาจในการเมืองไทย เป็นการยึดอำนาจที่ไม่ต้องผ่านเงื่อนไขที่มีความรุนแรง หรือมีลักษณะของการฆ่าเกิดขึ้น แม้เราจะผ่าน 14 ตุลา แต่ 14 ตุลา เป็นเงื่อนไขความสูญเสียที่นำไปสู่การล้มลงของรัฐบาลทหาร แต่ 6 ตุลา มันกลับกัน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การรัฐประหาร แน่นอนที่สุดมีการฆ่ากัน หรือมีลักษณะของการใช้ความรุนแรงขนาดใหญ่

เหตุการณ์ 6 ตุลา ทำหน้าที่อีกอย่างคือ ช็อคสังคมไทย แม้ว่าฝ่ายขวาส่วนที่เคยออกมาสนับสนุนให้มีการต่อต้านนักศึกษา และกระบวนการประชาธิปไตยช่วงก่อนวันที่ 6 ตุลา แต่เมื่อภาพความรุนแรงของวันที่ 6 เผยแพร่ออกไปทั้งภายในประเทศ และภายนอกประเทศ มันช็อคคนมากพอสมควร เพราะว่าแต่เดิมภาพที่คนต่างประเทศมองสังคมไทยคือ การมองเห็นว่าสังคมไทยเป็นเมืองพุทธ เป็นสังคมที่แม้จะมีความขัดแย้งทางการเมืองแต่ก็ไม่ได้มีอะไรรุนแรง แต่เมื่อภาพ 6 ตุลา เผยเพร่ออกไป ผมคิดว่า มันทำให้ชาวต่างประเทศเริ่มหันมาสนใจ

ขณะเดียวกันหลังจากภาพเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา สิ่งที่ตามมาคือการจับกุมผู้นำนักศึกษา ในช่วงแรกผู้ที่ถูกจับกุมในวันที่ 6 เท่าที่ทราบในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 3,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกปล่อยตัว สุดท้ายเหลือคนอยู่ 18 คน ซึ่งเป็นผู้นำนักศึกษาคือ ผู้นำศูนย์นิสิตนักศึกษา และผู้ที่แสดงละครซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา ฉะนั้นเมื่อมีการจับกุมค้างไว้อีก 18 คน มันรวมถึงการตั้งข้อหา ซึ่งรวมทั้งหมดสิบกว่าข้อหา ผมเข้าใจว่าถ้าดูจากข้อหาน่าจะเป็นการตั้งข้อหาที่ครอบคลุม แต่ในทางกลับกันเป็นข้อหาร้ายแรงทั้งหมด มีตั้งแต่ข้อหากบฏ ซ่องโจร อั้งยี่ รวมทั้งข้อหาสะสมอาวุธ ข้อหาคอมมิวนิสต์ และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกส่วนหนึ่ง

สำหรับผลพวงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศผมคิดว่า พอภาพมันออกไป มันช็อคคน ในขณะเดียวกันมันทำให้เกิดแรงต้าน แรงต้านส่วนหนึ่งเกิดจากคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งผมในฐานะที่เป็น 1 ใน 18 คนที่ถูกจับกุม ต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวไทยในต่างประเทศที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับพวกเรา ในอีกด้านหนึ่งต้องขอขอบคุณบรรดาเพื่อนชาวต่างประเทศในหลายประเทศ โดยฉะนั้นอย่างยิ่งในสหรัฐและในสหภาพยุโรป เมื่อเห็นภาพที่เผยแพร่ออกไปพวกเขาเริ่มก่อตั้งเป็นกลุ่ม เรียกร้องให้มีการปลดปล่อยนักศึกษาทั้ง 18 คน

นอกจากนี้ในอีกส่วนหนึ่งเราจะเห็นว่า แรงกดดันไม่ได้มาจาก คนไทย หรือคนต่างประเทศเท่านั้น แต่เราเริ่มเห็น แรงกดดันที่มาจากสถานทูต เนื่องจากวันที่พวกเราถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร ซึ่งแต่เดิมการโดนทั้งคดีคอมมิวนิสต์ ม.112 โดนทั้งข้อหากบฏ ข้อหาอาวุธ อั้งยี่ จะกฎหมายที่อนุญาตให้ขังฟรี 1 ปี ฉะนั้นในช่วงนั้นแรงกดดันเริ่มมีให้เห็นเยอะขึ้น แรงกดดันพวกนี้ส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตกับองค์การนิรโทษกรรมสากล (AI) ซึ่งเป็นหัวขบวนพอสมควร กับอีกส่วนหนึ่งต้องขอขอบคุณบรรดาสถานทูตที่อยู่ในประเทศไทย คือเวลาพวกเราขึ้นศาล บนศาลเราจะเห็นเจ้าหน้าที่สถานทูตต่างๆ ไปฟังการพิจารณาคดี

