Skip to main content
sharethis
'อีสาน เรคคอร์ด' สัมภาษณ์ 'เจมส์ ลีโอนาร์ด มิตเชลล์' ผู้ตามรอยวิวัฒนาการเพลงไทยแนวลูกทุ่ง ที่มีต้นกำเนิดจากชนชั้นกรรมมาชีพจนกลายเป็นแนวเพลงที่ได้รับความนิยมที่สุดของไทย และเพลงลูกทุ่งได้จุดประกายการฟื้นฟูอัตลักษณ์และวัฒนธรรมลาวอีสานในประเทศไทยจากยุค 2530 เป็นต้นมาอย่างไรบ้าง 
 
 
 
31 ต.ค. 2558 เว็บไซต์  เดอะ อีสาน เรคคอร์ด ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ 'เจมส์ ลีโอนาร์ด มิตเชลล์' ผู้ตามรอยวิวัฒนาการเพลงไทยแนวลูกทุ่ง ที่มีต้นกำเนิดจากชนชั้นกรรมมาชีพจนกลายเป็นแนวเพลงที่ได้รับความนิยมที่สุดของไทย โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังต่อไปนี้
 

สัมภาษณ์: เพลงลูกทุ่ง – เสียงของการประท้วงทางการเมืองและการฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสาน

ในหนังสือเล่มเยี่ยมเล่มใหม่ เจมส์ ลีโอนาร์ด มิตเชลล์ (James Leonard Mitchell) ได้ตามรอยวิวัฒนาการเพลงไทยแนวลูกทุ่ง ที่มีต้นกำเนิดจากชนชั้นกรรมมาชีพจนกลายเป็นแนวเพลงที่ได้รับความนิยมที่สุดของไทย อีสาน เรคอร์ดได้พูดคุยกับผู้เขียนว่าเพลงลูกทุ่งได้จุดประกายการฟื้นฟูอัตลักษณ์และวัฒนธรรมลาวอีสานในประเทศไทยจากยุค 2530 เป็นต้นมาอย่างไรบ้าง และเพลงลูกทุ่งเองได้มามีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นเพลงที่ถูกนำมาใช้ระหว่างการประท้วงท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองแบ่งสีแบ่งฝ่ายในประเทศได้อย่างไร

IR: คุณมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งได้อย่างไร
หนังสือเล่มนี้อิงตามวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผม แต่เนื้อหามันต่างกันมาก ก่อนที่สำนักพิมพ์ซิลค์วอร์มจะยอมตีพิมพ์ สำนักพิมพ์ด้านมานุษยวิทยาดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายสำนักต่างพาปฏิเสธที่จะตีพิมพ์ เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนถึงศาสตร์หลายแขนงเกินไปสำหรับพวกเขา มีประเด็นด้านการเมือง ประเด็นด้านประวัติศาสตร์ แถมยังมีแค่บทเดียวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมานุษยวิทยาดนตรี ซึ่งบางทีพวกเขามองว่า มันยังมี “น้ำหนัก” ไม่มากพอ

ตอนทำหนังสือ ผมได้ร่วมงานกับปีเตอร์ ดูแลน (Peter Doolan) ซึ่งเป็นเจ้าของบล็อกเรียกว่า มนต์รักเพลงไทย และปีเตอร์ แกร์ริตี (Peter Garrity) ซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้เพลงลูกทุ่ง หนังสือเล่มนี้คงมาไม่ได้ถึงขนาดนี้ ถ้าไม่มีพวกเขา นอกจากนั้น นิค นอสติตซ์เองก็เอาถ่ายภาพสองสามรูปให้ใช้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย แล้วก็มีอีกหลายรูปที่เขาให้ผมใช้ประกอบบทความเกี่ยวกับการใช้เพลงเพื่อการประท้วงของทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลือง

เจมส์ มิตเชลล์ ถ่ายคู่กับผ่องศรี วรนุช นักร้องลูกทุ่งหญิงชื่อดังในยุค 2500 – 2510 ผลงานผ่องศรีเป็นที่รู้จักในแนวเพลงแบบเพลงแก้

เจมส์ มิตเชลล์ ถ่ายคู่กับผ่องศรี วรนุช นักร้องลูกทุ่งหญิงชื่อดังในยุค 2500 – 2510 ผลงานผ่องศรีเป็นที่รู้จักในแนวเพลงแบบเพลงแก้

