ข่าวสารการประท้วงทั่วไทย 26 ต.ค. - 1 พ.ย. 2558

 
ชาวบ้านตากแห่ค้านโรงบรรจุก๊าซ
 
เมื่อวันอาทิตย์ (25 ต.ค.) ที่ผ่านมา ที่อาคารอเนกประสงค์โรงเรียนชุมชนบ้านแม่กุเหนือ หมู่ 8 ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ได้มีการทำประชาคมของชาวบ้านในประเด็นการจัดตั้งโรงงานบรรจุก๊าซ โดยมีนายพิชัย สูนดี กำนันตำบลแม่กุ และว่าที่ร้อยโทอเนก พรมมี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่กุ รวมทั้งผู้แทนจากบริษัทก๊าซแห่งหนึ่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลชี้แจงทำความเข้าใจประชาชน โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและคัดค้านโครงการก่อสร้างเข้าร่วมประชุม ซึ่งผลการทำประชาคมลงมติปรากฏว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เอาโรงงานบรรจุก๊าซ โดยนายอินจันทร์ วาทา อายุ 72 ปี ชาวบ้านแม่กุเหนือ กล่าวว่า ถ้าหากมีบริษัทเอกชนก่อสร้างโรงงานบรรจุก๊าซในพื้นที่ ต.แม่กุ อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษทางอากาศ สิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะโครงการนี้หากไม่มีการศึกษาให้ดีอาจมีผลกระทบหลายด้าน ซึ่งประชาคมในวันนี้ส่วนใหญ่ชาวบ้านคัดค้านไม่เอาโรงงานบรรจุก๊าซ รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ตำบลแม่กุ ซึ่งเป็นก๊าซออกซิเจนใช้ในการทางแพทย์และอุตสาหกรรม เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษตากในพื้นที่ อ.แม่สอด และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด) ในอนาคต
 
 
กองทุนเงินล้านเมืองพิจิตรปั่นป่วน ชาวบ้านแห่ร้องกู้ยากเย็นแสนเข็ญ กก.งุบงิบกู้เองในหมู่ญาติ
 
(26 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านหมู่ 10 ต.ป่ามะคาบ อ.เมืองพิจิตร ราว 30 กว่าคน นำโดย นางนพคุณ อินขาว อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 44 ได้เข้าร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดพิจิตร ว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารงานของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านละล้าน ที่ไม่ยอมให้ชาวบ้านกู้เงินเพื่อไปแก้ปัญหาความเดือดร้อน อีกทั้งไม่มีการทำประชาคม ไม่ชี้แจงผลการดำเนินงาน เงินที่ได้มาส่วนใหญ่คณะกรรมการกองทุนฯ c]tญาติจะกู้เงินกันเอง ดอกผลก็ไม่นำมาก่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
       
นางอัชราพร อินขาว อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 88 หมู่ 1/10 ต.ป่ามะคาบ อ.เมืองพิจิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องกองทุนหมู่บ้านละล้านทั้ง 1 ล้านบาทแรก และล้านที่ 2 ที่รัฐบาลให้มาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละหมู่บ้าน เอาเข้าจริงเป็นการได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะในตำบลของตน ต้องเรียกว่ากู้กันได้เฉพาะกรรมการ และเครือญาติ ชาวบ้านตาดำๆ จะกู้ได้แค่หลักพัน น้อยคนที่จะได้หลักหมื่น
 
“ได้เงินมาแค่นี้ก็ไม่พอลงทุน ไปสอบถามก็ถูกต่อว่าโวยวาย ตอนนี้ชาวบ้านทนไม่ไหวแล้วจึงเริ่มมีการพูดคุย และรวมกลุ่มกันทยอยออกมาร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรม เรื่องนี้ถือเป็นเป็นเรื่องใหญ่มีผลต่อเศรษฐกิจของชุมชน จึงอยากฝากให้รัฐบาลตั้งทีมงานมาชำระสะสางเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเป็นระบบด้วย”
       
พ.ต.ท.ถนอม จินาวา รองหัวหน้าชุดเฉพาะกิจศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิจิตร ที่รับเรื่องยอมรับว่า ตั้งแต่ต้นปี 2558 มาจนถึงวันนี้ มีเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนชี้เบาะแสเกี่ยวกับทุจริตไม่โปร่งใสในเรื่องกองทุนหมู่บ้านละล้านเกือบ 100 เรื่อง ต้องไต่สวนผู้ร้อง ผู้ถูกร้องนับพันคน ถือเป็นเรื่องร้องทุกข์สุดฮอตของศูนย์ดำรงธรรมพิจิตรอยู่ในขณะนี้ 
 
 
ชาวเขาค้อโวย อยากขายของแต่ค่าเช่าที่ตั้งหมื่นห้า! นอภ.แจงเป็นฟิกคอส
 
(26 ต.ค.58) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็บบอร์ดสายด่วนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีผู้ที่อ้างว่า เป็นชาวบ้านในเขตอำเภอเขาค้อร้องเรียนเรื่อง อยากมีพื้นที่ขายของช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ส่วนราชการเก็บค่าเช่าล็อกแพงมากเนื้อที่กว้าง 3 เมตรยาว 3 เมตรคิดค่าเช่า 15,000 บาทต่อล็อก เป็นราคาที่แพงเดินควร ชาวบ้านไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปเช่าหรือหากเช่าได้ก็จำเป็นต้องขายของแพง และก็ต้องถูกนักท่องเที่ยวต่อว่าแต่หากขายถูกก็ไม่มีกำไร นักท่องเที่ยวมาเที่ยวแค่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์และช่วงปีใหม่
 
ชาวเขาค้อรายนี้ยังจี้ถามด้วยว่า การเก็บค่าเช่าล็อก 15,000 บาทจึงสมควรแล้วหรือไม่ น่าจะช่วยชาวบ้านให้มีรายได้ มิใช่มีแต่คนนอกพื้นที่มาขาย  และค่าเช่า 15,000 บาทหาก 20 ล็อกจะได้เงิน 300,000 บาท ส่วนราชการจะนำเงินมาพัฒนาหรือไม่ ที่ผ่านมาไม่เห็นมีการพัฒนาอะไร อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ชี้แจงในเบื้องต้นว่า จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
 
ด้านนายฐิติศักดิ์ กันเขตต์  นายอำเภอเขาค้อ กล่าวชี้แจงว่า เป็นการจัดระเบียบร้านค้าบริเวณจุดชมวิวหลังจากถูกนักท่องเที่ยวร้องเรียนอย่างต่อเนื่องเพราะทำให้รถติดหนัก จึงจัดล็อกและย้ายร้านค้าไม่ให้ตั้งบนผิวจราจรเพราะจะปักหลักอยู่นานราว 3 เดือน เรื่องค่าเช่าล็อกเป็นเรื่องของคณะกรรมการและจะพิจารณาคนในพื้นที่ก่อน สำหรับเงินค่าเช่าจะถูกนำมาบริหารจัดการเป็นค่าน้ำค่าไฟฟ้าและค่าเก็บขยะ รวมทั้งให้ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่และอพปร.ที่มาอำนวยความสะดวกแก้ไขปัญหาจราจรคับคั่ง
 
 
ทัพแมลงวันยึดบ้าน! ชาวบ้านโวยฟาร์มเลี้ยงไก่ ชุ่ย เอาขี้มาตากที่ลาน
 
วันที่ 26 ต.ค. 58 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านป่าหม้อ หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 11 ต.พระยืนมิ่งมงคล อ.พระยืน จ.ขอนแก่น ตรวจสอบบ้านชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ เพราะถูกรบกวนจากฝูงแมลงวัน โดยบ้านหลังแรก ของ นายวิรัตน์ วิสิทธิชาติ อายุ 71 ปี ซึ่งเผยว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทใหญ่ 2 บริษัท ร่วมกับเพื่อนบ้าน เลี้ยงไก่ไข่ จากโรงเรือนเล็กๆ กลายเป็นโรงเรือนมาตรฐาน จนปัจจุบันมีมากกว่า 70 ฟาร์ม แต่ละฟาร์มเลี้ยงไก่รุ่นละ 1 ปี หรือประมาน 5,000-10,000 ตัว เป็นลักษณะฟาร์มปิด ส่วนบ้านพักอยู่ห่างจากฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ไม่ถึง 300 เมตร จำนวน 6 ฟาร์ม เจอปัญหาแมลงวันรบกวนตลอดทั้งปี 
 