แต่ในอีกมุมหนึ่งของปัญหา เมื่อเกิดกรณีการล้อมปราบเมื่อวันที่ 6 ตุลา มันทำให้คนส่วนหนึ่งที่รอดพ้นจากการล้อมปราบในวันนั้น รวมถึงคนอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับการปล่อยตัวในจำนวนคนสามพันกว่าคน ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในชนบท ฉะนั้นภาพที่เราเห็นหลังวันที่ 6 ตุลา เราเห็นการเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เราเห็นการขยายตัวของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งสภาพอย่างนี้ ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า ถ้าสังคมไทยยังดำเนินนโยบายแบบขวาจัดไปเรื่อยๆ รัฐบาลที่กรุงเทพฯ จะเป็นเสมือนแนวร่วมมุมกลับให้กับ พคท. เพราะถ้าคนถูกกดดันมาก คนที่ต่อสู้แบบปกติอยู่ในเมือง จะยิ่งตัดสินใจทิ้งเมืองเข้าสู่ชนบท ฉะนั้นในมุมนี้สถานการณ์สงครามภายในของไทยเอง มันเป็นแรงกดดันสำคัญอีกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ปีกขวา เช่นกลุ่มทหารสายปฏิรูป หรือปีกขวาที่ไม่ใช่ขวาจัด เริ่มต้องคิดมากขึ้น เพราะถ้าแนวโน้มจากปี 19 ดำเนินต่อเข้าปี 20 แล้วยังปล่อยให้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ สถานการณ์ในไทยอาจจะไม่แตกต่างจากอินโดจีนคือ เกิดสงครามรุนแรงภายใน และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลปีกขวา

เราเริ่มเห็นแรงกดดันจากกลุ่มผู้มีอำนาจด้วยกันเอง พูดง่ายๆ คือ ทหารสายปฏิรูปเริ่มคิดมากขึ้นว่า ถ้าปล่อยไปสุดท้ายต้องแพ้คอมมิวนิสต์ สายปฏิรูปจึงพยามยามที่จะคิดและผลักดัน ผมคิดว่าการพยายามที่จะคิดและผลักดันครั้งนี้ไปจบที่วันที่ 20 ตุลาคม ปี 2520 คือการยึดอำนาจใหม่ ถ้าเราย้อนกลับไปดูความคิดของกลุ่มทหาร อย่างสายของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์  ซึ่งต้องยอมรับว่าฐานการขับเคลื่อนฝั่งพลเอกเกรียงศักดิ์ ได้รับสนับสนุนอย่างสำคัญจากกลุ่มยังเติร์ก

ฉะนั้นในมุมนี้ เมื่อทหารสายปฏิรูปยึดอำนาจ และมีฐานกำลังที่สำคัญคือจากปีกของยังเติร์ก ซึ่งอาจจะรวมถึงกลุ่มทหารกลุ่มประชาธิปไตยบางส่วน ก็จะเริ่มเห็นชัดเจนว่ามันมีความพยายามที่จะปรับทิศทางนโยบายแบบขวาจัดของรัฐไทย เพราะพวกเขาเชื่อว่าถ้าขวาจัดไปเรื่อยๆ สุดท้ายจะพ่ายคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นท่ามกลางการต่อสู้ความสำเร็จของการรัฐประหารครั้งนี้คือ การทำให้สังคมไทยค่อยๆ ถอยกลับมาสู่สภาวะปกติคือ ลดระดับของนโยบายขวาจัดลง