IR: เพลงลูกทุ่งเป็นที่รู้จักในต่างประเทศหรือเปล่า และถือว่าเป็นความสนใจในเชิงวิชาการหรือไม่

งานด้านเพลงลูกทุ่งยังไม่ได้รับความสนใจจนเป็นกระแสหลักในแวดวงวิชาการเท่าไรนัก และผมก็หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้บ้างสักนิด คือเพลงลูกทุ่งกำลังกลายเป็นแนวเพลงที่มีคนรู้จักมากขึ้น และมีคนที่ชื่นชอบเพลงลูกทุ่งในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก มีคนจากเยอรมัน ออสเตรเลีย อเมริกา และที่อื่นๆที่เป็นแฟนเพลงไทยมากกว่าที่จะเป็นนักวิชาการด้านดนตรีประเภทนี้ ติดต่อเข้ามา ผ่านเว็บไซต์ของผม ที่ชื่อ Thai Music Inventory

IR: แล้วคุณเริ่มสนใจในเพลงลูกทุ่งได้อย่างไร แล้วการเข้าไปในโลกของเพลงลูกทุ่งมีความยากง่ายอย่างไร

จริงๆ ก็เพราะภรรยาของผม ผมเจอเธอที่ขอนแก่นในพ.ศ. 2545 หลังจากที่เราแต่งงานกันและย้ายมาอยู่ที่นี่ ผมเริ่มทำงานที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านคณบดีเฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี ที่เป็นคนทำให้ผมเริ่มมีความเกี่ยวข้องกับเพลงลูกทุ่ง เขาให้หนังสือเก่าหลายเล่ม แล้วก็บทความต่างๆ หลายชิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างเช่น เพลงนอกศตวรรษ ของเอนก นาวิกมูล

ตอนแรกก็ถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะทำให้คนมาคุยกับผม ผมลองไปทั่วกรุงเทพเลย ไปสร้างเครือข่าย ผมพยายามถามบริษัทค่ายเพลงใหญ่ๆ ให้แนะนำนักร้องให้ผม แต่ไม่มีใครสนใจ คงเป็นเรื่องการควบคุมศิลปินและเพลงของพวกเขา ดูเหมือนพวกเขาจะไม่อยากให้อะไรถ้าพวกเขาไม่ได้ประโยชน์ และสำหรับงานด้านวิชาการ พวกเขาก็ไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อะไรน่ะสิ

แต่พอผมได้คุยเรื่องนี้กับเพื่อนคนหนึ่ง อาจารย์เจนวิทย์ พิกัป ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขาพูดขึ้นมาทันทีว่า “อ๋อ ผมรู้จักศิลปินลูกทุ่งชื่อดังมากคนหนึ่ง” เขาพาผมไปเจอคุณสรเพชร ภิญโญทันที แล้วคุณสรเพชรก็ได้มาเป็นกรณีศึกษาหลักในหนังสือของผม และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นทั้งหมด

4.5 job joy at veteethai p112

นักร้องลูกทุ่งหมอลำคู่ จ๊อบและจอย ถือพวงมาลัยที่แฟนเพลงมอบให้ระหว่างการแสดง ระหว่างการแสดงนักร้องลูกทุ่งต้องพร้อมรับพวงมาลัยเสมอและต้องถือพวงมาลัยเหล่านี้ไว้ให้นานที่สุด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญในการปฎิสัมพันธ์ระหว่างนักร้องและแฟนเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเจมส์ มิตเชลล์เขียนไว้ในหนังสือของเขา ภาพโดยปีเตอร์ แกร์ริตี

IR: ในหนังสือ คุณเน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักร้องลูกทุ่งกับแฟนเพลงว่าเป็นภาพสะท้อนของสังคมไทย