"ลูกหลานไม่มาหา ไม่มาทานข้าวด้วย เพราะไม่ชอบแมลงวัน เสียสุขภาพจิต ต้องทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายกเทศมนตรีเทศบาลพระยืนมิ่งมงคล เพื่อให้มีการจัดการสาธารณูปโภคฟาร์มเลี้ยงไก่ เพราะชาวบ้านยืนยันว่า แมลงวันเกิดจากฟาร์มเลี้ยงไก่ที่อาจจะดูแลไม่สะอาด หรืออาจจะเก็บขี้ไก่ไม่ถูกสุขลักษณะ จนเกิดแมลงวันจำนวนมาก มาก่อกวนชาวบ้านชุมชนจนเสียสุขภาพจิต กระทั่งเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการทำเอ็มโอยูร่วมกัน 5 ฝ่าย แต่การทำเอ็มโอยู ไม่ได้ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น แมลงวันยังเยอะเหมือนเดิม" นายวิรัตน์ กล่าว
 
ขณะที่ นายเสกสรร ตันสกุลชัย อายุ 46 ปี ชาวบ้านที่มีบ้านอยู่กลางชุมชน และยังเป็นศาลาธรรมที่มีการประกอบการทางศาสนา มีแมลงวันจำนวนมากเกาะอยู่ตามพื้นบ้าน โต๊ะอาหาร และทุกๆ ที่ โดยทางเจ้าของบ้านได้วางถาดกาวดักแมลงวันไว้ตามจุดต่างๆ กว่า 6 จุด 
 
นายเสกสรร เผยว่า บ้านอยู่ห่างจากฟาร์มไก่ไม่ถึง 100 เมตร เกิดความลำบากในการใช้ชีวิต จึงอยากเรียกร้องให้บริษัทที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงไก่ มีการปรับปรุงแก้ไข เพราะเมื่อหมดอายุไก่ไข่ ก็ต้องจับตัวไก่ออกจากฟาร์ม ช่วงจับไก่อย่าเปิดฟาร์ม เพราะถ้าเปิดจะดึงดูดแมลงวันเพิ่มจำนวนอีกนับแสนนับล้านตัว
 
ด้าน นายชัยโรจน์ วันเพชร นายกเทศมนตรีเทศบาลพระยืนมิ่งมงคล เผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่เจ้าของฟาร์มไก่ไข่ เอาขี้ไก่ออกมาตากที่ลาน ถือเป็นการละเลยต่อชุมชน ซึ่งอุปสรรคตรงนี้ ได้แจ้งให้ทางผู้ประกอบการที่ไม่ทำตามข้อตกลงได้ทราบแล้ว
 
“ขณะนี้หลายฟาร์มมายื่นต่อภาษีโรงเรือนรายปี ในฐานะผู้บริหารและตัวแทนประชาชน ยังไม่ต่อภาษีให้ จนกว่าบริษัทและฟาร์มจะแก้ไขปัญหาแมลงวันให้เรียบร้อย เพราะถือว่าปัญหาทั้งหมดบริษัทและลูกเล้ารับรู้และเข้าใจดี แต่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ แสดงถึงการขาดจิตสำนึกรักชุมชน ฉะนั้น บริษัทต้องรีบมาแก้ไขโดยด่วน” นายชัยโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
 
 
ชาวบ้านหนองบัวประท้วงร้องตรวจสอบการบุกรุกที่ดิน
 
(26 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี มีการบุกรุกที่เขาบ้านเกาะพลอง ขอให้ผู้สื่อข่าวได้มีการช่วยตรวจสอบว่าเจ้าของที่ดินได้มีการบุกรุกที่เขา และมีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร
       
หลังรับแจ้งผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปที่จุดเกิดเหตุ ที่เขาบ้านเกาะพลอง พบชาวบ้านกว่า 20 คน ถือป้ายประท้วงให้เจ้าของที่ดินหยุดการบุกรุกเขา และหยุดการใช้รถแบ๊คโฮเข้าไปปรับพื้นที่บนเขา รวมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการตรวจสอบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีเอกสารสิทธิ์ หรือ โฉนดที่ดินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
       
ทั้งนี้ เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่าพื้นที่บนเขาไม่น่าจะมีการออกเอกสารสิทธิได้ รวมทั้งไม่สามารถที่จะนำรถแบ๊คโฮเข้าไปดำเนินการปรับพื้นที่ขุดดิน ตักดินได้ จึงอยากให้ทางสื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ได้มีการตรวจสอบ
       
จากการตรวจสอบพบว่า ที่ดินจำนวน 9 ไร่ บนเขาที่เป็นข้อพิพาทนั้น เป็นของ นางสาววรรณี หนองริมบ้าน ที่นางขนิศา ศรีกระจ่าง น้องสาวเจ้าของที่ดินได้นำเอกสารมาให้ผู้สื่อข่าวดู และทางเจ้าหน้าที่ดู พบว่ามีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย แต่ส่วนการขุดดิน หรือการตักดินปรับพื้นที่ เป็นส่วนของที่ดินจังหวัดจันทบุรี ที่เป็นผู้อนุญาตหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับที่ดินจังหวัดจันทบุรี แต่ในเบื้องต้น นางสาววรณี มีการครอบครองถูกต้องตามกฎหมาย
       
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบแล้ว 1 ครั้ง แต่ก็ไม่พบว่าเจ้าของที่ดินมีการบุกรุกพื้นที่เขาแต่อย่างไร พบแต่มีการนำรถแบ๊คโฮมาปรับพื้นที่และก็ได้มีการตรวจสอบไปแล้วว่าสามารถทำได้ แต่จะต้องมีใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้อง มายืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ทำให้ชาวบ้านที่เข้าใจก็ได้แยกย้ายกันเดินทางกลับโดยไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด
       
นายไชยา ไชยธรรม ตัวแทนชาวบ้านที่ร้องเรียน กล่าวว่า สิ่งที่ได้มีการร้องสื่อวันนี้ ทางชาวบ้านไม่ต้องการให้เจ้าของที่ดินมีการขุดเขาบ้านเกาะพลองเกิดความเสียหาย ทั้งนี้จะทำให้ภูมิทัศน์ไม่สวยจะมองเห็นเขาหัวโล้นซึ่งชาวบ้านที่มาในวันนี้ก็อยากให้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวได้มีการหยุดยั้งไม่ให้เจ้าของที่ดินเขาไปปรับพื้นที่บนเขาอีก
       
รวมทั้งชาวบ้านกลัวว่าเขาจะถล่มลงมา เพราะใกล้กับวัดและบ้านเรือนของชาวบ้าน ชาวบ้านตอนนี้ได้รับความเดือดร้อนจากรถบรรทุกที่วิ่งเข้าออก ถนนหนทางได้รับความเสียหาย โดยชาวบ้านอยากให้เป็นธรรมชาติมากกว่าการที่จะเข้าไปปรับพื้นที่ ทั้งนี้ถ้าเจ้าของที่ดินยืนยันว่าจะมีการปรับพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกชาวบ้านก็ไม่สามารถที่จะทำอะไร เพราะชาวบ้านไม่รู้เรื่องกฎหมาย ในส่วนนี้ชาวบ้านอยากให้เจ้าของที่ทำเฉพาะตีนเขา ส่วนที่เป็นเขาก็ขอให้เป็นเขาไว้จะดีกว่า
       
นางขนิษา กระจ่างศรี น้องสาว เจ้าของที่ดิน กล่าวว่า บนเขาบ้านเกาะพลองเป็นที่ดินของพ่อแม่ตั้งแต่ดั่งเดิมมาก่อน ทั้งนี้สาเหตุที่ตนเองต้องมีการปรับพื้นที่เพราะในช่วงเก็บผลผลิตทุเรียนทุเรียนลงมาจากเขาเก็บยากมาก ต้องลงมาหลายขั้นตอนจึงมีแนวความคิดโดยการปรับเป็นขั้นบันไดเพื่อให้ง่ายต่อการนำผลผลิตลงมาขาย ซึ่งปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้พ่อได้ยกให้กับพี่สาว คือ นางสาววรรณี
       
จึงต้องการพื้นที่นี้ปลูกทุเรียนทำเป็นขั้นบันไดปลูกทุเรียน โฉนดที่ดินตนเองไม่รู้เพราะที่ดินเป็นคนออกให้ ส่วนที่ทหารลงมาตรวจสอบในช่วงที่มีการขุดดินปรับพื้นที่นั้นตนเองไม่รู้ ว่าจะต้องมีใบอนุญาตนอนนี้ตนเองก็ได้หยุดแล้ว และก็เดินเรื่องในการขออนุญาตจากวิศวกรมารับรองมาดำเนินการให้ถูกตามกฎหมายแล้ว
       