ในสถานการณ์อย่างนี้ มันผูกโยงกับเงื่อนไขสงครามของไทย ผมอยากจะขออนุญาตเล่านิดนึง อันนี้ต้องยอมรับว่าผมไม่ค่อยพูดในที่สาธารณะเท่าไรคือ วันที่ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ผ่านแล้ว ผู้แทนของรัฐบาลเกรียงศักดิ์ เข้ามาคุยกับพวกเราที่เรือนจำบางขวาง เขาพูดกับเราอย่างหนึ่งว่า ที่รัฐบาลตัดสินใจนิรโทษกรรม รัฐบาลต้องการยุติสงครามกับนักศึกษา และที่สำคัญคือต้องการยุติความขัดแย้ง

ผมคิดว่ามุมนี้ สถานการณ์ในปี 19 มันมีเงื่อนไขหลายอย่าง อย่างที่นำเรียนตอนแรกว่า พอมีการใช้มาตราการรุนแรงคือการล้อมปราบที่สนามหลวง มันช็อคคนในบ้าน รวมทั้งช็อคฝ่ายขวาเอง ช็อคคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ และคนต่างประเทศ และช็อครัฐบาลต่างประเทศ สถานการณ์กลายเป็นเงื่อนไขในตัวเองที่นำพาคนเข้าป่ามากขึ้นถึงที่สุดมันช็อคผู้นำทหารบางส่วน ฉะนั้นสุดท้ายทุกคนเชื่อว่า หนทางที่ดีที่สุดคือ การนำสังคมไทยกลับสู่ปกติ ด้วยการลดความเข้มข้นของนโยบายขวาจัด ฉะนั้นนิรโทษกรรมยุคนั้นจึงไม่มีข้อโต้แย้งมากนัก แต่ถามว่าปีกขวาจัดพอใจไหม อาจจะไม่ เพราะยังเชื่อว่า การปล่อยอาจจะเป็นเหมือนการเปิดช่องทางให้เกิดการกลับขึ้นมามีบทบาทอีกครั้งของกลุ่มผู้นำนักศึกษา ในอีกด้านหนึ่งในปีกซ้ายบางส่วนก็ไม่พอใจเช่นกัน เพราะว่า ถ้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกมา อาจจะทำให้ไม่สามารถฟ้องร้องผู้ใช้ความรุนแรงได้ในอนาคต ขณะที่ทหารสายปฏิรูปเชื่อว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะเป็นจุดคลายปมความขัดแย้งของการเมืองไทย

เมื่อมองย้อนกลับไปผมคิดว่า การตัดสินใจออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูก เพราะนิรโทษกรรมในเหตุการณ์ 6 ตุลา มันเป็นจุดเริ่มต้นของการคลายปมปัญหาความขัดแย้งจริงๆ ไม่เพียงแต่ทำให้คนที่เข้าป่ามีโอกาสกลับมา มันยังเปิดทุกอย่าง พูดง่ายๆ คือ การทำให้สถานการณ์คลายตัวออก

ต่อมาในปี 23 เราเริ่มเห็นคนทะลักออกจากป่าจำนวนมาก ในแง่หนึ่งเราอาจจะอธิบายว่าเป็นผลพวงของปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เวียดนาม และกัมพูชา แต่สิ่งที่เห็นชัดคือ การใช้นโยบายในลักษณะของการผ่อนปรน เริ่มทำให้สังคมกลับคืนสู่สภาวะปกติ เมื่อใช้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต้องยอมรับว่า ไม่มีลักษณะไล่ล่า แม้ว่าในช่วงต้น ปีกขวาจัดจะยังรู้สึกว่า การปล่อยให้ปีกซ้ายออกมา ปล่อยให้อดีตผู้นำนักศึกษาออกมา จะทำให้เกิดการกลับมาเคลื่อนไหวใหม่ เอาเข้าจริงก็ไม่มีสภาพอย่างนั้นเท่าไหร่

ความน่าสนใจในการคลายปมปัญหาความขัดแย้งในกรณีสถานการณ์สงครามในช่วงปี 19 ต้องยอมรับว่า การตัดสินใจออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของทหารสายปฏิรูป ถือเป็นความสำเร็จเชิงนโยบาย เมื่อล่วงเข้าปี 23 จะเห็นว่ากลุ่มทหารสายประชาธิปไตย ของพลเอกชวลิต จริงๆ รวมถึงคนอย่างนายกเปรมด้วย ซึ่งผลักดันคือสั่ง 66/23 แล้วก็ออกคำสั่งซ้ำอีกทีคือ 65/25 ฉะนั้นลักษณะอย่างนี้เราจะเห็นว่า จาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปี 20 มันนำไปขยายผลต่อที่คำสั่งดังกล่าว เมื่อไปถึงจุดนั้นมันไปคลายปมปัญหาอีกจุดหนึ่งคือ ปมปัญหาสงคราม

