Skip to main content
sharethis

รายงานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ที่ไม่ได้รับการเผยแพร่แต่ต่อมามีการรั่วไหลเผยให้เห็นว่าในประเทศลาวมีการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายจำนวนมากโดยบริษัทขนาดใหญ่เพื่อส่งออกให้จีนหรือเวียดนามภายใต้โฉมหน้าของโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ปล่อยให้ต่างชาติหาประโยชน์จากทรัพยากร

1 พ.ย. 2558 เว็บไซต์หน่วยงานสืบสวนสอบสวนประเด็นสิ่งแวดล้อม (Environmental Investigation Agency หรือ EIA) เปิดเผยรายงานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ที่มีการรั่วไหลเผยให้เห็นว่าในทางตอนใต้ของประเทศลาวกำลังมีการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายและมีการลักลอบขนไม้ข้ามประเทศไปยังประเทศใกล้เคียง

เว็บไซต์ของ EIA ระบุว่าถึงแม้รายงานดังกล่าวจะไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะแต่ก็มีความน่าเชื่อถือ รายงานที่รั่วไหลฉบับดังกล่าวระบุว่าในปี 2556 ลาวส่งออกไม้ซุง 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรให้กับเวียดนามและจีน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าที่ระบุไว้ในข้อมูลการตัดไม้ของทางการ 10 เท่า อีกทั้งในบางพื้นที่ยังมีการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายมากถึงร้อยละ 100

ในรายงานชื่อ "การประเมินขอบเขตการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายในลาวและความสัมพันธ์กับการค้าไม้ซุงข้ามพรมแดน" (Assessment of Scope of Illegal Logging in Laos and Associated Trans-boundary Timber Trade) ลงวันที่เดือน มิ.ย. 2558 นำเสนอเรื่องราวไปในทางเดียวกับที่องค์กร EIA เคยลงพื้นที่สืบสวนก่อนหน้านี้ว่าการตัดไม้ในลาวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาทรัพยากรไม้ให้กับอุตสาหกรรมป่าไม้ของประเทศจีนและเวียดนาม โดยที่สภาพการณ์กำลังย่ำแย่ลงกว่าเดิม

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่าการตัดไม้ในลาวแทบทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับการถางป่าเพื่อโครงการขนาดใหญ่อย่างการสร้างเขื่อนพลังงานน้ำ การสร้างถนน การทำเหมืองแร่ และการทำไร่ขนาดใหญ่ โดยการดำเนินโครงการเหล่านี้ไม่ได้รับการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น รายงานระบุอีกว่าในพื้นที่แขวงสาละวันที่มีโครงการสร้างถนนมีไม้ซุงผิดกฎหมายร้อยละ 100 ขณะที่ในแขวงเซกองซึ่งมีโครงการทำเหมืองแร่มีการตัดไม้ผิดกฎหมายร้อยละ 99

รายงานที่รั่วไหลฉบับนี้เผยให้เห็นว่านโยบายการสั่งห้ามส่งออกไม้ซุงโดยรัฐบาลลาวเพื่อส่งเสริมให้มีการนำมาแปรรูปในประเทศประสบความล้มเหลว ทั้งนี้กลับมีการ "ให้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ" ในการส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างเปิดเผย ซึ่งในปี 2557 การค้าไม้ถือเป็นการส่งออกที่มีมูลค่าร้อยละ 98 เมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดของลาว โดยที่ข้อมูลจากกรมศุลกากรของลาวยังแสดงให้เห็นอีกว่าไม้ซุงของลาวมีราคาตกต่ำอย่างมาก โดยไม้ที่ส่งออกมีราคาขายเพียงแค่ร้อยละ 8 ของราคารับซื้อที่ประกาศไว้ในประเทศนำเข้า

จากข้อมูลด้านการค้าของลาวระบุว่าในปี 2557 จีนกลายเป็นประเทศรับซื้อไม้จากลาวรายใหญ่ที่สุดแทนประเทศเวียดนาม โดยมีมูลค่าการรับซื้อเพิ่มขึ้นจาก 44.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2551 เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 ซึ่ง EIA ระบุว่าจากมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดนี้บ่งชี้ว่าอาจมีการค้าไม้ราคาสูงอย่างไม้ชิงชัน (rosewood) ซึ่งเป็นไม้ที่กฎหมายของลาวให้การคุ้มครองอยู่ด้วย ทั้งจีนและเวียดนามเป็นผู้รับซื้อไม้ส่งออกจากลาวร้อยละ 96

EIA ตั้งข้อสังเกตอีกว่าทางการลาวคงไม่มีการตรวจสอบเรื่องการลักลอบตัดไม้อย่างผิดกฎหมายเลย โดยเฉพาะในสี่จังหวัดภาคใต้ของลาวซึ่งมีการจับกุมการค้าไม้เถื่อนเพียงแค่ร้อยละ 5 และเน้นจับแค่ผู้ค้าไม้ผิดกฎหมายรายเล็กแทนที่จะจับกุมบริษัทใหญ่ๆ ที่กระทำการค้าไม้เถื่อนเป็นส่วนมากในลาว เช่นบริษัทที่มีกองทัพเวียดนามเป็นเจ้าของชื่อบริษัทเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเวียดนาม (COECCO) บริษัทนี้ได้รับสัมปทานจากลาวให้เข้าไปตัดไม้ในพื้นที่ที่มีแผนการสร้างเขื่อนเซกะหมาน แต่จากรายงานที่รั่วไหลระบุว่ามีการตัดไม้เลยไปไกลกว่าเขตที่วางแผนสร้างเขื่อนถึงร้อยละ 71 รวมถึงในเขตคุ้มครองที่อยู่ใกล้เคียงด้วย แสดงให้เห็นว่า COECCO ของเวียดนามทำการตัดไม้ตามอำเภอใจ และขัดแย้งกับที่เจ้าหน้าที่ทางการลาวเคยให้สัมภาษณ์ต่อ EIA ไว้ว่าพวกเขาทำการ "ตรวจเช็คไม้ซุงอย่างเคร่งครัด"

จาโก แวดลีย์ นักรณรงค์อาวุโสด้านป่าไม้ของ EIA แสดงความคิดเห็นต่อรายงานที่รั่วไหลฉบับนี้ว่าการตรวจสอบของรัฐบาลลาวในเรื่องการตัดไม้มีความไม่ชัดเจนเนื่องจากมีกลุ่มตัดไม้ผิดกฎหมายขนาดใหญ่ในระดับอุตสาหกรรมกระทำการโดยใช้โครงการพิเศษต่างๆ บังหน้า สาเหตุที่บริษัทเหล่านี้ไม่ถูกดำเนินคดีน่าจะเป็นเพราะมีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น ทั้งนี้ในภาคส่วนธุรกิจป่าไม้ของจีนและเวียดนามยังฉวยโอกาสจากสถานภาพเช่นนี้เพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัว แวดลีย์เรียกร้องให้รัฐบาลลาวบังคับใช้กฎหมายสั่งห้ามส่งออกไม้เถื่อนและสั่งห้ามประเทศใกล้เคียงนำเข้าไม้เถื่อนอย่างจริงจัง


เรียบเรียงจาก

Leaked report reveals huge scale of illegal logging in Laos, Environmental Investigation Agency, 21-10-2015
https://eia-international.org/leaked-report-reveals-huge-scale-of-illegal-logging-in-laos

Leaked WWF report: illegal logging in Laos 'a worst-case scenario', The Ecologist, 22-10-2015
http://www.theecologist.org/News/news_round_up/2985991/leaked_wwf_report_illegal_logging_in_laos_a_worstcase_scenario.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net