ในส่วนของที่ชาวบ้านกลัวว่าดินจะพังไปใส่วัดนั้นตนเองมั่นใจว่าไม่พัง เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เดิมและเป็นเขาอยู่แล้ว ประกอบกับตนเองก็ไม่ได้มีการตัดต้นไม้ใหญ่ออกแต่อย่างไร เพียงแต่ทำเป็นขั้นบันไดในการปรับพื้นที่ปลูกทุเรียนเท่านั้นเอง 
 
 
ชาวสวนยางทนไม่ไหว บุกกรุงร้องบิ๊กตู่ หลังน้ำยางสด เหลือ ก.ก.ละ 30 บาท
 
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นายศักดิ์สฤษด์ ศรีประศาสตร์ แกนนำชาวสวนยางรายย่อย ภาคใต้  พร้อมด้วยแกนนำชาวสวนยางจากจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นหนังสือแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกร้องชดเชยราคายางที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง  และเห็นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.  ไม่ใช้มาตรการบางอย่างในอำนาจที่มีอยู่ จนทำให้ราคายางยังตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
 
 นายศักดิ์สฤษด์ กล่าวว่า จากหลายกรณีที่ตนจะพูดคุยกับรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  สิ่งที่จะต้องทำเร่งด่วนคือ การสรรหากรรมการและผู้ทรงวุฒิที่ไปจากชาวสวนยาง  ซึ่งตามพระราชบัญญัติกำหนดไว้ให้เสร็จใน 120 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกาศใช้  ขณะนี้เหลือเวลาอีก 10 วัน ถ้าหากใช้วิธีการปกติ หรือให้เกษตรเลือกตัวแทนขึ้นไป อาจจะไม่ทัน  หรือถ้าทันจะต้องเป็นคนกลุ่มเดียวเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าถึง พ.ร.บ.ฉบับนี้  จึงเสนอให้แต่งตั้งผู้ทรงวุฒิ หรือบอร์ด จากผู้นำเกษตรกรชาวสวนยาง เข้าไปทำหน้าที่ในส่วนนี้
 
 ส่วนกรณีที่เกษตรกรชาวสวนยางมีมติเป็นเอกฉันท์ อยากให้รัฐบาลชดเชยเพื่อการครองชีพ  เพราะขณะนี้ชาวสวนยางชาวสวนยาง โดยเฉพาะภาคใต้อยู่ในขั้นวิกฤติ และควรเร่งแก้ปัญหายางทั้งระบบ  เพราะในเวลานี้ต่อให้ถนนทุกเส้นในประเทศไทยทำด้วยยางพารา หรือต่อให้รัฐบาลใช้งบประมาณทั้งหมดมาทำยางพารา แต่เชื่อราคาก็จะไม่ดีขึ้น  ถ้าหากรัฐบาลไม่แก้ไข TOR หรือยังไม่มีมาตรการที่เข้มงวด  แต่สินค้าอุปโภคบริโภคกลับมีราคาขึ้น ขณะที่ยางพารามีราคาแต่กิโลกรัมละ 30 กว่าบาทเท่านั้น
 
ส่วนการที่ชาวสวนยางภาคใต้จะมีการชุมนุมประท้วง  ตนขอเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีว่า ถ้ายื่นหนังสือและประชุมกันแล้ว แต่เหตุการณ์ไม่ดีขึ้น  มาตรการกดดัน ตนเห็นว่ายังเป็นสิ่งจำเป็น  แต่ในช่วงนี้อยากจะให้นายกรัฐมนตรีทำงานปฎิรูปประเทศให้ลุล่วง  แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าหากเกษตรการชาวสวนยางลำบาก และรัฐบาลไม่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือ  ตนก็ไม่อาจยืนยันแทนพี่น้องชาวสวนยางได้ว่า จะไม่มีชุมนุมประท้วง หรือปิดถนนเหมือนที่ผ่านมา
 
 อย่างไรก็ตาม จากการที่ราคายางพารา โดยเฉพาะน้ำยางสด มีราคาอยู่ที่ 30 บาทเศษต่อกิโลกรัมแล้วนั้น  ทำให้ชาวสวนยางบางคนต้องหยุดกรีด หรือหากมีลูกจ้าง หรือคนตัดยางหวะ ก็ต้องให้หยุดกรีด  เนื่องจากเห็นว่าไม่คุ้มกับหน้ายางที่เสียไป และปล่อยให้ลูกจ้างไปรับจ้างงานประเภทอื่นที่มีรายได้ดีกว่า เช่น ก่อสร้าง กรรมกรโรงงาน  ขณะที่เกษตรกรบางคนหลังจากราคายางพาราเหลือกิโลกรัมละ 30 บาท  ทำให้มีหนี้สินล้นตัว หรือเคยซื้อของผ่อน ก็ต้องปล่อยให้โดนยึด
 
 
ผู้ใหญ่บ้าน 3 หมู่บ้าน นำลูกบ้าน 200 คน ประท้วงเทศบาลตำบลดอนแก้ว จัดงบประมาณไม่เป็นธรรม ขณะที่ปลัดอำเภอ นายกเทศมนตรีรับเรื่องดำเนินการแก้ไขแล้ว
 
(26 ต.ค.) นายอินภา บัวเงา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านตำหนัก ต.ดอนแก้ว อ.สารภี จ.เชียงใหม่ นายธนนันท์ ทองเลิศ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านสันต้นกอก ต.ดอนแก้ว และนายสมชาย ทองอินทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านสันต้นกอก ต.ดอนแก้ว พร้อมชาวบ้านรวมตัวถือป้ายประท้วงที่เทศบาลตำบลดอนแก้ว โดยมี นายมีชัย จันทร์กระจ่าง ปลัดอำเภอสารภี หัวหน้าฝ่ายตามความมั่นคง นางจินตนา รัตนโชติกุล ท้องถิ่นอำเภอสารภี และนายพัทธนันท์ ทองยศ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลดอนแก้ว ร่วมรับเรื่อง
       
นายอินภา เปิดเผยว่า ที่มาประท้วงวันนี้ คือ เรื่องเทศบัญญัติงบประมาณปี 2559 ไม่ยุติธรรม เพราะหมู่ 5 บ้านของนายกเทศมนตรี ได้งบประมาณโครงการที่ไม่ได้ทำประชาคม และไม่อยู่ในแผน 3 ปี นอกจากนี้ เงินอุดหนุนตำบลละ 1 ล้านบาท ที่รัฐบาลอุดหนุนก็ไม่ทำประชาคม มีรถดับเพลิงแต่ไม่มีพนักงาน มีรถกู้ภัยไร้เจ้าหน้าที่บริการ ยกเลิกรถรับส่งเด็กก่อนวัยเรียนในตำบล เอาพนักงานออกโดยไม่บอกล่วงหน้า การบริการใช้ไวไฟฟรีไม่ได้ และซื้อรถสามล้อกระบะแบบไม่จำเป็นต่อชุมชน
       
เบื้องต้น นายพัทธนันท์ ทองยศ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลดอนแก้ว มารับทราบเรื่อง พร้อมชี้แจงแต่ละประเด็นว่าทุกเรื่องดำเนินการตามขั้นตอนซึ่งตรวจสอบได้ แต่ขอรับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการให้เกิดความยุติธรรมต่อไป กลุ่มผู้ประท้วงจึงแยกย้ายกันกลับ
 
 
ชาวบ้านกว่า 200 คน แห่ศพ "สิบเอก" ประท้วงหน้าโรงพักชะอวด ญาติข้องใจถูกฆ่า แต่กลับเป็นคดีอุบัติเหตุ ด้านผกก.สั่งเปลี่ยนพนง.สอบสวน
 
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ครอบครัวและเพื่อนบ้านของสิบเอกดำรง ด้วงรุ่ง อายุ 36 ปี จากอำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง รวมกว่า 200 คนได้แห่ศพของสิบเอกดำรง ที่ถูกพบเป็นศพบริเวณถนนสาย 41 ในท้องที่ สภ.ชะอวด เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา นำมาประท้วงเรียกร้องขอความเป็นธรรมที่หน้า สภ.ชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากไม่พอใจที่พนักงานสอบสวน สรุปสาเหตุการตายในทำนองว่าเป็นอุบัติเหตุรถชนหรือไม่ ทั้งนี้สืบเนื่องจากเงื่อนงำหลายประการที่ครอบครัว ญาติ และเพื่อนบ้านต่างเชื่อว่าเป็นการฆาตกรรมแล้วนำศพมาทิ้งอำพรางว่าเป็นอุบัติเหตุรถชนซ้ำ 
 