ในท้ายที่สุดเมื่อล่วงเข้าปี 25-26 คำประกาศของฝ่ายรัฐบาลทั้งจากพลเอกชวลิต หรือนายกเปรมว่า เงื่อนไขของสงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยถึงจุดยุติแล้ว เพราะขบวนการติดอาวุธ หรือ พคท. ไม่มีศักยภาพในการทำการรบอีกต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าระยะเวลาจากปี 19 ใช้เวลาไม่นาน ทั้งที่แต่เดิมหลายฝ่ายเชื่อว่าด้วยความรุนแรงขนาดนั้น ประเทศไทยจะพลิกโฉมด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์

ในสมัยนั้นกลุ่มทหารสายปฏิรูปเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ผมคิดว่าทหารสายปฏิรูปเกิดขึ้นจากเงื่อนไขคือสถานการณ์ ก่อน 6 ตุลา ปีกนี้อาจจะยังมีลักษณะขวาจัดอยู่บ้าง อาจจะยังกังวลว่านักศึกษาเป็นปีกซ้าย มองว่าเป็นตัวแทนของ พคท. แต่สายปฏิรูปถูกช็อคครั้งใหญ่ที่สุดคือ ภาพของเหตุการณ์ 6 ตุลา และผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คงไม่มีใครคิดว่านักศึกษาเป็นจำนวนมากยอมที่จะทิ้งชีวิตที่สุขสบาย แล้วเดินทางเข้าสู่ชนบท และหากสถานการณ์ยังดำเนินไปภายใต้นโยบายขวาจัดมันจะออกมาไม่ต่างจากสงครามในเวียดนาม

ในมุมหนึ่งรัฐบาลต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐก็คิดอยู่มาก เมื่อเห็นความพ่ายแพ้ในลาว กัมพูชา และเวียดนาม ผมเชื่อว่าในยุคนั้นสหรัฐไม่ต้องการเห็นโดมิโน่ตัวที่ 4 ล้ม เพราะถ้าไทยล้มจะเป็นเรื่องใหญ่ จะทำให้คุมสถานการณ์ในภูมิภาคลำบาก ไม่มีใครอยากเห็นรัฐบาลขวาจัดพาประเทศไทยไปสู่ความล้มเหลวเชิงนโยบายยุทธศาสตร์ด้วยการพ่ายแพ้สงครามคอมมิวนิสต์

รัฐบาลจีนเองก็มองว่า ถ้ารัฐบาลไทยขวามากๆ แล้วทำให้ปีกซ้ายในป่าขยาย แล้วถ้าเกิดปีกซ้ายไปจับมือกับเวียดนาม ก็จะเป็นปัญหากับจีนในขณะนั้น

“ในปัจจุบันเมื่อไม่มีเงื่อนไขสงคราม ผมว่าปีกขวาไม่มีความกลัวเหมือนปี 19 เมื่อไม่กลัวพวกเขามีความรู้สึกว่า อุดมการณ์ หรือกระแสขวาที่เป็นอยู่ ยังสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ เป็นแต่เพียงพอมีสถานการณ์สงคราม มันทำให้ปีกขวาส่วนหนึ่งเริ่มต้องคิดว่าถ้าเขาแพ้จะทำอย่างไร ถึงวันนี้ผมคิดว่าปีกขวาอาจจะรู้สึกว่าเขาไม่มีทางแพ้”

มองกลับมาที่ปัจจุบัน แรงกดดันจากภายนอกก็พอมีอยู่เหมือนกัน แต่ว่าทำไม...