นอกจากงานแสดงที่ได้เงินสนับสนุนทางโทรทัศน์และสถานีวิทยุ ศิลปินลูกทุ่งจะไปเปิดการแสดงตามงานศพ งานแต่งงาน และงานฉลองต่างๆ ด้วย เวลาแสดงคอนเสิร์ต แฟนเพลงลูกทุ่งตัวยงก็จะมาอยู่แถวหน้าเวที และส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้จักของนักร้อง มีรูปหนึ่งที่ผมชอบมาก แต่ไม่ได้อยู่ในหนังสือ เป็นรูปนักร้องชื่อดังสองคน จ๊อบกับจอยกำลังยื่นเค้กวันเกิดให้ปีเตอร์ แกร์ริตี ทั้งสองซื้อเค้กเป็นของขวัญให้กับเขาในงานคอนเสิร์ต คุณคงคิดว่ามันควรจะเป็นอีกฝ่ายมากกว่าที่ให้ ความสัมพันธ์ระหว่างกันแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับวงการเพลงลูกทุ่ง แต่คุณคงไม่ได้เห็นความสัมพันธ์แบบนี้ในแวดงวงเพลงป๊อปไทยอย่างแน่นอน เพราะศิลปินส่วนใหญ่จะห่างเหินจากแฟนเพลงมากกว่า

IR: คุณให้เหตุผลว่าเพลงลูกทุ่งเป็นตัวผลักดันหลักในการฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสานในไทย ช่วยอธิบายว่าคุณหมายถึงอะไร

ใช่ และผมหมายถึงแค่ฟื้นฟูเท่านั้น เพราะผมคิดถึงตอนที่วัฒนธรรมอีสานค่อนข้างเฟื่องฟู แต่รัฐบาลสมัยต่อๆ มา คือย้อนไปถึงยุค 2500 ที่ปราบปรามวัฒนธรรมอีสาน เช่น กีดกันไม่ให้มีการใช้ภาษาอีสาน ทั้งในรูปแบบการพูดและการเขียน

ธรรมชาติด้านการพูดจาของวัฒนธรรมอีสานไม่ได้เพียงเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของอุตสาหกรรมเพลงลูกทุ่ง แต่เป็นความสำเร็จของอุตสาหกรรมความบันเทิงทั้งระบบ ตอนนี้มีศิลปินอีสานอยู่ในทุกที่จริงๆ อย่างนักแสดงตลกทั้งหมดจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ต่างเริ่มจากการแสดงบนเวทีลูกทุ่งทั้งสิ้น เพลงลูกทุ่งสร้างพื้นที่นี้สำหรับคนอีสาน ทำให้สามารถเข้าไปสู่อาชีพในอุตสาหกรรมบันเทิง

Puu Yai Lii

ปกของแผ่นเสียง “ผู้ใหญ่ลี” โดยศักดิ์ศรี ศรีอักษร ( 2504) หนึ่งในเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ในไทย และมีเพลงที่แตกออกไปหรือนำมาทำใหม่อีกหลายครั้ง เพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการแสดงหมอลำในจังหวัดอุบลราชธานี เนื้อหาเกี่ยวกับต้นแบบของระบบราชการในท้องถิ่นอีสาน ซึ่งไม่คุ้นเคยกับภาษาไทยกลาง และมักจะสับสนกับคำสั่งต่างๆ ของรัฐบาล

IR: คุณเริ่มสังเกตว่าวัฒนธรรมอีสานมีอิทธิพลต่อเพลงลูกทุ่งตั้งแต่เมื่อไหร่

เริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นยุค 2490 ยุคของเบนจามิน และศักดิ์ศรี ศรีอักษร ศักดิ์ศรีเป็นดาวเด่นในไนท์คลับเพราะเพลง ผู้ใหญ่ลีของเธอ ซึ่งเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว ในช่วงยุค 2490 และ 2500 ศิลปินเหล่านี้ยังไม่ได้แสดงอัตลักษณ์อีสานมากนัก แต่จากช่วงต้นยุค 2510 เป็นต้นมา แนวเพลงลูกทุ่งอีสานหรือลูกทุ่งหมอลำถึงได้เริ่มพัฒนา ในช่วงปี 2524-25 เป็นช่วงที่เพลงลูกทุ่งเริ่มได้รับความนิยมอย่างมาก

การพัฒนานี้อาจมีความเชื่อมโยงกับคนอีสานจำนวนมากที่ย้ายถิ่นฐานไปยังภาคกลางของประเทศไทยเพื่อหางานทำ จนมันไปถึงจุดที่ผู้ฟังชาวอีสานกลายเป็นกลุ่มผู้ฟังที่สำคัญที่สุดในกรุงเทพ และแน่นอน วงคอนเสิร์ตเพลงลูกทุ่งต่างๆ ก็เดินสายไปแสดงทั่วประเทศ มันอาจเกี่ยวโยงไปถึงแรงงานอีสานหลายคนที่ไปทำงานต่างประเทศ แล้วก็เริ่มกลับเข้าประเทศ ซึ่งหมายความลำดับฐานะทางสังคม รวมถึงฐานะทางการเงินของพวกเขาดีขึ้น พวกเขาเริ่มมีเงินมากขึ้นที่จะไปซื้อหาแผ่นเสียงและไปดูคอนเสิร์ต ซึ่งนั่นเริ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 2520