 ขณะที่ พล.ต.ต.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช ได้เดินทางมาเจรจา โดยมี พ.ต.อ.ธรรมนูญ ไฝจู ผกก.สภ.ชะอวด ร่วมเจรจาท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ารักษาความปลอดภัยสถานที่อย่างเข้มงวด 
 
นายรุ่ง ด้วงรุ่ง บิดาของสิบเอกดำรง ระบุว่า ลูกรับราชการเป็นทหารสังกัดกองทัพภาคที่ 4 ประจำการอยู่ที่ 3 จังหวัดภาคใต้มานานกว่า 10 ปี ได้ถูกพบเป็นศพบนถนน โดยทุกคนไม่เชื่อว่าถูกรถชน เนื่องจากพยานยืนยันว่าพบครั้งสุดท้ายอยู่ห่างจากจุดพบศพถึง 5 กิโลเมตร ในสภาพเมา ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ จึงไม่เชื่อว่าจะเดินในสภาพเช่นนั้นมาไกลถึง 5 กิโลเมตร รวมทั้งสภาพบาดแผลฉกรรจ์ที่หน้าผากและท้ายทอยมีขนาดเท่ากันพอดี ไม่มีร่องรอยบาดแผลอื่นๆ ที่เหมือนอุบัติเหตุรถชน ขณะที่พนักงานสอบสวนพยายามสรุปว่าเป็นอุบัติเหตุ อีกทั้งที่มีท่าทีไม่เป็นมิตรกับญาติ จึงต่างการข้อเท็จจริงจนมั่นใจว่าเป็นการฆาตกรรมอำพราง จึงเรียกร้องให้มีการสอบสวนใหม่ 
 
ด้าน พ.ต.อ.ธรรมนูญ ไฝจู ผกก.สภ.ชะอวด ชี้แจงว่า ตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งสืบสวนสอบสวนตามข้อสงสัยอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้รอผลชันสูตรทางนิติเวชจากแพทย์ศูนย์นิติเวช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อย่างเป็นทางการ อีกทั้งจะได้เรียกผู้ที่อยู่กับผู้ตายเป็นกลุ่มสุดท้ายรวม 4 คน และพยานอีกจำนวนหนึ่งมาสอบสวน รวมทั้งต้องขอโทษญาติผู้ตาย เนื่องจากดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ทั่วถึง และได้มีคำสั่งเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนเรียบร้อยแล้ว และหลังจากที่รับหนังสือรายงานผลชันสูตรแล้วขอเวลาในการดำเนินการทางคดีในอีก 15 วันหลังจากนี้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังกลุ่มญาติและเพื่อนบ้านที่ได้ร่วมกันนำศพของสิบเอกดำรง มาประท้วงหน้า สภ.ชะอวด ต่างพอใจ และยอมสลายตัวไปโดยที่ไม่มีเหตุรุนแรงใดๆเกิดขึ้น ส่วนศพของสิบเอกดำรง ได้ถูกนำไปบำเพ็ญกุศลต่อที่สำนักสงฆ์สวนป่าตลิ่งชัน ต.พร้าว อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง จนกว่าจะสามารถคลี่คลายคดีได้และพร้อมกลับมาอีกครั้งหากคดีไม่มีความคืบหน้า
 
 
เริ่มต้นข้าวไม่มีน้ำ!ชาวนาขอเปิดเขื่อน
 
วันที่ 26 ต.ค. กลุ่มชาวนาใน อ.ท่ามะกา และ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี จำนวนกว่า 100 คน ได้เดินทางโดยรถยนต์ไปยืนประท้วงที่ประตูระบายน้ำคลองชลประทานสายท่าม่วง-ท่ามะกา หมู่ 8 บ้านเขาช่อง           ต.เขาสามสิบหาบ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เพื่อประท้วงขอให้ทางเขื่อนแม่กลองทำการปล่อยน้ำ ต่อมา พ.ต.ณัฐพงษ์ ตะโกใหญ่ ผบ.ทหารปืนใหญ่ที่ 109 ได้เดินทางพบกลุ่มผู้ชุมนุม และได้ประสานไปยังสำนักชลประทานที่ 13 เขื่อนแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เพื่อร่วมหาทางแก้ปัญหา โดยให้ส่งตัวแทนชาวนาให้ไปเจรจากันภายในห้องประชุมสำนักโครงการส่งน้ำและ     บำรุงรักษาท่ามะกา ซึ่งตั้งอยู่ภายในสำนักชลประทานที่ 13 เขื่อนแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
 
ผลการเจรจาสามารถตกลงกันได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ทั้งนายภราดร เนียมพล ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่ามะกา และนายประยูร ใจเย็น หน.ฝ่ายจัดสรรน้ำโครงการท่ามะกา ต่างรับปากกับเกษตรกรว่าจะทำการจัดสรรปล่อยน้ำในคลองชลประทานสายท่าม่วง-เพชรบุรี โดยจะเปิดบานประตูระบายน้ำจากปัจจุบันที่ปล่อยระบายน้ำแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้น้ำไม่ไหลออกตามช่องระบาย เมื่อชาวนาเดือดร้อนก็จะปล่อยจาก 60 เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเปิดบานประตูระบายน้ำสูงกว่าเดิมเป็นเวลา 1 อาทิตย์ เพื่อช่วยเหลือความเดือดร้อนของชาว นับจากวันที่มีการเจรจาขอน้ำ ทำให้ชาวนาที่มาชุมนุมขอน้ำเข้านาต่างพอใจเดินทางกลับไป.
 
 
สัญจรไม่ได้!! ชาวบ้านโวย ผู้รับเหมาปิดถนน อ้าง อบต.ตาพระยา เบี้ยวจ่ายเงิน
 
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 58 มีประชาชน 3 หมู่บ้าน เข้าร้องต่อ พ.อ.นิวัฒน์ หาญประสพ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตาพระยา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ว่า ได้รับความเดือดร้อนที่มีผู้รับเหมาปิดถนนระยะทางยาวเกือบ 3 กม. ทำให้ส่งผลผลิตการเกษตรสู่ตลาดในเขต อ.ตาพระยา ไม่ได้ จากนั้น จึงเรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมี พ.ต.ท.สมพงษ์ พูนศิริ รอง ผกก.สภ.ตาพระยา นายประทักษ์ ศรุตาธีระเดช ปลัดอำเภอฝ่ายป้องกันตาพระยา ร.ต.มงคล บุญมา หน.ชป.พท.อ.ตาพระยา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน และผู้รับเหมา โดยผลการเจรจาผู้รับเหมายอมเปิดถนนให้ประชาชนสัญจรตามปกติ ส่วนการเบิกงบประมาณที่ผู้รับเหมาทำถนน ทาง อบต.ตาพระยา จะเร่งรัดการเบิกจ่ายให้กับผู้รับเหมาต่อไป
 
พ.อ.นิวัฒน์ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างของ อบต.ตาพระยา เป็นโครงการปรับปรุงซ่อมแซมถนนลาดยางที่ได้รับถ่ายโอนจากหน่วยงานอื่น และทาง อบต.ตาพระยา ปรับเปลี่ยนโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสายบ้านนางาม-บ้านตาพระยา และช่วงบ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ 12 ต.ตาพระยา กว้าง 6 เมตร ยาวเกือบ 3 เมตร หรือมีพื้นที่ทั้งโครงการ อบต.ตาพระยา ใช้งบประมาณ 1 ล้านกว่าบาท และเมื่อสร้างและรับตรวจเสร็จก็ยื่นเรื่องเบิกจ่าย แต่มีข้อผิดพลาดของการคลัง อ้างว่าส่งเงินคืนคลังไปแล้ว ผู้รับเหมาจึงปิดถนนเพื่อกดดันผู้รับผิดชอบ
 
 
ทหารรุดคุยชาวบ้านห้ามต้านปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล
 
(27 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.อ.มงกุฏ แก้วพรม รองหัวหน้ากองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมฝ่ายปกครองอำเภอโขงเจียม เข้าพบปะพูดคุยกับชาวบ้านวังสะแบงเหนือ หมู่ 3 ต.หนองแสงใหญ่ อ.โขงเจียม และบ้านหัวเหว่ หมู่ 4 ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เพื่อสอบถามความเห็น และชี้แจงกรณีจังหวัดเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งมี ม.ล.ปนัดดา ดิษกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะทำงานปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน ก่อนถึงกำหนดในวันที่ 16 พ.ย. เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้
       