ผมทดลองคิดอย่างคนปี 19 วันนี้ชุดความคิดขวาในไทยมีไม่ต่างจากตอนนั้น เพียงแต่แตกต่างกันอยู่บ้างคือ สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีเงื่อนไขสงคราม และสองคือฝ่ายที่พ่ายแพ้ในเมืองไม่มีฐานที่มั่นในชนบทให้ไป ฉะนั้นเมื่อไม่มีทั้งสองอย่างนี้ ปีกขวารู้สึกว่าไม่ต้องกลัวอะไรมาก เพราะรู้ว่าปีกที่เคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยอย่างก็มีพื้นที่อยู่อย่างที่เราเห็น ขณะที่ปี 19 ไม่มีพื้นที่แบบปัจจุบัน

ในปัจจุบันเมื่อไม่มีเงื่อนไขสงคราม ผมว่าปีกขวาไม่มีความกลัวเหมือนปี 19 เมื่อไม่กลัวพวกเขามีความรู้สึกว่า อุดมการณ์ หรือกระแสขวาที่เป็นอยู่ ยังสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ เป็นแต่เพียงพอมีสถานการณ์สงคราม มันทำให้ปีกขวาส่วนหนึ่งเริ่มต้องคิดว่าถ้าเขาแพ้จะทำอย่างไร ถึงวันนี้ผมคิดว่าปีกขวาอาจจะรู้สึกว่าเขาไม่มีทางแพ้ ผมคิดว่าจนกว่าจะมีสถานการณ์ที่ช็อคชนชั้นกลางให้เปลี่ยนความคิด หรือช็อคปีกทหาร หรือผู้ที่มีอำนาจเปลี่ยน เหมือนอย่างปี 19

ขณะเดียวกันทุกวันนี้เราเห็นชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมมากขึ้น เราเห็นคนที่เคยเคลื่อนไหวในอดีตวันนี้กลับกลายเป็นขวาอนุรักษ์นิยม เราเห็นกลุ่มอำนาจในกองทัพส่วนใหญ่เป็นอนุรักษ์นิยม แต่ความต่างของโจทย์นี้มีอย่างเดียวคือ เรายังไม่เหตุการณ์ที่เป็นตัวช็อค เหมือนปี 19-20 แต่วันนี้เรายังไม่ ผมคิดว่าเราอาจจะกำลังอยู่กันในปี 18 คือปีกขวายังเคลื่อนไหวได้ค่อนข้างมาก

แสดงว่าอาจารย์คิดว่าต่อไปในอนาคตอาจจะเกิดสถานการณ์ที่เป็นตัวช็อค...

ผมคิดอย่างคนที่ผ่านปี 19 คือสังคมจะเดินไปอย่างไร จะขวาไปเรื่อยๆ อย่างนี้ตลอดหรือไม่ หรือสังคมไทยจะย้อนรอยปี 19-20 ทุกวันนี้ถ้าเปรียบเทียบที่เราเป็นอยู่นี้ก็หนัก ไม่ใช่ไม่หนัก เห็นหลายคดีที่เกิดขึ้น ก็รู้สึกขมขื่นทางการเมืองเหมือนกัน เป็นแต่เพียงผมรู้สึกว่า ปีกอนุรักษ์นิยมไทยในปัจจุบันยังไม่ถูกช็อคเท่านั้นเอง จนกว่าพวกเขาจะถูกช็อค แล้วเริ่มรู้สึกว่านโยบายแบบขวาจัด อนุรักษ์นิยมมากๆ ที่เป็นอยู่ ไม่เป็นประโยชน์ต่ออะไรทั้งสิ้น แล้วที่แย่ที่สุดคือมันจะพาประเทศไปสู่มุมอับ

“วันนี้ผมได้ยินคำว่า ปรองดอง ปรองดอง จนเป็นคำที่ผมรู้สึกว่า หาสาระไม่ได้ในทางการเมือง นอกจากหาสาระในทางการเมืองไม่ได้ มันไม่มีสัญญาณของการปฏิบัติว่า ตกลงแล้วความปรองดองที่เราพูดกันในสังคมไทยคืออะไร เราคาดหวังอะไร เราพูดแต่อยากเห็นปรองดอง แต่เราก็ยังมีการไล่ล่ากันไม่จบ แล้วตกลงการปรองดองจะเกิดได้อย่างไร ถ้าเราอย่างเห็นการปรองดองจริงๆ ที่จะทำให้สังคมมันคลายตัว เราไม่เห็นจุดเปลี่ยนของนโยบายที่เป็นจุดเปลี่ยนในการคลายตัว”

ในปัจจุบัน ขณะที่ฝ่ายขวายังไม่ได้ถูกช็อค ก็มีการพูดเรื่องนิรโทษกรรมขึ้นมา มีการพูดถึงการปรองดองกันมาโดยตลอด อาจารย์คิดว่าเรื่องนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด?