IR: ลูกทุ่งเคยเป็นเพลงของชนชั้นกรรมมาชีพ แล้วลูกทุ่งเลื่อนฐานะกลายเป็นเพลงกระแสหลักของไทยได้อย่างไร

การเคลื่อนของเพลงลูกทุ่งจนกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และถูกยกระดับสถานะขึ้นมาหลังพ.ศ. 2519 และได้รับแรงเสริมจริงๆ จากความโด่งดังของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ดาวจรัสฟ้าในช่วงพ.ศ. 2520

3.3 Magazine cover Soraphet and Nut p81

ปกนิตยสารเจ้าพระยา พฤศิกายน 2525 เป็นรูปนักร้อง-นักแต่งเพลง สรเพชร ภิญโญ และนักร้องลูกทุ่งขวัญใจ น้องนุช ดวงชีวัน ชื่องานเพลงชุดนี้คือ “หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ”

เรื่องแปลกก็คือ ตามที่ผมเขียนไว้ในหนังสือ น้องนุช ดวงชีวัน คู่เพลงของสรเพชร ภิญโญ จริงๆ แล้วเธอเป็นนักร้องลูกทุ่งดาวเด่นกว่าพุ่มพวงเสียอีก คือในช่วงสองหรือสามปีแรกของทศวรรษ 2520 แต่พอถึงปี 2527 พุ่มพวงก็กลายเป็นดาวเด่นของวงการเพลงลูกทุ่ง จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในพ.ศ. 2535 พุ่มพวงจะเพิ่มการเต้นไปตามจังหวะ แล้วเสียงของเธอช่างทรงพลังและมีเสน่ห์ขณะแสดงบนเวที ก่อนหน้านั้นนักร้องลูกทุ่งหญิงส่วนใหญ่จะดูหวานเรียบร้อย พุ่มพวงยังเป็นคนแรกที่รวมเอาเพลงลูกทุ่งเข้ากับเพลงป๊อปไทยด้วย

ในช่วงพ.ศ. 2532 และ 2534 เพลงลูกทุ่งได้เริ่มอยู่ในพระอุปถัมภ์ เริ่มจากงานฉลอง “50 ปี เพลงลูกทุ่ง” และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเข้ามามีส่วนร่วมในการอุปถัมภ์วงการลูกทุ่ง พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เนื้อร้องเพลง “ส้มตำ” ซึ่งเป็นบทเพลงอธิบายการทำส้มตำ แล้วพุ่มพวงก็เป็นคนร้องเพลงนี้ซึ่งเป็นอีกเพลงที่โด่งดังมาก

IR: คุณเขียนว่าภาพของเพลงลูกทุ่งที่เรามักมองเสมอว่าเป็นเพลงที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิด ทำไมคุณถึงเขียนว่าอย่างนั้นล่ะ

เครก เอ. ล็อกเคิร์ท (Craig A. Lockert) เขียนหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่งชื่อ Dance of Life: Popular Music and Politics in Southeast Asia ซึ่งเกี่ยวกับการใช้เพลงในทางการเมืองทั่วทั้งภูมิภาคนี้ เขาสรุปว่าเพลงลูกทุ่งจะถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่ได้ เพราะลักษณะการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยของศิลปินและกับดักทางธุรกิจของเพลงลูกทุ่งสมัยใหม่ อย่างเช่น นักเต้นหางเครื่องเอย ชุดเครื่องแต่งกายสวยๆ หรือการมีลิขสิทธิเนื้อร้อง เป็นต้น แต่พอผมเห็นนักร้องลูกทุ่งแสดงบนเวทีการประท้วงของเสื้อแดง ผมเลยเข้าใจอย่างชัดเจนเลยว่าการแสดงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงจริงๆ

IR: หมายความว่าลูกทุ่งมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านเวทีประท้วงของเสื้อแดงหรือไม่