เนื่องจากภัยแรงปีนี้จะมาเร็วและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา หากเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลจะเป็นการปล่อยน้ำไหลออกจากแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงวันละกว่า 120 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้สูญเสียน้ำที่จะใช้อุปโภค บริโภค ใช้เลี้ยงระบบนิเวศของลุ่มน้ำ รวมทั้งใช้ทำเกษตรกรรม 
 
แต่หลังจังหวัดอุบลราชธานี เสนอความเห็นให้ปิดประตูเขื่อนปากมูลก่อนกำหนดไปยังรัฐบาล ทำให้กลุ่มสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูลออกมาเคลื่อนไหว พร้อมประกาศหากคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล มีมติสั่งให้ปิดประตูระบายน้ำตามที่จังหวัดเสนอในวันที่ 27 ต.ค.นี้จะเคลื่อนมวลชนเข้ามาประท้วงที่ศาลากลางจังหวัด
       
จึงต้องการขอร้องไม่ให้ชาวบ้านออกมาร่วมเคลื่อนไหว เนื่องจากเป็นการผิดกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะที่ยังไม่ได้มีการขออนุญาต และต้องการความเห็นของชาวบ้านต้องการให้เปิด หรือปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
       
จากการสอบถามพบว่า ชาวบ้านแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยมีทั้งที่ต้องการให้ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ โดยชาวบ้านให้เหตุผลขณะนี้น้ำเขื่อนปากมูลมีระดับต่ำมาก จนส่งผลกระทบต่อระดับน้ำใต้ดินใช้ผลิตประปาหมู่บ้าน เกรงถึงหน้าแล้งจะไม่มีน้ำใช้ ส่วนชาวบ้านที่ต้องการให้เปิด เพราะเห็นว่าต้องการให้น้ำมีการถ่ายเทของเสียออกจากลุ่มน้ำเพื่อปรับความสมดุลให้ธรรมชาติ 
 
หลังการเข้าพบปะพูดคุยจะได้นำความเห็นของชาวบ้านรวบรวมเสนอให้คณะคณะทำงานเปิดปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลระดับจังหวัดรับทราบความเห็นของชาวบ้านต่อไป
       
ขณะที่ นายกฤษกร ศิลารักษ์ แกนนำกลุ่มสมัชชาคนจน กล่าวว่า คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ เปิดประตูเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 3 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. ถึงวันที่ 16 พ.ย. เพื่อคืนธรรมชาติให้แก่ลุ่มน้ำ และต้องการให้มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาให้ชาวบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอกว่า 6,000 รายที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียอาชีพทำประมง หลังสร้างเขื่อนปากมูลเมื่อ 26 ปีก่อน รายละ 3 แสนบาท เพราะที่ผ่านมา คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้ ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
       
หากการประชุมของคณะกรรมการวันนี้มีมติสั่งปิดประตูเขื่อนปากมูล หรือไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเยียวยาให้แก่ชาวบ้าน จะนำมวลชนออกมากดดันที่หน้าศาลากลางจังหวัดในวันที่ 28 ต.ค.แน่นอน 
 
สำหรับเขื่อนปากมูล ได้เปิดประตูระบายน้ำให้ปลาขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูลเมื่อวันที่ 16 ส.ค.และมีกำหนดปิดประตูระบายน้ำ ตามมติคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 16 พ.ย.
       
แต่เนื่องจากลุ่มแม่น้ำมูล และแม่น้ำชีประสบปัญหาภัยแล้ง คณะทำงานพิจารณาเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลจังหวัดอุบลราชธานี จึงมีความเห็นเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานของเขื่อนปากมูลก่อนกำหนด เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งในวันที่ 31 ต.ค.ศกนี้
       
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล สายนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ 1 ใน 32 คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก จะลาออกจากการเป็นคณะกรรมการ หากมีการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลก่อนกำหนดด้วย 
 
 
คนป่าเหียงเมืองรถม้า ลุกฮืออีก ต้านรัฐจ้องประเคนที่ป่าชุมชนให้นายทุนตั้ง “โซลาร์ฟาร์ม”
 
(27 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ตัวแทนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง พร้อมชาวบ้านป่าเหียง หมู่ 1 ต.บ่อแฮ้ว อ.เมืองลำปาง กว่า 100 คน ได้มารวมตัวกันเปิดเวทีเสวนาเรื่อง “ป่าบ้านป่าเหียง สู่โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม” ที่บริเวณศาลาอเนกประสงค์ภายในหมู่บ้านป่าเหียง เมื่อคืนนี้
       
ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวเรื่องความสำคัญของป่าไม้ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขอใช้พื้นที่ป่าชุมชนไปทำโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม โดยมีการใช้ผ้าโพกศรีษะแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่ป่าชุมชนของบ้านป่าเหียง
       
พร้อมกันนี้ ได้มีการเปิดรับเอกสารของชาวบ้าน และลงลายมือชื่อเพื่อ 1.ร่วมสนับสนุนการจัดจั้งป่าชุมชน 2.สนับสนุนให้มีการสร้างคลองส่งน้ำชลประทาน ในเขตพื้นที่ตำบลบ่อแฮ้วบ้านป่าเหียง
       
นายทรงพล ศรีคำสุข ผู้ใหญ่บ้านป่าเหียง ม.1 ได้ให้ข้อมูลถึงที่มาที่ไปของการรวมตัวของชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านในเรื่องดังกล่าวว่า เดิมพื้นที่ป่าชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเป็นที่ของบรรพบุรุษได้รวบรวมยกให้โครงการสร้างโรงงานยาสูบ อยู่ๆ โครงการดังกล่าวก็มีอันต้องยกเลิกไป ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดิน โดยการดูแลของกรมธนารักษ์
       
ที่ผ่านมา ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 ขอใช้พื้นที่ เนื่องจากเป็นป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นที่ออกกำลังกาย เป็นที่พักผ่อน พืชสมุนไพรมีจำนวนมาก และเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน ต.บ่อแฮ้ว หนองหล่ม ปงแสนทอง ปงยางคก เข้าไปหาของป่าได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเห็ดตามฤดูกาล น้ำผึ้งป่า สมุนไพร ไข่มด และพืชผักอื่นๆ ตลอดทั้งปี และถือเป็นปอดของชาวบ้าน
       
นอกจากนี้ พื้นที่ป่าดังกล่าวยังเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติ อยู่ในความดูแลของโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 5 และชุมชนบ้านป่าเหียง ซึ่งชาวบ้านต่างช่วยกันดูแล และปลูกป่าเพิ่มขึ้นทุกปี แม้กระทั่งในวันที่ 12 สิงหาคม 58 ที่ผ่านมา ชาวบ้านก็ได้ช่วยกันปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถขึ้น
       
โดยได้ทำหนังสือถึง พล.ต.ต.อุดม พรหมสุรินทร์ ผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 เพื่อเชิญเข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าว แต่ก็ถูกปฏิเสธ โดยระบุว่า การทำกิจกรรมดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ฯ และใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมหลักสูตรพิทักษ์สันติแก่นักเรียนนายสิบตำรวจก่อนสำเร็จการฝึกอบรม
       
ในอนาคตหากจะใช้พื้นที่ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการ และประชาชนอาจจะกระทบต่อพื้นที่ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าวน่าจะไม่ถูกต้อง ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวก็มีพืชพันธุ์ไม้ขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว
       
นายทรงพล กล่าวอีกว่า แต่ชาวบ้านก็ได้ช่วยกันปลูกป่าเพิ่มเติมตามโครงการดังกล่าวจนแล้วเสร็จแม้ว่าทางผู้บังคับการศูนย์ฝึกฯ จะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ที่ชาวบ้านไม่พอใจเนื่องจากทราบข่าวว่า ทางศูนย์ฝึกฯ จะขอใช้พื้นที่ป่าแห่งนี้ให้เอกชนเข้ามาตั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม นั่นก็หมายถึงว่าพื้นที่ป่าทั้งหมดที่ยังสมบูรณ์อยู่จะต้องถูกตัดทำลายทิ้งทั้งหมด ซึ่งชาวบ้านคงไม่ยอมแน่นอน ดังนั้น จึงได้รวมตัวออกมาต่อต้านในเรื่องนี้
       
ล่าสุด ตนเองได้ทำหนังสือคัดค้านเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว และหากยังมีการเดินหน้าเพื่อทำลายพื้นที่ป่าแห่งนี้ตนเอง และชาวบ้านคงต้องรวมพลังออกมาเคลื่อนไหวกันต่อไป
 