ผมนั่งดูอย่างคนที่ยุคหนึ่งเคยเป็นคนที่ได้รับการนิรโทษกรรม คือวันนี้สังคมไทยพูดเรื่องการปรองดอง แต่ถามว่ามีสัญญาณของการปรองดองไหมผมไม่แน่ใจ ปี 19 เราไม่มีคำว่าปรองดอง มีอยู่คำเดียวคือนิรโทษ ตอนนิรโทษมันก็มีข้อโต้แย้งอยู่บ้าง แต่เมื่อมองย้อนกลับไปเราเห็นชัดขึ้นว่า กฎหมายนิรโทษกรรมมันนำพาไปสู่การคลายปมปัญหาของสังคมไทยทั้งนั้น

แต่วันนี้ผมได้ยินคำว่า ปรองดอง ปรองดอง จนเป็นคำที่ผมรู้สึกว่า หาสาระไม่ได้ในทางการเมือง นอกจากหาสาระในทางการเมืองไม่ได้ มันไม่มีสัญญาณของการปฏิบัติว่า ตกลงแล้วความปรองดองที่เราพูดกันในสังคมไทยคืออะไร เราคาดหวังอะไร เราพูดแต่อยากเห็นปรองดอง แต่เราก็ยังมีการไล่ล่ากันไม่จบ แล้วตกลงการปรองดองจะเกิดได้อย่างไร ถ้าเราอย่างเห็นการปรองดองจริงๆ ที่จะทำให้สังคมมันคลายตัว เราไม่เห็นจุดเปลี่ยนของนโยบายที่เป็นจุดเปลี่ยนในการคลายตัว

“แต่น่าเสียดายว่าอดีตผู้นำนักศึกษาที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในฐานที่มั่นในชนบท แล้วได้กลับเข้ามาด้วยกฎหมายนิรโทษกรรม แต่พอได้มานั่งอยู่ใน สปช. หลังรัฐประหารปี 57 พวกเขากลับคิดเรื่องนี้น้อยลง ผมรู้สึกว่าเขาอาจจะจำไม่ได้ว่า วันหนึ่งที่พวกเขาได้กลับบ้านมันเริ่มจากกฎหมายนิรโทษกรรม”

ถ้าพูดถึงเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การปรองดอง อาจารย์คิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ถ้าตอบจากบทเรียนปี 19-20 การคลายสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ เริ่มจากกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะมันเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในฐานที่มั่นกลับบ้าน และกลับโดยไม่มีความผิด หลายคนกลับมาเรียนหนังสือจนจบ หลายที่คนเป็นผู้นำอยู่ในเวทีการเมืองล้วนแต่เป็นคนที่ได้รับผลพวงจากกฎหมายเหล่านั้นทั้งสิ้น แต่น่าเสียดายว่าอดีตผู้นำนักศึกษาที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในฐานที่มั่นในชนบท แล้วได้กลับเข้ามาด้วยกฎหมายนิรโทษกรรม แต่พอได้มานั่งอยู่ใน สปช. หลังรัฐประหารปี 57 พวกเขากลับคิดเรื่องนี้น้อยลง ผมรู้สึกว่าเขาอาจจะจำไม่ได้ว่า วันหนึ่งที่พวกเขาได้กลับบ้านมันเริ่มจากกฎหมายนิรโทษกรรม

“ในขณะที่ชุดความคิดเรื่องประชาธิปไตยแตกตัวไปในสังคมไทยเยอะมาก ในชนบทกระแสประชาธิปไตยสูง ในเมืองก็สูงเหมือนกัน ขณะที่กระแสอนุรักษ์นิยมดูเหมือนเข้มแข็ง แต่มันเป็นความเข้มแข็งบนความเปราะบาง เพราะวันนี้กระแสอนุรักษ์นิยมในไทย เป็นอะไรที่สังคมโลกไม่ยอมรับ อาจจะบอกว่าเราจะอยู่แบบไทยๆ โลกไม่รับฉันก็จะอยู่ของฉัน เอาเข้าจริงๆ เป็นไปไม่ได้”

“ถ้าเชื่อว่าสังคมไทยอยู่ได้โดยไม่ต้องอยู่กับกระแสโลก ผมว่าเราหลอกตัวเองบนฐานคิดอนุรักษ์นิยมแบบเก่า”

ฟังดูเหมือนไม่ค่อยมีความหวัง...