ไม่นะ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เพลงลูกทุ่งถูกนำมาส่งสารทางการเมือง ในยุคทศวรรษ 2490 ก่อนที่แนวเพลงนี้จะเรียกกันว่าเพลงลูกทุ่ง ก่อนั้นเขาเรียกันว่า เพลงชีวิต คืออย่าสับสนกับเพลงเพื่อชีวิตนะครับ เพลงชีวิตเป็นแนวเพลงรุ่นแรกๆ ของเพลงลูกทุ่ง เพลงชีวิตต่างๆ จะร้องด้วยสำเนียงพื้นบ้านชนบท มีเนื้อหาเกี่ยวชนบท แล้วเนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองล้วนๆ มากจนที่แบบว่าคนเขียนเนื้อเพลงชีวิตพวกนี้ถูกจับเข้าคุกหรือถูกข่มขู่คุกคามเลยทีเดียว

ในช่วงทศวรรษ 2510 เพลงเพื่อชีวิตครองตลาดเพลงชองการประท้วง แต่จากสิ่งที่ผมค้นพบ ก็คือในช่วงเวลาเดียวกันนี้เพลงลูกทุ่งก็ถูกนำมาใช้เพื่อการประท้วงเช่นกัน อย่างเช่น กบฎคอมมิวนิสต์ก็นำเพลงลูกท้องมาใช้ในกระบวนการ

ดังนั้น เพลงลูกทุ่งจึงเป็นเพลงที่เกี่ยวกับการเมืองมาตลอด แต่ก็ถูกปิดกั้นอย่างหนักหน่วงเช่นกัน เพลงลูกทุ่งเป็นเพลงของชนชั้นกรรมาชีพและเป็นเพลงของคนจน แต่จนกระทั้งมีการประท้วงของฝ่ายเสื้อแดง ที่ชนชั้นกรรมาชีพสามารถวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มอำมาตย์ต่อสาธารณะได้จริงๆ


นักร้องลูกทุ่งเสื้อแดงพร้อมคณะหางเครื่องคอนเสิร์ตที่เขาใหญ่ เดือนพฤศจิกายน 2552 ภาพโดย นิค นอสติตซ์ ©2009, Nick Nostitz/Agentur Focus

IR: มีแค่เสื้อแดงเท่านั้นหรือที่ใช้เพลงลูกทุ่งในการประท้วง หรือว่าเสื้อเหลืองเองใช้ด้วย

ตอนที่เสื้อเหลืองแล้วก็กลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมาใช้เพลงลูกทุ่ง เห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงกับเพลงจริงๆ เลย พวกเขาใช้เพลงลูกทุ่งเพียงเพราะว่าเพลงลูกทุ่งได้รับความนิยม แล้วก็เพราะว่าเป็นเพลงที่สนุกสนานเหมาะสำหรับงานเลี้ยงปาร์ตี้ ซึ่งเพลงลูกทุ่งของคนเสื้อเหลืองทั้งหมดจึงเป็นเพลงแนวแสดงความรักชาติ หรือไม่ก็เพลงแนวสนุกสนานเฮฮา

คนเสื้อแดงสามารถใช้เพลงลูกทุ่งได้อาจเพราะจุดประสงค์หลักของแนวเพลง คือเป็นเพลงที่โศกเศร้าอาลัยอาวร ยกตัวอย่างเช่น คนเสื้อแดงเขียนเพลงต่างๆ เกี่ยวกับทักษิณ แล้วก็เกี่ยวการที่ไม่มีทักษิณในประเทศอีกต่อไป แล้วคือรูปแบบเนื้อหาประมาณว่ามีอะไรขาดหายไป จริงๆ แล้วก็คือความเป็นเพลงลูกทุ่งน่ะสิ แต่ก็ไม่ใช่แค่เพลงที่เกี่ยวกับทักษิณเท่านั้นนะครับ แล้วก็ยังมีเพลงแนวโศกเศร้าอาลัยอาวรที่มีต่อคนเสื้อแดงที่ถูกฆ่าระหว่างการประท้วง หรือเนื้อหาเพลงเกี่ยวกับสังคมที่ขาดประชาธิปไตย ไม่มีเคยมีเพลงทำนองนี้ในหมู่คนเสื้อเหลือง ตอนที่ฝ่ายเสื้อเหลืองใช้เพลงลูกทุ่ง นักร้องที่มาร้องแสดงไม่ใช่นักร้องลูกทุ่งมืออาชีพ แต่เป็นนักร้องเพลงป๊อปไทย หรือนักร้องลูกกรุงเสียมากกว่า มันให้ความรู้สึกค่อนข้างปลอมไม่แท้จริง