 
ชาวบ้านทุ่งหัวช้าง 300 คน ประท้วงกองทุน ฯ เบิกเงินใช้ผิดวัตถุประสงค์
 
วันที่ 28 ต.ค.58 ที่ลานด้านหน้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาย่อยทุ่งหัวช้าง ได้มีกลุ่มชาวบ้านซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลทุ่งหัวช้าง ได้มารวมตัวกันประมาณ 300 คน เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลทุ่งหัวช้าง ออกมาชี้แจงกรณีที่คณะกรรมการได้นำเอาเงินของกองทุนฯ ไปใช้จ่ายส่วนตัวรวม 2 ล้านบาท 
 
ทั้งนี้สืบเนื่องจากที่ชาวบ้านในตำบลทุ่งหัวช้างได้รวมตัวกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทุ่งห้วช้างขึ้น เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 800 กว่าคน ซึ่งสมาชิกทุกคนจะต้องมีการออมเงินวันละ 1 บาทต่อคน ทุกๆ วันหรือออมปีละ 365 บาท ปัจจุบันมีเงินออมประมาณ 1 ล้านกว่าบาท ที่ประชุมมีมติให้นำเงินกองทุนฯ ไปซื้อสลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส. จำนวน 4 แสนกว่าบาท ปรากฏว่า สลากออมทรัพย์ทวีสินที่ได้นำเงินของกองทุนไปซื้อนั้น กลับถูกรางวัลที่ 1 โดยถูกใน (ชุดข้าวทิพย์) MJ 7549068 ได้รับรางวัลเป็นเงิน จำนวน 20 ล้านบาท ในงวดวันที่ 16 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา
 
ซึ่งหลังจากถูกรางวัลและได้รับเงิน ปรากฏว่าทางคณะกรรมการกลับไม่ได้แจ้งให้ทางสมาชิกของกองทุนรับทราบแต่อย่างใด แต่คณะกรรมการกลับเอาเงินที่ถูกรางวัลพากันไปเลี้ยงฉลองในสถานบันเทิงแล้วโพสต์ลงในเฟสบุค ภายหลังจากที่สมาชิกได้รับทราบแล้วและตรวจเช็คดูเงิน ปรากฏว่าว่าเงินได้ขาดหายไปจำนวน 2 ล้านบาท ทางสมาชิกจึงได้ทักท้วงและได้รวมตัวกัน เพื่อให้คณะกรรมการออกมาชี้แจง ดังกล่าว 
 
ในครั้งแรก นายทรงศรี ชูวัฒนกุล ประธารรกรรมการกองทุนฯ ได้ออกมาชี้แจงว่าทางคณะกรรมการจะขอใช้คืนเงินให้กองทุน เดือนละ 1 ล้าน แต่ขณะกลับมีหนังสือชี้แจงให้สมาชิกว่า ทางคณะกรรมการมีมติไม่ต้องใช้เงินคืนให้กองทุนฯ โดยอ้างว่า สตง.ได้เรียกเงินคืน ทำให้สมาชิกเกิดความไม่พอใจ และยันต้องนำเงินมาคืนภายใน24 ชม. และขณะนี้ยังชุมนุมอยู่300 คนเศษ ที่หน้าอำเภอทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน
 
 
นร.สตรีศึกษาร้อยเอ็ดฮือไล่ ผอ.พ้นโรงเรียน อ้างทุจริตเรียกรับผลประโยชน์
 
(28 ต.ค.58) นักเรียนโรงเรียนสตรีศึกษาร้อยเอ็ด ประมาณ 500 คน นำโดยนายประเสริฐ ปรานีนิจ รองผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีศึกษา ได้ร่วมตัวชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อขับไล่นายสมภักดิ์ สมภักดี ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ 2 คนประกอบด้วยนายสุวพงษ์ คามวัลย์ และนายศิวะ จรบุรมย์ โดยนายธนาวุฒิ ภาคมฤค นักเรียนชั้นม.5 ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ย้ายทั้ง 3 คนออกจากสถานศึกษาทันที หากไม่ดำเนินการจะชุมนุมยืดเยื้อ
       
ทั้งนี้ กลุ่มนักเรียนกล่าวหาผู้บริหารโรงเรียนสตรีศึกษาร้อยเอ็ดทั้ง 3 คนว่า กลั่นแกล้งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาเรื่องผู้ซื้อและผู้ขายที่ประมูลขายน้ำดื่มในโรงเรียน เพื่อจะเรียกรับผลประโยชน์, แอบแฝงหาผลประโยชน์จากการพยายามจัดซื้อเครื่องสแกนบัตรนักเรียน, จัดซื้อเครื่องถ่ายเอกสารมีเงื่อนงำว่าได้รับผลประโยชน์เรียกรับส่วนต่าง, พยายามเปิดสหกรณ์ในโรงเรียนตลอดทั้งวัน ขัดกับระเบียบเดิมที่ให้จำหน่ายเป็นเวลา และเรียกรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองนักเรียน เพื่อแลกกับการรับนักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนสตรีศึกษา 
 
โดยมีนายสุริยะ วิริยะสวัสดิ์ ปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผู้รับหนังสือขับไล่ พร้อมกล่าวกับผู้ประท้วงว่า การย้ายจะต้องมีหลักฐานชัดเจน โดยขอเวลา 7 วันหาพยานหลักฐานแต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอม จึงเรียกประชุมทุกฝ่ายหาข้อสรุปที่โรงเรียนสตรีศึกษาร้อยเอ็ด โดยที่ประชุมประกอบด้วย พลตรีสถาภรณ์ ใบพลูทอง ผอ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบรอยจังหวัดร้อยเอ็ด , นายชัยนต์ ศิริมาศ รอง ผวจ.ร้อยเอ็ด , นายโกศล ฐานะ รอง ผอ.เขตมัฐยมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 27 พร้อมคณะครู และนักเรียนร่วมรับฟังและหาข้อสรุปด้วย
       
ที่ประชุมสรุปได้ว่า จะให้ผู้บริหารทั้ง 3 คนไปประจำที่สำนักงานเขตมัธยมศึกษา 27 และตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนภายใน 3 วันเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง ว่ามีความผิดจริงหรือไม่ จึงจะดำเนินการลงโทษตามระเบียบต่อไป โดยนายสมภักดิ์ สมภักดี ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีศึกษา และรองผอ. 2 คนคือนายสุวพงษ์ คามวัลย์ และนายศิวะ จรบุรมย์ ยอมที่จะย้ายออกไปก่อน เพื่อให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป
       
ด้านนายสมภักดิ์ สมภักดี ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีศึกษา กล่าวว่า ยินดีให้สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดคามชัดเจนกับสังคม ทั้งนี้สาเหตุการขับไล่ เนื่องจากตนเองย้ายเข้ามาพบว่า มีเรื่องและกลุ่มของผู้มีอิทธพลในการจัดประมูลผูกขาดโครงการน้ำดื่มและร้านค้าภายในโรงเรียน เป็นผู้มีอิทธิพลและผลประโยชน์มานานแล้ว เมื่อตนไปแตะเรื่องนี้เข้า ทำให้กลุ่มที่มีอิทธิพล ปลุกปั่น คนมาขับไล่ตนเพื่อรักษาผลประโยชน์ต่อไป ซึ่งตนต้องการจะเปิดเผยข้อเท็จจริง และจะไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนให้สอบสวนข้อเท็จจริงด้วย
 
 
ชาวบ้านสุดทนปิดถนน ประท้วงเหตุถนนพัง
 
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 ต.ค. ได้มีชาวบ้าน เด็กนักเรียน บ้านน้อยหาดพรหม หมู่ 4 ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย กว่า 100 คน ชุมนุมปิดถนนตรง ทางเข้าแก่งคุดคู้ แหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของจังหวัด โดยมีนายอดุลย์ ผลคำ ผญบ.หมู่ 4 นายนิทัศน์มันทนา ผู้นำชุมชน หมู่ 4 ชาวบ้าน นักเรียน ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ทำการปิดถนนทางเข้าแก่งคุดคู้เพื่อให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมารับฟังปัญหาของชาวบ้าน โดยมี จนท.ตร.สภ.เชียงคาน จำนวนหนึ่งมารักษาการณ์ ดูแลความสงบ
 
นายนิทัศน์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ถนนสายแก่งคุดคู้เป็นถนนหลักของการท่องเที่ยว อ.เชียงคาน ที่สร้างรายได้ให้กับพี่น้องบ้านน้อยหาดพรหมปีละหลายล้านบาท แต่ถนนกลับทรุดพังเป็นหลุมเป็นบ่อ ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างได้รับความเดือดร้อน สัญจรไปมาไม่สะดวกและ เกิดอุบัติเหตุอยู่เป็นประจำ จึงอยากเรียกร้องหน่วยงาน ที่รับผิดชอบมาดูแลและแก้ไขเร่งด่วน
 
ต่อมา นายบรรพต ยาฟอง นอภ.เชียงคาน พร้อมด้วยนางรตนพร ภู่ภัสสร ส.จ.เขต 1 อ.เชียงคาน ทราบข่าวได้เดินทางมาสอบถามปัญหาของชาวบ้าน เปิดเผยว่า ถนนเส้นดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ.เลย ขณะนี้ได้งบประมาณมาแล้ว อยู่ระหว่างการประกาศจัดซื้อจัดสร้างหาบริษัทมาซ่อมแซมถนน คาดว่าคงใช้เวลาไม่นาน อย่างไรจะแจ้งให้ชาวบ้านทราบเป็นระยะๆ จนชาวบ้านที่มาประท้วงพอใจ จึง ได้แยกย้ายกันกลับ
 
 
เครือข่ายสุขภาพ บุก สตง.โวยใส่ร้าย สสส.ขาดความรู้ปัญหาสุขภาพ ค้านแก้ กม.
 