ผมไม่ได้บอกว่าไม่มีความหวัง แต่สถานการณ์ทางการเมืองเป็นอะไรที่ต้องดูด้วยความเป็นจริง ไม่ประโยชน์ที่เราจะบอกว่าสถานการณ์ทุกอย่างดี ในขณะที่ยังมีเด็กๆ ถูกจับกุมและมีคดีติดตัว ยังมีคนที่อยู่ในบัญชีเรียกปรับทัศนคติ สิ่งที่ต้องดูคือ เมื่อกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยมันเคลื่อนตัวแล้ว สิ่งที่เป็นความหวังที่แท้จริงคือ ขบวนพวกนี้ไม่เคยหยุด สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ หน่ออ่อนประชาธิปไตยที่โตมาจากปี 2475  หรือที่โตมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 หรือพฤษภา 35 ผมว่าหน่ออ่อนวันนี้เติบโตกับคนรุ่นใหม่เยอะ

วันนี้เรามีคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวด้วยวิธีการใหม่ๆ อย่างที่ผมเคยเขียนในบทความว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ หลังรัฐประหาร 57 เป็นอะไรที่น่าสนใจ เพราะว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้รัฐบาลทหารกลายเป็นตัวตลก ขณะเดียวกันวันนี้เราเห็นกระแสปฏิเสธรัฐประหาร ซึ่งมีอยู่สูง เป็นแต่เพียงว่ากระแสอย่างนี้ยังไม่นำไปสู่จุดที่เป็นสปริง หรือฤดูใบไม้ผลิเท่านั้นเอง

ในมุมหนึ่งเราไม่ได้สิ้นหวัง เพียงวันนี้ฤดูใบไม้ผลิยังมาไม่ถึง แต่เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง และผมเชื่อว่าการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในรอบนี้มีความสำคัญ รอบนี้การเรียกร้องประชาธิปไตย การต่อต้านเผด็จการ และอำนาจนิยม มันขยายวงมาก 14 ตุลา เป็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษา พฤษภา 35 เป็นการเคลื่อนไหวของคนในเมือง แต่ปัจจุบันมันเป็นการเคลื่อนไหวของคนที่มีฐานส่วนใหญ่ทั้งในชนบท และในเมือง การเรียกร้องประชาธิปไตยรอบนี้ เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนทุกสาขาอาชีพ เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนทุกชั้นชน

วันนี้เป็นอะไรที่น่าตามดู ในขณะที่ชุดความคิดเรื่องประชาธิปไตยแตกตัวไปในสังคมไทยเยอะมาก ในชนบทกระแสประชาธิปไตยสูง ในเมืองก็สูงเหมือนกัน ขณะที่กระแสอนุรักษ์นิยมดูเหมือนเข้มแข็ง แต่มันเป็นความเข้มแข็งบนความเปราะบาง เพราะวันนี้กระแสอนุรักษ์นิยมในไทย เป็นอะไรที่สังคมโลกไม่ยอมรับ อาจจะบอกว่าเราจะอยู่แบบไทยๆ โลกไม่รับฉันก็จะอยู่ของฉัน เอาเข้าจริงๆ เป็นไปไม่ได้ รัฐประหารปี 34 เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก แต่พอถึงปี 35 ตอบได้ชัดเลยว่า ส่วนหนึ่งของความพ่ายแพ้ของกองทัพคือ กระแสการเมืองไทยไม่รับกับกระแสโลก พอถึงปี 49 มีรัฐประหารอีกครั้ง แต่ถามว่าสอดคล้องกับกระแสโลกไหม ก็ไม่ ยึดอำนาจกันยา 49 พอธันวา 50 ก็เลือกตั้ง