IR: ถ้าให้การเมืองเป็นเหมือนธรรมชาติของเพลงลูกทุ่งหลายๆ เพลง หลังการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้วภาพเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

มีการแสดงเพลงลูกทุ่งน้อยลงหลังรัฐประหาร อย่างน้อยก็ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก ผมคิดว่าคงยากที่จัดคอนเสิร์ตตอนกลางคืน แต่ผู้มีอำนาจเองก็ฉวยใช้คอนเสิร์ตเพลงลูกทุ่งเป็น “รางวัล” ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่ม หรือใช้เพลงลูกทุ่งเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ

ตอนนี้ไม่มีเพลงที่เกี่ยวกับการเมืองถูกนำเสนอออกมาเลยในไทย ผมแปลกใจมากว่าคณะผู้ยึดอำนาจค่อนข้างประสบความสำเร็จในการกดขี่บังคับการแสดงออกทางการเมืองในประเทศ ตอนนี้ศิลปินการเมืองทั้งหมดค่อนข้างกลัว เพลงเกี่ยวกับการเมืองตอนนี้ถูกปล่อยออกมาจากต่างประเทศเท่านั้น อย่างเช่น เพลงของวงไฟเย็น วงไฟเย็นสร้างผลงานเพลงออกมาตลอดเวลา และเพลงบางเพลงก็เป็นเพลงแนวลูกทุ่ง

IR: คุณมีแผนสำหรับหนังสือเล่มใหม่หรือเปล่า

งานวิจัยส่วนมากของผมตอนนี้จะเกี่ยวกับเพลงไทยเก่าๆ รูปแบบแผ่นเสียง สปีด 78 แล้วผมก็วางแผนที่จะตีพิมพ์รายชื่อแผ่นเสียงเพลงไทย สปีด 78 ทั้งหมด ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมได้แผ่นเสียงพวกนี้มาจากนักสะสมหลายคน โดยเฉพาะห้องซื้อขายบนอินเตอร์เนต คือแวดวงนักสะสมแผ่นเสียงไทยก็ยังมีชีวิตชีวาอยู่ แต่ในส่วนของนักสะสมแผ่นเสียงแบบสปีด 78 เป็นกลุ่มค่อนข้างเล็กและก็รู้ลึกจริงๆ

ผมก็วางแผนที่จะเขียนบทความเพิ่ม ผมอยากเขียนเกี่ยวกับวงไฟเย็น ผมไม่ได้เขียนเรื่องของพวกเขาในหนังสือ แล้วผมเองก็รู้จักเพลงประท้วงใหม่ๆ ที่ผมไม่เคยฟังมาก่อนอยู่เรื่อย ผมวางแผนที่จะเขียนบทความเกี่ยวกับสายัณ สัญญาไว้ด้วย คริสต์ เบเกอร์ เคยกล่าวไว้ค่อนข้างถูกว่า หนังสือของผมเล่มนี้ขาดดาวเด่นบางคนไป อย่างเช่น สายัณ สัญญา อาจเป็นเพราะดาวเด่นที่หายไปไม่ได้เป็นคนอีสาน คือท้ายที่สุด หนังสือเล่มนี้ก็นำเสนอไว้สามมุม ได้แก่ เพลงลูกทุ่ง วัฒนธรรมอีสานและการเมือง โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนเสื้อแดง แน่นอนว่าในอนาคต อาจต้องมีการปรับปรุงแก้ไขหนังสือครั้งที่สอง หรืออาจจะเป็นหนังสือเล่มใหม่อีกเล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติของเพลงลูกทุ่งที่คนทั่วไปอ่านเข้าใจได้

 

 

________________________________________________________________________

Luk_Thung_CoverLuk Thung: The Culture and Politics of Thailand’s Most Popular Music
โดย เจมส์ ลีโอนาร์ด มิตเชลล์ (James Leonard Mitchell)
ตีพิมพ์เดือนกันยายน 2558 จำนวน 214 หน้า Silkworm Books ราคา 625 บาท

เจมส์ ลีโอนาร์ด มิตเชลล์ จบการศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแมคไคว์รี่ (Macquarie University) ในพ.ศ. 2555 ขณะนี้เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นนักวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ประเทศออสเตรเลีย

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net