(29 ต.ค.) นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ประกอบด้วย เครือข่ายต่าง ๆ อาทิ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรผู้หญิง เครือข่ายผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อแสดงจุดยื่นและข้อเสนอภาคประชาสังคมต่อโครงการและกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีนายประจักษ์ บุญยัง รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รับเรื่องแทน
       
นายคำรณ กล่าวว่า เราเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ได้ดำเนินงานแก้ปัญหาสังคมมายาวนานกว่า 20 ปี และเมื่อมีกองทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขึ้น จึงได้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกระบวนการที่สร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มต่าง ๆ ที่หลากหลาย ลดช่องว่างและกลไกที่ภาครัฐเข้าไม่ถึง ทำให้แก้ปัญหาและสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับระดับสากล เสริมงานของภาครัฐได้เป็นอย่างดีขณะนี้หลายฝ่ายได้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณ และเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบของ สสส. ประกอบกับมีข้อมูลบางอย่างจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินผ่านสื่อมวลชน สร้างความคลาดเคลื่อนและเป็นข้อมูลที่ไม่รอบด้าน โดยทางเครือข่ายฯซึ่งเป็นผู้รับทุนไปทำโครงการต่างๆ ยังไม่มีโอกาสชี้แจงให้ข้อเท็จจริงใดๆ เลย ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเรียกร้องดังนี้
       
1. กรณีสวดมนต์ข้ามปีขอยืนยันว่าเป็นโครงการที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯอยู่ในกรอบของ “สุขภาวะ” สามารถเป็นทางเลือกในการเฉลิมฉลองการเริ่มต้นปีด้วยสิริมงคล ลดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดอุบัติเหตุ และผลกระทบอื่นที่จะเกิดขึ้นได้จากกระแสเคานต์ดาวน์ เป็นการควบคุมการกินดื่มได้อีกเมามาย และยังทำให้เด็กและเยาวชนเข้าวัดกันมากขึ้น
       
2. ตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปี ที่ สตง. ได้ตรวจสอบการทำงานของ สสส. มาทุกปี เหตุใดจึงไม่พบความผิดปกติ แต่กลับมาโหมให้ข่าวผ่านสื่อมวลชนอย่างผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา ที่สำคัญ เนื้อหาของรายงานผลการตรวจสอบกลับไปปรากฏออกตามสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องเหมือนมีการตั้งใจที่จะใส่ร้าย โดยไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อเท็จจริง ทำให้เครือข่ายสงสัยในพฤติกรรมดังกล่าวของท่านว่า เป็นการกระทำที่เกินเลยไปจากอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่
       
3. ในเรื่องการสร้างสุขภาวะ ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการยอมรับเป็นสากล แต่ผู้ว่าการ สตง. ขาดความรู้ ความเข้าใจ ขาดข้อเท็จจริงในความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพ และด่วนสรุป ด้วยความคิดตนเอง ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง และขอเรียกร้องต่อประชาคมชาว สตง. ให้ช่วยกันตรวจสอบ การกระทำของผู้ว่าฯสตง.ท่านนี้ว่า ทำตามหน้าที่ด้วยสุจริตหรือไม่ เพื่อทำให้หน่วยงานของท่านกลับมาเป็นที่ชื่นชมศรัทธาของประชาชนเฉกเช่นในอดีต
       
4. ขณะนี้กระบวนการงบประมาณของ สสส. ผ่านการกำกับดูแลโดยคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคณะกรรมการตามที่กฎหมายได้บัญญัติกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว เราคัดค้านการแก้กฎหมาย สสส.ซึ่งทำลายเจตนารมณ์ของกองทุนฯนี้อย่างสิ้นเชิง และยังตัดโอกาสการเข้าถึงของประชาชน กลับไปอยู่ในระบบเดิมที่ประชาชนเข้าถึงยาก สวนทางกับทิศทางสากลทั่วโลก
 
 
ชาวบ้านยื่นหนังสือหนุน "เขื่อนแม่วงก์"
 
ตัวแทนชาวบ้านสนับสนุนสร้าง"เขื่อนแม่วงก์" หอบหลักฐานน้ำท่วมเดือนต.ค.ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาโครงการพิจารณาซึ่งมีการประชุมกันในวันนี้ตัวแทนชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการเขื่อนแม่วงก์ นายบุญชู พรหมมารักษ์ หรือกำนันโต กล่าวว่า ได้ยื่นเอกสารข้อมูลต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)ในเรื่องปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์จากกรณีฝนตกหนักเมื่อช่วงวันที่ 14 - 15 ตุลาคมที่ผ่านมาจนเกิดปัญหาน้ำท่วมเพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีแหล่งรองรับน้ำขนาดใหญ่ จึงต้องการให้มีโครงการเขื่อนแม่วงก์เกิดขึ้นโดยการยื่นข้อมูลให้แก่สผ.เพื่อสนับสนุนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) เขื่อนแม่วงก์ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาโครงการ(คชก.)ด้านแหล่งน้ำซึ่งจะประชุมวันที่ 30 ต.ค.นี้
 
 
ชาวบ้านที่พังงายื่นหนังสือผู้ว่าฯ เรียกร้องขับเคลื่อนที่ดินชุมชน
 
(30 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านจำนวนกว่า 200 คน จาก 3 อำเภอ อ.ท้ายเหมือง อ.ตะกั่วป่า อ.คุระบุรี ในพื้นที่จังหวัดพังงา พร้อมขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ ขปส. ได้เดินทางเข้าศาลากลางจังหวัดพังงา เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ให้ดำเนินการเร่งแก้ปัญหา และจัดประชุมคณะทำงานตามคำสั่งปลัดกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ในวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง พ.ร.บ.สนับสนุนสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ตามที่ชาวบ้านได้ร้องขอต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ตามที่ชาวบ้านได้ร้องขอต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้แต่งตั้งตัวแทนเครือข่าย ขปส. เป็นคณะกรรมการตามแผนแม่บททวงคืนผืนป่าเพิ่มเติม
       
โดยบรรยากาศในการเรียกร้อง และยื่นหนังสือ ทางนายภคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วย นายสกล จันทรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายมานะ จรุงเกียรติขจร ปลัดจังหวัดพังงา ได้ออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องพร้อมจัดโต๊ะลงรับเรื่องราวของศูนย์ดำรงธรรม โดยมีชาวบ้านแต่ละคนได้ลงรับเอกสาร และเรื่องความเดือดร้อน จากนั้นชาวบ้านได้พอใจและแยกย้ายกลับภูมิลำเนาในเวลาต่อมา
       
นายไมตรี จงไกรจักร ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ ขปส. กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของทางชาวบ้านที่เดินทางมายื่นหนังสือครั้งนี้ ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และมีการประชุมแก้ปัญหามาอย่างต่อเองนั้น มติที่ประชุมเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 ว่า การพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนให้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน และข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง แนวทางในการดำเนินการต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตปกติของประชาชน หากติดขัดปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย ควรพิจารณาแก้ไขปรับปรุง เพื่อสอดคล้องต่อแนวทางการแก้ไขให้แก่ประชาชนตามความเหมาะสม
       
การดำเนินการแก้ไขต้องสอดคล้องต่อนโยบายของรัฐบาล เช่น คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กล่าวคือ เร่งรัดจัดสรรที่ดินแก่ผู้ยากไร้ ในลักษณะสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชนไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ให้คณะกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน แต่งตั้งขึ้นนำผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาประกอบการพิจารณาด้วย
 