แต่พอรอบนี้ ปีกอนุรักษ์นิยมเชื่อว่าสังคมไทยอยู่ได้โดยไม่ต้องแคร์กับกระแสโลก แต่ผมว่าไม่ใช่ วันนี้กระแสโลกซ่อนอยู่ในกระแสการเมืองไทยเยอะ ล่าสุดสหภาพรัฐสภาของโลกเรียกร้องให้รัฐสภาไทยตอบข้อซักถามถึงการเรียกตัวนักการเมืองไปปรับทัศนคติ วันนี้ถ้าเชื่อว่าสังคมไทยอยู่ได้โดยไม่ต้องอยู่กับกระแสโลก ผมว่าเราหลอกตัวเองบนฐานคิดอนุรักษ์นิยมแบบเก่า

เมื่อถอยกลับไปไกลๆ กระแสอนุรักษ์นิยมในช่วงอดีตก็รู้มาตลอดว่า สยามต้องอยู่กับโลก ความเปลี่ยนแปลงหลายส่วนในช่วงที่เราเป็นสยาม นั่นเป็นคำตอบว่า ชนชั้นนำไทยตระหนักว่า สยามออกจากกระแสโลกไม่ได้ ผู้นำไทยในอดีตหลายส่วนก็ตระหนักว่า ไทยต้องอยู่กับประชาคมระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่น่าตามดูว่า ผู้นำทหารสมัยปัจจุบันมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกมาน้อยเพียงใด เว้นแต่เราอธิบายว่ากระแสอนุรักษ์นิยมไทยในปัจจุบัน เป็นกระแสที่ไม่มีความรู้และความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

“ความลำบากของปัจจุบันก็คือ เราดันอยู่กับอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวเท่าไหร่ และความไม่รู้เรื่องรู้ราวมันสะท้อนชัดว่า เขาไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะเดียวกันก็ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง หรือพลวัตที่เกิดขึ้นในบ้านตัวเอง”

หากเป็นอย่างนั้นจริงๆ และเป็นต่อไปเรื่อยๆ...

เราก็จะกลายเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมที่ปิดตัวเอง แต่ถามว่า ปิดตัวเองได้ไหม วันนี้คำตอบก็ชัดคือเป็นไปไม่ได้ สังคมไทยเดินมาไกลเกินกว่าที่จะปิดประตูบ้านตัวเอง ตามความเชื่อของปีกขวาจัด ความลำบากของปัจจุบันก็คือ เราดันอยู่กับอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวเท่าไหร่ และความไม่รู้เรื่องรู้ราวมันสะท้อนชัดว่า เขาไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะเดียวกันก็ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง หรือพลวัตที่เกิดขึ้นในบ้านตัวเอง

ขณะเดียวกันสิ่งที่เรากำลังเผชิญคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งไม่ดีเท่าไหร่ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยซึ่งแย่อยู่แล้ว สังคมจะเดินเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ ถ้าสังคมไทยเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจชุดใหญ่ คำถามจะเกิดขึ้นทันทีว่ารัฐบาลทหารมีความสามารถจะแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้หรือไม่ ถ้าแก้ได้จริงอย่างที่หวัง ก็อาจจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เขาอยู่ต่อได้นาน

ด้านแรงกดดันจากต่างประเทศ ต้องพูดว่ารัฐประหารไม่ถูกแซงชั่นจริงจัง ไม่เคยมีการปิดล้อมทางเศรษฐกิจหลังจากการยึดอำนาจ นั่นหมายความว่ารัฐบาลทหารยังสามารถอยู่ได้ แต่ถ้าเราคิดเทียบกับพม่า เขาถูกแซงชั่นอย่างหนัก ฉะนั้นถ้าในอนาคต การปกครองของรัฐบาลทหารดำเนินไป แล้วถูกกดดันมาขึ้น มีการใช้มาตรการระดับสูงขึ้นนั้นจะเป็นปัญหาใหญ่

สิ่งที่ต้องนั่งดูในอนาคต คือบทบาทของต่างประเทศ ซึ่งอาจจะไม่รวดเร็วตามที่เราคาดหวัง เวลาพูดถึงประเทศไทย ไม่ใครอยากใช้มาตรการหนักกับประเทศไทย เพราะกลัวว่า หากใช้แล้วเกิดสถานการณ์อะไรกับการเมืองไทยจะมีผลกระทบกับภูมิภาค ฉะนั้นภาวะที่เกิดขึ้นมันเป็นความกระอักกระอ่วน ของรัฐบาลต่างประเทศหลายรัฐบาล 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net