 
ชาวบ้านชุมชนวังล้อ จ.สุราษฎร์ธานี ร้องเรียนกรณีเทศบาลนาสาร ก่อสร้างรางระบายน้ำลงสู่ลำห้วยสาธารณะ
 
ชาวบ้านในชุมชนวังล้อ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี กว่า 50 คนรวมตัวร้องเรียน กรณีที่เทศบาลนาสาร ดำเนินการก่อสร้าง รางระบายน้ำ และท่อน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมบ่อพักในซอยศรีสุขสวัสดิ์ เนื่องจากหากโครงการแล้วเสร็จท่อน้ำดังกล่าวจะระบายน้ำเสียลงสู่หนองพิเรือง ซึ่งเป็นลำห้วยสาธารณะที่มีบ่อบาดาลอยู่ภายใน 6 บ่อ
 
โดยชาวบ้านจะนำน้ำจากบ่อบาดาลและหนองดังกล่าวใช้รดพืชพันธุ์ทางการเกษตร อีกทั้งเป็นต้นน้ำและปลายน้ำในพื้นที่สวนของชาวบ้าน ซึ่งมีการระบายน้ำเสียลงสู่พื้นที่ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างมาก
 
ขณะที่ทางจังหวัด เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งเตรียมเชิญตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมประชุม เพื่อหาข้อยุติร่วมกับเทศบาลเมืองนาสารต่อไป
 
 
ชาวอยุธยาโวยคดีสะพานแขวนข้ามแม่น้ำป่าสักไม่คืบ
 
เมื่อวันที่ 30 ต.ค.นายอนุนาท เสือสมิง พร้อมชาวบ้านจากต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เข้ายื่นหนังสือที่ศาลากลาง เพื่อประท้วงการทำงานที่ล่าช้าและช่วยเหลือพรรคพวก ของข้าราชการด้วยกันเอง จากกรณีเหตุสะพานแขวน ของเทศบาลต.ท่าหลวง ข้ามแม่น้ำป่าสักพังถล่มลงมาเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2556 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก
 
อย่างไรก็ตามล่าสุด คดีอาญาตำรวจได้สรุปสำนวนให้สำนักงานอัยการไปแล้ว ในคดีกระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส ขณะนี้อยู่ระหว่าการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม มีผู้ต้องหารวม 13 ราย แต่ผลการสอบวินัย ชาวบ้านไม่พอใจการดำเนินการที่ล่าช้า จึงขอเรียกร้องให้เปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการสอบสวนและผลการสอบสวนอย่างละเอียด
 
ขณะเดียวกันยังเรียกร้องให้ลงโทษผู้ต้องหา ที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการท้องถิ่น ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล่าสุดกรมโยธาธิการและผังเมือง มีข้อสรุปตัดเงินเดือนนายช่าง ที่ร่วมกระทำผิดด้วยการตัดเงินเดือนเพียง 4 % เท่านั้น ชาวบ้านเห็นว่าโทษเบาเกินไป สำหรับบุคคลของรัฐ จึงเสนอให้ลงโทษด้วยการปลดออก นอกจากนี้ยังขอทราบความคืบหน้า การถอดถอนนายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง
 
 
โวยถูกยื้อคำสั่งศาล เหยื่อถูกโกงที่ดินชี้กระบวนการของคนจนมักชักช้า “สำนักงานที่ดินวาริน” ขอขยายเวลาเพิกถอนเอกสารสิทธิไม่ชอบธรรมอีก 90 วัน
 
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 นางหนูเดือน แก้วบัวขาว ชาวตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ตนและครอบครัวได้เดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเตรียมฟ้องคดีสำนักงานที่ดินอำเภอวารินชำราบ กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ถูกนายทุนโกงที่ภายใน 90 วัน หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า สำนักงานที่ดินยื่นเอกสารขอขยายเวลาในการตรวจสอบหลักฐานเพิ่มเติมอีก 90 วัน ทั้งนี้ตนรู้สึกว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการยื้อเวลาของฝ่ายราชการเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบ ทั้งๆที่คำสั่งศาลนั้นชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามจะให้โอกาสสำนักงานที่ดินอีกครั้ง ระหว่างนี้จะเข้าพบทนายความเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการร้องเรียนต่อไป ว่าถ้าเกิดสำนักงานที่ดินไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตนและครอบครัวจะต้องดำเนินการอย่างไร
 
“นี่ไม่ใช่ความล่าช้าครั้งแรกๆ แต่เป็นความล่าช้าที่เกิดซ้ำๆ เราส่งหลักฐานให้เขาหมดแล้ว อยู่ๆ เขาก็มายื่นขอศาลขยายเวลา โดยไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์เพื่อคืนสิทธิที่ดินให้เรา กระบวนการของคนจนมันมาช้าเสมอ เราต่อสู้มานานมากและยังมีพี่น้องอีกหลายคนที่รอความหวังอยู่ ตั้งใจว่า ถ้าเกิดทำสำเร็จจะนำประสบการณ์มาบอกต่อพี่น้องหนองกินเพล แต่ก็ยังติดขัดตรงนี้อีก งงและสงสัยว่า ทำไมส่วนราชการจึงทำงานแบบวกไปวนมาแบบนี้ ทำไปเพื่ออะไร แล้วเมื่อไหร่สิทธิที่ดินของเราจะกลับมาอยู่กับเรา” นางหนูเดือน กล่าว 
 
นางหนูเดือน กล่าวด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมาตนและสามีมีความพยายามในการติดตามดำเนินการจากสำนักงานที่ดินของอำเภอมาโดยตลอดแต่เรื่องยังเงียบ ล่าสุดภายหลังสำนักงานที่ดินไปยื่นขอขยายเวลากับศาล ทางเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินก็ได้ส่งหนังสือมายังครอบครัว เพื่อขอพิสูจน์พยานบุคคล ที่เป็นเจ้าของที่ดินใกล้เคียงที่ของตน โดยขอหลักฐานใบจองหรือเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องอันแสดงข้อเท็จจริงว่ามีอาณาเขตเชื่อมต่อที่ดินด้านตะวันออก และตะวันตกของตน ซึ่งทางสำนักงานที่ดินกำหนดด้วยว่าให้หาหาพยานเอกสารและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ครบเพื่อยืนยันว่าที่ดินแปลงที่ตนครอบครองนั้นได้มาโดยสุจริต ซึ่งการหาพยานดังกล่าวตามที่สำนักงานที่ดินระบุนั้นก็ทำได้ยาก เพราะเจ้าของที่ดินรายแรกก็เสียชีวิตไปนานแล้ว และหากจะหาหลักฐานแสดงการครอบครองของที่ดินแปลงใกล้เคียงมายื่นก็คงจะยากลำบาก เป็นการเสียเวลาอย่างมาก แต่จะพยายามทำตามกระบวนการทุกอย่างเท่าที่ทำได้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งหมด ตนและครอบครัวจะปรึกษาทนายความหรือนักกฎหมายอีกครั้ง 
 
อนึ่ง กรณีความเดือดร้อนของชาวบ้านหนองกินเพลเนื่องจากการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของชาวบ้านนั้น เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน โดยมีผู้สมัครส.ส.คนหนึ่งเข้าไปหาเสียงในหมู่บ้านและบอกว่าหากได้รับเลือกตั้งจะช่วยให้ที่ดินของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นแค่ที่ดินจับจองและเสียภาษีดอกหญ้าเป็นโฉนดได้ ต่อมาเมื่อผู้สมัครส.ส.คนนั้นได้รับเลือกตั้งได้ให้ชาวบ้านมาร่วมลงชื่อ แต่ในเวลาต่อมากลับกลายเป็นว่าการลงชื่อดังกล่าวเป็นการขายที่ดินให้กับส.ส.คนนั้น และได้มีการออกเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดนับหมื่นไร่ในชื่อของส.ส.และครอบครัว ก่อนที่จะมีการนำเอกสารสิทธิ์นี้ไปฟอกผ่านสถาบันการเงิน ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยืนยันว่าไม่เคยได้ขายที่ดินให้กับส.ส.คนดังกล่าว อย่างกรณีของนายวิทยา แก้วบัวขาว สามีของนางหนูเดือน ซึ่งได้รับที่ดินมรดกมาจากพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้บุกเบิก แต่ต่อมาเมื่อนายวิทยาขุดบ่อและทำกินในที่ดินผืนดังกล่าวกลับถูกนายทุนแจ้งความดำเนินคดีและฟ้องศาลในเวลาต่อมาจนกระทั่งนายวิทยาต้องติดคุกอยู่นานกว่า 1 ปี ขณะที่ชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยต่างก็แพ้คดี
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท